ความสัมพันธ์กับชาติในอเมริกาเหนือ ของ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย

สหรัฐฯ

ช่วงแรก

ไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์มายาวนาน โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2376 จากที่ทั้งสองฝ่ายมีสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Amity and Commerce) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โดยในปีดังกล่าว ประธานาธิบดี Andrew Jackson ของสหรัฐฯ (ดำรงตำแหน่งปี 2372-2380) ได้ส่งนาย Edmund Roberts เป็นเอกอัครราชทูตเดินทางมายังกรุงเทพฯ พร้อมทั้งนำสิ่งของมาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งรวมถึงดาบฝักทองคำที่ด้ามสลักเป็นรูปนกอินทรีและช้าง และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้พระราชทานสิ่งของตอบแทนซึ่งเป็นของพื้นเมือง เช่น งาช้าง ดีบุก เนื้อไม้ และกำยาน เป็นต้นโดยภารกิจสำคัญของนาย Robert คือการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาทางการค้ากับไทย เช่นเดียวกับที่ไทยได้ทำสนธิสัญญาและข้อตกลงทางการค้ากับสหราชอาณาจักรเมื่อ ปี 2369

การจัดส่งคณะทูตสหรัฐฯ มายังไทยแสดงให้เห็นถึงความสนใจของสหรัฐฯ ที่จะติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่ในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากที่ได้มีชาติตะวันตกอื่นๆ เช่น โปรตุเกส และสหราชอาณาจักร ได้เข้ามาค้าขายกับไทยอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ ไทยและสหรัฐฯ ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี 2399

อย่างไรก็ดี ในช่วงก่อนหน้านั้นปรากฏหลักฐานการติดต่อระหว่างทั้งสองประเทศตั้งแต่ต้น สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีเรือกำปั่นของชาวสหรัฐฯ ลำแรก โดยมีกัปตันแฮน (Captain Han) เป็นนายเรือได้แล่นเรือบรรทุกสินค้าผ่านลำน้ำเจ้าพระยาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปี 2364 หรือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ไม่มีความต่อเนื่องเพราะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกลกัน และสหรัฐฯ ไม่ค่อยความสนใจหรือมีผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ โดยสหรัฐฯ มีสถานกงสุลเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคนี้ที่ปัตตาเวีย (กรุงจาการ์ตาในปัจจุบัน)

แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะมีสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ความสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการ รวมทั้งเรือสินค้าสหรัฐฯ ได้เริ่มต้นเดินทางมาถึงไทยแล้วก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศก็ยังไม่ขยายตัว เนื่องจากไม่มีการติดต่อที่ใกล้ชิด รวมทั้งการค้ากับต่างประเทศของไทยโดยเฉพาะกับประเทศตะวันตกก็ยังไม่ขยายตัว เนื่องจากฝ่ายไทยยังคงบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการค้ากับต่าง ประเทศ และยังคงมีการผูกขาดกิจการต่างๆ แต่ในช่วงต้นของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ คณะบาทหลวงสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในระดับประชาชนสู่ประชาชน ในขณะที่ความสัมพันธ์ในระดับรัฐต่อรัฐยังไม่เป็นรูปธรรมนัก โดยเมื่อปี 2374 บาทหลวง David Abeel, M.D. มิชชันนารีชาวสหรัฐฯ ได้เดินทางมาไทยและพำนักอยู่ในกรุงเทพฯหลังจากนั้น คณะบาทหลวงอีกหลายคณะได้เดินทางและมาพำนักในไทย อย่างไรก็ดี คณะบาทหลวงสหรัฐฯ ไม่ประสบความสำเร็จในภารกิจการเผยแพร่ศาสนาเท่าใดนัก แม้ว่าพระมหากษัตริย์ไทยไม่ได้ทรงขัดขวางการเผยแพร่ศาสนา "มีผู้กล่าวไว้ว่า ไม่มีประเทศใดที่มิชชันนารีจะได้รับการต่อต้านการเผยแพร่ศาสนาน้อยที่สุด หรือเกือบไม่มีเลยเท่าประเทศไทย และก็ไม่มีประเทศใดที่คณะมิชชันนารีได้รับผลสำเร็จน้อยที่สุดเท่าประเทศไทย เช่นเดียวกัน" แต่คณะบาทหลวงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาในหลายด้าน เช่น การศึกษาโดยเฉพาะการสอนภาษาอังกฤษ การจัดตั้งสถาบันการศึกษาที่สำคัญๆ ได้แก่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ โรงเรียนปรินส์รอยัล และโรงเรียนดาราวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น ด้านการแพทย์และสาธารณสุข คณะบาทหลวงสหรัฐฯ มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาการแพทย์สมัยใหม่ในไทย โดยเฉพาะนายแพทย์ Danial B. Bradley ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการรักษาไข้ทรพิษและอหิวาตกโรค รวมทั้งเป็นผู้จัดตั้งโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์แห่งแรกในไทย และพำนักอยู่ในไทยเป็นเวลาเกือบ 40 ปี นอกจากนี้ คณะบาทหลวงสหรัฐฯ ยังมีส่วนในการจัดตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดอื่นๆ เช่น ลำปาง ตรัง นครศรีธรรมราช รวมทั้งโรงพยาบาลแมคคอมิกส์ที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์โรงพยาบาลศิริราชด้วย

