การขอใช้กล้อง ของ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล

ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปีกล้องฮับเบิล นาซาร่วมกับ ESA และ สถาบันกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เผยแพร่ภาพถ่ายส่วนหนึ่งของเนบิวลากระดูกงูเรือ ชื่อ "เทือกเขาพิศวง" จากกล้องถ่ายภาพสนามกว้าง 3 ซึ่งถ่ายไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 ในภาพ สีน้ำเงินคือออกซิเจน สีเขียวคือไฮโดรเจนกับไนโตรเจน และสีแดงคือซัลเฟอร์

ใคร ๆ ก็สามารถยื่นคำขอใช้กล้องได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเชื้อชาติหรือสถาบัน มีการแย่งกันใช้กล้องสูงมาก สัดส่วนของเวลาที่ขอเข้ามาต่อเวลาที่ให้ใช้ได้อยู่ที่ประมาณ 6 ถึง 9 ต่อ 1[54]

ทุก ๆ ปีจะมีการเปิดให้ยื่นคำขอใช้กล้อง คำขอจะถูกแบ่งเป็นหลายประเภท ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเภท "การสังเกตการณ์ทั่วไป" ซึ่งเป็นการสังเกตการณ์ตามปกติ คำขอประเภท "การสังเกตการณ์แบบรวดเร็ว" คือคำขอที่ขอใช้กล้องไม่เกิน 45 นาทีหรือน้อยกว่า การสังเกตการณ์แบบรวดเร็วใช้สำหรับตอนที่กล้องยังว่างอยู่ระหว่างการสังเกตการณ์ทั่วไป

นักดาราศาสตร์อาจยื่นคำขอ "เป้าหมายของโอกาส" (Target of Opportunity) โดยจะได้เวลาสำรวจหากมีเหตุการณ์ที่ขอไว้เกิดขึ้นระหว่างเวลาที่กำหนด 10% ของเวลาใช้กล้องทั้งหมดถูกแบ่งให้กับผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เรียกว่า "เวลาส่วนตัวของผู้อำนวยการ" (Director's Discretionary Time หรือ DD Time) นักดาราศาสตร์สามารถสมัครขอใช้เวลานี้ได้ตลอดปี โดยปกติมักจะมีการมอบเวลานี้ให้กับการศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ เช่น ซูเปอร์โนวา

การกำหนดเวลาสังเกตการณ์

การกำหนดเวลาสังเกตการณ์ไม่ใช่เรื่องง่าย กล้องฮับเบิลโคจรอยู่ในวงโคจรต่ำของโลกเพื่อที่จะได้รับการซ่อมบำรุงจากกระสวยอวกาศได้โดยง่าย แต่นั่นก็หมายความว่าเป้าหมายทางดาราศาสตร์จำนวนมากจะถูกบดบังโดยโลกเป็นเวลาเกือบครึ่งรอบการโคจร การสำรวจไม่สามารถทำได้ขณะที่กล้องอยู่ในพื้นที่ความผิดปกติที่มหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้ เนื่องจากได้รับรังสีมากเกินไป

เนื่องจากกล้องฮับเบิลลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศส่วนบน เราจึงไม่สามารถคำนวณตำแหน่งของมันได้อย่างแม่นยำเพราะความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศส่วนบนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง การคำนวณตำแหน่งของกล้องฮับเบิลไว้ล่วงหน้าถึง 6 สัปดาห์อาจผิดพลาดได้ถึง 4,000 กิโลเมตร ดังนั้น นักดาราศาสตร์จึงมักจะส่งคำขอการใช้งานไม่กี่วันก่อนวันใช้ เพราะการขอล่วงหน้าไว้นานเกินอาจทำให้เมื่อถึงเวลาได้ใช้แล้วกล้องอาจจะไม่อยู่ในตำแหน่งที่คำนวณไว้[23]

นักสังเกตการณ์สมัครเล่น

ริกคาร์โด จิอักโคนี (Riccardo Giacconi) ผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ ประกาศในปี ค.ศ. 1986 ว่าเขาต้องการมอบ "เวลาส่วนตัวของผู้อำนวยการ" ของเขาให้กับนักดาราศาสตร์สมัครเล่น โดยเขาจะมอบเวลาให้กับการวิจัยที่ไม่ซ้ำกับนักดาราศาสตร์มืออาชีพ และการวิจัยนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้ความสามารถของกล้องโทรทรรศน์อวกาศจริง ๆ ผลก็คือมีนักดาราศาสตร์สมัครเล่นทั้งหมด 13 คนได้ใช้กล้องฮับเบิลโดยทำการสังเกตการณ์ระหว่างปี ค.ศ. 1990 และปี ค.ศ. 1997 แต่หลังจากนั้น การตัดงบประมาณของสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศก็ทำให้ไม่มีนักดาราศาสตร์สมัครเล่นคนไหนได้ใช้กล้องอีกเลย[55]

วันครบรอบ 20 ปี

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลฉลองอายุครบ 20 ปีเมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 2010 ในโอกาสนี้ NASA, ESA, และสถาบันกล้องโทรทรรศน์อวกาศ (STScI) ร่วมเฉลิมฉลองโดยการเผยแพร่ภาพของเนบิวลากระดูกงูเรือ[56]

ใกล้เคียง

กล้อง กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน กล้องจุลทรรศน์ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ กล้องโทรทรรศน์ซูบารุ กล้องโทรทรรศน์ กล้องไร้กระจก กล้องจุลทรรศน์แบบส่องกราดในอุโมงค์ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์

แหล่งที่มา

WikiPedia: กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล http://reference.aol.com/space/hubble-images http://www.aviationweek.com/aw/generic/story_chann... http://www.msnbc.msn.com/id/15489217/ http://www.n2yo.com/?s=20580 http://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=9C0... http://www.scientificamerican.com/article.cfm?id=h... http://www.space.com/businesstechnology/050914_hub... http://www.washingtonpost.com/wp-dyn/content/artic... http://news.yahoo.com/s/ap/20080929/ap_on_sc/shutt... http://adsabs.harvard.edu/abs/1979QJRAS..20...29S