ความเคารพนับถือ ของ กวนอู

เทพเจ้ากวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ

แต่เดิมจีนโบราณให้ความเคารพนับถืองักฮุยเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ สืบต่อกันมาเป็นเวลานานในฐานะเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อชาติ ด้วยคุณธรรมความดีของงักฮุยส่งผลให้ได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งความรักชาติและความจงรักภักดีเป็นที่กล่าวขานกันมาเป็นเวลานาน[33] แต่ปัจจุบันเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อได้เปลี่ยนมาเป็นกวนอูแทนในหลังยุคสามก๊กมานับพันปี กวนอูเป็นเทพเจ้าที่ชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนให้ความเคารพบูชาและศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมาก กวนอูเปรียบเสมือนเทพเจ้าที่ชาวจีนให้ความเคารพกราบไหว้บูชาในฐานะที่เป็นเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ[ต้องการอ้างอิง]

ไม่เพียงแต่ยกย่องให้กวนอูเป็นเทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่ออย่างเดียวเท่านั้น หากแต่กวนอูได้รับสมญานามให้เป็นถึง จงอี้เสินอู่กวนเสิ้งต้าตี้ (จีน: 忠義神武關聖大帝; พินอิน: Zhōngyì Shénwǔ Guān Shèngdàdì) [34] ซึ่งมีความหมายคือมหาเทพกวนผู้ยิ่งใหญ่แห่งความจงรักภักดี คุณธรรมและความกล้าหาญ[35] โดยพระเจ้าเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงเป็นผู้แต่งตั้งเมื่อ พ.ศ. 2187 เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกเรื่องความสัตย์ซื่อและจงรักภักดีเพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ราษฎรซึ่งคนจีนถือความสัตย์เป็นใหญ่ร่วมกับความกตัญญูรู้คุณคน ทำให้กวนอูกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วและได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์สืบต่อมาเป็นเวลานาน[36] และได้รับการเคารพในฐานะเทพอุปถัมภ์และเทพผู้ปกป้องคุ้มครองของตำรวจ นักการเมืองและผู้นำทางด้านเศรษฐกิจ[37]

จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของจีนโบราณ กวนอูอาจมีชีวิตก่อนงักฮุยเป็นเวลาเกือบพันปี กล่าวคือกวนอูเป็นบุคคลสำคัญในสมัยยุคสามก๊ก (พ.ศ. 763 - พ.ศ. 823) แต่งักฮุยมีชีวิตอยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1503 - พ.ศ. 1822) [38] กวนอูและงักฮุยเป็นวีรบุรุษที่เป็นที่กล่าวขานกันสืบต่อกันมาเป็นเวลานานในเรื่องของความสัตย์ซื่อและจงรักภักดี ในประเทศไทยชื่อเสียงและกิตติศัพท์ความสัตย์ซื่อ กตัญญูรู้คุณคนของกวนอูอาจจะเป็นที่กล่าวขานและรู้จักกันมากกว่างักฮุย เนื่องจากกวนอูเป็นตัวละครสำคัญในสามก๊กซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นเทพบู๊ (จีน: 武圣) และมีสถานะเทียบกับเทพบุ๋น (จีน: 文圣) คือขงจื๊อ

ในอดีตบรรพบุรุษของชนเผ่าแมนจู (จีน: 满族) คือพวกเผ่าหนี่ว์เจิน (จีน: 女真族) หรือจิน (พ.ศ. 1658 - พ.ศ. 1777) แมนจูเป็นชนเผ่าที่เรืองอำนาจขึ้นมาในยุคสมัยเดียวกับราชวงศ์ซ่งใต้ ภายหลังจากราชวงศ์ซ่งล่มสลายลงจนถึงราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง จนกระทั่งราชวงศ์ชิงที่ก่อตั้งขึ้นโดยชาวแมนจู แม้กาลเวลาจะล่วงเลยผ่านมานานหลายร้อยปี แต่การที่ชาวจีนให้ความเคารพนับถืองักฮุยในฐานะวีรบุรุษต่อต้านเผ่าแมนจูหรือเผ่าจินก็ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย ซึ่งการให้การยกย่องและเคารพนับถืองักฮุยนั้น ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติสำหรับราษฎรทั่วไป แต่ในสายตาของขุนนางบู๊และบุ๋นภายในราชสำนักชิง การให้ความเคารพนับถือบูชางักฮุยในฐานะวีรบุรุษต้านชนเผ่าจินเป็นการเปรียบได้กับการให้ความเคารพนับถือบูชาผู้ที่ต่อต้านราชวงศ์ชิงนั่นเอง ดังนั้นราชสำนักชิงจึงวางกลอุบายยกย่องกวนอูให้เป็นอีกหนึ่งวีรบุรุษในประวัติศาสตร์จีน เพื่อให้กวนอูกลายเป็นที่ศรัทธาเคารพบูชาของสามัญชนทั่วไปในฐานะเทพเจ้าผู้มีความสัตย์ซื่อ เพื่อเป็นการลดกระแสการเคารพนับถือและเชิดชูงักฮุยให้เบาบางลง[39]

