ภาพปริศนาธรรม ของ ขรัวอินโข่ง

กล่าวกันว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งผนวชที่วัดราชาธิวาสวรวิหาร ได้ทรงคิดแนวเรื่องปริศนาธรรมขึ้นแล้วโปรดเกล้าให้ขรัวอินโข่งเป็นผู้เขียนภาพประกอบดังกล่าว พิสิฐ เจริญวงศ์ กล่าวถึงภาพปริศนาธรรมของขรัวอินโข่งไว้ในสารานุกรมประวัติศาสตร์ไทยเล่ม 2 ของราชบัณฑิตยสถาน (2545) ไว้ว่า

“ภาพปริศนาธรรมเป็นภาพที่คนชมต้องใช้ความคิดแปลความหมายให้ออก ไม่เหมือนภาพพุทธประวัติหรือชาดกต่างๆ ที่พุทธศาสนิกชนส่วนมากเข้าใจเรื่องอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น ภาพวาดบนผนังเหนือประตูหน้าต่างในพระอุโบสถวัดวัดบวรนิเวศวิหารทั้ง 16 ตอน ตอนแข่งม้าซึ่งแสดงอาคารในสนามแบบตะวันตก รวมทั้งผู้ชมและผู้ขี่เป็นชาวตะวันตก หมายถึงพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นสารถีที่สามารถ เปรียบพระธรรมดังอุบายที่ใชฝึกม้า และพระสงฆ์เป็นเสมือนมาที่ฝึกมาดีแล้ว หรืออีกภาพหนึ่งเป็นภาพหมอรักษาคนดวงตาฝ้ามัว หมายถึงพระพุทธเจ้าเป็นหมอ ฝ้าคือโมหะและพระธรรมคืออุบายที่จะรักษาฝ้านั้นให้หายไป เพื่อให้ดวงตามองเห็นได้ชัดเจนแจ่มใส ภาพวาดตอนนี้ผสมกันระหว่างไทยกับตะวันตก กล่าวคือผู้คนและหมอเป็นฝรั่ง ข้างหลังเป็นอาคารแบบยุโรปเหมือนจริง แต่มีเทวดาซึ่งเป็นรูปแบบอย่างศิลปะไทยแบบความคิดหรืออุดมคตินิยมเหาะอยู่ข้างบน”