Ё
Ё

Ё

Yo (Ё, ё) เป็นอักษรตัวหนึ่งในอักษรซีริลลิก และเป็นอักษรตัวที่ 7 ของภาษารัสเซีย อักษรนี้ประดิษฐ์ขึ้นใน พ.ศ. 2340 (ค.ศ. 1797) โดยนักเขียนและนักประวัติศาสตร์ชาวรัสเซีย นิโคไล มิไฮโลวิช คารามซิน (Nikolai Mikhailovich Karamzin) เพื่อลดความสับสนระหว่างการใช้ Е กับ О สำหรับแทนเสียงสระ /o/ ที่ตามหลังพยัญชนะซึ่งถูกอ่านโดยเลื่อนขึ้นไปทางเพดานแข็ง อักษรนี้ใช้ในภาษารัสเซียและภาษาเบลารุส และใช้น้อยครั้งในกลุ่มภาษาสลาวิกอื่นๆโดยปกติแล้วอักษร Ё จะออกเสียงเป็น /jo, ʲo/ (โย) แต่เมื่อตามหลังพยัญชนะเสียงเสียดแทรก ฐานปุ่มเหงือก ได้แก่ Ж, Ч, Ш, และ Щ จะออกเสียงเป็น /o/ (โอ) ธรรมดา นอกจากนั้นพยางค์ที่มีอักษรนี้อยู่จะเป็นเสียงเน้นหนักเสมอ (stress)ลักษณะของ Yo นั้นสามารถระบุได้ว่าเอามาจาก Ye ซึ่งเหมือนอักษรละติน E เว้นแต่ด้านบนจะมีเครื่องหมายเสริมอักษรเป็นจุดสองจุดเรียกว่า umlaut หรือ diaeresis ซึ่งไม่มีที่ใช้ทั่วไปในอักษรอื่นของภาษารัสเซีย เครื่องหมายนี้ถูกใช้เพื่อให้เกิดความแตกต่างกับ Ye เท่านั้น อักษร Ё ได้นำไปใช้ในงานเขียนครั้งแรกเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่ก็ไม่ได้ใช้ให้เป็นมาตรฐานจนถึง พ.ศ. 2483-2492 (ค.ศ. 1940-1949) และยังมีคำทับศัพท์มากมายที่ใช้ ЙО แทนอักษร Ёแม้ว่าหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง อักษร Yo ที่ใช้กันอย่างทั่วไปในงานพิมพ์ ก็ถูกเปลี่ยนไปใช้อักษร Ye เพื่อให้ตัวหนังสือกลมกลืนไปด้วยกัน และปริบทจะเป็นตัวบ่งบอกให้ผู้อ่านเองว่าควรจะออกเสียงอย่างไร แต่การใช้อักษรนี้ยังต้องจำเป็นต้องใช้ในการจัดทำพจนานุกรม หนังสือเรียน หรือตำราสำหรับชาวต่างประเทศ นักประพันธ์และนักวารสารศาสตร์บางท่าน อย่างเช่น อะเลคซันเดอร์ ซอลเจนิซืยน (Aleksandr Solzhenitsyn) หรือ ลีเตราตูร์นายากาเซตา (Literaturnaya Gazeta) ได้จัดพิมพ์หนังสือต่างๆ ด้วยอักษร Yo เสมอและความเป็นจริงในการแทนอักษร Yo ด้วยอักษร Ye นั้น มักจะทำให้เกิดความสับสนให้กับผู้ที่ไม่ใช่ชาวรัสเซีย ซึ่งจะเกิดความยุ่งยากในการถ่ายทอดอักษรจากภาษารัสเซีย ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งคือนามสกุลของชาวรัสเซียที่มักจะลงท้ายด้วย -ев (-ev) และ -ёв (-ov) อย่างผู้นำสองท่านที่ชื่อว่า ฮรูชอฟ (Khrushchev) กับ กอร์บาชอฟ (Gorbachev) ซึ่งนามสกุลของท่านนั้นลงท้ายด้วย -ёв และควรจะถ่ายอักษรด้วย -ovสำหรับภาษาเบลารุส ชาวเบลารุสเห็นว่าการแทนอักษร Yo ด้วยอักษร Ye นั้นไม่เหมาะสม จึงยังคงใช้อักษรนี้เป็นปรกติ