ยุคอาณานิคม ของ ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยง

การเกิดขึ้นของความขัดแย้งระหว่างกะเหรี่ยงและพม่า มีสาเหตุมาจากยุคที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในพุทธศตวรรษที่ 24 เผ่ากะเหรี่ยงที่อยู่ตามหุบเขาได้หันมานับถือศาสนาคริสต์โดยการเผยแผ่ศาสนาของมิชชันนารีชาวอเมริกัน ชาวกะเหรี่ยงได้รับราชการในกองทัพอังกฤษระหว่างสงครามพม่า-อังกฤษ[13] การที่กะเหรี่ยงสะกอหันมานับถือศาสนาคริสต์ ทำให้พวกเขาก้าวขึ้นมามีสถานะสูงในสังคมพม่าได้[14] กะเหรี่ยงคริสต์จงรักภักดีต่ออังกฤษ การศึกษาแบบศาสนาคริสต์ได้สอนภาษาอังกฤษ ทำให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองระบอบอาณานิคม ในขณะที่ชาวพม่าไม่ได้รับราชการทหาร และไม่ได้เข้าร่วมในระบอบอาณานิคม[15][16][17]

การเปลี่ยนเป็นชาวคริสต์

ผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงในเขตภูเขาเมื่อ พ.ศ. 2465

มิชชันนารีชาวสหรัฐคนแรกมาถึงพม่าเมื่อ พ.ศ. 2356 ชาวกะเหรี่ยงคนแรกเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์เมื่อ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2371[18] มิชชันนารีนิกายแบปติสต์พบว่าชาวกะเหรี่ยงสะกอเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ได้ง่ายกว่ากะเหรี่ยงโปว์ เพราะกะเหรี่ยงโปว์ส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธก่อนที่มิชชันนารีจะเข้ามา[19] การเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ของชาวกะเหรี่ยงสะกอทำให้พวกเขาต่างจากกะเหรี่ยงโปว์และชาวพม่าที่เป็นชาวพุทธ มิชชันนารีได้เรียนภาษากะเหรี่ยงและได้พัฒนาการเขียนภาษากะเหรี่ยงด้วยอักษรพม่า ดร.โจนาธาน วาเดได้สร้างพจนานุกรมและเขียนกฏไวยากรณ์ของทั้งภาษากะเหรี่ยงสะกอและภาษากะเหรี่ยงโปว์ ใน พ.ศ. 2398 ดร.ฟรานซิส มาซอน ได้ตีพิมพ์ไบเบิลเป็นภาษากะเหรี่ยงสะกอ ส่วนไบเบิลภาษากะเหรี่ยงโปว์ตีพิมพ์โดย ดี แอล ไบรตัน ในช่วง พ.ศ. 2403–2433 ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ใน พ.ศ. 2418 ได้จัดตั้งวิทยาลัยแบปติสต์ในย่างกุ้ง ต่อมาโรงเรียนนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อวิทยาลัยกะเหรี่ยง เพราะเป็นที่ที่ชาวกะเหรี่ยงคริสต์มาเรียนภาษาอังกฤษ ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มที่ผ่านการศึกษาเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ การศึกษา และสถานะทางสังคมได้[20]

มิชชันนารีชาวสหรัฐพยายามอธิบายจุดกำเนิดของชาวกะเหรี่ยง การพัฒนาภาษาเขียนของภาษากะเหรี่ยงทำให้มีการเรียนรู้ เกิดวรรณกรรมและวารสารที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาขึ้น ใน พ.ศ. 2385 มิชชันนารีแบบติสต์ได้ตีพิมพ์นิตยสารภาษากะเหรี่ยงสะกอชื่อวาทูกอ (ดวงตายามเช้า) ที่ตีพิมพ์มาตลอดจนถูกเนวินยึดกิจการใน พ.ศ. 2505[21][22] สิ่งนี้ทำให้เกิดชาตินิยมกะเหรี่ยงขึ้น

