พัฒนาการของความขัดแย้งพม่า-กะเหรี่ยง ของ ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยง

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ประกาศสงครามกับรัฐบาลทหารพม่าเมื่อ 31 มกราคม พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่มีการสู้รบตามฤดูกาล ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา ความขัดแย้งได้ดำเนินไป นายพลสมิท ดุน ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ต่อสู้กับกองทัพพม่าและประสบความสำเร็จหลายครั้ง ใน พ.ศ. 2497 หน่วยบริการของอังกฤษซึ่งเป็นหน่วยงานในสมัยอาณานิคมและลูกจ้างหลายคนโน้มเอียงไปทางฝ่ายกะเหรี่ยงถูกปิด กองทัพพม่าพยายามปิดล้อมกองทัพกะเหรี่ยงด้วยนโยบายสี่ตัด ซึ่งจะควบคุมในด้านอาหาร เงินทุน การศึกษา และกำลังคน วิธีนี้มีประสิทธิภาพมาก[36][37] ในระหว่าง พ.ศ. 2506 – 2507 มีการเจรจาสันติภาพแต่ไม่ได้ผล

ใน พ.ศ. 2513 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงมีความขัดแย้งภายใน เช่น เกิดกลุ่มเทเลคอนที่ประกาศตนเป็นกะเหรี่ยงแท้ ใน พ.ศ. 2515 ผู้นำเทเลคอนถูกฆ่า ความขัดแย้งอีกกรณีหนึ่งคือกรณีของทูมูแฮที่แสดงตัวเป็นองค์กรอิสระตั้งแต่ พ.ศ. 2523[38][39]

ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยงได้ปรากฏออกไปภายนอกในรูปของความขัดแย้งที่มีการสู้รบในเขตเทือกเขาตามแนวชายแดนไทย-พม่า แต่ในช่วง พ.ศ. 2493 – 2503 มีทหารกะเหรี่ยงเข้าโจมตีชาวพม่าในที่ราบลุ่มปากแม่น้ำอิรวดี นโยบายสี่ตัดของกองทัพพม่าทำให้กองทัพกะเหรี่ยงในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดีต้องไปสู้รบในเขตเทือกเขาตามแนวชายแดน ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 โบเมียะขึ้นเป็นผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงในเขตตะวันออกและได้เป็นหัวหน้าสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงใน พ.ศ. 2519 และได้เปลี่ยนข้อเรียกร้องจากการต่อสู้เพื่อเรียกร้องรัฐเอกราชหรือกอทูเลย์มาเป็นสิทธิในการปกครองตนเอง ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงจึงถูกเขียนขึ้นใหม่ และประวัติศาสตร์ของคอมมิวนิสต์กลายเป็นแรงบันดาลใจของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงขึ้นถึงจุดสูงสุดของอำนาจในระหว่าง พ.ศ. 2523 – 2533 ใน พ.ศ. 2532 ได้มีข้อเสนอหยุดยิงที่เสนอโดยกองทัพพม่าแต่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงปฏิเสธ ใน พ.ศ. 2537 มีการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง แต่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงไม่ยอมรับการสงบศึก[40] สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงคาดหวังว่าประชาคมนานาชาติจะกดดันพม่าได้ ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 มีการจัดตั้งกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย ทหารกะเหรี่ยงพุทธได้แสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับการต่อต้านชาวพุทธของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่เป็นชาวคริสต์ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง และไม่พอใจการฉ้อราษฎร์บังหลวงภายในสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ของผู้นำที่นับถือศาสนาคริสต์[41] และการตัดสินใจยุติการเจรจาของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง กองทัพกะเหรี่ยงพุทธเข้ายึดมาเนอปลอว์ที่ใกล้ชายแดนไทยได้ ด้วยความช่วยเหลือของกองทัพพม่า

