พัฒนาการการเมืองไทย ของ การเมืองไทย

การเมืองไทยหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
 
ลำดับเหตุการณ์กราฟิก พ.ศ. 2475–2516
1
2
3
4
3
5
2475
2480
2485
2490
2495
2500
2505
2510
2515

ลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย พ.ศ. 2475–2516
แถวแรก: = รัฐประหาร (คลิกเพื่อดูบทความ); แถวสอง: รายชื่อนายกรัฐมนตรี; แถวสาม: รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่)

 
ลำดับเหตุการณ์กราฟิก พ.ศ. 2516–2544
1
2
3
2516
2520
2524
2528
2532
2536
2540
2544

ลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย พ.ศ. 2516–2544
แถวแรก: = รัฐประหาร (คลิกเพื่อดูบทความ); แถวสอง: รายชื่อนายกรัฐมนตรี; แถวสาม: รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่)

 
ลำดับเหตุการณ์กราฟิก พ.ศ. 2544–ปัจจุบัน
2544
2546
2548
2550
2552
2554
2556
2558
2560
2562

ลำดับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทย พ.ศ. 2544–ปัจจุบัน
แถวแรก: = รัฐประหาร (คลิกเพื่อดูบทความ), การเลือกตั้งทั่วไป (คลิกเพื่อดูบทความ); แถวสอง: รายชื่อนายกรัฐมนตรี; แถวสาม: รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่)

  นายกรัฐมนตรีจากรัฐประหาร
 
ตัวเอียง หมายถึง ฉบับชั่วคราว
 
 
เหตุการณ์สำคัญทางการเมือง
การชุมนุม, ความไม่สงบ
รัฐประหาร
กบฏ
สมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา ยังไม่อนุญาตให้จัดตั้งพรรคการเมือง

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ กองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมืองนับแต่นั้น ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและรัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี 2475 สถาปนาสภาผู้แทนราษฎรโดยโดยกำหนดให้สมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหลังพ้น 10 ปีหรือประชากรเกินกึ่งหนึ่งของประเทศสำเร็จการศึกษาชั้นประถม แต่ก่อนหน้านั้นคณะราษฎรจะเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกไปพลางก่อน[10]:44–5,59 ปลายปี 2475 (นับศักราชแบบเก่า) เกิดความขัดแย้งในสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับข้อเสนอการวางแผนเศรษฐกิจ "สมุดปกเหลือง" ของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ทำให้พระยามโนปกรณนิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรก สั่งยกเลิกการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและปรับคณะรัฐมนตรี

แต่อีกไม่ถึงสองเดือนต่อมา พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นำคณะทหารยึดอำนาจการปกครอง เขาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่เป็นสมาชิกคณะราษฎร ในปีเดียวกัน มีการเลือกตั้งโดยอ้อมครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ไทย ประเทศไทยเป็นประเทศเอเชียประเทศแรกที่สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง นับว่ามีก่อนประเทศในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือบางประเทศ แต่ในขณะนั้นยังมีคำสั่งห้ามพรรคการเมืองอยู่และผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้สมัครอิสระ ผลทำให้ได้สภาฯ ที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยอ้อมกึ่งหนึ่งและนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกกึ่งหนึ่ง[10]:123 ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องอำนาจของรัฐบาลในการแต่งตั้งสมาชิกสภาฯ และอำนาจของสภาฯ ในการลบล้างคำคัดค้านของพระมหากษัตริย์ ทำให้พระองค์ทรงสละราชสมบัติ[10]:126 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลสืบราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ต่อตามกฎมณเฑียรบาล แต่เนื่องจากยังไม่บรรลุนิติภาวะจึงมีการตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระยาพหลพลพยุหเสนาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวม 5 ปี รัฐบาลสามารถปราบปรามกบฏบวรเดชในปี 2476 ผ่านการเลือกตั้งอีกสองครั้ง คือ ในปี 2480 และปี 2481

