การจัดเตรียม ของ การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

ฝ่ายพม่า

ด้านแม่ทัพของพระเจ้ามังระกราบทูลให้ใช้การตีกระหนาบแบบคีมจากทั้งทางเหนือและทางใต้[29] ในพงศาวดารฉบับหอแก้วและโกนบองได้ระบุว่า พระเจ้ามังระทรงดำริว่า หากจะส่งเนเมียวสีหบดีนำกองทัพไปทำสงครามกับอยุธยาเพียงด้านเดียวเห็นจะไม่พอ จึงโปรดให้มังมหานรธานำทัพรุกรานมาอีกด้านหนึ่งด้วย[30] โดยก่อนหน้านั้น กองทัพทั้งสองได้รับมอบหมายให้บรรลุภารกิจอื่นเสียก่อน คือ การปราบกบฏต่อพม่า ทั้งทางเหนือและทางใต้ ซึ่งจะเป็นการช่วยเสริมความสำเร็จในการเข้าตีกรุงศรีอยุธยาอันเป็นเป้าหมายหลัก

ฝ่ายเนเมียวสีหบดีมีหน้าที่ปราบกบฏในแคว้นล้านนา กองทัพเนเมียวสีหบดีเคลื่อนไปกะเกณฑ์ผู้คนทางหัวเมืองฉาน โดยทหารฉานนั้นมีเจ้าฟ้าทั้งหลายเป็นผู้นำ[5] อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่ยินดีกับการเกณฑ์ทหาร เจ้าฟ้าบางองค์ในฉานทางเหนือหลบหนีไปเมืองจีน แล้วฟ้องแก่จักรพรรดิจีน[31][32] หลังจากเกณฑ์ทหารได้แล้ว เนเมียวสีหบดียกทัพจากเมืองเชียงตุงเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ และสามารถปราบปรามกบฏลงได้อย่างราบคาบ และภายในฤดูฝน พ.ศ. 2307 ได้ยกขึ้นไปปราบเมืองล้านช้างได้ทั้งหมด และล้านช้างถูกบีบบังคับให้เกณฑ์ทหารเข้าร่วมทัพฝ่ายเหนือ[33] ก่อนจะจัดเตรียมทัพยกเข้าตีกรุงศรีอยุธยาที่เมืองลำปาง และเริ่มเคลื่อนทัพเมื่อฤดูหนาวของปี พ.ศ. 2307[34]

ขณะที่ทางพม่าได้เกิดกบฏขึ้นที่เมืองมณีปุระ พระเจ้ามังระทรงตัดสินพระทัยไม่เรียกทัพกลับ ทรงนำกองทัพไปปราบกบฏด้วยพระองค์เอง เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2307 เสร็จแล้วจึงทรงส่งกองทัพหนุนมาให้ทัพฝ่ายใต้ ทัพของมังมหานรธามีทหารเดิม 20,000 นาย ทำให้มีทหารเพิ่มขึ้นอีก 30,000 นาย[35] ทัพพม่าของมังมหานรธา จึงมีทหารรวมทั้งสิ้น 50,000 นาย ซึ่งนับได้ว่าเป็นการระดมทหารครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง[36] นอกจากนี้ ฝ่ายพม่ายังมีกำลังปืนใหญ่ 200 นายที่เป็นทหารบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสที่ถูกจับเป็นเชลยเมื่อคราวพม่าเกิดศึกภายในด้วย

ฝ่ายทัพมังมหานรธา ราว พ.ศ. 2307 มีราชการต้องปราบกบฏที่ทวาย ต่อมาโจมตีลึกเข้าไปถึงเพชรบุรี แต่ถูกขัดขวางจากทัพอยุธยาต้องยกทัพกลับ ศึกครั้งนี้​อยุธยาเสียทวาย และตะนาวศรีเป็นการถาวร[37] หลังจากที่ได้พักค้างฝนที่ทวายใน พ.ศ. 2308 พร้อมกะเกณฑ์ไพร่พลจากหงสาวดี เมาะตะมะ มะริด ทวาย และตะนาวศรี เข้าสมทบในกองทัพ จนย่างเข้าฤดูแล้ง พ.ศ. 2309 จึงได้เคลื่อนทัพเข้าสู่อาณาจักรอยุธยาตามนัดหมายในเวลาใกล้เคียงกับทัพของเนเมียวสีหบดี[38]

แผนการรบ

แผนการรบฝ่ายพม่าส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ในสงครามพระเจ้าอลองพญา ประการแรก ในคราวนี้มีการวางแผนจะโจมตีหลายทางเพื่อกระจายการป้องกันที่มีกำลังพลมากกว่าของอยุธยา[29] พม่าจะหลีกเลี่ยงเส้นทางโจมตีเพียงด้านเดียวตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยแคบ ๆ ซึ่งหากถูกฝ่ายอยุธยาพบแล้วจะถูกสกัดอย่างง่ายดายโดยฝ่ายอยุธยาที่มีกำลังพลมากกว่า ในสงครามคราวก่อน ฝ่ายพม่าถูกชะลอให้ต้องใช้เวลาเกือบสามเดือนเพื่อสู้รบออกจากแนวชายฝั่ง[39]

