พระราชประวัติ ของ ขุนวรวงศาธิราช

ขุนวรวงศาธิราชเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ ในตระกูลอำมาตย์ (หรือพราหมณ์[1]) พระนามเดิมว่า บุญศรี[2] เดิมมีตำแหน่งเป็น พันบุตรศรีเทพ ผู้เฝ้าหอพระข้างหน้า[3] มีหน้าที่เป็นผู้กระทำพิธีการต่าง ๆ (ในบันทึกของเจอเรมิส วันวลิต อธิบายในลักษณะว่าเหมือนหมอผี[1]) รวมถึงขับเสภากล่อมสมเด็จพระไชยราชาธิราช ให้บรรทมด้วย จึงสามารถเข้านอกออกในเขตพระราชฐานได้[1]

บางทฤษฎีเชื่อว่าพระองค์เป็นบุตรหรือมีเชื้อสายสืบทอดมาจากเจ้าเมืองศรีเทพอันเป็นเมืองลูกหลวงสมัยราชวงศ์อู่ทองครองกรุงศรีอยุธยา หรือสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์อู่ทอง[1]

การพบกับนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์

วันหนึ่งในรัชสมัยพระยอดฟ้า นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ซึ่งเป็นพระราชชนนีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้เสด็จไปพระที่นั่งพิมานรัถยาหอพระข้างหน้า ทอดพระเนตรเห็นพันบุตรศรีเทพก็เกิดมีความรักใคร่ จึงสั่งให้สาวใช้เอาเมี่ยงหมากห่อผ้าไปพระราชทานให้ พันบุตรศรีเทพก็เข้าใจว่าพระนางมีใจรักจึงเอาดอกจำปาให้สาวใช้นำไปถวาย ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ยิ่งมีความกำหนัดในตัวพันบุตรศรีเทพ[3]

การเลื่อนบรรดาศักดิ์

ต่อมานางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ได้ให้พระยาราชภักดีเลื่อนพันบุตรศรีเทพเป็น ขุนชินราช (ในคำให้การชาวกรุงเก่าเรียกว่า ขุนเชียรราช) ผู้รักษาหอพระข้างใน ส่วนขุนชินราชคนเดิมให้ไปเป็นพันบุตรศรีเทพ จากนั้นขุนชินราชก็ลักลอบเป็นชู้กับท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นเวลานาน[3]

ท้าวศรีสุดาจันทร์คิดจะแย่งชิงราชบัลลังก์ให้กับขุนชินราช จึงให้พระยาราชภักดีเลื่อนบรรดาศักดิ์ขุนชินราชเป็น ขุนวรวงศาธิราช เพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจ นอกจากนั้นยังให้ปลูกจวนอยู่ริมศาลาสารบัญชีกับจวนสำหรับขุนวรวงศาธิราชว่าราชการอยู่ที่ประตูดินริมต้นหมัน ให้พิจารณาเลขสังกัดสมพรรค์ แล้วให้เตียงอันเป็นพระราชอาสน์ให้ขุนวรวงศาธิราชนั่งเพื่อให้ขุนนางทั้งหลายมีความยำเกรง

เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ พระยามหาเสนาได้พูดกับพระยาราชภักดีว่า"เมื่อแผ่นดินเป็นทุรยศฉะนี้ เราจะคิดประการใด" แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ทรงทราบจึงให้พระยามหาเสนามาเข้าเฝ้าที่ประตูดิน จนเวลาค่ำพระยามหาเสนากลับออกไป มีผู้มาแทงพระยามหาเสนาตาย ก่อนตายพระยามหาเสนากล่าวว่า "เมื่อเราเป็นดั่งนี้แล้ว ผู้อยู่ภายหลังจะเป็นประการใดเล่า"[3]

การขึ้นครองราชย์

รายพระนามพระมหากษัตริย์ไทย
ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
  1. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 1913 – 1931
  2. สมเด็จพระเจ้าทองลัน 1931
  3. สมเด็จพระนครินทราธิราช 1952 – 1967
  4. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 1967 – 1991
  5. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ 1991 – 2031
  6. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 2031 – 2034
  7. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 2034 – 2072
  8. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 2072 – 2076
  9. สมเด็จพระรัษฎาธิราช 2076 – 2077
  10. สมเด็จพระชัยราชาธิราช 2077 – 2089
  11. สมเด็จพระยอดฟ้า 2089 – 2091
  12. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ 2091 – 2111
  13. สมเด็จพระมหินทราธิราช 2111 – 2112