ชาวกะเหรี่ยงในแถบภูเขาไม่เคยพัฒนาอาณาจักรของตนเองและไม่เคยมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การติดต่อกับอังกฤษจึงเป็นโอกาสในการปรับปรุงชีวิตของตน การปกครองของพม่าในช่วงก่อนเป็นอาณานิคม ได้ผลักให้ชาวกะเหรี่ยงเข้าหาอังกฤษมากขึ้น ในช่วงที่อังกฤษยังไม่ได้ยึดครองดินแดนพม่าทั้งหมด ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในดินแดนของพม่าไม่ได้รับการศึกษา ชาวกะเหรี่ยงได้หนีมายังเขตที่อังกฤษปกครองและช่วยให้อังกฤษยึดครองพม่า การที่รู้ภาษาอังกฤษและได้รับการศึกษาแบบคริสต์ทำให้กะเหรี่ยงสะกอก้าวหน้ากว่าชาวกะเหรี่ยงกลุ่มอื่น ๆ ที่เป็นกะเหรี่ยงพุทธ[23] และทำให้กะเหรี่ยงสะกอเป็นกลุ่มแรกที่เกิดความคิดเกี่ยวกับความเป็นชาติกะเหรี่ยง และเป็นกลุ่มแรกที่สร้างองค์กรทางการเมืองของกะเหรี่ยง[24][25][26] และเป็นกลุ่มที่เด่นในบรรดาขบวนการของชาวกะเหรี่ยงทั้งหมด

นโยบายในสมัยอาณานิคม

ในสงครามระหว่างพม่ากับอังกฤษ กะเหรี่ยงเป็นทหารที่สำคัญในกองทัพ ในสงครามพม่า-อังกฤษ[27][28] ชาวกะเหรี่ยงได้เป็นผู้นำทางให้กองทัพอังกฤษ ฝ่ายพม่าได้ลงโทษชาวกะเหรี่ยงที่เข้าข้างอังกฤษ ทำให้ชาวกะเหรี่ยงอพยพไปยังดินแดนที่อังกฤษปกครองและเกิดกลุ่มต่อต้านพม่า หลังจากอังกฤษได้ปกครองพม่าทั้งหมด และยึดมัณฑะเลย์ได้ในสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 3 กะเหรี่ยงได้เป็นผู้ช่วยอังกฤษเมื่อชาวพม่าก่อกบฏ มิชชันนารีได้เข้ามามีบทบาทในการชักนำชาวกะเหรี่ยงกดดันการก่อกบฏของพม่า จนอังกฤษปราบปรามได้สำเร็จ[29][30]

นโยบายของอาณานิคมนั้นได้ใช้ที่ราบลุ่มแม่น้ำเป็นแหล่งผลิตข้าว ส่วนพื้นที่หุบเขารอบ ๆ ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจสำหรับอังกฤษ อังกฤษปกครองพม่าตอนกลางโดยตรง ส่วนเขตชายแดนที่เป็นที่อยู่ของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ อังกฤษปกครองโดยอ้อม การปกครองแบบนี้ส่งผลต่อปัญหาทางการเมืองในพม่ายุคหลังอาณานิคม ใน พ.ศ. 2473–2475 เกิดกบฏในพม่าเพื่อต่อต้านรัฐบาลอาณานิคมในชื่อกบฏซายาซาน ชาวกะเหรี่ยงได้ช่วยอังกฤษปราบกบฏ รวมทั้งการนัดหยุดเรียนของนักศึกษาใน พ.ศ. 2479 และการนัดหยุดงานทั่วไปใน พ.ศ. 2481

