ชื่อเรียกต่างๆของขนมขิง ของ ขนมปังขิง

ขนมขิงเองก็เหมือนกับอาหารชนิดอื่นๆ ที่มีชื่อเรียกในภาษาเยอรมันแตกต่างกันออกไปตามแต่ละภูมิภาค ในทางตอนใต้ ตะวันตก และตอนเหนือของเยอรมนีจะใช้คำว่า เลบคูเคน (Lebkuchen) ขณะเดียวกันในภูมิภาคทางใต้และตะวันตกของเยอรมนีก็อาจพบชื่อเรียกขนมขิงที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ ลาเบอคูเคน (Labekuchen) เล็คคูเคน (Leckkuchen) หรือ เลเบนส์คูเคน (Lebenskuchen) ในบางพื้นที่ของรัฐบาวาเรียและรัฐบาเดน-เวิร์ทเทมเบิร์กเรียกขนมขิงว่า มาเก็นโบรท (Magenbrot) แม้ว่าโดยรวมแล้วจะหมายถึงขนมอบรูปแบบที่ต่างออกไปก็ตาม ตรงกันข้ามกับทางตะวันออกของเยอรมนีที่เรียกขนมขิงกันว่า เฟฟเฟอร์คูเคน (Pfefferkuchen) หรือขนมขิงพริกไทย

การวิจัยถึงที่มาและความหมายของคำว่า เลบคูเคน (Lebkuchen) ซึ่งแปลว่าขนมขิงในภาษาเยอรมันนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แม้ว่าคำว่า เลบคูเคน จะมีการออกเสียงคล้ายกับคำว่า เลเบน (Leben) ที่หมายถึงชีวิต แต่ก็น่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกันเลย เพราะคาดว่าคำว่า เลบคูเคน มาจากคำภาษาละตินที่ว่า ลิบุม (libum) ซึ่งหมายถึง ขนมอบรูปร่างแบน หรือขนมเซ่นไหว้ มีการตีความทางศัพทมูลวิทยา (ศาสตร์แห่งที่มาของคำศัพท์) ว่าที่มาของคำดังกล่าวมาจากคำว่า ไลบ์ (Laib) ในภาษาชนเผ่าเจอร์มานิคโบราณ ซึ่งหมายถึงก้อนขนมปัง

ชื่อเรียก เฟฟเฟอร์คูเคน (Pfefferkuchen) หรือขนมขิงพริกไทย มีที่มาจากยุคกลาง ในยุคที่เรียกเครื่องเทศจากต่างประเทศซึ่งใช้เป็นส่วนผสมในการอบขนมรวมกันว่า พริกไทย คำเรียกขนมขิงในภาษาอังกฤษที่ว่า จินเจอร์เบรด (gingerbread) หรือในภาษาฝรั่งเศสที่ว่า แปง เด ปีส (pain d’épices) รวมถึงคำว่า อิงแกวร์โบรท (Ingwerbrot : ขนมปังขิง) หรือ เกเวิร์ซโบรท (Gewürzbrot : ขนมปังเครื่องเทศ) ในภาษาเยอรมัน ล้วนสื่อความหมายที่บ่งถึงเครื่องเทศแห่งโลกตะวันออกได้อย่างชัดเจน ส่วนคำว่า โฮนิกโบรท (Honigbrot : ขนมปังน้ำผึ้ง) ในภาษาเยอรมัน นั้นก็สื่อถึงส่วนผสมหลักอย่างต่อไปของขนมขิงซึ่งก็คือ น้ำผึ้ง นั่นเอง