สิ่งแวดล้อม ของ ข้อโต้เถียงเรื่องอาหารดัดแปรพันธุกรรม

พืชผลดัดแปรพันธุกรรมก็ปลูกในไร่เหมือนกับพืชทั่วไปในที่ที่ต้องอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตที่กินพืช และกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบโซ่อาหารละอองเรณูของพืชจะกระจายไปในสิ่งแวดล้อมเหมือนกับพืชอื่น ๆซึ่งทำให้เกิดความกังวลถึงผลของพืชต่อสิ่งแวดล้อม ผลซึ่งรวมทั้งการถ่ายเทของยีน (gene flow) การดื้อยาฆ่าวัชพืชและแมลง และการปล่อยแก๊สเรือนกระจก

สิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่เป้าหมาย (Non-target)

ประโยชน์สำคัญในการใช้พืชผลดัดแปรพันธุกรรมก็เพื่อควบคุมแมลง ผ่านการแสดงออกของยีน cry (crystal delta-endotoxins) และ Vip (vegetative insecticidal proteins) จากแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis (Bt)ซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นพิษต่อแมลงอื่น ๆ นอกจากแมลงที่เป็นเป้าหมายเช่น หนอนเจาะข้าวโพดยุโรป (European corn borer)แต่ว่ามีการใช้โปรตีนของ Bt เป็นยาฆ่าแมลงอินทรีย์ในประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 2481 และประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2501 โดยไม่มีรายงานว่ามีผลเสียอะไรอื่น ๆ[238]โปรตีน Cry เป็นพิษเฉพาะเจาะจงกับผีเสื้อ (แมลง)ทำงานโดยยึดจับกับหน่วยรับความรู้สึกของเยื่อหุ้มเซลล์ที่ทางเดินอาหารส่วนกลาง มีผลให้เซลล์แตกดังนั้น สิ่งมีชีวิตใดที่ไม่มีหน่วยรับความรู้สึกที่สมควรในทางเดินอาหาร ก็จะไม่ได้รับผลจากโปรตีน และจะไม่มีผลเสียจาก Bt[239][240]นอกจากนั้นแล้ว องค์กรควบคุมของรัฐจะประเมินโอกาสที่พืชดัดแปรพันธุกรรมจะมีผลต่อสิ่งมีชีวิตไม่ใช่เป้าหมาย ก่อนที่จะอนุมัติให้วางขาย[241][242]

ในปี 2542 มีงานวิจัยที่อ้างว่า ในห้องแล็บ ละอองเรณูจากข้าวโพด Bt ที่ตกลงบนพืชวงศ์นมตำเลีย สกุล Asclepias (milkweed) ซึ่งเป็นอาหารอย่างเดียวของตัวอ่อนผีเสื้อสปีชีส์ Danaus plexippus (Monarch butterfly) มีอันตรายต่อผีเสื้อ[243]ต่อมามีกลุ่มนักวิจัยที่ทำงานร่วมกันในสหรัฐและแคนาดาตลอดสองปี เพื่อศึกษาผลของละอองเรณูทั้งในห้องแล็บทั้งในภาคสนาม เป็นผลงานวิจัยประเมินความเสี่ยงปี 2544 ที่สรุปว่า ความเสี่ยงต่อผีเสื้อไม่มีนัยสำคัญ[244]งานทบทวนวรรณกรรมในปี 2545 สรุปว่า "การปลูกข้าวโพดลูกผสม Bt พันธุ์ปัจจุบันอย่างกว้างขวางเพื่อพาณิชย์ ไม่ได้สร้างความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อประชากรของผีเสื้อ Monarch" แล้วให้ข้อสังเกตว่า แม้จะปลูกพืชดัดแปรพันธุกรรมมากมายขนาดนี้ ประชากรของผีเสื้อก็กำลังเพิ่มพูนขึ้น[245]แต่ต่อมาในปี 2555 กลับพบว่า ยาฆ่าวัชพืชไกลโฟเสตที่ใช้กับพืชดัดแปรพันธุกรรมฆ่าต้น milkweed ซึ่งเป็นอาหารชนิดเดียวของผีเสื้อ และดังนั้นโดยปี 2558 ประชากรผีเสื้อในสหรัฐอเมริกาได้ลดลงประมาณ 90%[246][247]

