กระแสเกาหลี

กระแสเกาหลี (เกาหลี: 한류, ฮันจา: 韓流) หรือ คลื่นเกาหลี[1] (อังกฤษ: Korean Wave) หมายถึง การแพร่ของวัฒนธรรมร่วมสมัยของเกาหลีใต้ไปทั่วโลก คำนี้ประดิษฐ์ขึ้นในประเทศจีนเมื่อกลางปี ค.ศ. 1999 โดยนักหนังสือพิมพ์ปักกิ่งซึ่งประหลาดใจในความนิยมของบันเทิงและวัฒนธรรมเกาหลีในจีนที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว กระแสเกาหลีสร้างรายได้แก่เกาหลีใต้เป็นเงิน 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐผ่านการส่งออกวัฒนธรรม[2]กระแสเกาหลีเกิดขึ้นจากโลกในยุคโลกาภิวัฒน์ที่การสื่อสารไร้พรมแดน โดยผ่านสินค้าทางวัฒนธรรมเคป๊อป ซึ่งได้แก่ เพลง, ละครโทรทัศน์, ภาพยนตร์, วีดีโอเกม, นวนิยาย, การ์ตูนและแอนิเมชัน โดยเริ่มมาจากกิจกรรมของภาคเอกชนในการค้าขายทางวัฒนธรรมไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะภาพยนตร์และละครโทรทัศน์และเพลงเกาหลี แต่กระแสที่เกิดขึ้นและรายได้มหาศาลที่กลับเข้าสู่ประเทศ ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องกลับมาพิจารณานโยบายเสียใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมในภาคบันเทิง กระแสเกาหลีได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความสดใหม่ที่เป็นทางเลือกของตลาดโลก ในยามที่กระแสของเจป๊อปเริ่มถดถอย และลัทธิต่อต้านอเมริกันแพร่ไปทั่วโลก จนได้รับความนิยมแม้ในกระทั่งประเทศทางแถบตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา, แคนาดา หรือประเทศที่เคร่งครัดศาสนาเช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง[1] ผลกระทบของกระแสนิยมคลื่นเกาหลีส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ทำรายได้มากขึ้น และยังทำให้ผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจในเรื่องราวของความเป็นชาติเกาหลีมากขึ้นอีกด้วย[2]ในประเทศไทย กระแสเกาหลีเริ่มต้นในราวปี ค.ศ. 2001 จากความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง My Sassy Girl (ยัยตัวร้ายกับนายเจี๋ยมเจี้ยม)[3] จากนั้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2005 เมื่อช่อง 3 ได้นำละครโทรทัศน์เรื่อง Jewel in the Palace (แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง) เข้ามาฉาย ประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นปรากฏการณ์ ทำให้สถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ได้ซื้อลิขสิทธิ์ละครโทรทัศน์เกาหลีมาฉายแข่งขันกัน[4][5]จนกระทั่งในราวต้นปี ค.ศ. 2014 กระแสเกาหลีในประเทศไทยเริ่มสร่างซาลง มีการวิเคราะห์กันว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นจะหวนกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง[6]