ในช่วงที่ไทยจำเป็นต้องดำเนินนโยบายให้พ้นภัยคุกคามจากลัทธิอาณานิคมของ ประเทศมหาอำนาจยุโรป ที่ปรึกษาชาวสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชาติที่มีความเป็นกลาง และไม่ได้แข่งขันทางผลประโยชน์ต่างๆ โดยเฉพาะการแสวงหาอาณานิคมกับประเทศยุโรปในภูมิภาค ได้เข้ามีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ การศาล การพัฒนา และคำปรึกษาทั่วไปให้กับไทยโดยที่ปรึกษาชาวสหรัฐฯ คนแรก ได้แก่ นาย Edward H. Strobel ซึ่งมีส่วนสำคัญในการคลี่คลายปัญหาข้อพิพาทด้านพรมแดนฝั่งตะวันออกระหว่าง ไทยกับฝรั่งเศส รวมทั้งช่วยเจรจากับฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรให้ผ่อนผันในเรื่องสิทธิสภาพ นอกอาณาเขต นอกจากนี้ นาย Jen I. Westengard ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินระหว่างปี 2450-2458 มีบทบาทในเรื่องสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ต่อมาได้รับพระราชทานพระราชบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรีในสมัยรัชกาลพระ บาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ และในปี 2468 นาย Francis B. Sayre (ซึ่งได้รับพระราชทานพระราชบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรีด้วยเช่นกัน) มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขสนธิสัญญาระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะด้านศุลกากรและกฎหมาย รวมทั้งมีบทบาทในการช่วยเหลือไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อนาย Sayre ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสหประชาชาติเพื่อการบรรเทาทุกข์ และบูรณะความเสียหายของประเทศ (The United Nations Relief and Rehabilitation Administration -UNRRA)

การที่ไทยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายพันธมิตรในการป้องกันประเทศจากการ ที่ญี่ปุ่นเดินทางทัพเข้ามาในดินแดนไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ไทยจำเป็นต้องประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ในปี 2485 อย่างไรก็ดี รัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะนั้น ไม่ได้ประกาศสงครามกับไทย เนื่องจากมีการจัดตั้งเสรีไทยในสหรัฐฯ และรัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน รวมทั้งการจัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในไทย ซึ่งมีผลอย่างมากต่อสถานการณ์ภายหลังสงครามของไทยที่สหรัฐฯ สนับสนุนท่าทีที่ผ่านมาของไทย โดยถือว่าไทยไม่ได้เป็นคู่สงครามแต่เป็นดินแดนที่ถูกยึดครอง (occupied territory) ในระหว่างสงคราม ภายหลังสงครามสหรัฐฯ ได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยในทันที รวมทั้งช่วยเหลือไทยในการเจรจาให้สหราชอาณาจักรลดข้อเรียกร้องและการตั้ง เงื่อนไขต่างๆ จำนวน 21 ข้อ ที่กำหนดขึ้นภายหลังสงครามกับไทย โดยสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับสหราชอาณาจักรให้กับไทย รวมทั้งสนับสนุนและให้คำปรึกษาการกับไทยในการเจรจากับฝรั่งเศสและรัสเซีย เพื่อเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี 2489[76]