ในพ.ศ. 2091 นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ทรงอ้างว่าพระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์ หัวเมืองฝ่ายเหนือก็ไม่เป็นปกติจึงปรึกษากับขุนนางว่าจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดินจนกว่าพระยอดฟ้าจะทรงเจริญพระชนมายุ จึงทำพิธีราชาภิเษกขุนวรวงศาธิราชเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาและสถาปนานายจัน น้องชายขุนวรวงศาธิราชอยู่บ้านมหาโลก ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช[3]

เมื่อขุนวรวงศาธิราชได้ครองราชบัลลังก์ก็สมคบกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์นำพระยอดฟ้าไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2091[4] ปีจอ จ.ศ. 910 (พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศว่าตรงกับปีฉลู พ.ศ. 2072[3]) ส่วนพระศรีศิลป์ พระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระไชยราชาธิราชที่ประสูติแต่ท้าวศรีสุดาจันทร์นั้นไม่ได้นำไปสำเร็จโทษแต่ให้เลี้ยงไว้

การล้มล้างราชบัลลังก์

การครองราชบัลลังก์ของขุนวรวงศาธิราชนั้น ไม่เป็นที่เห็นชอบของขุนนางในราชสำนักและพระญาติวงศ์บางส่วน เพราะขุนวรวงศาธิราชทรงขึ้นครองบัลลังก์โดยไม่ชอบธรรมจึงมีขุนนางบางคนรวมตัวกันเพื่อล้มล้างราชบัลลังก์ ได้แก่ ขุนพิเรนทรเทพ เจ้านายเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา (ในราชการ) และหลวงศรียศบ้านลานตากฟ้า

ทั้งสี่ร่วมกันวางแผนลอบปลงพระชนม์ จนโอกาสมาถึงเมื่อกรมการเมืองลพบุรีกราบทูลขุนวรวงศาธิราชว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่งที่ลพบุรี ขุนวรวงศาธิราชรับสั่งว่าจะไปจับแต่ต่อมาเปลี่ยนพระทัยให้กรมการเมืองลพบุรีไปจับแทน หลังจากนั้น 7 วันช้างเผือกเข้ามาทางวัดแม่นางปลื้มเข้าเพนียดวัดซองพระองค์จึงรับสั่งว่าหนนี้จะเสด็จไปจับเอง

ขุนพิเรนทรเทพสั่งให้หมื่นราชเสน่หา (นอกราชการ) ไปดักยิงอุปราชจันน้องขุนวรวงศาธิราชตายที่ท่าเสื่อระหว่างขี่ช้างไปเพนียด จากนั้น ขุนพิเรนทรเทพได้เรียกพระยาพิชัยกับพระยาสวรรคโลก ข้าราชการเมืองเหนือลงมาร่วมมือในการก่อการครั้งนี้ด้วย

ขุนวรวงศาธิราชประทับนั่งเรือพระที่นั่งไปกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และพระธิดา (บางตำราว่าถูกสำเร็จโทษ) ที่เกิดด้วยกันและพระศรีศิลป์ ดังนั้น ขุนวรวงศาธิราชจึงทรงถูกลอบปลงพระชนม์ (บ้างก็ว่าถูกสำเร็จโทษ) ที่คลองสระบัว ข้างคลองปลาหมอโดยขุนพิเรนทรเทพกับสมัครพรรคพวก (ในบันทึกของเจอเรมิส วันวลิต บอกว่าถูกลอบยิงด้วยปืนที่ข้างประตูวัง) พร้อมท้าวศรีสุดาจันทร์และพระธิดา พระบรมศพนั้นถูกนำไปเสียบประจานไว้ที่วัดแร้ง[3] พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศว่าทรงครองราชย์ได้ 5 เดือน แต่คำให้การชาวกรุงเก่าว่า 2 ปี สวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ 22 พรรษา[2]

ใกล้เคียง

ขุนวรวงศาธิราช ขุนวรเทพีพลารักษ์ (แม้น จวบสินเอี่ยม) ขุนณรงค์ ประเทศรัตน์ ขุนรองปลัดชู ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ขุนรองปลัดชู (ภาพยนตร์) ขุนปราบดาบข้ามภพ ขุนบรม ขุนกระบี่ ผีระบาด ขุนวิวรณ์สุขวิทยา (ห่วง โลหะวณิชย์)