การทัพ ของ การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

การรุกรานช่วงฤดูฝน

กองทัพฝ่ายเหนือของอาณาจักรพม่า ภายใต้การบัญชาการของเนเมียวสีหบดี ได้จัดแบ่งกำลังพลออกเป็นทัพบกและทัพเรือ ทั้งหมดยกออกจากลำปางในเดือนกันยายน พ.ศ. 2308 ลงมาตามแม่น้ำวัง ซึ่งการรุกรานของกองทัพฝ่ายเหนือนั้นถูกชะลอลงอย่างมากเนื่องจากฤดูฝนและผู้นำท้องถิ่น ทำให้เนเมียวสีหบดีต้องโจมตีเมืองแล้วเมืองเล่าไปตลอดทาง[41][5] ท้ายที่สุดแล้วก็ยึดได้เมืองตากและกำแพงเพชรเมื่อสิ้นฤดูฝน

ในเวลาเดียวกัน มังมหานรธาได้เปิดฉากการโจมตีจากทางใต้ในช่วงกลางเดือนตุลาคมโดยแบ่งการโจมตีออกเป็นสามทาง กองทัพฝ่ายใต้ของพม่ามีทหาร 20,000 ถึง 30,000 นาย กองทัพขนาดเล็กถูกส่งผ่านด่านเจดีย์สามองค์มุ่งไปยังสุพรรณบุรี ส่วนกองทัพขนาดเล็กอีกกองหนึ่งรุกลงใต้ไปตามชายฝั่งตะนาวศรีมุ่งหน้าไปยังมะริดและตะนาวศรี และกองทัพหลักฝ่ายใต้รุกรานผ่านด่านเมียตตา และกาญจนบุรีเสียแก่ข้าศึกโดยมีการต้านทานเพียงเล็กน้อย[6]

เหตุหลักที่กาญจนบุรีเสียแก่พม่าโดยง่ายนั้นอาจเป็นเพราะทหารพม่ากรำศึกกว่าทหารอยุธยา แต่ก็อาจอธิบายได้ว่าแม่ทัพอยุธยาคำนวณผิดพลาดถึงเส้นทางเดินทัพหลักของพม่า และไม่มีการเสริมกำลังอย่างเพียงพอเพื่อให้เมืองสามารถต้านทานการโจมตีขนาดใหญ่ได้ หากตัดสินจากการรายงานเส้นทางโจมตีของฝ่ายพม่าจากพงศาวดารไทยแล้ว พบว่าแม่ทัพอยุธยาดูเหมือนจะเชื่อว่าเส้นทางโจมตีหลักของพม่าจะมาจากชายฝั่งอ่าวไทย แทนที่จะเป็นเส้นทางที่สั้นและชัดเจนที่สุดผ่านทางกาญจนบุรี หลักฐานไทยระบุว่าเส้นทางโจมตีหลักของมังมหานรธามาจากตะนาวศรีตอนใต้ โดยข้ามเทือกเขาตะนาวศรีที่ชุมพรและเพชรบุรี[48][23] อันเป็นเส้นทางที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับเส้นทางกาญจนบุรีที่บันทึกไว้ในพงศาวดารพม่า นักประวัติศาสตร์เกียว เติด ระบุเพิ่มเติมโดยเฉพาะว่าเส้นทางโจมตีหลักคือทางด่านเมียตตา[6]

การรุกรานช่วงฤดูแล้ง

หลังจากยึดกาญจนบุรีแล้ว กองทัพฝ่ายใต้ของมังมหานรธาเดินทัพต่อมายังอยุธยา และเผชิญการต้านทานเพียงเล็กน้อยจนกระทั่งมาถึงนนทบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยามาทางทิศใต้ 60 กิโลเมตร ซึ่งอยุธยาตั้งแนวป้องกันสำคัญขึ้นขัดเส้นทางมุ่งสู่พระนคร ฝ่ายอยุธยาใช้กองทัพบกและกองทัพเรือโจมตีค่ายพม่าร่วมกัน กองทัพเรือประกอบด้วยเรือรบหลายลำและเรืออังกฤษลำหนึ่งที่ใช้ยิงปืนใหญ่ถล่มที่ตั้งของพม่า แต่ทหารพม่าสามารถป้องกันค่ายไว้ได้ และทหารอยุธยาถอยทัพกลับไป ส่วนเรืออังกฤษลำนั้นหนีออกทะเลไป[5]