งานวิจัยปี 2552 พบว่า พิษของ Bt มีผลต่อสิ่งมีชีวิตไม่ใช่เป้าหมาย โดยทั่วไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นญาติใกล้ชิดของเป้าหมาย[248]โดยทั่วไปแล้ว การรับสารจะเกิดขึ้นเนื่องจากการบริโภคส่วนของพืช เช่นละอองเรณูหรือเศษพืช หรือบริโภคสัตว์ที่กินพืชแต่ว่า ก็มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่วิจารณ์วิธีการวิเคราะห์ของงาน โดยกล่าวว่า "พวกเราเป็นห่วงอย่างยิ่งถึงวิธีที่ไม่เหมาะสมที่ใช้ในงาน ถึงการไม่แสดงถึงบริบทของระบบนิเวศ และถึงการรณรงค์ของผู้เขียนว่า การศึกษาในแล็บเกี่ยวกับสัตว์ขาปล้องควรจะทำและตีความหมายอย่างไร"[249]

ความหลากหลายทางชีวภาพ

ความหลายหลากทางพันธุกรรมของพืชผล อาจลดลงได้เนื่องจากมีพันธุ์ดัดแปรที่เก่งกว่า ที่สามารถขับพันธุ์อื่น ๆ ไม่ให้อยู่รอดได้ยังมีผลโดยอ้อมที่สามารถเกิดกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ อีกด้วยคือ สารเคมีเกษตรที่ใช้สามารถมีผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะการดัดแปรอาจจะทำให้ต้องใช้สารเคมีต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเพราะว่าจำเป็นสำหรับพันธุ์พืชใหม่ หรือว่าเพราะการดื้อยาเกิดเพิ่มขึ้นในศัตรูพืช ทำให้ต้องใช้สารเคมีในจำนวนเพิ่มขึ้น

ผลงานศึกษาต่าง ๆ ที่เปรียบเทียบความหลายหลายทางกรรมพันธุ์ของต้นฝ้ายพบว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา ความหลากหลายไม่เพิ่มขึ้นก็เหมือนเดิม แต่ในประเทศอินเดีย ความหลากหลายกลับลดลงมีการให้เหตุผลว่า สหรัฐและอินเดียแตกต่างกันเพราะว่า มีพืชดัดแปรหลายพันธุ์ในสหรัฐมากกว่าในอินเดีย[250]งานทบทวนผลของพืชผลแบบ Bt ต่อระบบนิเวศของดินพบว่า โดยทั่วไปแล้ว พืชดัดแปร "ดูเหมือนจะไม่มีผลที่แน่นอน ที่มีนัยสำคัญ ที่เป็นระยะยาวต่อสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ (microbiota) และฤทธิ์ของพวกสิ่งมีชีวิตในดิน"[251]

ความหลายหลากของวัชพืชปรากฏกว่าลดลงในการทดลองในระดับฟารม์ ทั้งในสหราชอาณาจักรและประเทศเดนมาร์ก เมื่อเปรียบพืชดัดแปรที่ทนต่อยาฆ่าวัชพืช เทียบกับพืชธรรมดา[252][253]การทดลองในสหราชอาณาจักรบอกเป็นนัยว่า ความหลากหลายของนกอาจจะเกิดผลลบเนื่องจากมีเมล็ดวัชพืชเป็นอาหารลดลง[254]คือ ข้อมูลฟารม์ที่ตีพิมพ์แล้วแสดงว่า นกที่กินเมล็ดวัชพืชปรากฏว่ามีมากกว่าในกรณีที่ไม่ได้ฉีดยาฆ่าวัชพืช (ที่ข้าวโพดธรรมดาทนไม่ได้) ซึ่งนักวิจัยแจ้งว่า น่าจะเป็นเพราะอาหารของนกลดลงถ้าฉีดยาฆ่าวัชพืชสำหรับพืชดัดแปรพันธุกรรม[255]งานศึกษาในปี 2555 พบสหสัมพันธ์ระหว่างการลดลงของวัชพืชวงศ์นมตำเลีย สกุล Asclepias (milkweed) ในไร่สหรัฐที่ใช้พืชดัดแปรทนยาฆ่าวัชพืชไกลโฟเสต กับการลดประชากรของผีเสื้อ (monarch butterfly) ในประเทศเม็กซิโก[256]หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า งานศึกษานี้ตั้งแนวความคิดแบบสุดโต่งที่ว่า บางทีวัชพืชในไร่นาควรจะอนุรักษ์เอาไว้[257]

