พระราชชนนีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ของ มาริอา เด โมลินา สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยา

ภาพมาริอา เด โมลินากำลังนำเสนอพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 ผู้เป็นพระราชโอรสต่อสภาขุนนางที่บายาโดลิดในปี ค.ศ. 1295 วาดโดยอันโตนิโอ กิสเบิร์ต เปเรซ ค.ศ. 1863

พระเจ้าซันโชครองราชย์ได้ไม่นานก็สวรรคตในปี ค.ศ. 1295 มาริอากลายเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและผู้อบรมสั่งสอนพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 พระราชโอรสที่มีพระชนมายุเพียง 10 พรรษาตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในพินัยกรรมของพระเจ้าซันโช

ปีแรกของการสำเร็จราชการเต็มไปด้วยความยากลำบากเมื่อพระนางต้องเผชิญหน้ากับการคิดคดของกลุ่มขุนนางที่ต้องการปลดพระนางออกจากการบริหารบ้านเมือง ทั้งยังประสบปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจและความวุ่นวายในสังคม ข้อกังขาเรื่องความถูกต้องตามกฎหมายของการสมรสระหว่างมาริอากับกษัตริย์คนก่อนซึ่งเป็นการสมรสระหว่างลูกพี่ลูกน้องที่ไม่ได้รับการผ่อนผันจากสมเด็จพระสันตะปาปาก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองนองเลือดในกัสติยาและเลออน กลุ่มขุนนางคนสำคัญได้ให้การสนับสนุนอัลฟอนโซ เด ลา เกร์ดา พระราชนัดดาของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 ที่ประกาศตนเป็นทายาทผู้ชอบธรรมตามกฎหมาย ขณะเดียวกันอินฟันเตฆวน พระอนุชาของพระเจ้าซันโชก็ประกาศตนเป็นกษัตริย์แห่งเลออน ดิเอโก เด ฮาโร ผู้ครอบครองบิซกายาได้ให้การสนับสนุนอินฟันเตฆวน มานุเอล พระภาติยะของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 ขณะที่ตระกูลเด ลาราซึ่งตามพินัยกรรมของพระเจ้าซันโชได้มอบหมายให้ดูแลพระราชินีและพระราชโอรสมีคู่ต่อกรคืออินฟันเตเอนริเก พระอนุชาของพระเจ้าซันโชที่ 3 ผู้ได้รับเลือกจากราชสำนักให้ทำหน้าที่สำเร็จราชการแผ่นดิน ขณะที่มาริอาได้รับสิทธิ์ในการดูแลพระราชโอรส ผู้ท้าชิงทั้งหลายต่างมองหาการสนับสนุนจากประเทศข้างเคียง พระเจ้าไชเมที่ 2 แห่งอารากอนใช้การสนับสนุนอัลฟอนโซ เด ลา เกร์ดาเป็นข้ออ้างในการผนวกราชอาณาจักรมูร์เซีย มาริอาต้านทานอารากอนไว้ไม่ให้เข้ายึดราชอาณาจักร สงครามกับอารากอนดำเนินต่อไปตลอดช่วงวัยเยาว์ของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4

อีกฝั่งหนึ่ง ฟีลิปผู้รูปงามแห่งฝรั่งเศส กษัตริย์คู่สมรสแห่งนาวาร์ ต้องการได้อาณาเขตที่เคยเป็นของนาวาร์กลับคืนไป ไหวพริบทางการทูตอันยอดเยี่ยมของมาริอาทำให้สามารถสงบศึกกับฟีลิปผู้รูปงามได้ สุดท้ายพระเจ้าดีนิสแห่งโปรตุเกสได้อาศัยสถานการณ์นี้เรียกร้องให้ขีดเส้นแบ่งพรมแดนที่ชัดเจน มาริอาได้ลงนามในสนธิสัญญาที่ทำให้กัสติยาสูญเสียดินแดนส่วนหนึ่งไปแลกกับการที่โปรตุเกสจะไม่ให้การสนับสนุนใดๆ แก่กลุ่มกบฏ มีการสมรสเพื่อผนึกสันติภาพสองคู่ คือ กองสเติงซาแห่งโปรตุเกสกับพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 และอาฟงซู ทายาทในบัลลังก์โปรตุเกสกับเบียตริซ พระราชธิดาของพระเจ้าซันโชที่ 4 กับมาริอา ในกัสติยามาริอาพยายามแก้ไขปัญหากับกลุ่มขุนนางด้วยสันติวิธี แต่ก็ไม่ดีพอที่จะทำให้การท้าทายอำนาจยุติลง

ความรุนแรงจากกลุ่มขุนนางและการรุกรานจากกองทัพต่างแดนส่งผลให้กัสติยาเสียหายอย่างหนักจนทำให้ท้องพระคลังร่อยหรอ มาริอาพยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการออกเหรียญเงินตราในนามของพระราชโอรส การถอนตัวออกจากการชิงชัยของโปรตุเกสกับฝรั่งเศสและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทำให้กลุ่มกบฏอ่อนกำลังลง กลุ่มผู้สนับสนุนทิ้งอินฟันเตฆวนในปี ค.ศ. 1300 สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างอินฟันเตเอนริเกกับตระกูลเด ลาราผู้เป็นคู่อริจากการทำข้อตกลงสมรสนำพาความสงบสุขมาสู่กัสติยา

ในปี ค.ศ. 1301 สมเด็จพระสันตะปาปาโบนิเฟสที่ 8 มีโองการให้การสมรสของพระนางกับพระเจ้าซันโชที่ 4 ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการการันตีสิทธิ์ในการขึ้นครองบัลลังก์ของพระราชโอรส ทว่าในปีเดียวกันอินฟันเตฆวน เด ลารา ผู้ได้รับความไว้วางใจจากพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 4 ได้ยุยยงให้กษัตริย์วัย 16 พรรษาต่อต้านพระราชมารดาขึ้นบริหารบ้านเมืองด้วยพระองค์เอง ทว่าไม่นานพระเจ้าเฟร์นันโดก็ถูกพระปิตุลาหักหลัง มาริอาไดกลับมาทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างสองฝ่ายเพื่อเอาราชบัลลังก์กลับคืนมาให้พระราชโอรสที่สวรรคตในปี ค.ศ. 1312 โดยที่ยังคงขัดแย้งกับกลุ่มขุนนาง

ใกล้เคียง

มาริอา โฆเซ โลรา มาริอา เด โมลินา สมเด็จพระราชินีแห่งกัสติยา มาริอาแห่งอารากอน สมเด็จพระราชินีแห่งโปรตุเกส มาริอา เตเรซาแห่งสเปน มาริอา มาร์การิตา ดัชเชสแห่งอ็องฌู มาริอานา บิกโตริอาแห่งสเปน สมเด็จพระราชินีแห่งโปรตุเกส มาริอา เซริโฟวิก มาริสา อานิต้า มาริอุส บอร์ก เฮออิบิ มารีอา มิตเชลล์