หลังจากนั้นกองทัพมังมหานรธาก็ไปเผชิญกับกองทัพอยุธยาที่มีกำลังพล 60,000 นายใกล้กับทางตะวันตกของกรุง แต่ถึงแม้ว่าจะมีกำลังต่างกันหลายเท่าก็ตาม ทหารพม่าที่กรำศึกกว่าก็สามารถเอาชนะได้ จนทหารอยุธยาต้องหนีกลับไปตั้งมั่นอยู่ในพระนคร[3] มังมหานรธาใช้เวลาเพียงสองเดือนก็มาถึงพระนคร แต่ต้องเคลื่อนทัพไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพราะกองทัพฝ่ายเหนือของเนเมียวสีหบดียังมาไม่ถึง เขาตั้งค่ายใหญ่ไว้ที่เจดีย์ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองทรงสร้างไว้เมื่อสองศตวรรษก่อน[49]

ขณะเดียวกัน กองทัพฝ่ายเหนือของเนเมียวสีหบดียังคงติดอยู่ทางตอนเหนือของอยุธยา ถึงแม้ว่าอัตราการเคลื่อนทัพจะเร็วขึ้นมากแล้วหลังสิ้นฤดูฝน หลังจากยึดกำแพงเพชรได้แล้ว เนเมียวสีหบดีเปลี่ยนเส้นทางไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ และสามารถยึดหัวเมืองหลักทั้งเหนือคือ สุโขทัยและพิษณุโลกได้เป็นผลสำเร็จ (ส่วนในหลักฐานไทยไม่มีระบุว่า กองทัพพม่ายกเข้าตีเมืองพิษณุโลก[50]) ที่พิษณุโลก เนเมียวสีหบดีพักทัพไว้ระยะหนึ่งเพื่อฟื้นฟูกำลังทหารที่สูญเสียไปในการทัพอันทรหดและโรคระบาด ผู้นำท้องถิ่นถูกบังคับให้ดื่มน้ำสาบานความภักดีและจัดหาทหารเกณฑ์ให้แก่พม่า เช่นเดียวกับมังมหานรธาที่หาทหารเกณฑ์เพิ่มเติมจากในท้องที่นอกพระนครนั้นเอง[41][49]

ขณะที่พม่ากำลังฟื้นฟูกำลังทหารของตน ทางการไทยได้ส่งทหารอีกกองหนึ่งเพื่อมายึดพิษณุโลกคืน แต่ถูกตีแตกพ่ายกลับไปโดยประสบความสูญเสียอย่างหนัก นับเป็นความพยายามป้องกันครั้งสุดท้ายในทางเหนือ การป้องกันของอยุธยาพังทลายลงหลังจากนั้น กองทัพพม่าเคลื่อนลงมาทางเรือตามแม่น้ำน่าน ยึดได้เมืองพิชัย พิจิตร นครสวรรค์ ลงมาจนถึงแม่น้ำเจ้าพระยาจนถึงอ่างทอง[23] เนเมียวสีหบดีมาถึงชานพระนครเมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2309 และสามารถติดต่อกับกองทัพมังมหานรธาได้[41]