งานศึกษาปี 2005 ที่ออกแบบเพื่อเลียนแบบผลของการฉีดยาเกินต่อพื้นที่ชุ่มน้ำ โดยใช้สารเคมีเกษตร 4 อย่าง คือ carbaryl (ยี่ห้อ Sevin), malathion, กรด 2,4-ไดคลอโรฟีนอกซีแอซีติก (2,4-D) และไกลโฟเสต เป็นการทดลองทีสร้างระบบนิเวศเทียมในถังขนาดใหญ่แล้ว ฉีดสารเคมีแต่ละอย่างในอัตราสูงสุดตามคำแนะนำของผู้ผลิต แล้วพบว่า ความอุดมสมบูร์ณของสปีชีส์ลดลง 15% สำหรับ carbaryl ลดลง 30% สำหรับ malathion ลดลง 22% สำหรับไกลโฟเสต แต่ 2,4-D ไม่มีผล[258]จึงกลายเป็นงานศึกษาที่ใช้โดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ โดยเป็นหลักฐานว่า การใช้สารเคมีเกษตรมีผลลบที่ไม่ตั้งใจต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ[259]

ศัตรูพืชขั้นทุติยภูมิ

งานศึกษาหลายงานพบการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของศัตรูพืชทุติยภูมิภายใน 2-3 ปีที่เริ่มใช้ฝ้าย Btในประเทศจีน งานวิจัยในปี 2553 พบว่า ปัญหาหลักก็คือแมลงในวงศ์ Miridae[260][261]ซึ่งในบางกรณีนักวิจัยได้กล่าวว่า "หักประโยชน์ที่ได้จากการปลูกฝ้าย Bt อย่างสิ้นเชิง"[262]ส่วนงานวิจัยในปี 2552 ในเมืองจีนสรุปว่า การเพิ่มขึ้นของศัตรูพืชทุติยภูมิขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและฝนที่ตกในพื้นที่ และเกิดขึ้นในหมู่บ้านประมาณครึ่งหนึ่งในงานศึกษาและการใช้ยาฆ่าแมลงทุติยภูมิที่เพิ่มขึ้น มีปริมาณน้อยกว่าปริมาณยาฆ่าพืชทั้งหมดที่ประหยัดได้เนื่องจากการปลูกฝ้าย Bt[263]ส่วนงานวิจัยในปี 2554 ที่สำรวจไร่นา 1,000 แห่งที่เลือกโดยสุ่มในจังหวัด 5 จังหวัดในเมืองจีนพบว่า การลดปริมาณยาฆ่าศัตรูพืชที่เป็นผลจากการปลูกฝ้าย Bt อยู่ในระดับที่น้อยกว่าที่รายงานในงานวิจัยในที่อื่น ๆ ซึ่งสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า จะต้องใช้ยาฆ่าศัตรูพืชมากขึ้นในระยะยาวเพื่อควบคุมศัตรูพืชทุติยภูมิเช่น แมลงวงศ์ Aphididae, Tetranychidae, และสกุล Lygus[264]ในประเทศอินเดียก็พบปัญหาคล้ายกัน แต่กับเพลี้ยแป้ง[265][266]และแมลงวงศ์ Aphididae[267]

การถ่ายเทของยีน (gene flow)

ยีนจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมสามารถถ่ายเทไปยังสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เหมือนกับยีนธรรมดาเป็นกระบวนการธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นในพืชผลทุกอย่างที่ปล่อยละอองเกสรให้ไปหาตัวเมียตามธรรรมชาติลักษณะสืบสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นใหม่สามารถถ่ายทอดไปยังพืชที่อยู่ใกล้ ๆ ไม่ว่าจะเป็นสปีชีส์เดียวกัน หรือญาติใกล้เคียงกัน โดยมีการถ่ายเทยีน 3 แบบ คือ crop-to-crop, crop-to-weedy และ crop-to-wild.crop-to-crop เป็นการถ่ายทอดยีนจากพืชผลดัดแปรพันธุกรรมไปยังพืชผลที่ไม่ได้ดัดแปรcrop-to-weedy เป็นการถ่ายทอดยีนไปยังวัชพืชส่วน crop-to-wild เป็นการถ่ายทอดยีนไปยังพืชหรือพืชผลที่ไม่ได้เพาะปลูก[268]มีความเป็นห่วงว่าการถ่ายทอดยีนจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมไปยังพืชอื่น ๆ อาจก่อให้เกิดวัชพืชต่าง ๆ ที่ทนต่อยาฆ่าวัชพืช[269]อาจปนเปื้อนกับพืชผลธรรมดาที่ปลูกอยู่ใกล้ ๆ หรืออาจสร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศ[270][271]และนี่ก็จะเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงหลัก ถ้าสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมสามารถอยู่รอดได้เก่ง และสามารถเพิ่มพูนจำนวนแล้วอยู่รอดได้เองในประชากรธรรมชาติ[272]ให้สังเกตว่า กระบวนการถ่ายทอดยีนจาก GMO ไปยังพืชธรรมชาติ เพื่อเกิดเป็นพืชที่ดื้อยา เป็นพัฒนาการที่ต่างไปจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ที่สร้างความต้านทานยาฆ่าศัตรูพืชให้กับพืชและแมลง