เนื่องจากพระยาพหลพลพยุหเสนาไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก จอมพล แปลก พิบูลสงคราม จึงสืบตำแหน่งต่อมา ในปี 2483 มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อขยายระยะเวลาที่สมาชิกสภาฯ มาจากการแต่งตั้งจาก 10 ปีเป็น 20 ปี[10]:141 เขาปกครองประเทศแบบเด็ดขาด ในปี 2485 มีการขยายวาระของสภาฯ เนื่องจากบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามทำให้จัดการเลือกตั้งไม่ได้[10]:143 จอมพล ป. พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงปลายสงครามเพื่อให้บุคคลที่นิยมฝ่ายสัมพันธมิตรที่ใกล้ชนะสงครามดำรงตำแหน่งแทน หลังสงคราม มีการยุบสภาฯ ที่มีอายุถึงแปดปีแล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี 2489 ในปีเดียวกัน มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2489 หลังสมาชิกสภาฯ เห็นว่าประชาชนได้รับการศึกษามากพอแล้ว[10]:150,153 รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกำหนดให้มีสองสภาและสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มีรัฐบาลพลเรือนที่ไม่มั่นคงโดยมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีผู้สนับสนุนปรีดี พนมยงค์หลายคน รัฐประหารในปี 2490 ถอนโคนนักการเมืองสายปรีดี และนับเป็นจุดสิ้นสุดอำนาจของคณะราษฎร จอมพล ป. กลับคืนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยผู้มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดในเวลานั้นอีกสองคน ได้แก่ เผ่า ศรียานนท์ และสฤษดิ์ ธนะรัชต์

สมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยโดยไม่มีการแยกใช้อำนาจ

รัฐประหารในปี 2500 นำโดยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำให้จอมพล ป. หมดอำนาจ ในช่วงแรกเขาให้ถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากรัฐบาลบริหารประเทศไม่ราบรื่นเพราะกลไกรัฐสภา เขาจึงรัฐประหารอีกในปี 2501 ครั้งนี้เขายกเลิกรัฐสภาและรัฐธรรมนูญ และปกครองประเทศในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ ระบอบการปกครองนี้บ้างมีผู้เรียกว่า "ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ"[10]:176 นอกจากนี้ยังฟื้นฟูพระราชอำนาจและบทบาททางสังคมของพระมหากษัตริย์ สฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงปี 2506 แล้วถนอมได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2511 หลังจากกระบวนการร่างกว่า 9 ปี และกลับมามีรัฐสภาช่วงสั้น ๆ จนมีรัฐประหารในปี 2514 ซึ่งยกเลิกรัฐสภาอีก ความไม่พอใจที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับการพัฒนาทางการเมืองที่ล่าช้าทำให้เกิดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลนำกำลังเข้าปราบปรามจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ปี 2516

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเข้าแทรกแซงในวิกฤตการณ์ ถนอมถูกบีบให้ลาออก สัญญา ธรรมศักดิ์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทน มีการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2517 ซึ่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาอีกครั้ง ในช่วงนั้นมีการเปิดเสรีทางการเมืองอย่างมากที่เรียก "ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน" อย่างไรก็ดี สถานการณ์ในอินโดจีนที่คอมมิวนิสต์มีอิทธิพลในลาว กัมพูชาและเวียดนามมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านฝ่ายซ้าย การเลือกตั้งในปี 2518 และ ปี 2519 ทำให้ได้รัฐบาลผสมที่ไม่มั่นคง หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สลับกันครองอำนาจ ในเดือนตุลาคม 2519 กลุ่มฝ่ายขวากล่าวหาว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ เหตุการณ์ลงเอยด้วยการสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519

เปรม ติณสูลานนท์เป็นนากยรัฐมนตรี 8 ปีในระบอบ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ"

ในวันเดียวกันนั้นยังเกิดรัฐประหารด้วย ผลทำให้ธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งใช้นโยบายขวาจัด เกิดความแตกแยกในประเทศและรัฐบาลเสื่อมความนิยมจนมีรัฐประหารอีกครั้งในปี 2520 เพื่อเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี รัฐบาลใหม่ของเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและผู้ลี้ภัยอินโดจีน เช่นเดียวกับกำลังเวียดนามพยายามโจมตีข้ามชายแดนเข้ามา ทำให้ถูกบีบให้ลาออกก่อนมีรัฐประหาร ในปี 2523 เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2531 ชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี จากความขัดแย้งภายในกองทัพ ทำให้ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับเขารัฐประหารในปี 2534 นำโดยสุจินดา คราประยูร จากการที่สุจินดาตระบัดสัตย์รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ในปี 2535 จนนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และสุจินดาถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่ง