ช่วงทศวรรษที่ 1960 - 1970

ความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงเป็นพื้นฐานสำคัญของภาพรวมความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงที่ฝรั่งเศสเริ่มต้นเจรจากับฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ใน เวียดนาม ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าครอบครองพื้นที่ทางตอนเหนือของเวียดนามได้ ในขณะที่ประธานาธิบดี Eisenhower มีนโยบายที่เด่นชัดมากขึ้นในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชีย และได้เป็นแกนนำหลักในการชักชวนให้ประเทศในเอเชียรวมตัวกันเพื่อป้องกัน ประเทศจากภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ โดยสหรัฐฯ ได้ร่วมกับไทย ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน อิตาลี ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร ลงนามในสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Southeast Asia Collective Defense Treaty หรือ Manila Pact) ที่กรุงมะนิลา เมื่อปี 2497 ซึ่งได้นำไปสู่การก่อตั้งองค์การสนธิสัญญาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Southeast Asia Treaty Organization – SEATO) นอกจากนี้ ไทยและสหรัฐฯ ยังมีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศระหว่างกันใน กรอบทวิภาคี ตามแถลงการณ์ร่วมของนายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนาย Dean Rusk รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (Rusk-Thanat Communique') เมื่อปี 2505 ที่ย้ำถึงการเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาระหว่างกันของไทยและสหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ถือว่าเอกราชและ บูรณภาพของไทย มีความสำคัญยิ่งต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และสันติภาพของโลก และจะให้การปกป้องไทยจากการรุกรานตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ

เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งในอินโดจีนขยายตัวออกไปจนกระทั่งสหรัฐฯ ต้องเข้ามามีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลเวียดนามใต้ ไทยได้ให้ความร่วมมือตามคำร้องขอของสหรัฐฯ โดยให้ใช้สนามบิน และฐานทัพในไทย รวมทั้งจัดส่งทหารจำนวนประมาณ 12,000 นายไปร่วมรบในเวียดนามด้วย โดยสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายของกำลังพล ซึ่งในช่วงดังกล่าว ความช่วยเหลือด้านการทหารของสหรัฐฯ ต่อไทยมีจำนวนสูงขึ้นถึง 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2511 และระหว่าง 2508 - 2513 สหรัฐฯ ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อปรับปรุงฐานทัพในไทย ในขณะเดียวกันความช่วยเหลือด้านอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นความช่วยเหลือแก่รัฐบาลไทยในการต่อสู้เพื่อเอาชนะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ผ่านโครงการส่งเสริมความมั่นคง การพัฒนาชนบท การสาธารณสุข การเกษตร และการศึกษา เป็นต้น[77]

ช่วงทศวรรษที่ 1970 – 1980

สหรัฐฯ ได้ลดบทบาทการมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับความขัดแย้งในอินโดจีน ซึ่งการปรับเปลี่ยนท่าทีทางนโยบายดังกล่าว เป็นผลจากกระแสการต่อต้านสงครามในสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ หลังจากที่ประธานาธิบดี Richard Nixon (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2512 – 2517)ได้ประกาศนโยบาย Nixon Doctrine ซึ่งระบุว่า สหรัฐฯ จะไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียด้วยการส่งทหารสหรัฐฯ เข้าไปโดยตรง แต่ประเทศในเอเชียต้องรับภาระการป้องกันประเทศด้วยตนเอง โดยสหรัฐฯ จะสนับสนุนความช่วยเหลือทางทหารและเศรษฐกิจด้านอื่นๆ แก่ประเทศเหล่านั้น ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมภายในของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวจากช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เป็นส่วนสนับสนุนกระแสต่อต้านสงครามมากยิ่งขึ้น ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ลดบทบาทและการใช้จ่ายงบประมาณสำหรับกิจการต่างประเทศลง และหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายภายในประเทศ และตัดทอนงบประมาณการต่างประเทศมาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ นอกจากนี้ การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนโดยประธานาธิบดี Nixon เดินทางไปเยือนกรุงปักกิ่งในปี 2514 เป็นสัญญาณที่สำคัญต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศในแนวทางที่สหรัฐฯ จะลดบทบาททางความมั่นคงและทางทหารในภูมิภาคลง

การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศหลังสหรัฐฯ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน และการถอนทหารของสหรัฐฯ จากอินโดจีน ทำให้ไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และหลังการลงนามข้อตกลงสันติภาพเพื่อยุติสงครามเวียดนามอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2516 กระแสต่อต้านสหรัฐฯ ในไทยเพิ่มมากขึ้น การเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษา ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทย ยิ่งมีส่วนส่งเสริมให้กระแสต่อต้านสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น มีการเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากประเทศไทย และเมื่อเกิดเหตุการณ์เรือสินค้า Mayaguez เมื่อปี 2518 ซึ่งทหารสหรัฐฯ ได้พยายามช่วยเหลือลูกเรือจากฝ่ายเขมรแดง โดยใช้ฐานทัพในไทยโดยไม่ได้ขออนุญาต รัฐบาลไทยได้ดำเนินการประท้วง และแจ้งให้ฝ่ายสหรัฐฯ ดำเนินการถอนทหารออกจากไทยทั้งหมดภายในปี 2519[78]