ในระหว่าง พ.ศ. 2538 – 2540 มีการประชุมกันหลายครั้งระหว่างทหารพม่ากับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงแต่โบเมียะไม่ยอมรับการสงบศึกที่เสนอโดยรัฐบาล ใน พ.ศ. 2540 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง ในปีเดียวกันนี้ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้จัดตั้งกองกำลังสันติภาพกะเหรี่ยง ใน พ.ศ. 2541 ได้มีการจัดตั้งกลุ่มสงบศึกขนาดเล็กทางเหนือของรัฐกะเหรี่ยงในตองอู ส่วนทางตอนใต้ของรัฐกะเหรี่ยง มีชาวกะเหรี่ยงสองพี่น้องฝาแฝดจัดตั้งกองกำลังพระเจ้า หรือก๊อด อาร์มี่ ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 กลุ่มนี้ได้เข้ายึดสถานทูตพม่าในกรุงเทพและโรงพยาบาลในจังหวัดราชบุรี แต่ถูกปราบปรามไป[42]

หลังจากที่มาเนอปลอว์แตก สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้สูญเสียพื้นที่ทางเหนือคือกอมูราไปด้วย จึงสูญเสียรายได้จากภาษีและการค้าชายแดน รวมทั้งผลจากการเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐและไทยเปลี่ยนไป การให้ที่พักคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลง ดังนั้นเมื่อสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงโจมตีท่อส่งน้ำมันในรัฐกะเหรี่ยงเมื่อ พ.ศ. 2538 รัฐบาลสหรัฐได้ส่งคำเตือนถึงสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก[43]

กองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย

ในช่วงแรก กองทัพกะเหรี่ยงพุทธร่วมมือกับกองทัพพม่า การจัดองค์กรจึงเป็นไปเพื่อสนับสนุนรัฐบาลพม่า ไม่เคยพัฒนานโยบายทางการเมืองเกี่ยวกับชาตินิยมกะเหรี่ยง พรรคนี้ขาดทักษะทางด้านภาษาอังกฤษ ทำให้ได้รับการสนับสนุนในระดับนานาชาติต่ำ ไม่มีนโยบายประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และอื่นๆ ที่เป็นที่นิยมในประชาธิปไตยแบบตะวันตก ในบริเวณควบคุมของกะเหรี่ยงพุทธจะสอนภาษาพม่าแทนที่จะเป็นภาษากะเหรี่ยง กองทัพกะเหรี่ยงพุทธส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนรูปไปเป็นกองกำลังป้องกันชายแดน[44]

บทบาทของไทยและสหรัฐอเมริกา

เด็กหญิงชาวกะเหรี่ยงสะกอในอำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอนหมู่บ้านกะเหรี่ยงในประเทศไทย

รัฐบาลไทยเคยใช้รัฐกะเหรี่ยงเป็นรัฐกันชนกับพม่า หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลไทยเกรงภัยจากคอมมิวนิสต์ที่ได้ตั้งพรรคทั้งในไทยและพม่า โดยได้รับการสนับสนุนจากจีน ไทยและสหรัฐจึงสนับสนุนกบฏกะเหรี่ยงในช่วง พ.ศ. 2503 – 2533 สหรัฐยังให้การสนับสนุนรัฐบาลพม่าในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ด้วย โบเมียะกล่าวว่ารัฐกะเหรี่ยงเป็นรัฐกันชนที่ไม่ให้คอมมิวนิสต์ในไทยและพม่ารวมตัวกัน[45] นโยบายของรัฐไทยเปลี่ยนไปในช่วง พ.ศ. 2533 พม่าได้เป็นสมาชิกอาเซียนใน พ.ศ. 2540 ไทยได้ยุติการให้ความช่วยเหลือกองกำลังกะเหรี่ยง[46][47]