ประการที่สอง พม่าจะต้องเริ่มการรุกรานให้เร็วที่สุดเพื่อให้มีเวลาทำสงครามในฤดูแล้งให้ได้นานที่สุด ในสงครามคราวที่แล้ว พระเจ้าอลองพญาเริ่มต้นรุกรานช้าเกินไป[40] ทำให้เมื่อกองทัพพม่ามาถึงกรุงศรีอยุธยาในเดือนเมษายน ก็เหลือเวลาเพียงเดือนเดียวก่อนที่จะถึงฤดูน้ำหลาก คราวนี้ฝ่ายพม่าจึงเริ่มต้นรุกรานตั้งแต่กลางฤดูฝน โดยหวังว่าจะไปถึงกรุงศรีอยุธยาในช่วงต้นฤดูแล้งพอดี[41]

ฝ่ายอยุธยา

ทางด้านการปฏิบัติของอาณาจักรอยุธยาระหว่างการทัพทั้งสองนั้น กษัตริย์อยุธยาได้ทรงส่งกองทัพมาช่วยเหลือเชียงใหม่ให้เป็นกบฏต่อพม่า และช่วยหัวเมืองมอญที่เมืองทวายให้ประกาศอิสรภาพ ทำให้กองทัพพม่าต้องส่งกองทัพไปตีดินแดนทั้งสองคืน เลยไปจนถึงอาณาจักรล้านช้าง เพื่อตัดชัยชนะของกรุงศรีอยุธยา[42] และในการรุกรานกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยพระเจ้ามังระ กองทัพอยุธยาก็ยังคงเตรียมตัวรับกองทัพพม่าในพระนครอีกเช่นเดิม[42]

พระเจ้าเอกทัศทรงระดมทหารครั้งใหญ่ในราชอาณาจักรตั้งแต่มังมหานรธายกกองทัพลงใต้มายึดทวายเป็นการถาวรเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2307 การป้องกันด้านทิศใต้ประกอบด้วยทหารมากกว่า 60,000 นาย ซึ่งพระเจ้าเอกทัศทรงวาง "กำลังที่ดีที่สุด" ไว้ตลอดทางตะวันตกของกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ด่านเจดีย์สามองค์มาจนถึงกาญจนบุรี ผ่านทวาย ไปจนถึงอ่าวไทยที่อยู่ทางใต้สุดเพื่อรับมือกับมังมหานรธา[43] ส่วนทางด้านทิศเหนือ แนวป้องกันหลักของอยุธยาเริ่มตั้งแต่สุโขทัยและพิษณุโลก ส่วนการป้องกันที่อยู่เหนือไปกว่านี้มีการจัดตั้งเป็นค่ายทหารขนาดเล็กโดยผู้นำท้องถิ่น[41][5]

ฝ่ายอยุธยายังคงเน้นการตั้งรับในพระนคร โดยใช้แผนตั้งรับจนถึงฤดูน้ำหลากแล้วรอจนกองทัพข้าศึกถอยทัพกลับไปเอง ยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้เอาชนะข้าศึกมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ ฝ่ายอยุธยายังมีเงินพอจะซื้อปืนคาบศิลาและปืนใหญ่ด้วย ปืนใหญ่บางกระบอกยาวถึง 9 เมตร และยิงลูกปืนใหญ่น้ำหนักกว่า 45 กิโลกรัม[44] และครั้งเมื่อพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตก ทหารพม่าได้ไปพบปืนคาบศิลาใหม่กว่า 10,000 กระบอก และเครื่องกระสุนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ใช้ แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างการล้อมนาน 14 เดือนก็ตาม[45] นอกจากนี้ ฝ่ายอยุธยายังได้มีการใช้ทหารรับจ้างต่างด้าวเพื่อเสริมทัพด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปและชาวจีน โดยมีเรือรบอังกฤษอย่างน้อยหนึ่งลำถูกจัดให้ป้องกันด้านปีกด้วย[5]

นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า รัฐบาลอยุธยาเองก็เห็นว่ายุทธศาสตร์การตั้งรับในพระนครเห็นจะไม่ไหว จำต้องไม่ให้ข้าศึกประชิดพระนครอย่างยุทธศาสตร์ของสมเด็จพระนเรศวร เพียงแต่ว่าระบบป้องกันตนเองของอยุธยามีจุดอ่อนมาก่อนแล้ว จึงทำให้รัฐบาลต้องเตรียมการป้องกันพระนครควบคู่ไปด้วย ดังที่เห็นได้จากการเตรียมเสบียงอาหารและเกณฑ์กองทัพหัวเมือง เพียงแต่ว่าการเกณฑ์กองทัพหัวเมืองได้ทหารจำนวนไม่มากนัก ซึ่งคงเป็นผลมาจากระบบป้องกันตนเองที่มีปัญหานั่นเอง[46] ตรงกันข้ามกับ สุเนตร ชุตินธรานนท์ ที่เห็นว่าทางการอยุธยายังคงใช้พระนครเป็นปราการรับข้าศึกตามยุทธศาสตร์เดิมแต่โบราณ[47]

ใกล้เคียง

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ การเสียชีวิตของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง การเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิล การเสียดินแดนของไทย การเสด็จออกมหาสมาคมในรัชกาลที่ 9 การเสียชีวิตของภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ การเสริมสร้างกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเสียชีวิตของไมเคิล แจ็กสัน