ช่วงสงครามเวียดนาม

ไทยได้ให้ความร่วมมืออย่างมากกับสหรัฐฯ ในขณะที่ สหรัฐฯ ได้ให้ความช่วยเหลือทางด้านความมั่นคงเป็นจำนวนมากแก่ไทยด้วยเช่นกัน นับได้ว่าทั้งสองฝ่ายได้พึ่งพาอาศัยกันบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันมาโดย ตลอด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลังจากที่สหรัฐฯ ถอนกำลังทางทหารออกจากเวียดนาม และปรับเปลี่ยนนโยบายโดยลดบทบาทด้านการเมือง การทหารในภูมิภาคลง แต่สหรัฐฯ ยังคงให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของไทยในการแก้ไขปัญหาความขัด แย้งในภูมิภาคอินโดจีน โดยสหรัฐฯ สนับสนุนทางความพยายามของไทยและสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations – ASEAN) ในการแก้ไขปัญหากัมพูชาโดยวิถีทางการเมือง และสนับสนุนการจัดตั้งเวทีประชุมความมั่นคงภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Regional Forum – ARF) ด้วย ความสัมพันธ์ทางด้านความมั่นคงและการทหารระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่มิได้อยู่ในระดับที่ใกล้ชิดเท่ากับในช่วงสงครามเย็น สหรัฐฯ เห็นว่าไทยเป็นพันธมิตรทางทหารที่สำคัญ การฝึกร่วมผสม Cobra Gold ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งมีเป็นประจำทุกปี ถือเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพันธมิตรทางทหาร และเป็นการฝึกร่วมผสมที่ใหญ่ที่สุดที่สหรัฐฯ มีอยู่กับประเทศต่างๆ โดยในระยะหลัง เป็นการฝึกร่วมผสมไทย-สหรัฐฯ มีประเทศอื่นๆ เข้าร่วมฝึกในบางสาขา เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมองโกเลีย และอีก 16 ประเทศเข้าร่วมสังเกตการณ์ นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ มอบสถานะพันธมิตรสำคัญนอกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (Major Non NATO Ally - MNNA) ให้แก่ไทยเมื่อปี 2546 เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นพันธมิตรในด้านการทหารและความมั่นคงของทั้ง สองฝ่ายอีกระดับหนึ่งด้วย[79]

ช่วงหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายวันที่ 11 กันยายน 2544