กลางปี 2540 เกิด "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ซึ่งโค่นรัฐบาลบรรหารและชวลิต ในปีเดียวกันยังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้ง หลังจากนั้นปี 2544 ทักษิณ ชินวัตรนำพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งถล่มทลายในปี 2544 และปี 2548 แนวนโยบายประชานิยมของเขาทำให้ได้รับเสียงสนับสนุนจำนวนมากในชนบท แต่อภิชน ข้าราชการและชนชั้นกลางในเมืองคัดค้านเขา การประท้วงนำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2549 ตามมาด้วยรัฐประหารในปีเดียวกัน นับแต่นั้นการเมืองไทยอยู่ในวิกฤตการเมืองระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านทักษิณ ชินวัตร หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไป ผลปรากฏว่า สมัคร สุนทรเวชนำพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นพันธมิตรของทักษิณชนะการเลือกตั้งอีก ในปี 2551 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม จนเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้มีการรวบรวมเสียงในสภาเพื่อเลือกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ในครั้งนั้นพลเอกเปรมและพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก อำนวยความสะดวกหรือสั่งการโดยตรงให้มีการซื้อตัวกลุ่มเพื่อนเนวิน[11]:87 ระหว่างอภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติประท้วงรัฐบาลโดยขัดขวางการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกในปี 2552 และชุมนุมในกรุงเทพมหานครในปี 2553 เพื่อเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่

อภิสิทธิ์ยุบสภาในปี 2554 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ นำพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง สองปีแรกถือว่ารัฐบาลค่อนข้างมีเสถียรภาพ แต่ในปี 2556 หลังรัฐบาลพยายามผ่านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดการประท้วงโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) สุดท้ายมีรัฐประหารในปี 2557 มีการร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน มีการประกาศใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งดูแลการทำงานของรัฐบาลให้เป็นไปตามแผนนี้ หลังเลื่อนมาหลายครั้ง สุดท้ายมีการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมาก วันที่ 5 มิถุนายน 2562 รัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ลงมติเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย[12]

รัฐธรรมนูญ

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

รัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรมีความจำเป็นในการเมืองไทยหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เพื่อกำหนดกติกาหรือรูปแบบการปกครองประเทศ เนื่องจากเป็นวิวัฒนาการแบบเฉียบพลัน[10]:7–8 กฎหมายธรรมนูญปกครองแผ่นดินชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามนั้น กำหนดให้ราษฎรเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย กำหนดหลักการแยกใช้อำนาจ กำหนดให้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการเพื่อให้พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ในระบอบดังกล่าวสภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์การที่มีอำนาจสูงสุด[10]:40–3 รัฐธรรมนูญฉบับปี 2475 นับเป็นรัฐธรรมูญฉบับที่ใช้กันยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย รัฐสภาเป็นสภาเดียวและสมาชิกมาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งอย่างละกึ่งหนึ่ง จนในรัฐธรรมนูญปี 2489 กำหนดให้มีสองสภา และสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (แต่สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม)[10]:194 รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอายุสั้นเพียงหนึ่งปีก็ถูกยกเลิกไปในรัฐประหารปี 2490 รัฐประหารดังกล่าวส่งผลให้เกิดรัฐธรรมนูญปี 2492 ซึ่งเริ่มมีการบรรจุแนวนโยบายแห่งรัฐด้วย[10]:197

