หน้าที่ ของ CYP2C9

CYP2C9 เป็นเอนไซม์ที่สำคัญในไซโทโครม P450 ซึ่งทำหน้าที่หลักในการออกซิไดซ์สารซีโนไบโอติกและสารประกอบอื่นภายในร่างกาย โดยปริมาณของ CYP2C9 มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 18 ของโปรตีนในไซโทโครม P450ของไมโครโซมของเซลล์ตับ โดยยาที่ใช้ในการป้องกันและบำบัดรักษาโรคในปัจจุบันกว่า 100 ชนิดนั้นต้องเกิดการเมแทบอลิซึมผ่าน CYP2C9 นี้ ซึ่งรวมไปถึงยาที่มีขอบเขตการรักษาแคบ (narrow therapeutic index) อย่างวาร์ฟาริน และเฟนิโทอิน และยารักษาโรคเรื้อรังอื่นๆอีกมากมายที่จำเป็นต้องมีการบริหารยาต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน เช่น อะซีโนคูมารอล โทลบูตาไมด์ ลอซาร์แทน กลิพิไซด์ และยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์บางชนิด ในทางตรงกันข้าม เท่าที่มีข้อมูลในปัจจุบัน CYP2C9 ที่อยู่นอกเนื้อเยื่อตับจำทำหน้าที่ในการเมแทบอไลซ์สารภายในร่างกาย (endogenous compound) ที่สำคัญ เช่น เซโรโทนิน และเนื่องจากการที่ CYP2C9 มีฤทธิ์เป็นเอนไซม์อีพอกซีจีเนสด้วย ทำให้สามารถเมแทบอไลซ์กรดไขมันไม่อิ่มตัวสายได้ด้วย โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงกรดไขมันเหล่านี้ไปเป็นสารชีวเคมีที่ออกฤทธิ์ต่อร่างกายต่อไป[4][5]

การเกิดเมแทบอลิซึมของกรดไขมันไม่อิ่มตัวสายยาวโดย CYP2C9 จะได้สารเมแทบอลไต์ที่แตกต่างกันออกไปขึ้นกับชนิดของกรดไขมันตั้งต้น โดยการเมแทบอไลซ์กรดอะราคิโดนิกจะให้สารผลิตภัณฑ์เป็นกลุ่มสารสเตอริโอไอโซเมอร์ของกรดอีพอกไซด์ไอโคแซททริอีโนอิค (EETs) คือ 5R,6S-epoxy-8Z,11Z,14Z-eicosatetrienoic และ 5S,6R-epoxy-8Z,11Z,14Z-eicosatetrienoic acids; 11R,12S-epoxy-8Z,11Z,14Z-eicosatetrienoic และ 11S,12R-epoxy-5Z,8Z,14Z-eicosatetrienoic acids; และ 14R,15S-epoxy-5Z,8Z,11Z-eicosatetrainoic และ 14S,15R-epoxy-5Z,8Z,11Z-eicosatetrainoic acids ส่วนการเมแทบอไลซ์กรดดอคโคซาเฮกซะอีโนอิกจะได้สารเมแทบอไลต์เป็นกรดอีพอกซีดอคโคซาเพนทาอีโนอิก (EDPs; ส่วนใหญ่เป็น 19,20-epoxy-eicosapentaenoic acid ไอโซเมอร์ [10,11-EDPs]) และการเมแทบอไลซ์กรดไอโคซาเพนทาอีโนอิกจะได้สารสุดท้ายเป็นกรดอีพอกซีไอโคซาเตตราอีโนอิก (EEQs, ส่วนใหญ่เป็น 17,18-EEQ และ 14,15-EEQ ไอโซเมอร์)[6] ข้อมูลจากการศึกษาในสัตว์ทดลองและในมนุษย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดพบว่าสารอีพอกไซด์เหล่านี้มีความเกี่ยวเนื่องกับการลดลงของระดับความดันโลหิตในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง, การป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือด และความผิดปกติอื่นที่จะนำสู่การเกิดพยาธิสภาพแก่หัวใจ; การกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง; การยับยั้งกระบวนการการอักเสบ; การกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่; และฤทธิ์อื่นๆ ต่อเนื้อเยื่อประสาท ซึ่งรวมไปถึงการปรับสมดุลการหลั่งฮอร์โมนประสาท และการยับยั้งการรับรู้ความปวด (ดูเพิ่มที่ กรดอีพอกซีไอโคแซททริอีโนอิก และอีพอกซีจีเนส)[5]