กระบวนการในสหรัฐอเมริกา ของ การถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้ง

นอกเหนือไปจากสิทธิในการริเริ่มออกกฎหมาย การออกเสียงประชามติ และการเลือกตั้งแล้ว ประชาชนชาวอเมริกายังมีสิทธิในการเข้าชื่อกันเพื่อถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งระดับท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งสิทธิดังกล่าวได้รับการริเริ่มและสนับสนุนจากชนชั้นนำที่มีแนวคิดก้าวหน้าในสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้ โดยมีการเริ่มนำเสนอแนวคิดดังกล่าวเป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์โอเรกอน (อังกฤษ: Oregon newspaper) ของนายวิลเลียม เอส. อูเร็น (William S. U'Ren) ทั้งนี้ ยังไม่สามารถเข้าชื่อถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งระดับชาติ (เช่น ประธานาธิบดี สมาชิกวุฒิสภา) ได้ในขณะนี้ ซึ่งการถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเป็นสิทธิของชนในท้องถิ่นนั้น ๆ และมีรัฐสิบห้ารัฐที่กฎหมายอนุญาตให้พลเมืองในรัฐเข้าชื่อถอดถอนข้าราชการและพนักงานของรัฐประจำท้องถิ่นนั้นได้อีกด้วย[1]

มีบุคคลระดับผู้ว่าการรัฐเพียงสองนายที่ถูกถอดถอนโดยพลเมืองในรัฐของตน รายแรกใน พ.ศ. 2464 นายลีนนท์ เจ. ฟาเซียร์ (Lynn J. Frazier) ผู้ว่าการรัฐนอร์ทดาโคตา ถูกถอดถอนในกรณีพิพาทเกี่ยวกับวิสาหกิจที่รัฐเข้าไปเป็นเจ้าของ และรายต่อมาใน พ.ศ. 2546 นายเกรย์ เดวิส (Gray Davis) ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เนื่องจากบริหารงบประมาณรัฐผิดพลาด ประชาชนก็ไม่เอาไว้ต่อไป

อนึ่ง ในรัฐอะแลสกา รัฐจอร์เจีย รัฐแคนซัส รัฐมินนิโซตา รัฐมอนแทนา รัฐโรดไอแลนด์ และรัฐวอชิงตัน พลเมืองจะสามารถเข้าชื่อกันเพื่อถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุพิเศษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น เหตุพิเศษ เช่น ความผิดบางประการเกี่ยวกับการกระทำมิชอบหรือการประพฤติชั่วระหว่างดำรงตำแหน่งหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้ ในกรณีที่มิได้มีกฎหมายบัญญัติ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังสามารถร้องขอต่อศาลให้พิจารณาเหตุตามที่พวกตนระบุมาว่าเป็นเหตุอันสมควรถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งผู้นั้นออกจากตำแหน่งหรือยัง ส่วนในรัฐอื่น ๆ อีกสิบเอ็ดรัฐมิได้กำหนดเหตุพิเศษเช่นว่าไว้

จำนวนของผู้เข้าชื่อและระยะเวลาในการดำเนินการรวบรวมรายชื่อเพื่อถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งล้วนแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ นอกจากนี้ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการดำเนินการเช่นว่าก็ยังแตกต่างกันไปตามแต่สถานการณ์อีกด้วย

การเข้าชื่อถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งที่ดำเนินการสำเร็จ

พ.ศ. 2459 - ถอดถอนนายเจ. ดับเบิลยู. โรบินสัน (J. W. Robinson) นายกเทศมนตรีนครบอยซี (Boise) รัฐไอดาโฮ[2]

พ.ศ. 2464 - ถอดถอนนายลีนนท์ เจ. ฟาเซียร์ (Lynn J. Frazier) ผู้ว่าการรัฐนอร์ทดาโคตา

พ.ศ. 2537 - ถอดถอนข้าราชการและพนักงานของรัฐในเมืองริเวอร์เวล (River Vale) รัฐนิวเจอร์ซีย์ ดังนี้ นายวอลเทอร์ โจนส์ (Walter Jones) นายกเทศมนตรี, นางแพทริเซีย เกเออร์ (Patricia Geier) และนายเบอร์นาด แซลมอน (Bernard Salmon) สมาชิกสภาท้องถิ่น [3]

พ.ศ. 2538 - ถอดถอนนายดอริส อัลเล็น (Doris Allen) และนายพอล ฮอร์เชอร์ (Paul Horcher) ประธานและสมาชิกสภานิติบัญญัติรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. 2545 - ถอดถอนนายวูโดรว์ สแตนเลย์ (Woodrow Stanley) นายกเทศมนตรีนครฟลินต์ (Flint) รัฐมิชิแกน

พ.ศ. 2546 - ถอดถอนนายเกรย์ เดวิส (Gray Davis) ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย

พ.ศ. 2548 - ถอดถอนนายเจมส์ อี. เวสต์ (James E. West) นายกเทศมนตรีนครสโปเคน (Spokane) รัฐวอชิงตัน

การเข้าชื่อถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งที่ดำเนินการไม่สำเร็จ

พ.ศ. 2521 - การถอดถอนนายเดนนิส คูชินิช (Dennis Kucinich) นายกเทศมนตรีนครคลีฟแลนด์

พ.ศ. 2551 - การถอดถอนนายเจฟ เด็นแฮม (Jeff Denham) สมาชิกวุฒิสภาประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย

การเข้าชื่อถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งที่เกือบดำเนินการสำเร็จ

พ.ศ. 2510 - ศาลพิพากษาว่า กฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งไม่ได้ให้อำนาจประชาชนถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งระดับชาติได้ ดังนั้น นายแฟรงก์ เชิร์ช (Frank Church) สมาชิกวุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกาจากรัฐไอดาโฮ จึงไม่อาจถูกถอดถอนได้[4]

พ.ศ. 2531 - หลังจากที่นายอีวาน เมแคม (Evan Mecham) ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐแอริโซนาตั้งแต่ต้นปี พลเมืองของรัฐได้ประสบความสำเร็จในการเข้าชื่อกันกว่าสามแสนหนึ่งหมื่นคนเพื่อถอดถอนนายอีวานออกจากตำแหน่งเหตุความประพฤติไม่เหมาะสม และวุฒิสภาแห่งรัฐเตรียมพิจารณาลงมติถอดถอนในวันที่ 17 พฤษภาคม ปีนั้น แต่ประจวบกับที่ศาลสูงสุดแห่งรัฐมีคำพิพากษาในวันที่ 4 เมษายน ให้การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะและให้นายอีวานพ้นจากตำแหน่งเสียก่อน นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้วการถอดถอนในต่างประเทศอาจจะพบได้ในประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เวเนซูเอล่า แคนาดา ฯลฯ โดยแต่ละประเทศจะมีกระบวนการถอดถอนที่มีความแตกต่างกันไป

ใกล้เคียง

การถอดเป็นอักษรโรมันแบบเฮปเบิร์น การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน การถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้ง การถอดเสียง การถอดเป็นอักษรโรมัน การถอนทัพที่เดิงแกร์ก การถอดรหัส (พันธุศาสตร์) การถอดอักษรเกาหลีเป็นอักษรโรมัน การถอดภาษาญี่ปุ่นด้วยอักษรโรมัน การถอนทัพโซเวียตที่ทาลลินน์