สถานการณ์ทางทหารระหว่างการทัพ ของ การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

การตีค่ายบางระจัน

ดูบทความหลักที่: การรบที่บางระจัน

ในขณะเดียวกับที่กองทัพพม่าฝ่ายเหนือยกทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยาผ่านหัวเมืองต่าง ๆ นั้น ปรากฏว่าได้มีทหารพม่ากองหนึ่งกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สิน สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านเป็นอันมาก จนมีการรวมตัวกันเข้าของชาวเมืองวิเศษชัยชาญและชาวเมืองใกล้เคียง ภายใต้การนำของพระครูธรรมโชติ และหัวหน้าชาวบ้านจำนวน 11 คน สามารถทำการรบต้านทานการเข้าตีของพม่าได้ถึง 8 ครั้ง แต่สุดท้าย ค่ายบางระจันถูกตีแตกด้วยยุทธวิธีของสุกี้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2309 รวมเวลาต้านกองทัพพม่าได้นาน 5 เดือน ซึ่งการรบของชาวค่ายบางระจัน "นับว่าเข้มแข็งกว่ากองทัพของกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น"[71]

พงศาวดารไทยและพม่าไม่ค่อยจะกล่าวถึงชาวบ้านบางระจันมากนัก โดยเป็นการกล่าวถึงแบบรวบรัด เนื่องจากพงศาวดารมักจะกล่าวถึงความขัดแย้งในระดับรัฐต่อรัฐเท่านั้น[72]หรือเพราะชาวบ้านบางระจันทำการรบเพื่อป้องกันตนเอง[73] หรือมิฉะนั้นก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นเลยก็เป็นได้ ในพงศาวดารพม่ากล่าวถึง "ผู้นำเล็กน้อย" ที่หยุดการรุกกองทัพฝ่ายเหนือ แต่ระบุไว้ว่า เกิดขึ้นในช่วงต้นของการทัพตามแม่น้ำวัง ช่วงฤดูฝน (สิงหาคม-ตุลาคม) แม่ทัพพม่าผู้ประจำอยู่ใกล้กับอยุธยาเวลานั้น มิใช่เนเมียวสีหบดี แต่เป็นมังมหานรธา ซึ่งกองทัพฝ่ายใต้ได้ตั้งรอกองทัพฝ่ายเหนือนานนับเดือน ดูเหมือนว่าการบรรยายทั้งสอง ผู้นำเล็กน้อยที่ต้านทานเนเมียวสีหบดีในทางเหนือ และมังมหานรธาที่รั้งทัพไว้ที่กรุงศรีอยุธยา ผสมกันจนเกิดเป็นตำนานดังกล่าวขึ้น[6]

การรบที่ปราจีนบุรี

ดูบทความหลักที่: การรบที่ปราจีนบุรี

ในระหว่างการทัพ กรมหมื่นเทพพิพิธได้หนีจากการคุมขังในเมืองจันทบุรี พร้อมกับจัดตั้งกองทัพอาสาขึ้นเพื่อจะกู้กรุงศรีอยุธยา ในประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2309 นับได้ทหารประมาณ 10,000 นาย ยกมาตั้ง ณ เมืองปราจีนบุรี หลังจากนั้น กองทัพอาสาดังกล่าวได้ทำการรบกับทหารของทางการอยุธยา ซึ่งไม่ไว้ใจกรมหมื่นเทพพิพิธ แต่สู้รบกันหลายครั้ง ก็ไม่ได้มีผลแพ้ชนะเด็ดขาด[74] ก่อนที่มังมหานรธาจะทราบข่าว และได้ส่งทหาร 3,000 นาย ไปปราบกองทัพอาสา ภายหลังจากทัพหน้าถูกตีแตก แม่ทัพหน้าก็ตายในที่รบ กองทัพอาสาดังกล่าวจึงสลายตัวไป ส่วนกรมหมื่นเทพพิพิธหนีไปยังเมืองนครราชสีมา

การละทิ้งหน้าที่ระหว่างการทัพ

ในระหว่างการทัพ เจ้าเมืองที่ถูกขอความช่วยเหลือส่งความช่วยเหลือมายังกรุงศรีอยุธยาเพียงเล็กน้อย โดยหัวเมืองตามเส้นทางเดินทัพเลือกที่จะใช้กำลังเพื่อป้องกันตนเองหรือไม่ก็ยอมจำนนต่อพม่า ซ้ำยังมีไพร่พลเมืองยังติดสินบนข้าหลวงเพื่อเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร[17]

ครั้นเมื่อข้าศึกเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ได้ปรากฏข้าราชการและราษฎรจำนวนมากหลบหนีไป ทำให้พวกที่เหลืออยู่ในกรุงเกิดการท้อหมดกำลังใจ ทั้งที่ผู้ซึ่งหลบหนีไปจำนวนมากนั้นได้สร้างวีรกรรมในสมัยต่อมา นอกจากนี้ กองทัพหัวเมืองทั้งหลายที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้ว และส่วนใหญ่ก็คงไม่เต็มใจจะช่วยเหลือกรุง เป็นผลให้หลังจากกองทัพพิษณุโลกยกกลับไป กองทัพหัวเมืองอื่นก็ไม่มีกำลังใจอยู่ต่อสู้อีก ตัวอย่างข้าราชการผู้ละทิ้งหน้าที่ระหว่างการทัพ ได้แก่ พระยาพลเทพ หลวงโกษา พระยารัตนาธิเบศร์ พระยานครราชสีมา เจ้าศรีสังข์ และพระยาตาก เป็นต้น[75] ความล้มเหลวของยุทธวิธีน้ำหลากนี้เองซึ่งส่งผลกระทบถึงความเข้มแข็งและวินัยทหาร[57]

สงครามจีน-พม่า

ขณะที่สงครามดำเนินไปนั้น จากการเกณฑ์ทหารในรัฐฉานตอนเหนือของเนเมียวสีหบดี ซึ่งทางการจีนถือว่าเป็นดินแดนของตน จักรพรรดิเฉียนหลงจึงมีพระบรมราชโองการให้รุกรานสิบสองปันนาและเชียงตุง ราวเดือนธันวาคม พ.ศ. 2308 ขณะที่พม่าทำสงครามอยู่ที่พิษณุโลกและอยุธยา จีนได้ส่งทหาร 6,000 นายล้อมเมืองเชียงตุง แต่ก็ถูกตีแตกกลับไป

เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2309 จีนส่งกำลังเข้ารุกรานพม่าเป็นครั้งที่สองโดยมีเป้าหมายมุ่งตรงไปยังกรุงอังวะ คราวนี้จีนมีกำลังพลถึง 25,000 นาย พระเจ้ามังระแม้จะไม่ได้ทรงคาดการณ์ถึงกำลังรบจำนวนมากเช่นนี้ แต่พระองค์ก็ไม่ทรงเต็มพระทัยจะเรียกกองทัพกลับมาจากอยุธยา พระองค์ทรงออกรบด้วยพระองค์เอง และมีคำบัญชาแก่แม่ทัพในอยุธยาให้ตีกรุงให้แตกโดยเร็ว เพื่อจะได้กลับมาตุภูมิเพื่อป้องกันบ้านเมือง[76] และในภายหลัง พระองค์ทรงมีบัญชาอีกหนหนึ่งให้ "บากบั่น" ในการล้อม[77]

ใกล้เคียง

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ การเสียชีวิตของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง การเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิล การเสียดินแดนของไทย การเสด็จออกมหาสมาคมในรัชกาลที่ 9 การเสียชีวิตของภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ การเสริมสร้างกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเสียชีวิตของไมเคิล แจ็กสัน