ลำดับขั้นสูง ของ การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์

ลำดับขั้นสูง (อังกฤษ: major taxa) หมายถึง ลำดับขั้นที่พิจารณาได้จากลักษณะของสิ่งมีชีวิตโดยสังเขป สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในลำดับขั้นสูงเดียวกัน มีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกันหรือมีลักษณะร่วมกันอย่างกว้างขวาง ลำดับขั้นสูงที่เล็กลงมาแสดงความคล้ายคลึงกัน หรือมีลักษณะร่วมกันแคบลงมาตามลำดับ ลำดับขั้นสูงทั้งหมดสามารถจัดเรียงลำดับ จากลำดับขั้นที่สูงที่สุดลงมาได้ ดังนี้

โดเมน

โดเมน หรือ เขต (อังกฤษ: domain, superkingdom, empire; ละติน: regio, superregnum) เป็นระดับหรือหมู่ที่ใหญ่ที่สุดของสิ่งมีชีวิต ใช้ในการการจัดหมวดหมู่สิ่งมีชีวิตในโลก โดยปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 โดเมนคือ โดเมนยูแคริโอต โดเมนอาร์เคีย และโดเมนแบคทีเรีย

อาณาจักร

อาณาจักร (อังกฤษ: kingdom; ละติน: regnum) เป็นระดับหลักในปัจจุบัน ใช้ในการแบ่งสิ่งมีชีวิตในแต่ละโดเมนออกจากกัน ตามลักษณะทางกายภาพพื้นฐานอันสังเกตได้ แรกเริ่มเดิมทีใน ค.ศ. 1735 คาโรลัส ลินเนียส ได้แบ่งสิ่งมีชีวิตออกเป็น 3 พวก คืออาณาจักรพืช อาณาจักรสัตว์ และส่วนที่เหลือซึ่งไม่ได้จัดอันดับ ต่อมานักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังได้ศึกษาวิจัย และแบ่งจำแนกสิ่งมีชีวิตอย่างละเอียดขึ้น จนในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 10 อาณาจักร อันได้แก่ อาณาจักรพืช (Plantae), อาณาจักรสัตว์ (Animalia), อาณาจักรฟังไจ, อาณาจักรโพรทิสตา, อาณาจักรโครมาลวีโอลาตา, อาณาจักรเอกซ์คาวาตา (Excavata), อาณาจักรไรซาเรีย, อาณาจักรอะมีโบซัว, อาณาจักรอาร์คีแบคทีเรีย และอาณาจักรยูแบคทีเรีย

ไฟลัม/ส่วน

ไฟลัม หรือ ตอน (อังกฤษ: phylum) และ ส่วน หรือ หมวด (อังกฤษ: division; ละติน: divisio) เป็นลำดับขั้นสูงที่รองลงมาจากอาณาจักร ใช้แบ่งส่วนย่อยของอาณาจักร ไฟลัมถือเป็นคำฐาน แต่ในวงแคบเราจะใช้คำว่าส่วนหรือหมวดในการจำแนกพืชและฟังไจ ไฟลัมที่สำคัญได้แก่ ไฟลัมสัตว์ขาปล้อง (Arthropoda), ไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง (Chordata), ส่วนพืชดอก (Magnoliophyta)

สำหรับสิ่งมีชีวิตชั้นสูงบางพวก เช่น พืชและสัตว์บางพวก มีความซับซ้อนในการแบ่งย่อยในระดับไฟลัม ก็จะจัดอันดับไฟลัมใกล้เคียงกัน ขึ้นเป็นไฟลัมใหญ่และไฟลัมใหญ่ที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน จะจัดอันดับรวมกันเป็นอาณาจักรย่อย ในทางเดียวกัน ไฟลัมที่มีสมาชิกในไฟลัมมาก จะจัดกลุ่มสมาชิกรวมกันเป็นไฟลัมย่อย และไฟลัมย่อยที่มีสมาชิกมาก ก็จัดกลุ่มรวมกันเป็นไฟลัมฐานตามลำดับ

การตั้งชื่อไฟลัมนั้นหากเป็นไฟลัม (ส่วน) ของพืชหรือโครมาลวีโอลาตา จะลงปัจจัย (suffix) ว่า -phyta ส่วนฟังไจจะลงปัจจัย -mycota เช่น Magnoliophyta (พืชดอก) ส่วนอาณาจักรสัตว์ ไม่พบว่ามีการลงปัจจัยเป็นพิเศษ แต่มักลงท้ายด้วย -a เช่น Arthropoda ในไฟลัมย่อยก็มีการลงปัจจัยเช่นกัน แต่จะเปลี่ยนเป็น ลงปัจจัย -phytina ในพืชและโครมาลวีโอลาตา และลงปัจจัย -mycotina ในฟังไจ

ชั้น

ชั้น (อังกฤษ: class; ละติน: classis) ใช้แบ่งส่วนย่อยของไฟลัมหรือไฟลัมย่อยออกเป็นกลุ่มย่อยลงมา ซึ่งสามารถเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น แต่ยังถือเป็นมุมกว้าง ๆ เช่น ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammalia) ชั้นนก (Aves) ชั้นแมลง (Insecta) ชั้นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibia) ชั้นปลากระดูกอ่อน (Chondrichthyes) ชื่อของชั้นใช้ภาษาละติน และในพืชจะลงปัจจัยด้วย -opsida เช่น ชั้นพืชใบเลี้ยงคู่ (Magnoliopsida) และชั้นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (Liliopsida) ส่วนในโครมาลวีโอลาตาลงปัจจัยว่า -phyceae เช่น ขณะที่ฟังไจลงปัจจัยด้วย -mycetes เช่น Agaricomycetes เป็นชั้นเห็ดชั้นหนึ่ง และแบคทีเรียลงปัจจัย -ia ส่วนในสัตว์ไม่พบการลงปัจจัยเป็นหลักมาตรฐาน