ชาวกะเหรี่ยงเริ่มข้ามพรมแดนมายังไทยใน พ.ศ. 2527 ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายสี่ตัดของกองทัพพม่า ในราว พ.ศ. 2538 มีชาวกะเหรี่ยงนับหมื่นคนอาศัยในค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนไทย หลังจากมาเนอปลอว์แตกใน พ.ศ. 2538 มีชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากข้ามพรมแดนมายังไทย การนำวิถีพม่าสู่สังคมนิยมมาใช้ทำให้สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเพิ่มฐานทางการเงินของตนเอง จากการค้าผ่านแนวชายแดนกับไทย โดยเก็บภาษีขาเข้าและขาออก สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงติดอาวุธอื่นๆใช้ค่ายผู้อพยพในไทยเป็นแหล่งสนับสนุนวัตถุดิบ

หลังจากมาเนอปลอว์แตกใน พ.ศ. 2538 ผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ย้ายฐานที่มั่นมาอยู่ใกล้ชายแดนไทยที่แม่สอด ทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและเจ้าหน้าที่ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงที่อยู่ในพม่า โดยเฉพาะเขตตะนาวศรี กองทัพพม่าได้รุกใหญ่ใน พ.ศ. 2540 ทำให้มีผู้อพยพระลอกใหม่เข้ามาในไทย ชายแดนไทยในบริเวณแม่สอดได้ปิดลงในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อ พ.ศ. 2553 เพราะความตึงเครียดระหว่างสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงกับกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย

ผู้อพยพ

ค่ายผู้อพยพแม่ลาในประเทศไทย

มีประชาชนอย่างน้อย 2 ล้านคนจากชนกลุ่มน้อยที่หลากหลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยในพม่า ชนกลุ่มน้อยอีกราว 2 ล้านคนกลายเป็นผู้อพยพในประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มใหญ่ที่สุดคือชาวกะเหรี่ยงที่เริ่มอพยพเข้าสู่ไทยใน พ.ศ. 2527 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ประโยชน์จากค่ายผู้อพยพในไทยในฐานะเป็นที่หลบภัยและเป็นแหล่งสนับสนุนอาหารและวัสดุอื่นๆ ผ่านสมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย มีชาวกะเหรี่ยงและกะเรนนีราว 2 แสนคนอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ตามแนวชายแดนไทย-พม่า มีชาวกะเหรี่ยง 73,775 คน ที่ได้ไปตั้งหลักแหล่งในประเทศตะวันตกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 ส่วนใหญ่เป็นที่สหรัฐ

ความขัดแย้งตั้งแต่ พ.ศ. 2543

หลัง พ.ศ. 2533 กองกำลังติดอาวุธชาวกะเหรี่ยงแตกออกเป็นหลายกลุ่ม และสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงก็อ่อนแอลง ใน พ.ศ. 2547 ได้มีการเจรจาสงบศึกระหว่างโบเมียะกับนายพลขิ่น ยุ้น แต่ไม่นานต่อมา ขิ่น ยุ้นถูกขับออกจากรัฐบาล ใน พ.ศ. 2548 มีการเจรจาสงบศึกกันอีก แต่รัฐบาลที่นำโดยตันฉ่วยไม่สนใจการสงบศึก โบเมียะเสียชีวิตใน พ.ศ. 2549 เลขาธิการทั่วไปคนเก่าของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ปะโดะห์ มัญ ชาละห์พัน ได้เข้าทำงานแทนที่โบเมียะ แต่ถูกลอบสังหารเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ใน พ.ศ. 2550 นายพลทินหม่อง ได้นำกำลังพล KNLA ส่วนหนึ่งแยกออกไป กลุ่มนี้เรียกตนเองว่าสภาสันติภาพ KNU-KNLAในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553 เกิดระเบิดบนรถบัสในรัฐกะเหรี่ยง ตาย 2 คน บาดเจ็บ 11 คน[48] ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ตามแนวชายแดนไทย-พม่าได้เกิดการสู้รบหลังการเลือกตั้ง ทำให้มีประชาชนราว 2 หมื่นคนข้ามเข้ามาในดินแดนไทย และเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงกับกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตยรวมตัวกันต่อสู้กับกองทัพพม่า ต้นปี พ.ศ. 2554 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเป็นเพียง 1 ใน 7 กองกำลังกะเหรี่ยงติดอาวุธที่ยังต่อสู้กับรัฐบาล การลงนามในสัญญาสงบศึกเกิดขึ้นเมื่อ 12 มกราคม พ.ศ. 2555 ที่เมืองพะอาน ทำให้การสู้รบในรัฐกะเหรี่ยงสิ้นสุดลง[49]