เทพเจ้ากวนอู

กวนอูเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่มีจริยธรรมในด้านความสัตย์ซื่อและความกล้าหาญ ได้รับการยกย่องสรรเสริญเป็นอย่างมากจากผู้ปกครองในหลายดินแดนว่าเป็นบุคคลดีเด่นในประวัติศาสตร์และกลายมาเป็นเทพเจ้าที่ได้รับการเคารพบูชากราบไหว้ กวนอูได้รับเกียรติอย่างสูงสุดคือได้รับการยกย่องให้เทียบเท่ากับขงจื๊อ คือได้รับการขนานนามว่า "เป็นนักบุญพฤติธรรม" และ "เทพเจ้าแห่งสงคราม"[40] ภายหลังจากกวนอูเสียชีวิต มีข่าวลือว่าศีรษะของกวนอูถูกฝังอยู่ทางตอนใต้ของเมืองลกเอี๋ยง ผู้คนที่ทราบข่าวและศรัทธาในตัวกวนอูจึงไปสร้างวัดเทพเจ้ากวนอูและวัดกวนหลินในเมืองลกเอี๋ยง เพื่อเป็นการสักการบูชากราบไหว้ในคุณความดีทั้งสี่ของกวนอูคือ "สัตย์ซื่อถือคุณธรรม กตัญญูรู้คุณและความกล้าหาญ"

ในการแสดงอุปรากรจีน หน้ากากกวนอูที่ใช้แสดงจะเป็นสีแดงล้วน มีความหมายถึงความสัตย์ซื่อและความกล้าหาญ รูปนัยน์ตาเรียวเล็กและวาดรูปคิ้วเหมือนหนอนไหม 2 ตัววางพาดลงมา และเนื่องจากเป็นที่รู้จักกันว่ากวนอูมีหนวดเครายาวมากจึงเรียกขานนามกวนอูว่า "ขุนนางเคราเขียว" และเพื่อเป็นการแสดงความเคารพนับถือกวนอู ในการแสดงอุปรากรจีนจึงไม่เลียนแบบลักษณะของกวนอูให้เหมือนทุกอย่าง หากแต่หน้ากากกวนอูจะเติมเพียงจุดดำลงบนหน้ากากด้วยหนึ่งจุด ซึ่งเป็นการแต้มจุดดำด้วยความตั้งใจของผู้แสดง[41]

หน้ากากกวนอู

ศาลเจ้ากวนอู

ศาลเจ้ากวนอูในเมืองลัวหยาง ประเทศจีน

ปัจจุบันมีวัดและศาลเจ้าของกวนอูจำนวนมากทั้งในประเทศจีน ประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้กวนอูกลายเป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่มีวัดและศาลเจ้ามากที่สุด ในเมืองปักกิ่งสมัยราชวงศ์ชิง ในประเทศจีนเคยมีศาลเจ้ากวนอูถึง 116 แห่ง และมีศาลเจ้ากวนอูที่ไต้หวันถึง 500 แห่ง[42] นอกจากนี้กวนอูยังเป็นเทพพิทักษ์ในด้านการค้าขายเช่น การจำนอง, ช่างทอง, ผ้าไหม และผ้าต่วน

ในประเทศจีนศาลเจ้ากวนอูตั้งอยู่ที่ลัวหยาง ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจีน ภายในศาลเจ้าประกอบไปด้วยตำหนักสามตำหนัก ตำหนักหลักของศาลเจ้ากวนอูตั้งอยู่ภายใน ระยะทางผ่านจากประตูใหญ่เข้าไปประมาณ 50 เมตร มีสิงโตหินจำนวน 104 ตัวเรียงรายสองข้างทาง ที่บริเวณตำหนักใหญ่ (จีน: 大殿) มีรูปปั้นกวนอูขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้คนที่เคารพนับถือสักการบูชา ตำหนักที่สอง (จีน: 二殿) หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของลัวหยาง

ซึ่งตามแผนที่ประเทศจีนในปัจจุบัน ตำแหน่งของเมืองกังตั๋งนั้นตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ภายในตำหนักมีรูปปั้นกวนอูในชุดเกราะพร้อมทำการศึกสงคราม รูปปั้นกวนอูภายในตำหนักที่สองหันใบหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ด้วยลักษณะใบหน้าถมึงทึง ดุดัน ดวงตาเบิกกว้างอย่างโกรธแค้น ซึ่งการจ้องมองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกวนอู เป็นการแสดงออกถึงความโกรธแค้นของกวนอูที่มีต่อซุนกวนในการถูกสั่งประหารชีวิต[43] ภายในตำหนักที่สามมีรูปปั้นกวนอูจำนวนสององค์ โดยรูปปั้นทางด้านซ้ายมือเป็นรูปปั้นกวนอูในลักษณะของการอ่านคัมภีร์หลี่ซื่อชุนชิว ทางด้านขวามือเป็นรูปปั้นกวนอูในอิริยาบถพักผ่อน และทางด้านหลังของตำหนักที่สาม เป็นหลุมฝังศพขนาดใหญ่ที่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่โจโฉฝังศีรษะของกวนอูอย่างสมเกียรติในฐานะเจ้าเมืองเกงจิ๋ว[ต้องการอ้างอิง]

ในประเทศไทยศาลเจ้ากวนอูที่เป็นที่รู้จักของชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนมากที่สุดตั้งอยู่ที่บริเวณตลาดเก่าเยาวราช สร้างขึ้นโดยพระยาอาชาชาติ (เจ้าพระยาคลัง) หรือเฉินอี้ซาน เพื่อสำหรับให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวจีนและคนไทยเชื้อสายจีนในสมัยนั้น ภายในศาลเจ้ากวนอูทางด้านขวามือมีระฆังทองเหลืองใบใหญ่ตั้งอยู่ ที่ผิวระฆังมีอักษรจารึกระบุสร้างขึ้นในสมัยฮ่องเต้เต๋อจงในยุคสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2435 จึงสันนิษฐานได้ว่าศาลเจ้ากวนอูสร้างขึ้นในระหว่างปีดังกล่าว[44]

กวนอูในศาสนาเต๋า

กวนอูได้รับการยกย่องให้เป็น จักรพรรดิเทพกวน (จีน: 關聖帝君) และเป็นเทพพิทักษ์ตามความเชื่อของลัทธิเต๋า การบูชากวนอูเริ่มต้นในราชวงศ์ซ่ง ตามตำนานเล่าว่าในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1220 ทะเลสาบน้ำเค็มซึ่งในปัจจุบันคือเซี่ยโจว (จีน: 解州鎮) เริ่มที่จะผลิตเกลือไม่ได้ จักรพรรดิฮุยจงจึงทรงมีรับสั่งให้นักพรตจางจี้เซียน (จีน: 張繼先) ตรวจหาสาเหตุ ซึ่งได้ทรงรับรายงานว่าเป็นฝีมือของชือโหยว (จีน: 蚩尤) เทพแห่งสงคราม นักพรตจึงอัญเชิญกวนอูเข้ามาต่อสู้จนเอาชนะชือโหยวและสามารถผลิตเกลือได้ดังเดิม พระจักรพรรดิจึงพระราชทานนามให้กวนอูว่า ผู้เป็นอมตะแห่งฉงหนิง (จีน: 崇寧真君) และยกกวนอูให้เป็นเทพในเวลาต่อมา[ต้องการอ้างอิง]

ช่วงต้นราชวงศ์หมิง นักพรตจางเจิ้งฉาง (จีน: 張正常) บันทึกในหนังสือของตนเองในชื่อ ฮั่นเทียนซือซื่อเจีย (จีน: 漢天師世家) เพื่อเป็นการยืนยันตำนานนี้ ทุกวันนี้กวนอูได้รับการนับถือมากในลัทธิเต๋า หลายวัดเต๋าอุทิศเพื่อกวนอูโดยเฉพาะวัดจักรพรรดิกวนในเซี่ยโจวที่ได้รับอิทธิพลเต๋าอย่างมาก ทุกวันที่ 24 เดือน 6 ตามหลักจันทรคติ ซึ่งตรงกับวันเกิดของกวนอู จะมีขบวนแห่เฉลิมฉลองแด่กวนอูอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติ[ต้องการอ้างอิง]