หลังรัฐประหารในปี 2501 โดยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประเทศปลอดรัฐธรรมนูญและคำสั่งคณะปฏิวัติถือเป็นกฎหมายสูงสุด[10]:156 มีการประการใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2502 ระหว่างรอมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่แท้จริงแล้วใช้บังคับกันประมาณ 10 ปี นับว่านานกว่ารัฐธรรมนูญถาวรหลายฉบับ รัฐธรรมนุญกำหนดให้มีสภาเดียว คือ สภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งทำหน้าที่รัฐสภาไปด้วย โดยสมาชิกมาจากการแต่งตั้งของคณะปฏิวัติทั้งหมด[10]:161,171 สฤษดิ์ใช้อำนาจตามมาตรา 17 ของรัฐธรรมนูญสั่งประหารชีวิตคนโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม[10]:174 แม้แต่ถนอม กิตติขจรก็ใช้อำนาจดังกล่าวยึดทรัพย์สฤษดิ์ตกเป็นของแผ่นดินด้วย[10]:177 รัฐธรรมนูญปี 2511 กำหนดให้มีสองสภา โดยวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมีสมาชิกถึงสามในสี่ของสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภามีอำนาจเปิดอภิปรายทั่วไปและเสนอร่างพระราชบัญญัติได้เฉกเช่นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร[10]:203–4 แต่ใช้ได้ไม่นานก็ถูกยกเลิกไปในรัฐประหารปี 2514 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2515 แทน รัฐธรรมนูญฉบับปี 2515 และ 2519 มีมาตราที่ให้อำนาจเต็มที่แก่นายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2502[10]:180–2

รัฐธรรมนูญปี 2517 ได้ชื่อว่าทำให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง[10]:205 โดยมาจากการร่างของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการเลือกตั้ง มีการบัญญัติสิทธิใหม่ เช่น สิทธิไม่ให้ถ้อยคำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง เสรีภาพในการพูดและโฆษณา[10]:207–8 ทั้งมีการอุปถัมภ์พรรคการเมืองโดยให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและสมาชิกภาพผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง[10]:211 มีการกำหนดผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก[10]:212 รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 มีบทเฉพาะกาลที่ให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและมีจำนวนสามในเจ็ดของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นการสืบทอดอายุของรัฐบาลทหาร[10]:214–5 อีกทั้งอำนาจของ ส.ว. ก็มีเท่ากับ ส.ส. และรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้งหรือเป็น ส.ส.[10]:217 สำหรับพรรคการเมืองนั้น รัฐธรรมนูญมีวัตถุประสงค์ให้มีพรรคการเมืองน้อยพรรค จึงมีข้อกำหนดต่าง ๆ ซึ่งกีดกันพรรคการเมืองขนาดเล็ก[10]:219–223

มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือที่เรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (พ.ศ. 2535) รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความโดดเด่นในด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ[13] เช่นเดียวกับความเป็นประชาธิปไตยในตัวกฎหมาย นอกจากนี้ยังบัญญัติให้สมาชิกทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มีการรับรองสิทธิมนุษยชนจำนวนมากตามกฎหมาย และมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหารเป็นครั้งแรก เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา รัฐธรรมนูญทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้นและพรรคการเมืองใหญ่สามารถคว้าที่นั่งในการเลือกตั้งได้เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2540 และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หลังลงประชามติ มีเนื้อหาเน้นการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐผ่านองคกรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และมีสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง

ภายหลังความขัดแย้งทางการเมืองช่วงปี 2556-2557 เกิดรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 พร้อมกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ภายใต้การควบคุมอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐประหารประกาศกฎอัยการศึกและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ปัจจุบัน ประเทศไทยใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งผ่านการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2559 และแก้ไขตามข้อสังเกตพระราชทานจำนวน 3 มาตรา[14]โดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองหลายครั้ง บทเฉพาะกาลเป็นเงื่อนไขกำหนดให้คณะทหารได้เปรียบทางการเมืองและมีความชอบธรรมในการปกครองโดยมีกฎหมายลายลักษณ์อักษรรองรับ[10]:214

ใกล้เคียง

การเมืองไทย การเมือง การเมืองกัมพูชา การเมืองเบลเยียม การเมืองสเปน การเมืองฝ่ายขวา การเมืองเนเธอร์แลนด์ การเมืองฝ่ายซ้าย–ฝ่ายขวา การเมืองลิทัวเนีย การเมาเหตุเคลื่อนไหว

แหล่งที่มา

WikiPedia: การเมืองไทย http://www.bbc.com/thai/thailand-38977996 http://www.posttoday.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%... http://www.prachatai.com/node/12601/talk http://www.unafei.or.jp/english/pdf/PDF_rms/no60/c... http://www.komchadluek.net/detail/20100304/50723/%... http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%AB%E0... http://www.kpi.ac.th/wiki/index.php/11_%E0%B8%95%E... http://www.manager.co.th/iBizchannel/ViewNews.aspx... http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1... http://j5.rtarf.mi.th/img_2/030353.pdf