ขนมขิงรูปแบบต่างๆทั่วโลก ของ ขนมปังขิง

ทุกวันนี้ขนมขิงจัดเป็นขนมอบยอดนิยมสำหรับช่วงเทศกาลคริสต์มาสโดยมีชื่อเรียกและรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปมากมายตามแต่ละภูมิภาค มีทั้งขนมขิงทั้งแบบที่เคลือบและไม่เคลือบช็อกโกแลต ทั้งแบบที่มีถั่วต่างๆ และอัลมอนด์ มากหรือน้อยแตกต่างกันไป หรือแบบที่สอดไส้แยม เป็นต้น

ขนมขิงลายภาพ

ขนมขิงลายภาพก็คือขนมขิงที่มีการตัดหรือกดทับให้เป็นลาย ขนมขิงรูปแบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 15 มีทั้งแบบดั้งเดิมที่มีรูปภาพทางศาสนา และหลังจากนั้นก็เริ่มมีแบบที่เป็นรูปภาพทั่วไป ในปัจจุบันขนมขิงลายภาพเหล่านี้เป็นที่แพร่หลายในนานาประเทศ และไม่ได้ผลิตเพียงแค่ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสอีกต่อไป ขนมขิงรูปหัวใจที่ตกแต่งด้วยน้ำตาลไอซิ่งนั้นค่อนข้างเป็นที่รู้จักกันดี และซื้อหาได้ทั่วไปในงานรื่นเริง งานประจำปี และแม้กระทั่งบนแผงขายขนมในตลาดคริสต์มาส

หนึ่งในขนมขิงลายภาพซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วโลกก็คือ “เจ้ามนุษย์ขนมขิง หรือ จินเจอร์เบรดแมน (Gingerbread Man) ” จากประเทศแถบที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรูปร่างเป็นคนแบบปั้นง่ายๆ โดยไม่มีรายละเอียดของมือและเท้า เจ้ามนุษย์ขนมขิงมีชื่อเรียกว่า “เพ็พพาร์คาคอร์ (pepparkakor) ” ในภาษาสวีเดน และ “เซแวร์นิเย โคซูลี (северные козули) ” ในภาษารัสเซีย เชื่อกันว่าเจ้ามนุษย์ขนมขิงนี้นำมาซึ่งโชคดีและความร่ำรวย

บ้านขนมขิง

ในภาษาเยอรมัน สิ่งที่เรียกว่า บ้านขนมขิงพริกไทย หรือ เฟฟเฟอร์คูเคนฮอยส์เช็น (Pfefferkuchenhäuschen) ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า บ้านขนมปังกรอบ หรือ คนุสเปอร์ฮอยส์เช็น (Knusperhäuschen) ในนิทานเรื่องบ้านขนมปัง (นิทานเรื่องแฮนเซลกับเกรเทล) ก็ทำมาจากขนมขิงเช่นกัน บ้านขนมขิงเหล่านี้นอกจากจะเป็นที่แพร่หลายในประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมันแล้ว ยังหาซื้อได้ในแถบยุโรปตะวันออกและประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษอีกด้วย

ขนมขิงสูตรเฉพาะของเยอรมนี

ขนมขิงสูตรเฉพาะของเยอรมนีหลายตำรับเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ขนมขิงตำรับเมืองนูเรมเบิร์กและขนมขิงตำรับเมืองอาคเคน สูตรขนมขิงเฉพาะตามภูมิภาคต่างๆยังได้แก่ ขนมขิงตำรับรอสเนอร์ (Rosner Lebkuchen) จากเมืองวาลด์ซาสเซน (Waldsassen) ขนมขิงตำรับเบนท์ไฮม์เมอร์ มอพเพ็น (Bentheimer Moppen) ขนมขิงพริกไทยตำรับเมืองพุลสนิทซ์ หรือ พุลสนิทเซอร์ เฟฟเฟอร์คูเคน (Pulsnitzer Pfefferkuchen) ไนซ์เซอร์ คอนเฟคท์ (Neisser Konfekt) และ ขนมขิงถั่วพริกไทยแห่งรัฐเม็คเลนบูร์ก หรือ เม็คเลนบูร์กเกอร์ เฟฟเฟอร์นึซเซอ (Mecklenburger Pfeffernüsse)