กะเหรี่ยงที่อยู่นอกความขัดแย้ง

กะเหรี่ยงพุทธในย่างกุ้ง

ประชากร 75% ของชาวกะเหรี่ยงไม่ได้อาศัยอยู่ภายในรัฐกะเหรี่ยง และอยู่นอกการควบคุมของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง[50] ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ไม่ได้สนับสนุนการต่อสู้ด้วยอาวุธต่อต้านรัฐบาลพม่า เพราะเห็นว่าการต่อสู้ด้วยอาวุธมีความเสี่ยงสูงหรือไม่เห็นด้วยกับกลวิธีของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง[51]

ในราว พ.ศ. 2533 ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายกะเหรี่ยงพัฒนาในลุ่มแม่น้ำอิรวดี ซึ่งเป็นองค์กรที่ฝึกชาวกะเหรี่ยงในท้องถิ่นให้มีความเป็นผู้นำ เพิ่มทักษะทางการพัฒนาและชุมชน ในบางตำบล ชาวกะเหรี่ยงทั้งหมดพูดภาษาพม่า ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2533 มีพรรคการเมืองของชาวกะเหรี่ยงเข้าร่วม 3 พรรค ซึ่งใช้วิธีที่แตกต่างกันในการเรียกความสนใจจากชาวกะเหรี่ยง พรรคประชาชนกะเหรี่ยง ตั้งขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2553 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงคริสต์จากย่างกุ้งและดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี พรรคนี้ได้ 1 ที่นั่งในสภาสูง และ 4 ที่นั่งในรัฐกะเหรี่ยง พรรคประชาธิปไตยปะหล่อง-สะวอ เป็นพรรคที่เข้าร่วมในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2553 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงพุทธ ได้ 3 ที่นั่งในสภาสูง 2 ที่นั่งในสภาล่าง และ 4 ที่นั่งในรัฐกะเหรี่ยง ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 ได้จัดตั้งพรรคประชาธิปไตยและการพัฒนารัฐกะเหรี่ยงโดยมีความสัมพันธ์กับผู้นำกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย องค์กรทางสังคมพลเรือนมีบทบาทมากขึ้นในการรวมชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงเข้ากับการเมืองของพม่า

ใกล้เคียง

ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยง ความขัดแย้งอิสราเอล–ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งนิยมรัสเซียในประเทศยูเครน พ.ศ. 2557 ความขัดแย้งภายในพม่า ความขัดแย้งที่ซันริซูกะ ความขัดแย้งในรัฐกะชีน ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354 ความขัดแย้งนากอร์โน-คาราบัค ความขัดแย้งอิสราเอล–กาซา พ.ศ. 2557 ความขัดแย้งในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง (พ.ศ. 2555–ปัจจุบัน)

แหล่งที่มา

WikiPedia: ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยง http://www.post-gazette.com/stories/news/world/mya... http://www.karennationalunion.net http://www.burmacentrum.nl/0502papersbriefing.html http://www.burmalibrary.org http://www.burmalibrary.org/docs13/BCES-BP-01-ceas... http://www.crisisgroup.org/en/regions/asia/south-e... http://www.karennews.org http://mmpeacemonitor.org/stakeholders/stakeholder... http://www.tni.org/work-area/burma-project http://www.nectec.or.th/thai-yunnan/19.html#3