การพัฒนาเทคนิคการเขียนภาพแบบตะวันตก ของ ขรัวอินโข่ง

จากการสันนิษฐานเช่นเดียวกันว่า อิทธิพลของตะวันตกที่เริ่มหลั่งไหลเข้ามามากตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 จึงมีการเร่งรัดพัฒนาประเทศเป็นแบบตะวันตกมากขึ้นทั้งด้านวัฒนธรรมและวิทยาการ ซึ่งรวมถึงรูปแบบศิลปะแบบตะวันตกจากทั้งยุโรปและอเมริกา เชื่อกันว่าขรัวอินโข่งเป็นศิลปินที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่แหวกแนวจากรูปแบบประเพณีเดิมอยู่แล้ว จึงกล้ารับเทคนิคแบบตะวันตกมาประยุกต์ด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี ในระยะแรก ขรัวอินโข่งยังคงเขียนภาพจิตรกรรมไทยเป็นแบบดั้งเดิม โดยเขียนภาพเกี่ยวกับชาดกและพระพุทธศาสนาเป็นภาพแบบ 2 มิติ เช่น ภาพยักษ์ หน้าลิง ภาพวาดที่วัดมหาสมณารามและหอราชกรมานุสร

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสเล่าประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุลว่า

"…เป็นช่างเขียนไทยคนแรกที่มีความรู้ไม่แต่เขียนได้ตามแบบโบราณเท่านั้น ยังเขียนได้ตามแบบฝรั่งสมัยใหม่ได้ด้วย เป็นการแสดงความก้าวหน้าในทางเขียนรูปของไทย รูปภาพต่าง ๆ ที่ขรัวอินโข่งเขียนนั้นมีเงา เป็นการเขียนที่มีชีวิตจิตใจผิดกับนักเขียนไทยคนอื่นๆ เคยโปรดฯ ให้เขียนรูปต่างๆ เป็นฝรั่งๆ ไว้ที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหารรูปพวกนี้เป็นพวกแรกๆ ของขรัวอินโข่ง ต่อมาเขียนรูปพระนเรศวรชนช้างไว้ในหอราชกรมานุสรหลังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามฝีมือดีนัก ในพระอุโบสถเขียนไว้ที่ห้องพระยาช้างเผือก กับเขียนรูปภาพประกอบโคลงสุภาษิตต่างๆ ภาพเหล่านี้เขียนเมื่อตอนแก่ ได้เคยพบเห็นด้วยตนเอง ผมแกขาวเป็นดอกเลา ภาพเหล่านี้อยู่ตามหน้าต่าง และประตูในพระอุโบถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฝีมือพระอาจารย์อินโข่งในพิพิธภัณฑสถานยังมีอีกหลายรูป มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เขียนจากพระองค์เอง เป็นต้น" (จากบทวรรณคดี ฉบับพฤศจิกายน 2495)

นอกจากนี้พระองค์ยังได้กล่าวถึงเทคนิคการเขียนภาพของขรัวอินโข่งว่า

"...ท่านเป็นช่างเขียนไทยที่คิดค้นหาวิธีเขียนภาพให้มีชีวิตจิตใจ เขียนได้เหมือนของจริงและนิยมใช้สีหม่น ๆ เช่น สีน้ำเงินปนเขียวเขียน ซึ่งถ้ามิได้เป็นช่างฝีมือดีจริงแล้วก็หาอาจทำให้ภาพงดงามได้ด้วยสี 2 สีนี้ไม่และเป็นคนแรกที่ได้เริ่มนำคตินิยมอันนี้มาเป็นศิลปะของไทย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ ตรัสไว้ว่า "ความนิยมเขียนอย่างฝรั่งนั้น พระอาจารย์อินโข่งเป็นผู้นำขึ้นในรัชกาลที่ 4" (จากวารสารศิลปากรปีที่ 6 เล่ม 7 หน้า 55) เพราะฉะนั้นจึงนับว่าพระอาจารย์อินโข่งเป็นจิตรกรเอกผู้หนึ่ง

น. ณ ปากน้ำ กล่าวถึงงานของขรัวอินโข่งว่า

"....ภาพต่าง ๆ ของขรัวอินโข่งเขียนไว้นุ่นนวล มีระยะใกล้ไกลถูกหลักเกณฑ์ทุกอย่างทั้งๆ ที่ขรัวอินโข่งไม่เคยเห็นภาพตัวจริงของฝรั่งเลย นอกจากมโนภาพที่ฝันไปเท่านั้น เป็นประจักษ์พยานว่า แม้คนไทยจะหันมาเขียนภาพเรียลลิสม์ (Realism) แบบฝรั่งก็สามารถเขียนได้ดีอย่างไม่มีที่ติ และไม่แพ้เขาเลย...."

เว็บไซต์ทางการเกี่ยวกับพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ในหัวข้อ “จิตรกรรม” กล่าวถึงอืทธิพลของภาพเขียนตะวันตกที่เริ่มเข้ามาในประเทศไทยในขณะนั้นไว้ว่า

“....ชาวตะวันตก ได้นำความรู้วิทยาการ ศิลปะ และวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ ทำให้ชีวิตและความนิยมในสังคมปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย จิตรกรรมไทยได้นำวิธีเขียนภาพแบบตะวันตกมาผสมผสาน โดยใช้กฎเกณฑ์ทัศนียวิทยา มีระยะใกล้-ไกล แสดงความลึกในแบบ 3 มิติ ตลอดจนการจัดองค์ประกอบให้บรรยากาศและสีสันประสานสัมพันธ์กับรูปแบบตัวภาพปราสาทราชวัง และเรื่องที่เกี่ยวกับคติทางพุทธศาสนา จึงนับว่าจิตรกรรมไทยแบบประเพณีแนวใหม่แสดงลักษณะศิลปะแบบอุดมคติ และศิลปะแบบเรียลลิสท์ ที่ประสานกลมกลืนเป็นเอกภาพขึ้นมีความสวยงาม...”

อิทธิพลสำคัญอีกประการหนึ่งอาจเกิดจากความคุ้นเคยของขรัวอินโข่งที่มีอยู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎระหว่างผนวชที่วัดราชาธิวาสวรวิหาร สืบเนื่องจากการที่ได้ทรงศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังจนได้ทรงตั้งธรรมยุตินิกายขึ้น ได้ทรงคิดแนวเรื่องปริศนาธรรมขึ้นแล้วโปรดเกล้าให้ขรัวอินโข่งเป็นผู้เขียนภาพประกอบ

อิทธิพลภาพเขียนแบบตะวันตกเชื่อกันว่าได้มาจากภาพพิมพ์ที่หมอสอนศาสนาหรือมิชชันนารีนำมาจากต่างประเทศ รวมทั้งภาพของยุโรปที่ส่งมาจำหน่ายแพร่หลายในเมืองไทยในสมัยนั้น ขรัวอินโข่งได้นำมาพัฒนาและประยุกต์ในงานจิตรกรรมไทยเป็นภาพทิวทัศน์แบบตะวันตกโดยใช้ตัวละครและสถานที่แบบตะวันตก เช่น ภาพปริศนาธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหารและวัดบรมนิวาส