ความผันแปรได้ของการควบคุมแสดงออกและการถอดรหัสของยีน ของ CYP2B6

ไซโทโครม P450 2B6 มักมีการแสดงออกที่เซลล์เนื้อเยื่อตับเป็นส่วนใหญ่ และมีสัดส่วนในการแสดงออกในกลุ่มเอนไซม์ไซโตโครม P450 ทั้งหมดประมาณร้อยละ 1–10 โดยมีความผันแปรได้ทางพันธุกรรมระหว่างบุคคลในระดับโปรตีนประมาณ 100 เท่า[6] การทดลองทางคลินิกในอดีตพบว่า การแสดงออกของ CYP2B6 นั้นจะพบได้เฉพาะบางส่วนของเนื้อเยื่อตับ แต่การศึกษาล่าสุดกลับให้ผลที่แย้งกัน โดยพบว่าเอนไซม์ดังกล่าวนั้นสามารถตรวจพบได้ในทุกตัวอย่างเนื้อเยื่อตับที่ใช้ในการทดลอง[12] ขณะที่มากกว่า 1 ใน 3 ของเนื้อเยื่อตัวอย่างจากทารกที่ศึกษาไม่สามารถตรวจพบเอนไซม์ดังกล่าวนี้ได้[13] การศึกษาความแตกต่างด้านการเกิดสัณฐานในไมโครโซมอลของตับจากกลุ่มตัวอย่างเด็กที่บริจาคตับ 217 ตัวอย่าง พบว่า ระดับโปรตีน CYP2B6 เฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุตั้งแต่แรกคลอดถึง 30 วันหลังคลอด และความผันแปรของระดับเอนไซม์ดังกล่าวในกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มนั้นสูงมากถึง 25 เท่า[13] ส่วนปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อการแสดงออกของ CYP2B6 เมื่อเข้าสู่วัยโตเต็มวัยนั้นอาจขึ้นอยู่กับรูปแบบพันธุกรรมของแต่ละบุคคล[14][15][16][17]

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อความผันแปรได้ของการแสดงออกของ CYP2B6 ทั้งระหว่างบุคคลและภายในบุคคลคือ ผลจากการเหนี่ยวนำของสารเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ (enzyme inducer) ซึ่งระบบควบคุมการแสดงออกของยีน CYP2B6 จะสังเคราะห์เอนไซม์ข้างต้นเพิ่มขึ้นมามากขึ้นหลังจากมีการสัมผัสกับสารกลุ่มดังกล่าว[18] ทั้งนี้ CYP2B6 สามารถถูกเหนี่ยวนำให้แสดงออกเพิ่มมากขึ้นได้โดยยาหลายชนิด โดยเฉพาะยาเหนี่ยวนำเอนไซม์ที่สำคัญอย่าง ไรแฟมพิซิน เฟนิโทอิน และฟีโนบาร์บิทอล ซึ่งยาเหล่านี้จะเข้าไปกระตุ้นส่วนที่เรียกว่า phenobarbital-responsive enhancer module (PBREM) ที่ -1.7 kb บนยีนส่งเสริม (gene promoter) ของ CYP2B6 และที่ xenobiotics-responsive enhancer module (XREM, -8.5 kb) ส่วนปลาย ซึ่งจะทำให้ตัวรับ pregnane X (PXR, NR1I2) และ/หรือตัวรับ constitutive androstane (CAR, NR1I3) เข้าจับกับสารตัวกลางจนทำให้มีการถอดรหัสพันธุกรรมเพิ่มมากขึ้น[14][15][16] และเนื่องจากยีนอื่นในระบบไซโตโครม P450 บางชนิดนั้นก็ถูกควบคุมโดยตัวรับในนิวเคลียสที่เป็นชนิดเดียวกันกับระบบควบคุมของ CYP2B6 จึงให้ CYP2B6 มักถูกเหนี่ยวนำให้แสดงออกมากขึ้นพร้อมกันกับ CYP2C และ CYP3A4 นอกจากยาเหนี่ยวนำเอนไซม์ 3 ชนิดข้างต้นแล้ว ยังมียาอีกหลายชนิดที่สามารถเหนี่ยวนำ CYP2B6 ได้ แต่เป็นไปในระดับที่มีความแรงลดลงมา เช่น ไซโคลฟอสฟาไมด์[19] ไฮเปอร์ฟอริน[20] อาร์ทีมิซินิน[21][22] คาร์บามาเซพีน[23][24] เมตาไมซอล[25][26] ริโตนาเวียร์[27] N,N-diethyl-m-toluamide (DEET)[28] สแตติน[29] อีฟาวิเรนซ์[30] เป็นต้น ทั้งนี้ การศึกษาทางคลินิกเมื่อไม่นานมานี้ให้ผลการศึกษาที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า อิทธิพลของเพศสภาพต่อการเหนี่ยวนำให้ อีฟาวิเรนซ์ เกิดเมแทบอลิซึมด้วยปฏิกิริยา 8-hydroxylation นั้นจะพบในเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย[30] และยังพบว่า สารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดมีความสามารถในการเหนี่ยวนำให้เกิดการแสดงออกที่มากขึ้นของเอนไซม์ CYP2B6 และเอนไซม์ CYP อื่นๆ ได้ผ่านการเกิดปฏิกิริยาทั้งกับ PXR และ CAR[28] นอกเหนือจากที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น ยังมีการตรวจพบการเหนี่ยวนำเพื่อเพิ่มการแสดงออกของ CYP2B6 และเอนไซม์อื่นในไซโทโครม P450 รวมถึงผลกระทบทางคลินิกจากปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ในอีกหลายการศึกษา[31][32]