ทางด้านในกรุงได้ส่งกองทัพออกไปรับกองทัพเนเมียวสีหบดีที่ปากน้ำประสบ ริมแม่น้ำลพบุรีเก่าหรือโพธิ์สามต้น มีพระยากูระติเป็นแม่ทัพบก พระยาคะรานหรือพระยากลาโหมเป็นแม่ทัพเรือ กองทัพอยุธยาถูกตีแตก พม่าสามารถริบไพร่พลและยุทธปัจจัยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งพระยากลาโหมก็ตกเป็นเชลย แล้วจึงยกกองทัพมาตั้งยังปากน้ำประสบ ราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2309 ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ในกรุงก็ได้ส่งพระยาพลเทพออกรับกองทัพมังมหานรธาที่เมืองสีกุก กองทัพพม่ารบชนะได้เคลื่อนไปตั้งยังหมู่บ้านกานนี[51] จนเมื่อทราบว่าทัพเนเมียวสีหบดีมาถึงชานพระนครแล้วจึงย้ายมาตั้งประชิดที่ด้านหลังของพระมหาเจดีย์ภูเขาทอง[52] ในระยะไม่เกิน 1.25 ไมล์จากกำแพงพระนคร[53] (ในพงศาวดารไทยบันทึกไว้ว่า ตั้งค่ายที่ตอกระออมและดงรักหนองขาว[54]) การเคลื่อนทัพของเนเมียวสีหบดีและมังมหานรธาได้แสดงให้เห็นถึงปฏิบัติการที่ประสานและเกื้อหนุนแก่กัน เพราะต่างก็ร่วมดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อปิดกั้นให้อยุธยาตกอยู่ในสภาพที่จนตรอกคือ ช่วยกันทำลายหรือมิฉะนั้นก็ยึดครองหัวเมืองรอบนอก ไม่ให้มีโอกาสเข้ามาช่วยกู้กรุงศรีอยุธยา[55]

หลักที่กองทัพทั้งสองของพม่าใช้ในการปราบปรามหัวเมืองทั้งหลายนั้นตรงกันคือ "หากเมืองใดต่อสู้ก็จะปล้นสะดมริบทรัพย์จับเชลย เป็นการลงโทษเมื่อตีเมืองได้ เมืองใดยอมอ่อนน้อมแต่โดยดีก็เพียงแต่กะเกณฑ์ผู้คนเสบียงอาหารใช้ในกองทัพ โดยไม่ลงโทษ" นอกจากนี้พม่ายังใช้การกระจายกำลังออกเกลี้ยกล่อมผู้คนพลเมืองทั่วไปในท้องถิ่นภาคกลางฝั่งตะวันตกลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงทำให้คนไทยที่เดือดร้อนไปเข้ากับพม่าเป็นอันมาก[56]

การล้อมกรุงศรีอยุธยา

ดูบทความหลักที่: การล้อมอยุธยา (2309-2310)
แผนที่โดยสังเขป แสดงที่ตั้งของกองกำลังฝ่ายเหนือของพม่าในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ราว พ.ศ. 2309

พระเจ้าเอกทัศโปรดให้รวบรวมประชาชนและเสบียงเข้ามาไว้ในพระนคร และเตรียมการป้องกันไว้อย่างแน่นหนา โดยรอคอยฤดูน้ำหลากและอาศัยยุทธวิธีคอยตีซ้ำเมื่อกองทัพพม่าถอนกำลังออกไป อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอยุธยาก็มิได้ตั้งรับอยู่ในพระนครแต่เพียงฝ่ายเดียว ยังส่งกำลังออกไปโจมตีค่ายเนเมียวสีหบดีและค่ายมังมหานรธาอยู่หลายครั้ง[57] ส่วนทางด้านกองทัพพม่ากระจายกำลังออกล้อมกรุงเอาไว้ทุกด้าน พยายามเข้าประชิดกำแพงพระนครหลายครั้งก็ไม่ประสบผล จึงยังมีราษฎรหลบหนีภัยพม่าเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงอยู่เสมอ สำหรับเสบียงอาหารในกรุงก็ยังคงบริบูรณ์ดีอยู่ ดังปรากฏในจดหมายเหตุของบาทหลวงฝรั่งเศสว่า "...เมื่อพม่าเข้าตั้งประชิดพระนครและล้อมกรุงอย่างกวดขันขึ้นตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2309 นั้น เสบียงอาหารในกรุงก็ยังบริบูรณ์ดี มีแต่ขอทานเท่านั้นที่อดตาย..."[58]

