ลักษณะ ของ การหย่า

การหย่ามีอยู่ ๒ กรณีคือ

๑. การหย่าโดยความยินยอมของทั้ง ๒ ฝ่าย

(๑.๑) ต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อย ๒ คน (ตามมาตรา ๑๕๑๔ วรรคสอง)(๑.๒) ต้องได้มีการจดทะเบียนหย่าตามมาตรา ๑๕๑๕ จึงจะสมบูรณ์

ข้อสังเกต 

ก. สามีภริยาทำหนังสือหย่ากันโดยถูกต้อง แต่คู่หย่าอีกฝ่ายไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่า คู่สัญญาสามารถฟ้องคดีต่อศาลให้บังคับให้หย่าจากกันตามหนังสือหย่าโดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุหย่า (ตามมาตรา ๑๕๑๖ ถ้าศาลบังคับให้หย่าแล้วยังดื้อไม่ไปจด ก็ถือคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาได้ อายุความในการฟ้องคดีมีอายุความ ๑๐ ปี)

ข. การหย่ากันหากทำเป็นเพียงหนังสือก็บังคับได้เฉพาะคู่สามีภริยาเท่านั้น แต่จะไปอ้างเหตุให้เสื่อมสิทธิบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตไม่ได้ เว้นแต่จะได้มีการจดทะเบียนหย่าแล้ว

๒. การหย่าโดยคำพิพากษาของศาล การฟ้องหย่าต้องอาศัยเหตุการหย่า (ตามมาตรา ๑๕๑๖) มีเหตุ ๑๒ ประการ ดังนี้

๒.๑ สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันสามีหรือภริยา เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ

ข้อสังเกต

(๑) กรณีนี้หมายความเฉพาะชายกับหญิงเท่านั้น ถ้าชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ไม่เข้ากรณีนี้

(๒) ฝ่ายที่มีชู้จะต้องรู้ว่าหญิงหรือชายนั้นมีคู่สมรสแล้ว หากไม่รู้ก็ไม่เรียกว่าเป็นชู้ แต่ถ้าเป็นการข่มขืนกระทำเชาเราแม้จะรู้ก็ไม่ถือว่าเป็นชู้ แต่เป็นการล่วงเกินในทำนองชู้สาวและประพฤติชั่ว

(๓) การเป็นชู้แม้กระทำเพียงครั้งเดียวก็ถือเป็นเหตุฟ้องหย่าแล้วซึ่งต่างจากการร่วมประเวณีกับหญิงอื่นที่จะต้องกระทำเป็นอาจิณถึงเป็นเหตุฟ้องหย่าได้

(๔) การร่วมประเวณีกับหญิงอื่นเป็นอาจิณจะต้องเป็นการร่วมเพศตามธรรมชาติ ถ้าทางทวารหนักก็ไม่ใช่ และการที่ชายไปเที่ยวหญิงบริการเป็นประจำก็ถือได้ว่าเป็นการร่วมประเวณีกับหญิงอื่นเป็นอาจิณแล้ว

(๕) แนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเกี่ยวกับภาระการพิสูจน์ในคดีชู้ แม้จะไม่มีพยานรู้เห็นในเวลาที่ชายหญิงร่วมประเวณีกันแต่ถ้ามีพยานพฤติเหตุแวดล้อม เชื่อได้ว่าชายและหญิงรักใคร่ชอบพอกันในทางชู้สาว ไปอยู่ด้วยกันสองต่อสองในที่ลับซึ่งมีโอกาสจะร่วมประเวณีกันได้ ก็สามารถฟังได้ว่าามีชู้ได้

(๖) ศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามข้อ ๑ นี้ สามีหรือภริยามีสิทธิได้รับค่าทดแทนทั้งจากภริยาหรือสามี และจากชายชู้หรือหญิงมีสามีที่ร่วมทำชู้ หรือจากชายอื่นหรือหญิงอื่นที่เป็นเหตุแห่งการหย่านั้นด้วย (ตามมาตรา ๑๕๒๓)

๒.๒ สามีหรือภริยาประพฤติชั่วไม่ว่าจะมีความผิดอาญาหรือไม่ ซึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง

(๑) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

(๒) ได้รับการดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่ยังคงเป็นสามีหรือภริยาที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป

(๓) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีหรือภริยามาคำนึงประกอบ


เหตุหย่าที่กล่าวมาแล้วข้างต้น มีข้อยกเว้นว่าถ้าเป็นเหตุ ๔ ประการนี้จะอ้างเหตุหย่าไม่ได้ คือ

(๑) สามีหรือภริยารู้เห็นหรือยินยอมให้ภริยาหรือสามีอุปการะหญิงหรือชายอื่น เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่น หรือรู้เห็นหรือยินยอมหรือร่วมในการที่สามีหรือภริยาประพฤติชั่วนั้น

(๒) สามีหรือภริยาไม่สามารถร่วมประเวณีได้ตลอดกาลเพราะการกระทำของอีกฝ่าย

(๓) การทำผิดทัณฑ์บนเป็นเหตุเล็กน้อยหรือไม่สำคัญเกี่ยวแก่การอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข

(๔) ฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยแล้ว