ในประเทศโดยมาก งานศึกษาทางสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนจะอนุมัติให้วางตลาดขาย GMO ซึ่งจะต้องมีแผนการเฝ้าตรวจเพื่อกำหนดผลที่ไม่ได้คาดหวังของการถ่ายทอดยีน

ในงานศึกษาปี 2547 นักวิจัยพบโปรตีน Bt ในพืชธรรมดาที่ปลูกเลี้ยงศัตรูพืช (refuge) มีจุดประสงเพื่อไม่ให้เกิดความต้านทานต่อยาฆ่าศัตรูพืชที่ขายพร้อมกับ GMO เป็นผลที่บอกเป็นนัยว่า มีการถ่ายทอดยีนจากพืชดัดแปรพันธุกรรม[273]ในงานศึกษาปี 2548 นักวิจัยในองค์กรของรัฐ Centre for Ecology and Hydrology รายงานหลักฐานแรกว่ามีการถ่ายทอดยีนในแนวราบ (horizontal gene transfer) จากพืชทนยาฆ่าศัตรูพืชไปยังวัชพืช แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานว่าพืชเหล่านั้นอยู่รอดไปจนถึงฤดูเพาะปลูกต่อไป[274]

ในปี 2550 กระทรวงเกษตรสหรัฐได้ปรับบริษัท Scotts Miracle-Gro 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 16.25 ล้านบาท) เมื่อพบดีเอ็นเอดัดแปรของหญ้าเลี้ยงสัตว์สปีชีส์ Agrostis stolonifera ในพืชอื่นที่อยู่ในสกุลเดียวกัน[275]และในหญ้าท้องถิ่นอื่น ๆ ที่อยู่ห่างออกไปถึง 21 กม. จากสถานที่ทดสอบ ซึ่งเป็นการปล่อยเนื่องจากการตัดหญ้าแล้วลมพัดพาไป[276]

ในปี 2552 ประเทศเม็กซิโกออกกฎควบคุมข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม[277]แต่เพราะว่าเม็กซิโกเป็นศูนย์ความหลายหลาก (center of diversity) ของข้าวโพด จึงเกิดความกังวลถึงผลของข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมต่อพันธุ์ต่าง ๆ ในท้องที่[278][279]งานศึกษาในปี 2544 พบว่า ข้าวโพด Bt ได้ผสมพันธุ์กับข้าวโพดธรรมดาในเม็กซิโก[280]แต่ว่า ข้อมูลในงานศึกษานั้นต่อมาปรากฏว่า เป็นข้อมูลเทียม (artifact) และวารสารที่พิมพ์งานศึกษาคือ เนเจอร์ ก็กล่าวว่า "หลักฐานที่มี ไม่เพียงพอที่จะเป็นเหตุให้ควรตีพิมพ์ผลงานดั้งเดิม" แม้ว่าจะไม่ได้ถอนคืนงานศึกษา[281]งานศึกษาขนาดใหญ่ต่อมาในปี 2548 ไม่พบหลักฐานว่า มียีนที่ถ่ายทอดจากพืชดัดแปรในรัฐวาฮากา[282]แต่ว่า ก็มีผู้เขียนท่านอื่น ๆ (เช่นในงานปี 2552) ที่อ้างว่า พบหลักฐานของการถ่ายทอดยีน[283]

งานศึกษาในปี 2553 แสดงว่า ประมาณ 83% ของพืชหรือวัชพืชวงศ์ผักกาดที่ตรวจสอบ มียีนดัดแปรที่ทนยาฆ่าวัชพืช[284][285][286]นักวิจัยกล่าวว่า การขาดรายงานถึงการกระจายของยีนในสหรัฐแสดงว่า การควบคุมดูแลและการเฝ้าสังเกตไม่เพียงพอ[287]รายงานปี 2553 กล่าวว่า การเกิดขึ้นของวัชพืชที่ดื้อไกลโฟเสต อาจมีผลให้พืชผลดัดแปรพันธุกรรมหมดประสิทธิภาพ นอกจากชาวเกษตรที่ใช้ไกลโฟเสตพร้อมกับวิธีการกำจัดวัชพืชอื่น ๆ[288][289]