อันดับ

อันดับ หรือ ตระกูล (อังกฤษ: order; ละติน: ordo) ใช้แบ่งชั้นหรือชั้นย่อยออกเป็นกลุ่มย่อยลงมา รูปธรรมจะชัดเจนและแบ่งแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้นกว่าระดับชั้น เช่นชั้นนก อาจจะแบ่งออกได้เป็น อันดับนกเกาะคอน (Passeriformes) อันดับไก่ (Galliformes) และอีกหลาย ๆ อันดับ ในทางเดียวกัน ชั้นพืชใบเลี้ยงคู่ ก็อาจแบ่งย่อยลงได้เป็น แอสทีราเลส[2] หรืออันดับแอสเตอร์ (Asterales) ไมยร์ทาเลส[2] หรืออันดับหว้า[3] (Myrtales) แซพินเดลิส หรืออันดับเงาะ[3] (Sapindales) เป็นต้น การตั้งชื่ออันดับจะนิยมลงปัจจัยด้วย -ales ดังตัวอย่างข้างต้น

วงศ์

วงศ์ (อังกฤษ: family; ละติน: familia) เป็นลำดับขั้นสูงที่เล็กที่สุด มีการแบ่งเฉพาะเจาะจงในรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น ชื่อของวงศ์ใช้ภาษาละตินมักลงท้ายด้วย -aceae ในพืช โครมาลวีโอลาตา ฟังไจ และแบคทีเรีย ส่วนในอาณาจักรสัตว์จะลงท้ายด้วย -idae สิ่งมีชีวิตในแต่ละวงศ์ประกอบด้วยสมาชิกที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน นั่นคือ สิ่งมีชีวิตในสกุลต่างกัน แต่อยู่ในวงศ์เดียวกันจะมีส่วนที่ใกล้เคียงกัน มักเป็นลักษณะตามระบบธรรมชาติที่แสดงความเกี่ยวพันทางวิวัฒนาการ แต่บางวงศ์เป็นลักษณะตามระบบเสริมธรรมชาติ เพียงอาศัยความสะดวกในการจัดเท่านั้น

ในพืชชั้นสูงอาศัยลักษณะที่ใช้ในการจัดวงศ์ จากลักษณะโครงสร้างทางลำต้น และทางการสืบพันธุ์ที่สามารถถ่ายทอดได้ ได้แก่ นิสัยการเจริญเติบโต การเรียงใบ การเกิดเพศดอกบนต้น ชนิดช่อดอก สมมาตรดอก จำนวนกลุ่มของเกสรตัวผู้ จำนวนและการเชื่อมติดกันของเกสรตัวเมีย ตำแหน่งรังไข่ ตำแหน่งไข่อ่อน ชนิดรก ชนิดผลไม้ และคัพภวิทยา

พืชบางตระกูลมีลักษณะบางประการที่บ่งชี้ชัดเจน เช่น วงศ์ทานตะวัน (Compositae) มีช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น (head, capitulum) ส่วนในวงศ์ผักชี (Umbelliferae) มีช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม (umbel) และผลแยกแล้วแตก (schizocarp) และวงศ์ก่วม (Aceraceae) มีผลแยกแล้วแตกและมีปีก (winged schizocarp) แต่ในวงศ์กุหลาบ (Rosaceae) มีผลแตกต่างไปตามวงศ์ย่อย

สิ่งมีชีวิตแต่ละตระกูลอาจมีสมาชิกมากน้อยเพียงใดก็ได้ เช่น วงศ์ทานตะวัน วงศ์กล้วยไม้ เป็นวงศ์ใหญ่ที่สุดวงศ์หนึ่งของอาณาจักรพืช มีสมาชิกประมาณ 22,000 ชนิด ส่วนวงศ์ Leitneriaceae มีสมาชิก 1 สกุล และ 1 ชนิด บางครั้งนำไปรวมไว้กับวงศ์มะยมป่า (Simaroubaceae) และในบางครั้งที่สกุลใด ๆ มีลักษณะอันแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจนกับวงศ์ที่สังกัดอยู่ ก็จะมีการแบ่งวงศ์ออกมาใหม่ เช่น วงศ์นกเขียวก้านตอง (Chloropsis) และวงศ์นกแว่นตาขาว แยกออกมาจากวงศ์นกเขียวคราม

เผ่า

เผ่า (อังกฤษ: tribe; ละติน: tribus) เป็นลำดับการจำแนกที่ไม่ใช่ลำดับการจำแนกหลัก จะนิยมนำมาใช้ในการแบ่งวงศ์ขนาดใหญ่ โดยจะแบ่งเป็นวงศ์ย่อยก่อน และหากวงศ์ย่อยยังมีขนาดใหญ่จึงจะแบ่งออกเป็นเผ่า ชื่อของเผ่าใช้ภาษาละตินและลงปัจจัย -eae สำหรับพืช โครมาลวีโอลาตา ฟังไจ และแบคทีเรีย ส่วนอาณาจักรสัตว์ ลงปัจจัย -ini เช่น ตระกูลย่อยของส้ม (Aurantioideae) แบ่งออกเป็น 2 เผ่า คือ Citreae และ Clauseneae

ใกล้เคียง

การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ การจำลองการอบเหนียว การจำลอง การจำกัดแคลอรี การจำแนกแบบฟรีกแมน การจำแนกแบบการ์เดิน การจำแนกประเภทกระดูกหักแผลเปิดของกัสติโล การจำลองสมองทั้งหมด การจำได้แบบชัดแจ้ง การจำยอมสละ