ลำดับเหตุการณ์ ของ คดีแชร์ชม้อย

การดำเนินกิจการของนางชม้อยได้ดำเนินไป มีประชาชนนิยมไปเล่นแชร์น้ำมัน กับนางชม้อยทั่วประเทศ จำนวนหลายหมื่นคน และวงเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท รัฐบาลในขณะนั้นได้ติดตามสืบสวนการกระทำของนางชม้อย ทิพย์โส ก็ไม่ปรากฏว่าได้มีการนำเงินไปลงทุนค้าน้ำมันแต่อย่างใด แต่พบว่าเงินที่ได้จากลูกแชร์นั้น จะไปปรากฏในบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของนางชม้อย ทิพย์โส จากนั้น เมื่อถึงกำหนดการจ่ายผลประโยชน์ในตอนสิ้นเดือน ก็จะมีการโอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ ไปยังบัญชีกระแสรายวันเพื่อที่จะจ่ายเช็คผลประโยชน์ให้กับลูกแชร์ แสดงให้เห็นว่านางชม้อยได้ใช้วิธีนี้ในการนำเงินที่ได้จากลูกแชร์รายหลังๆ มาจ่ายผลประโยชน์หรือดอกเบี้ยให้แก่ลูกแชร์รายก่อนๆ ซึ่งจะสามารถทำต่อไปได้เรื่อยๆ ตราบเท่าที่มีลูกแชร์เอาเงินมาให้นางชม้อยกู้ยืมเงิน

รัฐบาลเห็นว่า บทบัญญัติความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญาอาจไม่สามารถเอาผิดกับนางชม้อยได้ โดยนางชม้อยอ้างว่าการระดมเงินหรือแชร์น้ำมันของนางชม้อยเพื่อไปค้าน้ำมัน และออกสัญญากู้ยืมให้ สัญญาดังกล่าวได้ตกลงจะจ่ายดอกเบี้ยหรือผลประโยชน์ให้แก่ผู้ให้กู้ยืมในอัตรา ร้อยละ 6.5 ต่อเดือน และเมื่อไม่มีการผิดสัญญากับใครก็ไม่สามารถเอาผิดกับนางชม้อยได้ หรือหากมีการผิดสัญญาก็อาจต้องรับผิดทางแพ่งเท่านั้น รัฐบาลเห็นว่าการระดมเงินดังกล่าว เป็นภัยร้ายแรงต่อประชาชนที่จะต้องสูญเสียเงินจากการถูกหลอกลวง และเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ตราพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยพระราชกำหนดดังกล่าวได้ประกาศและมีผลใช้บังคับวันที่ 13 พฤศจิกายน 2527

ซึ่งนางชม้อยยังบังอาจฝ่าฝืนกฎหมายโดยยังรับกู้ยืมเงินจากประชาชนตามปกติ โดยอ้างกับประชาชนและผู้เสียหายว่าการประกอบธุรกิจดังกล่าวไม่ผิดกฎหมายและมีผู้ใหญ่ให้การสนับสนุนอยู่ ทำให้ประชาชนและผู้เสียหายหลงเชื่อร่วมลงทุนค้าน้ำมันต่อไป และประชาชนนำเงินมาให้นางชม้อยกู้ยืมมากขึ้นเป็นลำดับ จนนางชม้อยแต่ผู้เดียวไม่สามารถดำเนินการเองได้ จึงได้ให้พวกอีก 9 คน ช่วยเหลือ โดยการเปิดบัญชีในนามพวกทั้ง 9 คน ไว้ตามธนาคารต่างๆ เพื่อดำเนินการธุรกิจดังกล่าว โดยการทำสัญญาภายหลังที่พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯ มีผลใช้บังคับนั้นจะทำสัญญากู้ยืมโดยลง พ.ศ. ในสัญญากู้ยืมย้อนหลังไปหนึ่งปีเพื่อให้เห็นว่าสัญญากู้ยืมได้ทำขึ้นก่อนที่พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯ จะมีผลใช้บังคับ

ต่อมานางชม้อยกับพวกเริ่มมีการปฏิเสธการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2528 ถึงเดือนมีนาคม 2528 ซึ่งผู้เสียหายได้ขอถอนเงินคืน ซึ่งตามสัญญาระบุว่าจะถอนเงินคืนเวลาใดก็ได้โดยไม่ต้องบอกล่วงหน้านั้น แต่ได้รับแจ้งจากนางชม้อยว่าของดการจ่ายเงินคืนชั่วคราว และนางชม้อยได้หลบหนีกลับไปที่จังหวัดสิงห์บุรี จนเดือนมิถุนายน 2528 นางชม้อยได้ปรากฏตัวอีกครั้งที่โรงยิมเนเซี่ยมทหารอากาศในกองทัพอากาศดอนเมืองและได้ชี้แจงให้ประชาชนและผู้เสียหายทราบว่าหยุดดำเนินการค้าน้ำมันแล้วและไม่ได้ลงทุนอะไร เงินผลประโยชน์นั้นจะไม่จ่ายให้แต่จะคืนเงินต้นบางส่วนให้กับผู้เสียหาย ซึ่งในที่สุดนางชม้อยฯ กับพวกก็ไม่ได้คืนเงินต้นตามที่บอก

ผู้เสียหายจึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2528 ภายหลังเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามสามารถจับนางชม้อยฯ ได้ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2528 และจับพวกของนางชม้อยฯ อีก 7 คน ต่อมาผู้บังคับการกองปราบปรามได้มีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสอบสวนขึ้นประมาณ 100 คน เพื่อทำการสอบสวนผู้เสียหายจำนวน 16,231 คน ซึ่งได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ไว้

การทำสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนนั้นได้แยกทำเป็น 2 บัญชี กล่าวคือ ผู้เสียหายที่ให้กู้ยืมเงินก่อนพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯ ประกาศใช้บังคับ (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2520 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2527) เป็นผู้เสียหายจำนวน 13,248 คน รวมให้กู้ยืมเงินไปทั้งสิ้น 23,519 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,043,997,795 บาท และผู้เสียหายที่ให้กู้ยืมเงินภายหลังการประกาศใช้พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินฯ (ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2527 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2528) มีผู้เสียหายจำนวน 2,983 คน รวมให้กู้ยืมเงินไปทั้งสิ้น 3,641 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 510,584,645 บาท