วิธีหนึ่งเพื่อป้องกันการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมก็คือการใช้เทคโนโลยี genetic use restriction technology (GURT) หรือที่รู้จักกันว่า Terminator[290]เทคโนโลยีที่ยังไม่ได้วางตลาดนี้ ทำให้สามารถผลิตพืชผลที่มีเมล็ดสืบพันธุ์ไม่ได้ จึงสามารถป้องกันการปล่อยลักษณะสืบสายพันธุ์ไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ แต่ว่า กลุ่มที่เป็นห่วงเรื่องระบบเก็บส่งอาหารแสดงความกังวลว่า เทคโนโลยีจะถูกใช้เพื่อจำกัดการเข้าถึงเมล็ดที่สืบพันธุ์ได้[291][292]

ส่วนแนวคิดเทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า T-GURT (หรือ Traitor) จะไม่ทำให้เมล็ดเป็นหมัน แต่จะบังคับให้สเปรย์สารเคมีชนิดหนึ่งต่อพืชแปรพันธุกรรมเพื่อให้ลักษณะสืบสายพันธุ์ของพืชดัดแปรออกฤทธิ์ได้[290][293]แต่ก็มีกลุ่มสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ (เช่น Rural Advancement Foundation International) ที่แสดงความคิดว่า ความปลอดภัยของอาหารและของสิ่งแวดล้อมต้องมีการทดสอบยิ่ง ๆ ขึ้นก่อนที่จะวางขาย T-GURT[293]

พืชผลดัดแปรที่หลุดออกสู่สิ่งแวดล้อม

เมล็ดแปรพันธุ์ที่หลุดเข้าไปสู่ไร่นาข้างเคียง แล้วเกิดการปนกันของผลผลิตที่ได้ เป็นประเด็นปัญหาของเกษตรกรที่ส่งผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศที่ไม่ยอมรับสินค้า GMO[294][295]

ในปี 2542 นักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยอ้างว่า ได้พบข้าวสาลีแปรพันธุกรรมทนไกลโฟเสตในระบบการขนส่งข้าว แม้ว่าจะยังไม่ได้รับอนุมัติให้ขาย และให้ปลูกในแปลงทดลองเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้กำหนดว่าพืชหลุดออกสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างไร[296]ในปี 2543 มีการพบข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม StarLink ของบริษัท Aventis (ปัจจุบันเป็นบริษัท Bayer CropScience) ในตลาดและร้านอาหารสหรัฐมีผลเป็นเป็นการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ข้าวโพด ที่เริ่มเมื่อผลิตภัณฑ์ของบริษัทอาหาร Taco Bell ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ตปรากฏว่า มีข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมต่อมาข้าวโพดพันธุ์นี้จึงหยุดวางตลาด[139][140]และบริษัทก็ได้งดลงทะเบียนเพื่อขายพันธุ์ต่าง ๆ ของข้าวโพด StarLink โดยอาสาเอง[142]

ในปี 2549 ข้าวจากสหรัฐที่ส่งไปยังยุโรปถูกระงับ เมื่อพบข้าวแปรพันธุ์แบบ LibertyLink แม้ว่าจะเป็นพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับอนุมัติให้วางตลาด[297]แต่กรมตรวจสอบสุขภาพพืชของกระทรวงเกษตรสหรัฐไม่สามารถกำหนดเหตุของการปนเปื้อนได้[298]

ในเดือนพฤษภาคม 2556 มีการพบข้าวสาลีแปรพันธุกรรมทนต่อไกลโฟเสตที่ยังไม่ได้รับอนุมัติให้วางตลาด[299]ในนาของรัฐออริกอนที่ปลูกข้าวสาลีพันธุ์ฤดูใบไม้ร่วงเป็นข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมที่ผลิตโดยบริษัทมอนแซนโต ที่ทดสอบภาคสนามระหว่างปี 2541-2548ซึ่งมีผลกระทบต่อการส่งออกข้าวสาลีของสหรัฐซึ่งมีมูลค่า 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 253,000 ล้านบาท) ในปี 2555[300]จึงมีผลให้บริษัทถอนการทดสอบผลิตภัณฑ์ต่อมาประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ได้หยุดซื้อข้าวสาลีพันธุ์ฤดูใบไม้ร่วง เพราะประเด็นปัญหาที่ผู้รณรงค์อาหารอินทรีย์ได้ยกขึ้น[301][302][303]โดยวันที่ 30 สิงหาคม 2556 แม้ว่า ที่มาของข้าวสาลีดัดแปรพันธุกรรมจะยังไม่ชัดเจน แต่ว่า ประเทศเหล่านั้นก็ได้ดำเนินการซื้อผลิตภัณฑ์ต่อไปแล้ว[304][305]