ขนมขิงในรัสเซีย

ขนมขิงตำรับรัสเซียที่มีชื่อในภาษารัสเซียว่า ปริยานิกี (ปริยานิกี หรือ Пряники เป็นคำเรียกแบบพหูพจน์ หากเป็นชิ้นเดียวจะเรียกว่า ปริยานิก หรือ Пряник) ประกอบด้วย แป้งสาลี น้ำตาล มาร์การีน เนย น้ำมัน น้ำ นม และเกลือ บางครั้งอาจใส่น้ำผึ้งและเครื่องเทศลงไปด้วยก็ได้ ขนมขิงตำรับนี้มักเสิร์ฟคู่กับชารัสเซีย

ที่เมืองตูลาได้พบว่ามีการนำขนมขิงปริยานิกีมาทำเป็นรูปร่างต่างๆ และเติมรสชาติที่แตกต่างกันออกไปมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นอย่างช้า ในปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ขนมขิงตั้งอยู่ที่เมืองนี้ด้วยผู้เข้าชมจะมีโอกาสได้ลิ้มรสขนมขิงปริยานิกีที่อบมาสดๆ ใหม่ๆ

ขนมขิงในเขตเทือกเขาแอลป์

ในสวิตเซอร์แลนด์ ขนมขิงรูปซานตาคลอสเป็นที่นิยมแพร่หลาย บนชิ้นขนมขิงจะมีกระดาษรูปซานตาคลอสแปะอยู่โดยใช้น้ำยางกัมอารบิกซึ่งเป็นยางไม้ธรรมชาติเป็นกาวติด ประเพณีนี้มีมาตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่19 ขนมขิงตำรับสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกคือ ขนมขิงตำรับบาสเลอร์ เล็คเคอลี (Basler Leckerli) จากเมืองบาเซล และขนมขิงตำรับบิเบอร์ลี (Biberli) จากเทือกเขาแอพเพ็นเซล ขนมขิงที่มีความหลากหลายคล้ายๆ กันนี้ก็เป็นที่แพร่หลายไปทั่วในออสเตรียเช่นเดียวกับในเยอรมนี

ขนมขิงชนิดอื่นๆ ในยุโรป

ประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็มีขนมขิงตำรับเฉพาะที่มีประวัติความเป็นมายาวนานเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ขนมขิงตำรับฝรั่งเศสแห่งเมืองดิโจ (Dijon) ขนมขิงตำรับคริสเตียนส์เฟลด์ (Christiansfeld) ของเดนมาร์ก หรือ ขนมขิงตำรับธอร์นเนอร์ คาทรินเช็น (Thorner Kathrinchen) จากเมืองธอร์นซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองโตรันของโปแลนด์ตั้งแต่ ค.ศ. 1919 ตุ๊กตาขนมขิงและบ้านขนมขิงที่มาจากเมืองพาร์ดูบิซในสาธารณรัฐเช็กนั้นจะแต่งหน้าด้วยน้ำตาลไอซิ่งจำนวนมากเป็นพิเศษ

ขนมขิงที่ใช้ทำน้ำซอส

ขนมขิงที่ใช้ทำน้ำซอส ซึ่งในภาษาเยอรมันเรียกว่า โซเซนคูเคน (Soßenkuchen) หรือ โซเซนเลบคูเคน (Soßenlebkuchen) เป็นขนมขิงธรรมดาๆชนิดหนึ่ง มีอยู่ในบางภูมิภาคของเยอรมนี โดยจะมีการผลิตขนมขิงชนิดนี้ในทุกฤดูกาลเพื่อใช้ในการทำน้ำซอส