The_Sceptical_Chymist

The Sceptical Chymist: หรือ Chymico-Physical Doubts & Paradoxes เป็นชื่อหนังสืออันเป็นงานเขียนเชิงวิทยาศาสตร์ชิ้นเอกของโรเบิร์ต บอยล์ ตีพิมพ์เผยแพร่ในลอนดอนเมื่อปี ค.ศ. 1661 Sceptical Chymist เขียนในรูปแบบบทสนทนา นำเสนอสมมุติฐานของบอยล์ว่าสสารต่างๆ ประกอบขึ้นด้วยอะตอมและกลุ่มของอะตอมที่เคลื่อนที่ และปรากฏการณ์ทุกชนิดที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการปะทะกันของอนุภาคที่กำลังเคลื่อนที่เหล่านั้น เขาอ้อนวอนให้นักเคมีทำการทดลองและพิสูจน์ว่าการทดลองแสดงให้เห็นว่าธาตุเคมีมิได้จำกัดอยู่แต่เพียงธาตุพื้นฐานทั้งสี่ คือ ดิน ไฟ ลม และน้ำ เขายังขอให้การศึกษาเคมีเป็นไปในเชิงวิทยาศาสตร์มากขึ้นแทนที่จะเป็นเพียงการผลิตยาหรือการเล่นแร่แปรธาตุ ส่วนที่สำคัญคือ เขาเสนอแนวคิดเข้มงวดเกี่ยวกับการทดลองวิทยาศาสตร์ โดยเชื่อว่าทุกทฤษฎีจะต้องผ่านการพิสูจน์จากการทดลองก่อนจะยอมรับกันว่าเป็นความจริง ด้วยเหตุนี้ โรเบิร์ต บอยล์ จึงได้รับยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานวิชาเคมีสมัยใหม่ จาก เจ. อาร์. พาร์ทิงตัน[1]Sceptical Chymist เป็นงานเขียนที่หลักแหลม เปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน เช่นเมื่อเปรียบนักเล่นแร่แปรธาตุกับ "ต้นหนของกองเรือชาว tarshish ของกษัตริย์โซโลมอน ผู้ไม่เพียงนำทองคำ เงิน และงาช้างกลับมาบ้าน แต่นำลิงเอปกับนกยูงมาด้วย" เพราะทฤษฎีของพวกเขานั้น "เหมือนกับขนหางนกยูงที่เป็นเครื่องแสดงออกอันยิ่งใหญ่ แต่ไม่ยั่งยืนและไม่มีประโยชน์; หรือเหมือนลิงเอปที่แม้จะมีรูปลักษณ์คล้ายมีความสามารถอนุมานเหตุผล แต่ก็โง่จนน่าขัน" นอกเหนือไปจากเนื้อหาหลักของหนังสือแล้ว คุณค่าสำคัญของ The Sceptical Chymist คือการทดลองทางเคมีจำนวนมากที่แสดงให้นักเคมีเห็นว่าจะนำเอานิยามมาตรฐานและคำศัพท์เฉพาะมาใช้อย่างไรเพื่ออธิบายผลทางเคมี รวมถึงให้ข้อมูลเท็จจริงใหม่ๆ ทางเคมีด้วย