การอยู่ร่วมกับพืชผลธรรมดา

สหรัฐอเมริกาไม่มีกฎหมายบังคับการอยู่ร่วมกันของเกษตรกรรมที่ปลูกพืชอินทรีย์ พืชธรรมดา หรือพืชดัดแปรพันธุกรรมแต่อาศัยระบบที่ซับซ้อนแต่ไม่เข้มงวดโดยมีองค์กรรัฐบาลกลาง 3 องค์กร (คือ องค์กรอาหารและยา องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และองค์กรของกระทรวงเกษตร) และกฎหมายคอมมอนลอว์ว่าด้วยการละเมิดสิทธิในระดับรัฐ ที่ควบคุมดูแลการอยู่ด้วยกัน[306]เลขาธิการกระทรวงเกษตรได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพและเกษตรกรรมในศตวรรรษที่ 21 (AC21) เพื่อศึกษาปัญหาของการปลูกร่วมกันแล้วให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาโดยมีสมาชิกจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารอินทรีย์ กลุ่มเกษตรกร อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์พืช ผู้ผลิตอาหาร รัฐบาลระดับรัฐ กลุ่มผู้บริโภคและพัฒนาชุมชน กลุ่มการแพทย์ และกลุ่มนักวิชาการAC21 ให้ข้อแนะนำดังต่อไปนี้คือ

  • ให้มีงานศึกษาที่ประเมินโอกาสความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อชาวเกษตรอินทรีย์
  • ให้มีโปรแกรมประกันพืชผลเพื่อลดปัญหาความเสียหายแบบรุนแรง
  • ให้มีโปรแกรมการศึกษาเพื่อสอนให้ชาวเกษตรอินทรีย์ทำสัญญากำหนดผลที่ต้องการกับผู้รับซื้อก่อนการปลูกพืช
  • ให้ชาวเกษตร GMO ที่อยู่ใกล้ไร่เกษตรกรรมธรรมดาปฏิบัติการให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการกระจายตัวของพืชดัดแปรพันธุกรรมโดยไม่ตั้งใจ

คือ โดยทั่วไปแล้ว รายงานนี้สนับสนุนให้มีระบบการเกษตรที่หลากหลายสนับสนุนพืชหลายชนิด[307][308]

ส่วนสหภาพยุโรปมีกฎหมายโดยเฉพาะบังคับการปลูกร่วมกันและการสืบหาต้นตอได้ (traceability)แม้ว่า การสืบหาต้นตอได้จะเป็นเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับอาหารคนและสัตว์ในประเทศโดยมาก แต่การหาต้นตอของ GMO ได้ เป็นเรื่องที่ยากกว่าเพราะว่ามีกฎหมายที่เคร่งครัดกว่าในเรื่องการไม่ปะปนกันตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา อาหารธรรมดาและอาหารอินทรีย์ทั้งของคนและสัตว์สามารถมีอาหารดัดแปรพันธุกรรมที่อนุมัติแล้วถึง 0.9% โดยไม่ต้องขึ้นป้าย[309]แต่ว่า ถ้ามีร่องรอยของพืชที่ยังไม่ได้รับอนุมัติ การส่งในครั้งนั้นอาจถูกปฏิเสธได้[309][310]องค์กรควบคุมของรัฐต้องสามารถสืบหาต้นตอ ตรวจจับและแยกแยะ GMO ได้ ดังนั้น ประเทศหลายประเทศและกลุ่มที่สนใจ จึงได้ก่อตั้งองค์การนอกภาครัฐ คือ Co-Extra เพื่อพัฒนาวิธีการเหล่านั้น[311][312]