กวนอูในศาสนาพุทธ

ตามแนวคิดของชาวพุทธในจีน กวนอูได้รับการยกย่องให้เป็น พระสังฆารามโพธิสัตว์ (จีน: 伽藍菩薩: แคนำผู่สัก) หมายถึงผู้พิทักษ์ธรรมของชาวพุทธ โดยคำว่า สังฆาราม ในภาษาสันสกฤตหมายถึงสวน[[ชุมชน[[และหมายถึงวัด ดังนั้น พระสังฆาราม จึงหมายถึงผู้พิทักษ์พระรัตนตรัยนั่นเอง ดังนั้นกวนอูจึงเป็นตัวแทนของเทพผู้พิทักษ์ โดยวัดและสวนที่ตั้งรูปปั้นกวนอูนั้น รูปปั้นของกวนอูมักจะถูกวางไว้ ณ ส่วนไกลด้านซ้ายของพระอุโบสถ คู่กับ พระเวทโพธิสัตว์ (จีน: 韋馱菩薩: อุ่ยท้อผู่สัก, ตรงกับพระสกันทะหรือพระขันธกุมารของฮินดู)[ต้องการอ้างอิง]

ตามตำนานชาวพุทธ ในปี พ.ศ. 1135 กวนอูได้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะต่อหน้าจื้ออี่ (จีน: 智顗) ผู้ก่อตั้งนิกายสัทธรรมปุณฑริก ว่ากันว่าขณะนั้นจื้ออี่นั่งสมาธิอยู่ที่เขาจวนหยกสันยฺวี่เฉฺวียน (จีน: 玉泉山) และตื่นจากสมาธิเพราะการปรากฏตัวของกวนอู กวนอูขอให้จื้ออี่สอนหลักธรรมให้ตนแล้วปวารณาตนขอรับศีลห้า จึงกลายเป็นที่กล่าวขานกันว่ากวนอูปวารณาตนเป็นผู้พิทักษ์พุทธศาสนาและเป็นผู้ช่วยเหลือจื้ออี่ก่อตั้งวัดยฺวี่เฉฺวียน (จีน: 玉泉寺) จนปรากฏตราบจนทุกวันนี้[ต้องการอ้างอิง]

ในวรรณกรรมสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้บรรยายไว้ว่าภายหลังจากที่กวนอูเสียชีวิตได้กลายเป็นอสุรกายที่เต็มไปด้วยความพยาบาทลิบองอยู่ในภูเขา และได้ไปปรากฏร่างต่อหลวงจีนเภาเจ๋ง (จีน: 普淨) บนยอดเขาจวนหยกสัน(จีน: 玉泉山) เพื่อเรียกร้องให้นำศีรษะตนเองกลับคืนมา จากการเทศนาของหลวงจีนเภาเจ๋งที่กล่าวว่า "กงเกวียนกำเกวียน ตัวฆ่าเขาเขาฆ่าตัว เมื่อท่านฆ่างันเหลียง บุนทิวแลนายด่านห้าตำบลเสีย ใครมาทวงศีรษะแก่ท่านบ้าง ครั้งนี้ท่านเสียทีแก่ข้าศึกถึงแก่ความตายแล้ว ท่านมาร้องทวงศีรษะแก่ใครเล่า"[45] ทำให้กวนอูได้ซาบซึ้งในรสพระธรรมและปวารณาตนเป็นผู้พิทักษ์ศาสนาพุทธ

แหล่งที่มา

WikiPedia: กวนอู http://www.agalico.com/board/archive/index.php/t-2... http://www.blogth.com/blog/China/Square/602_1.html http://www.bloody-disgusting.com/bdtv/Player.php?i... http://my.dek-d.com/writer/story/viewlongc.php?id=... http://webboard.mthai.com/7/2006-11-17/282694.html http://www.phuketvegetarian.com/borad/data/2/0535-... http://www.posttoday.com/lifestyle.php?id=7636 http://guru.sanook.com/pedia/topic/%C8%D2%C5%E0%A8... http://www.watphananchoeng.com/god/page3.html http://www.weloveshopping.com/template/e1/show_art...