องค์กรทางการเมืองของชาวกะเหรี่ยง

ธงกะเหรี่ยง

กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์แรกในพม่าที่จัดตั้งองค์กรทางการเมือง ใน พ.ศ. 2383 ได้ตั้งองค์กรกะเหรี่ยงแบบติสต์ซึ่งเป็นองค์กรทางศาสนา องค์กรทางการเมืองแห่งแรกจัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2424 ในชื่อสมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยงซึ่งมีเป้าหมายในการเป็นตัวแทนของกะเหรี่ยงทั้งหมด ไม่ว่าจะในด้านศาสนา ภาษา หรือที่อยู่อาศัย สมาชิกของสมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยงส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงคริสต์ กลุ่มของกะเหรี่ยงพุทธได้จัดตั้งสมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยงพุทธจัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2482 ทั้งนี้ สมาคมของกะเหรี่ยงคริสต์มีความใกล้ชิดกับอังกฤษ ส่วนสมาคมของกะเหรี่ยงพุทธมีความใกล้ชิดกับพม่า สมาคมของกะเหรี่ยงคริสต์ได้ช่วยอังกฤษรบในสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2429 ด้วย ชาวพุทธกะเหรี่ยงโปว์ปฏิเสธความพยายามของกะเหรี่ยงคริสต์ในการเป็นตัวแทนองค์กรทางการเมือง

สมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยงเป็นองค์กรทางการเมืองที่สำคัญในสมัยอาณานิคม ในราว พ.ศ. 2463 ขบวนการชาตินิยมกะเหรี่ยงและขบวนการชาตินิยมพม่า เคลื่อนไหวในช่วงเวลาเดียวกัน ดร. ซาน ซี โป ทนายความชาวกะเหรี่ยงที่สำเร็จการศึกษาจากตะวันตกและเป็นชาวกะเหรี่ยง เป็นคนแรกที่ประกาศในที่สาธารณะว่าต้องการจัดตั้งรัฐกะเหรี่ยงใน พ.ศ. 2471 ปีเดียวกันสมาชิกสมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยง ซอทาอายจี ได้เขียนเกี่ยวกับสัญลักษณ์แห่งชาติกะเหรี่ยง ใน พ.ศ. 2480 ได้ออกแบบธงกะเหรี่ยง ชาวกะเหรี่ยงถือว่าตนเองเป็นกลุ่มแรกที่ตั้งหลักแหล่งในพม่า สมาคมแห่งชาติกะเหรี่ยงได้พัฒนามาเป็นสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 หนึ่งปีก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราช และได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้น สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงทำหน้าที่เป็นรัฐบาลมาครึ่งศตวรรษในพื้นที่ที่เป็นรัฐกะเหรี่ยง

ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ไม่ได้สนับสนุนความขัดแย้งทางทหาร และไม่เคยเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธกับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงสามารถครอบครองพื้นที่ที่ชาวกะเหรี่ยงเป็นชนส่วนใหญ่ได้น้อย ทำให้กลายเป็นปัญหาหลักในการรวมชาติกะเหรี่ยง

ใกล้เคียง

ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยง ความขัดแย้งอิสราเอล–ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งนิยมรัสเซียในประเทศยูเครน พ.ศ. 2557 ความขัดแย้งภายในพม่า ความขัดแย้งที่ซันริซูกะ ความขัดแย้งในรัฐกะชีน ความขัดแย้งในกัมพูชา พ.ศ. 2354 ความขัดแย้งนากอร์โน-คาราบัค ความขัดแย้งอิสราเอล–กาซา พ.ศ. 2557 ความขัดแย้งในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง (พ.ศ. 2555–ปัจจุบัน)

แหล่งที่มา

WikiPedia: ความขัดแย้งระหว่างพม่ากับกะเหรี่ยง http://www.post-gazette.com/stories/news/world/mya... http://www.karennationalunion.net http://www.burmacentrum.nl/0502papersbriefing.html http://www.burmalibrary.org http://www.burmalibrary.org/docs13/BCES-BP-01-ceas... http://www.crisisgroup.org/en/regions/asia/south-e... http://www.karennews.org http://mmpeacemonitor.org/stakeholders/stakeholder... http://www.tni.org/work-area/burma-project http://www.nectec.or.th/thai-yunnan/19.html#3