การใช้สารเคมี

ยาฆ่าศัตรูพืช

ยาฆ่าศัตรูพืชเป็นสารที่มีจุดประสงค์เพื่อล่อแล้วทำลาย หรือบรรเทาศัตรูพืช[313]งานวิเคราะห์อภิมานปี 2557 ที่ตรวจดูงานศึกษาดั้งเดิม 147 งานที่สำรวจไร่นาและการทดลองภาคสนามสรุปว่า การใช้เทคโนโลยีแปรพันธุกรรมได้ลดระดับการใช้สารเคมีฆ่าศัตรูพืชโดย 37% โดยมีผลในพืชผลที่ทนแมลง ดีกว่าพืชผลที่ทนยาฆ่าวัชพืช[314]

ยาฆ่าวัชพืช

การพัฒนาพืชทนไกลโฟเสตได้ เปลี่ยนรูปแบบการใช้ยาฆ่าวัชพืชโดยลดยาที่คงทนอยู่ได้นานกว่า มีพิษสูงกว่าเช่น atrazine metribuzin และ alachlor และลดระดับปริมาณและผลลบของน้ำพัดผ่านผิวดินที่นำยาฆ่าศัตรูพืชไป[315]แต่ว่าก็ยังมีงานศึกษาปี 2555 (โดย ดร.ชาลส์ เบ็นบรุก) ที่เผยแพร่กันอย่างกว้างขวางที่สรุปว่า การกระจายตัวของวัชพืชที่ดื้อไกลโฟเสตได้เพิ่มการใช้ยาฆ่าวัชพืชในสหรัฐอเมริกา[316][317]โดยอ้างว่า มีการใช้ยาเพิ่มขึ้น 23% (0.3 กก./เฮกตาร์) สำหรับถั่วเหลืองระหว่างปี 2539-2549 43% (0.9 กก./เฮกตาร์) สำหรับฝ้ายระหว่างปี 2539-2553 และมีการใช้ยาลดลง 16% (0.5 กก./เฮกตาร์) สำหรับข้าวโพดระหว่างปี 2539-2553[316]แต่ว่า ก็มีผู้วิจารณ์ว่า การศึกษานี้ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่ได้พิจารณาว่า ไกลโฟเสตมีพิษน้อยกว่ายาฆ่าวัชพืชอื่น ๆ และดังนั้น ความเป็นพิษสุทธิอาจจะลดลงแม้ว่าการใช้ยาฆ่าวัชพืชจะมีปริมาณสูงขึ้น[318][319]นอกจากนั้นแล้ว นักเศรษฐศาสตร์เกษตรจากบริษัทให้คำปรึกษา PG Economics (คือนายเกรแฮม บรุกส์) ยังตำหนิผู้วิจัยว่า ใช้ค่าประเมินยาฆ่าวัชพืชที่คิดเอง เพราะว่า ข้อมูลที่ใช้ในงานศึกษา ดังที่ได้จากกรมสถิติการเกษตรแห่งชาติ (National Agricultural Statistics Service) ไม่ได้แยกแยะพืชผลแปรพันธุกรรมและที่ไม่ได้แปรนอกจากนั้นแล้ว นายบรุกส์ยังได้ตีพิมพ์งานศึกษาในปีเดียวกันที่พบว่า การใช้พืชดัดแปรพันธุกรรมได้ลดทั้งปริมาณยาฆ่าศัตรูพืชและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากยา ซึ่งไม่ตรงกับผลงานของ ดร.เบ็นบรุก[320][321]นายบรุกส์ยังกล่าวอีกด้วยว่า ดร.เบ็นบรุก มีข้อสันนิษฐานที่ "มีอคติและไม่ถูกต้อง"[322]