นโยบายการเมืองและความมั่นคงของสหรัฐฯ ภายหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ถือเป็นจุดปรับเปลี่ยนที่สำคัญของการดำเนินนโยบายการเมืองและความมั่นคงของ สหรัฐฯ โดยสหรัฐฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการและความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการต่อต้าน การก่อการร้ายในลำดับแรกของนโยบายด้านดังกล่าว รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำเนินการและความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ ในการลดและป้องกันการเผยแพร่อาวุธนิวเคลียร์และอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้าง สูง ตลอดจนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งสหรัฐฯ เห็นว่ามีความเกี่ยวพันกับขบวนการก่อการร้าย นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังคงผลักดันความเป็นประชาธิปไตยและการให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนในฐานะ ประเด็นสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในฐานะพันธมิตรทางสนธิสัญญา สหรัฐฯ ประสงค์ให้ไทยสนับสนุนและเป็นแนวร่วมในการต่อต้านการก่อการร้ายในเวทีการ เมืองโลกอย่างเปิดเผย เพื่อประโยชน์ในการแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศเห็นถึงการสนับสนุนที่สหรัฐฯ ได้รับจากประเทศต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา ไทยก็ได้ตอบสนองในฐานะพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ ด้วยการให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในขอบเขตที่พึ่งกระทำได้โดยไม่กระทบต่อผลประโยชน์และความมั่นคงขอลชาติ โดยไทยมีความร่วมมือทวิภาคีกับสหรัฐฯ ในการปราบปรามการก่อการร้าย โดยเฉพาะในด้านการแลกเปลี่ยนข่าวกรอง การจับกุมผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย รวมทั้งการสนับสนุนสหรัฐฯ ในการดำเนินการในเวทีระหว่างประเทศ เช่น การส่งกองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจเข้าไปช่วยเหลือในการฟื้นฟูบูรณะอัฟกานิสถาน หลังจากการโค่นล้มรัฐบาลตาลิบันเมื่อต้น ปี 2545 และการส่งทหารไทยเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การบูรณะและฟื้นฟูอิรักภายหลังสงครามในปี 2546 เป็นต้น ไทยและสหรัฐฯ ได้ดำเนินโครงการความร่วมมือร่วมกันในด้านการต่อต้านการก่อการร้ายในแนวทาง อื่นๆ ด้วย เช่น การสนับสนุนข้อเสนอของสหรัฐฯ ในกรอบเอเปคในเรื่องความมั่นคงทางการค้าในภูมิภาค (Secure Trade in the APEC Region: STAR) การเข้าร่วมในโครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพฯ แหลมฉบังให้เป็นท่าเรือตัวอย่างที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย (Bangkok/ Laem Chabang Efficient and Secure Trade - BEST) ที่สอดคล้องกับมาตรฐานของข้อริเริ่มด้านการต่อต้านการก่อการร้าย (STAR Initiative) ของสหรัฐฯ การเข้าร่วมในโครงการ Container Security Initiative (CSI) ซึ่งเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยในการขนส่งตู้สินค้าเข้าไปสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการก่อการร้าย และโครงการจัดทำศูนย์ข้อมูลบุคคล (The Personal Identification, Secured Comparison and Evaluation System -PISCES) เป็นต้น นอกจากนี้ เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ยังเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้สหรัฐฯ หันมาให้ความสนใจกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมุสลิมอยู่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ซึ่งถือเป็นจุดเปราะบางที่จะเกิดปัญหาการขยายตัวของขบวนการ / กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงต่อต้านสหรัฐฯ ในขณะเดียว สหรัฐฯ ก็ตระหนักดีว่า สถานการณ์ในภาคใต้ของไทยเป็นกิจการภายในของไทยและไม่ปรากฏหลักฐานว่าเกี่ยว ข้องกับการก่อการร้ายสากล แต่สหรัฐฯ มีข้อวิตกกังวลว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจเปิดโอกาสให้ปัจจัยภายนอกเข้าแทรก แซง และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านข่าวกรอง การที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติต่างๆ เช่น การฟอกเงิน การลักลอบค้ายาเสพติด และการลักลอบค้าเด็กและสตรี ฯลฯ ซึ่งสหรัฐฯ เห็นว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับปัญหาการก่อการร้ายระหว่างประเทศ และมุ่งหวังจะให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ ประกอบกับสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับค่านิยม (value) ด้านสิทธิมนุษยชน และหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงประสงค์ให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยเพิ่มบทบาทในเรื่องนี้ด้วย และติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้จากการจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านสิมธิมนุษยชนและสถานการณ์การค้า มนุษย์ประจำปีของสหรัฐฯ ที่วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน เช่น กรณีการวิสามัญฆาตกรรมในการดำเนินนโยบายต่อต้านยาเสพติดของไทย หรือความไม่คืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการค้าเด็กและสตรีในไทย ซึ่งในบางครั้งการวิพากษ์วิจารณ์ของสหรัฐฯ โดยไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน ก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันได้[80]

ใกล้เคียง

ความสนใจต่อสิ่งภายนอก-ความสนใจต่อสิ่งภายใน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย ความสัมพันธ์สหราชอาณาจักร–สหรัฐ ความสามารถสั่งตายสุดโกงที่พวกต่างโลกเทียบไม่ติด ความสามารถของบุคคล ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น–ไทย ความสัมพันธ์ไทย–พม่า ความสัมพันธ์เนโท–สวีเดน ความสัมพันธ์จีน–ไทย ความสัมพันธ์ไทย–สหรัฐ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย http://www.etaiwannews.com/etn/news_content.php?id... http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?m... http://www.prachatai.com/english/node/4318 http://www.thaibizchina.com/thaibizchina/th/thai-c... http://news.xinhuanet.com/english/2009-11/05/conte... http://www.th.emb-japan.go.jp/th/relation/index100... http://www.apecthai.org/apec/th/profile1.php?conti... http://www.thaiembassy.org/hague/th/relation/46486... http://www.thaiembassy.org/seoul/th/relation http://www.dtn.go.th/filesupload/files/country/asi...