การปฏิวัติฝรั่งเศส
การปฏิวัติฝรั่งเศส

การปฏิวัติฝรั่งเศส

การปฏิวัติฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: Révolution française) ระหว่างปี 1789-1799 เป็นยุคสมัยแห่งกลียุค (upheaval) ทางสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนถึงรากฐานในฝรั่งเศสซึ่งมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อฝรั่งเศสและยุโรปที่เหลือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปกครองฝรั่งเศสมาหลายศตวรรษล่มสลายลงใน 3 ปี สังคมฝรั่งเศสผ่านการปฏิรูปขนาดใหญ่ โดยเอกสิทธิ์ในระบบเจ้าขุนมูลนาย ของอภิชนและของนักบวชถูกกำจัดหมดสิ้นไปภายใต้การโจมตีอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มการเมืองฝ่ายสาธารณรัฐมูลวิวัติ (radical republicanism) ฝูงชนบนท้องถนน และชาวนาในชนบท[1] แนวคิดดั้งเดิมที่เกี่ยวกับจารีตประเพณีและลำดับชั้นบังคับบัญชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจและฐานันดรของกษัตริย์ อภิสิทธิชน และนักบวชในศาสนา ถูกโค่นล้มอย่างฉับพลัน และถูกแทนที่โดยอุดมคติของความเสมอภาค ความเป็นพลเมือง และสิทธิที่ไม่อาจถูกพรากได้ (inalienable rights) อันเป็นหลักการใหม่แห่งยุคเรืองปัญญา การปฏิวัติฝรั่งเศสก่อให้เกิดผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อทิศทางของประวัติศาสตร์สมัยใหม่ นำไปสู่ความเสื่อมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทั่วโลก นักประวัติศาสตร์ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ การปฏิวัติฝรั่งเศสเริ่มต้นใน 1789 ด้วยการเรียกประชุมสภาฐานันดรในเดือนพฤษภาคม ในเดือนมิถุนายนปีแรกของการปฏิวัติ เกิดเหตุการณ์สำคัญเมื่อสมาชิกฐานันดรที่สามประกาศคำปฏิญาณสนามเทนนิส ว่าจะไม่ยอมถอนตัวจนกว่าจะไม่ยอมสลายตัวจนกว่ามอบรัฐธรรมนูญให้แก่ประเทศได้ การทลายคุกบัสตีย์เกิดขึ้นตามมาในเดือนกรกฎาคม คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองในเดือนสิงหาคม และการเดินขบวนสู่แวร์ซายซึ่งบังคับให้ราชสำนักกลับไปยังกรุงปารีสในเดือนตุลาคม เหตุการณ์ในปีถัด ๆ มาแสดงถึงความตึงเครียดระหว่างสมัชชาเสรีนิยมต่าง ๆ และกษัตริย์ทางฝ่ายขวาซึ่งแสดงเจตนาขัดขวางการปฏิรูปใหญ่ต่อมามีการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐในเดือนกันยายน 1792 และพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกประหารชีวิตในปีถัดมา นอกจากนี้ภัยคุกคามจากนอกประเทศในระหว่างนั้น ยังมีบทบาทครอบงำในพัฒนาการของการปฏิวัติ สงครามปฏิวัติฝรั่งเศสเริ่มขึ้นใน 1792 และสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝรั่งเศสที่สามารถการพิชิตคาบสมุทรอิตาลี กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำและดินแดนส่วนใหญ่ทางตะวันตกของแม่น้ำไรน์ อันเป็นความสำเร็จซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสแต่ก่อนทำไม่ได้มาหลายศตวรรษสำหรับสถานการณ์ในประเทศ กระแสความตื่นตัวและอารมณ์ของประชาชนได้เปลี่ยนทิศทางของการปฏิวัติจนลึกลงไปถึงรากฐาน ซึ่งปูทางให้กับการขึ้นสู่อำนาจของมักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ และสโมสรฌากอแบ็ง (Jacobins) และกลายมาเป็นเผด็จการโดยแท้ภายใต้คณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวมระหว่างสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว ในระหว่างปี 1793 ถึง 1794 มีผู้ถูกสังหารถึงระหว่าง 16,000 ถึง 40,000 คน[2] หลังกลุ่มฌากอแบ็งเสื่อมอำนาจและรอแบ็สปีแยร์ถูกประหารชีวิต คณะดิเร็กตัวร์ (Directoire) เข้าควบคุมประเทศฝรั่งเศสใน 1795 และครองอำนาจจนถึง 1799 เมื่อถูกแทนที่ด้วยคณะกงสุล (Consulat) ภายใต้การนำของนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ตการปฏิวัติฝรั่งเศสนำมาซึ่งยุคใหม่ของฝรั่งเศส การเติบโตของระบอบสาธารณรัฐและประชาธิปไตยเสรีนิยม การแผ่ขยายของลัทธิฆราวาสนิยม การพัฒนาอุดมการณ์สมัยใหม่ และการปรากฏขึ้นของสงครามเบ็ดเสร็จ[3] ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส เหตุการณ์สืบเนื่องสำคัญหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ได้แก่ สงครามนโปเลียน การฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ถัดมาอีกสองวาระต่างหากจากกัน และการปฏิวัติอีกสองครั้ง (1830 และ 1848) ขณะที่ฝรั่งเศสสมัยใหม่ก่อร่างขึ้น

ใกล้เคียง

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 การปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิวัติทางวัฒนธรรม การปฏิวัติซินไฮ่ การปฏิวัติเม็กซิโก การปฏิวัติอิหร่าน การปฏิวัติผ้ากาสาวพัสตร์ การปฏิวัติเวทมนตร์ขององค์หญิงเกิดใหม่กับยัยคุณหนูยอดอัจฉริยะ การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์