ประวัติ ของ เทศบาลเมืองชลบุรี

สมัยอยุธยา

เมืองชลบุรีปรากฏเป็นหลักฐานในทำเนียบศักดินาหัวเมือง ตราเมื่อมหาศักราช 1298 ตรงกับ พ.ศ. 1919 ชลบุรีมีฐานะเป็นเมืองจัตวา ผู้รักษาเมืองเป็นที่ "ออกเมืองชลบุรีศรีมหาสมุทร" ศักดินา 2,400 ไร่ ส่งส่วยไม้แดง

ในปี พ.ศ. 2309 รัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศ) ขณะที่กรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าล้อมอยู่นั้น กรมหมื่นเทพพิพิธซึ่งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอองค์หนึ่งในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่ถูกเนรเทศไปลังกา ได้กลับมาเกลี้ยกล่อมรวบรวมชายฉกรรจ์ทางหัวเมืองภาคตะวันออก ได้แก่ เมืองจันทบูร เมืองระยอง เมืองบางละมุง เมืองชลบุรี และเมืองปราจีนบุรี เข้าร่วมกองทัพอ้างว่าจะยกไปช่วยกรุงศรีอยุธยารบพม่า ในครั้งนั้นชาวชลบุรีได้ให้การสนับสนุนเข้าร่วมในกองทัพเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเมืองชลบุรีแทบจะกลายเป็นเมืองร้าง เมื่อกรมหมื่นเทพพิพิธยกไพร่พลไปตั้งมั่นที่ปราจีนบุรีแล้ว จึงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์ ขออาสาช่วยป้องกันพระนคร แต่พระเจ้าอยู่หัวเอกทัศน์ทรงพระราชดำริว่า กรมหมื่นเทพพิพิธเป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงจนถูกเนรเทศมาแล้วครั้งหนึ่ง การที่มาเรียกระดมผู้คนเข้าเป็นกองทัพโดยพลการครั้งนี้ก็เป็นการทำผิดกฎมณเทียรบาล จึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาไปปราบกรมหมื่นเทพพิพิธจนบอบช้ำ จากนั้นพม่ายังได้ส่งกองทัพออกไปโจมตีกองทัพกรมหมื่นเทพพิพิธจนแตกกระจายไปอีก จนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก เมื่อ พ.ศ. 2310 ชาวชลบุรีได้ให้ความร่วมมือกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในการกอบกู้อิสรภาพอย่างใกล้ชิด จนสามารถกอบกู้เอกราชกลับคืนมา

สมัยรัตนโกสินทร์

ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จประพาสเมืองชลบุรีหลายครั้งหลายหน เพราะเมืองชลบุรีเป็นเมืองชายทะเล เหมาะแก่การพักผ่อน มีทัศนียภาพงดงามและไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก

เมื่อปี พ.ศ. 2350 พระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ รัตนกวีของไทย ได้เดินทางจากกรุงเทพมหานคร เพื่อไปเยี่ยมบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง ได้เขียนไว้ในนิราศเมืองแกลง กล่าวถึงเมืองต่าง ๆ เมื่อเข้าถึงเขตชลบุรีแล้วไปตามลำดับจากเหนือไปใต้ คือ บางปลาสร้อย หนองมน บ้านไร่ บางพระ บางละมุง นาเกลือ พัทยา นาจอมเทียน ห้วยขวาง หนองชะแง้ว (ปัจจุบันเรียกบ้านชากแง้ว อยู่ในเขตอำเภอบางละมุง ซึ่งเป็นทางที่จะไปอำเภอแกลง จังหวัดระยองได้)

สวนตำหนักน้ำ เทศบาลเมืองชลบุรี

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ปี พ.ศ. 2437 ได้ทรงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองราชอาณาจักรที่เป็นหัวเมืองต่าง ๆ แบบโบราณ ที่แยกกันอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกรมท่า ดูไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยากแก่การปกครองดูแลให้ทั่งถึงและเสมอเหมือนกันได้ โดยให้หัวเมืองต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยเพียงกระทรวงเดียวหรือหน่วยงานเดียว คือ การรวบรวมหัวเมืองทั้งหลายขึ้นเป็นมณฑลนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย (พ.ศ. 2435–2458) ได้ทรงนิพนธ์ไว้ใน "พำระบันทึกความทรงจำ" ซึ่งมีตอนที่กล่าวถึงเมืองชลบุรีไว้ว่า รวมหัวเมืองทางลำน้ำบางปะกง คือ เมืองปราจีนบุรี 1 เมืองนครนายก 1 เมืองพนมสารคาม 1 เมืองฉะเชิงเทรา 1 รวม 4 หัวเมือง เป็นเมืองมณฑล 1 เรียกว่า "มณฑลปราจีน" ตั้งที่ว่าการมณฑลเมืองปราจีน (ต่อเมื่อโอนหัวเมืองในกรมท่ามาขึ้นกระทรวงมหาดไทย จึงย้ายที่ทำการมณฑลลงมาตั้งที่เมืองฉะเชิงเทรา เพราะขยายอาณาเขตมณฑลต่อลงไปทางชายทะเล รวมเมืองพนัสนิคม เมืองชลบุรี และเมืองบางละมุง เพิ่มให้อีก 3 รวมเป็น 7 เมืองด้วยกัน) แต่คงเรียกชื่อว่ามณฑลปราจีนอยู่ตามเดิม ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงในรูปการปกครองประเทศครั้งใหญ่ โดยพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ได้ยกเลิกเขตการปกครองแบบเมือง ทั่วราชอาณาจักรแล้วตั้งขึ้นเป็นจังหวัดแทน มีข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชา สถานะเมืองชลบุรีจึงเป็นจังหวัดชลบุรี (แต่เปลี่ยนข้าหลวงประจำจังหวัดเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด)

สำนักงานเทศบาลเมืองชลบุรี

ต่อมาเทศบาลเมืองชลบุรีจึงได้ถูกจัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2478 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จัดตั้งขึ้นโดยยกฐานะจากสุขาภิบาลเมืองชลบุรีเป็นเทศบาลเมืองชลบุรี มีพื้นที่ 0.56 ตารางกิโลเมตร ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงขยายเขตเทศบาลครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2480 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 45 หน้า 1760 มีพื้นที่เพิ่มจากเดิมอีก 4.01 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีพื้นที่รวม 4.57 ตารางกิโลเมตร โดยในจำนวนนี้เป็นพื้นที่บนบกประมาณ 3.5 ตารางกิโลเมตร ที่เหลืออีกประมาณ 1.07 ตารางกิโลเมตรเป็นพื้นที่น้ำ

ใกล้เคียง

เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมือง เทศบาลนครแหลมฉบัง เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครนครราชสีมา เทศบาลนครนครศรีธรรมราช เทศบาลนครอุดรธานี เทศบาลนครในประเทศไทย เทศบาลเมืองปากพูน เทศบาลนครอุบลราชธานี