เรือรบพม่าสมัยราชวงศ์โกนบอง

เมื่อฤดูน้ำหลากใกล้เข้ามา แม่ทัพพม่าบางส่วนเห็นว่าควรจะล้มเลิกการรุกรานเสีย แต่มังมหานรธาและเนเมียวสีหบดีไม่เห็นด้วย และกองทัพพม่าเตรียมพร้อมรับการไหลหลากของน้ำด้วยการสร้างเรือและเขื่อนบนที่สูง[59] ครั้นเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก มังมหานรธาให้กองทัพรวบรวมเสบียงอาหารสำรองไว้ใช้ ให้ทหารปลูกข้าวในที่นาละแวกใกล้เคียง[60] ระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ทหารพม่าถูกแบ่งแยกเป็นหลายส่วนบนเกาะประดิษฐ์เหล่านั้น[59] ในระหว่างวันที่ 5-10 หลังฤดูน้ำหลากเริ่มต้น เรืออยุธยาถูกส่งออกไปโจมตีค่ายมังมหานรธาและค่ายเนเมียวสีหบดี ครั้งแรกมีพระยาตาน และครั้งที่สองมีพระยากูระติเป็นแม่ทัพตามลำดับ[61] ในการรบคราวแรกนั้นพระยาตานถูกยิงด้วยปืนคาบศิลา และกองเรือที่ถูกส่งออกมานั้นก็หนีกลับเข้าพระนคร ส่วนในการเผชิญหน้าอีกคราวหนึ่งนั้น ปืนใหญ่อยุธยาสามารถทำลายเรือพม่าได้สองลำ พร้อมฆ่าทหารไปหลายนาย[44]

หลังฤดูน้ำหลากผ่านพ้นไป อยุธยาพยายามที่จะตีค่ายพม่าพร้อมกับสร้างแนวปะทะใหม่ขึ้น โดยส่งพระยาไต๊ตีค่ายมังมหานรธา และส่งพระยาพระนริศตีค่ายเนเมียวสีหบดี แต่ก็ถูกตีแตกกลับมาทั้งสองทาง พระเจ้าเอกทัศจึงโปรดให้เพิ่มการป้องกันให้แน่นหนาขึ้น และที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างค่ายล้อมกรุงเอาไว้ทุกด้าน[62] ฝ่ายพม่าก็พยายามเคลื่อนเข้าใกล้กำแพงพระนครขึ้นทุกขณะ เมื่อถึงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2309 ฝ่ายพม่าก็เข้ามาตั้งติดกำแพงพระนครห่างกันเพียงแค่ระยะปืนใหญ่[63] ส่วนฝ่ายพม่าได้ก่อมูลดินขึ้นรอบพระนคร โดยบางกองนั้นสูงกว่ากำแพงเมือง แล้วยิงปืนใหญ่เข้าไปในกรุงและพระราชวัง[44] ปลายปี พ.ศ. 2309 พระยาตากและพระยาเพชรบุรีนำกำลังทางน้ำไปโจมตีเพื่อปลดปล่อยวงล้อม แต่ประสบความพ่ายแพ้ พระยาเพชรบุรีก็เสียชีวิตในที่รบ พระยาตากซึ่งถูกประณามว่าเป็นต้นเหตุของความพ่ายแพ้คราวนั้น ก็นำทหารของตัวฝ่าวงล้อมไปทางตะวันออก ในระหว่างที่อยู่ภายใต้วงล้อมนี้ การวางแนวปะทะของอยุธยาไม่สามารถพลิกผลของสถานการณ์ได้เลย ในพระนครเริ่มขาดแคลนอาหาร ประสิทธิภาพและขวัญกำลังใจของกองทัพตกต่ำ ช่วงต้นปี พ.ศ. 2310 เกิดเพลิงไหม้ในพระนครซึ่งเผาผลาญบ้านเรือนไปกว่า 10,000 หลังคาเรือน[3]