ยาฆ่าแมลง

ประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมของฝ้ายและข้าวโพด Bt ก็คือ ลดระดับการใช้สารเคมีฆ่าแมลง[323][324]งานศึกษาโดยบริษัทให้คำปรึกษา PG Economics สรุปว่า การใช้ยาฆ่าศัตรูพืชทั่วโลกลดลง 286,000 ตันในปี 2549 และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของยาโดยประมาณ 15%[325]งานในปี 2555 ที่สำรวจไร่นาขนาดเล็กในประเทศอินเดียระหว่างปี 2545-2551 สรุปว่า การปลูกฝ้าย Bt ทำให้เกิดผลผลิตที่สูงขึ้นและลดการใช้ยาฆ่าศัตรูพืชลง[326]ส่วนงานที่เสนอวิธีการคำนวณผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2535 แล้วอัปเดตเป็นประจำ บอกเป็นนัยว่า การใช้ยาฆ่าแมลงต่อฝ้ายและข้าวโพดระหว่างปี 2539-2548 ลดลง 35,600 ตันโดยนับแค่ตัวยาสำคัญ (active ingredient) ซึ่งเกือบเท่ากับปริมาณที่ใช้ปีต่อปีในสหภาพยุโรป[327]ส่วนงานวิจัยปี 2555 กับฝ้าย Bt ในจังหวัด 6 จังหวัดด้านเหนือของประเทศจีนระหว่างปี 2533-2553 สรุปว่า การปลูกฝ้ายแปรพันธุกรรมได้ลดการใช้ยาฆ่าศัตรูพืชลงครึ่งหนึ่ง เพิ่มปริมาณของด้วงเต่าลาย แมงมุม และแมลงอันดับ Neuroptera ขึ้นสองเท่า (ซึ่งล้วนแต่เป็นแมลงที่โดยมากพิจารณาว่าให้ประโยชน์กับเกษตรกรรม) และขยายประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมให้แก่พืชผลที่อยู่ใกล้ ๆ รวมทั้งข้าวโพด ถั่วลิสง และถั่วเหลือง[328][329]

แมลงดื้อยา

การดื้อยาจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ถ้าประชากรพืชหรือแมลงถูกกดดันภายใต้กระบวนการคัดเลือก ที่เกิดจากการใช้ยาฆ่าศัตรูพืชชนิดเดียวซ้ำ ๆ[330]ในเดือนพฤศจิกายน 2552 นักวิทยาศาสตร์ของมอนแซนโตพบว่า แมลงสปีชีส์ Pectinophora gossypiella (pink bollworm) ดื้อยาต่อฝ้าย Bt รุ่นแรก ในส่วนต่าง ๆ ของรัฐคุชราต ประเทศอินเดีย เป็นฝ้ายที่มีการแสดงออกของยีน Bt Cry1Ac ซึ่งเป็นการดื้อยา Bt กรณีแรกที่มอนแซนโตยืนยันได้[331][332]ต่อมาการดื้อยาเช่นกันก็พบในประเทศออสเตรเลีย จีน และสหรัฐอเมริกา[333]

วิธีอย่างหนึ่งที่สามารถใช้หน่วงการเกิดขึ้นของการดื้อ Bt ก็คือ การปลูกพืชธรรมดาเลี้ยงศัตรูพืช (refuge) เพื่อทำยีนดื้อยาให้เจือจางอีกวิธีหนึ่งก็คือ การสร้างพืชผลที่มียีน Bt หลายยีนที่ยิงเป้าไปที่ตัวรับความรู้สึก (receptor) แบบต่าง ๆ ของแมลง[334]ในปี 2555 การทดสอบภาคสนามในรัฐฟลอริดาแสดงว่า หนอนสปีชีส์ Spodoptera frugiperda (fall armyworm) ดื้อยาของข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรมผลิตโดยบริษัท Dupont และ Dow ซึ่งพบในครั้งแรกในเปอร์โตริโกในปี 2549 มีผลให้บริษัททั้งสองเลิกขายผลิตภัณฑ์ในที่นั้น[335]นอกจากนั้นแล้ว หนอนเจาะข้าวโพดยุโรป (European corn borer) ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของ Bt ก็สามารถพัฒนาเป็นแมลงดื้อยาได้เช่นกัน[336]

ใกล้เคียง

ข้อโต้เถียงเรื่องอาหารดัดแปรพันธุกรรม ข้อต่อ ข้อตกลงการบินโดยใช้รหัสเที่ยวบินร่วมกัน ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ 1970 ข้อต่อกลีโนฮิวเมอรัล ข้อตกลงออสโล ข้อตกลงสำหรับเครื่องหมายพาสซีฟ ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ข้อตกลงพลาซา ข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ อีเอส-11/4

แหล่งที่มา

WikiPedia: ข้อโต้เถียงเรื่องอาหารดัดแปรพันธุกรรม http://92.52.112.178/web/sa/saweb.nsf/GetInvolved/... http://www.canberratimes.com.au/act-news/gm-crop-d... http://www.farmweekly.com.au/news/agriculture/crop... http://www.smh.com.au/environment/greenpeace-activ... http://www.theland.com.au/news/agriculture/croppin... http://www.foodstandards.gov.au/_srcfiles/Review_o... http://www.foodstandards.gov.au/consumer/gmfood/se... http://www.foodstandards.gov.au/consumerinformatio... http://www.foodstandards.gov.au/consumerinformatio... http://www.foodstandards.gov.au/scienceandeducatio...