ความแตกต่างของการแสดงออกของเอนไซม์ที่เป็นผลมาจากความแตกต่างทางเพศสภาพยังถูกค้นพบในอีกหลายการศึกษา จากการศึกษาในกลุ่มประชากรมากกว่า 80 ชาติพันธุ์ พบว่าเนื้อเยื่อตับที่ได้จากผู้บริจาคเพศหญิงมักจะมีปริมาณ mRNA ของ CYP2B6 (3.9 เท่า), โปรตีน (1.7 เท่า) และกิจกรรมของเอนไซม์ (1.6 เท่า) สูงกว่าเพศชาย[33] ส่วนอีกการศึกษาที่ทำในกลุ่มตัวอย่างคอเคเซียนก็ให้ผลไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน กล่าวคือ เนื้อเยื่อตับที่ได้รับจากผู้บริจาคเพศหญิงจะมีระดับการแสดงออกของ mRNA ของ CYP2B6 มากกว่าเพศชาย 1.6 เท่า อย่างไรก็ตาม ในการศึกษานี้ไม่ได้กล่าวถึงความแตกต่างของระดับโปรตีนและกิจกรรมของเอนไซม์ระหว่างทั้งสองเพศ และเมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้รับยาก่อนเข้ารับการผ่าตัดพบว่า ความแตกต่างทางเพศไม่ได้ส่งผลให้เกิดความแปรผันได้ใดๆที่เกี่ยวเนื่องกับ CYP2B6[12] นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบความไม่สอดคล้องกันในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับลักษณะทางเภสัชจลนศาสตร์ของสารที่เป็นซับสเตรตของ CYP2B6 ในกลุ่มตัวอย่างที่มีเพศสภาพแตกต่างกัน กล่าวคือ กลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นเพศหญิงจะมีอัตราการเกิดปฏิกิริยาไฮดรอกซีเลชันที่สูงกว่าเพศชาย สันนิษฐานว่าความไม่สอดคล้องดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากตัวแปรกวนบางอย่าง เช่น อายุ การสูบบุหรี่ เป็นต้น[34] แต่กลับไม่พบความแตกต่างนี้ในผู้ใหญ่[35] ส่วนในกรณีของอีฟาวิเรนซ์ การศึกษาทดลองทางคลินิกหลายการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยเพศหญิงจะมีระดับความเข้มข้นของยาดังกล่าวในกระแสเลือดที่สูงกว่าเพศชาย ซึ่งตรงข้ามกับข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการ (in vitro) ที่กล่าวมาก่อนหน้า เป็นไปได้ว่าอาจมีปัจจัยรบกวนอื่นที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ขัดแย้งกันนี้ อาทิ ปริมาณไขมันรวมของร่างกายที่แตกต่างกัน และสัดส่วนการกระจายยา เป็นต้น[36][37][38] อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของเพศต่อการแสดงออกของ CYP2B6 นั้น อาจขึ้นอยู่กับช่วงอายุ เนื่องจากมีเพียงเพศชายเท่านั้นที่มีระดับการแสดงออกของ CYP2B6 ที่เนื้อเยื่อตับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อมีอายุที่เพิ่มมากขึ้น[39]

นอกจากเนื้อเยื่อตับแล้ว ยังมีการแสดงออกของ CYP2B6 ในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารด้วย อย่างปอดและเยื่อบุโพรงจมูก รวมถึงผิวหนังและไต[40][41][42][43] แต่ความสำคัญของ CYP2B6 ในเนื้อเยื่ออื่นนอกเหนือจากตับนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ตาม CYP2B6 ก็ยังถือเป็นอีกเอนไซม์หนึ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดในการต้านท็อกซินหลายชนิดจากสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น สารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ การกระจายของ CYP2B6 ในเนื้อเยื่อต่างๆนี้อาจเป็นปราการสำคัญที่มีส่วนช่วยป้องกันร่างกายจากสารเคมีดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบ CYP2B6 ในตัวอย่างเนื้อเยื่อสมองของมนุษย์และไพรเมต โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความแปรผันได้ของการแสดงออกของ CYP2B6 ในสมอง ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และความแปรผันหลากหลายทางพันธุกรรม (genetic polymorphism)[44] โดยทั่วไปแล้ว CYP2B6 ในเนื้อเยื่ออื่นนอกเหนือจากตับจะมีปริมาณที่ต่ำกว่าที่พบในตับเป็นอย่างมาก แต่ปริมาณ CYP2B6 ที่พบปริมาณเพียงเล็กน้อยในสมองนี้อาจมีประโยชน์ต่อการเปลี่ยนแปลงยาที่ใช้ในระบบประสาทส่วนกลางและยาสำหรับระบบประสาทบางชนิดให้อยู่ในรูปแบบที่ออกฤทธิ์หรือไม่มีฤทธิ์ หรือช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์ทางระบบประสาทจากยาและยาเสพติด เช่น ยาอี (1-methyl-4-phenyl-1,2,3,6-tetrahydropyridine; MPTP) เป็นต้น ซึ่งสาเหตุดังข้างต้นอาจช่วยอธิบายได้ว่าเหตุใดประสิทธิภาพของยาที่ใช้ในระบบประสาทส่วนกลางบางชนิดจึงไม่มีความสัมพันธ์กับความเข้มข้นของยาในกระแสเลือด[45][46]

แหล่งที่มา

WikiPedia: CYP2B6 http://www.cell.com/trends/pharmacological-science... http://www.eurekaselect.com/57866/article http://www.eurekaselect.com/59240/article http://www.eurekaselect.com/70560/article http://www.medscape.com/viewarticle/748581_4 http://medicine.iupui.edu/flockhart/table.htm http://www.fda.gov/Drugs/DevelopmentApprovalProces... //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1885008 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2346649 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2574793