มังมหานรธาเสนอในที่ประชุมแม่ทัพนายกองแนะให้ใช้อุบายลอบขุดอุโมงค์เข้าไปในกรุง พร้อมกับสร้างค่ายทหารขึ้น 27 ค่ายล้อมรอบพระนคร ซึ่งรวมไปถึงเพนียด วัดสามพิหาร วัดมณฑบ วัดนางปลื้ม และวัดศรีโพธิ์ เพื่อจะได้ยิงปืนใหญ่ด้วยความแม่นยำยิ่งขึ้น[64] อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กองทัพหัวเมืองทางเหนือราว 20,000 นาย มาช่วยอยุธยา แต่ก็ถูกตีแตกกลับไปอย่างง่ายดาย[65]

ระหว่างเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2310 ทหารพม่าก็เริ่มการขุดอุโมงค์ด้านหัวรอจำนวน 5 แห่งอย่างเป็นขั้นตอน[66] โดยตั้งค่ายใหม่เพิ่มอีก 3 แห่ง พร้อมกับยึดค่ายป้องกันพระนครทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด และยึดค่ายป้องกันทางด้านทิศใต้ภายในเดือนมีนาคม[67] ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2310 พระเจ้าเอกทัศทรงแต่งทูตออกไปเจรจาขอเป็นเมืองขึ้นของพม่า แต่แม่ทัพพม่าก็ปฏิเสธ โดยอ้างพระบรมราชโองการของพระเจ้ามังระ[68] และต้องการการยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไข[3] มังมหานรธาเสียชีวิตในช่วงนี้ และพระเจ้ามังระมีพระราชโองการให้ฝังศพอย่างสมเกียรติเป็นพิเศษ หลังจากนี้เนเมียวสีหบดีก็ได้เป็นแม่ทัพใหญ่พม่าแต่เพียงผู้เดียว[44]

ต่อมา ฝ่ายเนเมียวสีหบดีก็เสนอแก่นายกองทั้งหลายให้ใช้ไฟสุมเผารากกำแพงเมืองจากใต้อุโมงค์ซึ่งขุดไว้แล้ว จากนั้นก็ตกลงกันเตรียมเชื้อเพลิงและกำลังพลไว้พร้อม[69]

เสียกรุง

ครั้นถึงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310[I] เวลาประมาณบ่ายสามโมง พม่าจุดไฟสุมรากกำแพงเมืองตรงหัวรอที่ริมป้อมมหาชัย และยิงปืนใหญ่ระดมเข้าไปในพระนคร จากบรรดาค่ายที่รายล้อมทุกค่าย พอเพลาพลบค่ำกำแพงเมืองตรงที่เอาไฟสุมทรุดลง เวลา 2 ทุ่ม แม่ทัพพม่ายิงปืนเป็นสัญญาณให้ทหารเข้าพระนครพร้อมกันทุกด้าน พม่าเอาบันไดปีนพาดเข้ามาได้ตรงที่กำแพงทรุดนั้นก่อน ทหารอยุธยาที่รักษาหน้าที่เหลือกำลังจะต่อสู้ พม่าก็สามารถเข้าพระนครได้ในเวลาค่ำวันนั้นทุกทาง[70]

ใกล้เคียง

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ การเสียชีวิตของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง การเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิล การเสียดินแดนของไทย การเสด็จออกมหาสมาคมในรัชกาลที่ 9 การเสียชีวิตของภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ การเสริมสร้างกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเสียชีวิตของไมเคิล แจ็กสัน