ประวัติงานกระจกสี ของ งานกระจกสี

งานกระจกสีก่อนยุคกลาง

การทำกระจกสีทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณทั้งที่ ประเทศอียิปต์ และ โรมันซึ่งผลิตสิ่งของทำด้วยแก้วที่ชิ้นไม่ใหญ่นัก บริติชมิวเซียม มีกระจกสำคัญจากสมัยโรมันสองชิ้นๆ หนึ่งเรียกว่าถ้วย “Lycurgus” ซึ่งเป็นสีเหลืองมัสตาร์ดขุ่นๆ แต่จะออกสีม่วงแดงเมื่อถูกแสง และ แจกันพอร์ตแลนด์ (Portland vase) ซึ่งเป็นสีน้ำเงินดำและมีสลักขาวบนผิวแก้ว

ในวัดคริสต์ศาสนาสมัยแรกๆ จากคริสต์ศตวรรษที่ 4 และ 5 มีหน้าต่างที่ใช้ตกแต่งด้วยแผ่นหินปูนอาลาบาสเตอร์ (alabaster) บางๆบนกรอบไม้ ลักษณะจะคล้ายกระจกที่มีแบบหน้าต่างประดับกระจกสี แต่ที่คล้ายคลึงกับการทำหน้าต่างประดับกระจกสีมากกว่าคือหน้าต่างที่ทำจากหินและใช้แก้วสีของศิลปะอิสลาม จาก เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 นักเคมีชาวอาหรับชื่อ Jabir ibn Hayyan หรือ เจเบอร์ (Geber) บรรยายสูตรการทำกระจกสีไว้ 46 สูตรในหนังสือชื่อ “หนังสือเกี่ยวกับมุกมีค่า” (“Kitab al-Durra al-Maknuna” หรือ “The Book of the Hidden Pearl”) หนังสือฉบับต่อมาเพิ่มอีก 12 สูตรโดย al-Marrakishi จาเบียร์บรรยายถึงวิธีผลิตกระจกสีคุณภาพดีพอที่จะตัดเป็นอัญมณีได้[1]

งานกระจกสียุคกลาง

  • “แดเนียล” ที่มหาวิหารออกสเบิร์ก (Augsburg Cathedral) ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12
  • หน้าต่างคริสต์ศตวรรษที่ 13 ที่มหาวิหารชาร์ทร
  • หน้าต่าง “พระคัมภีร์คนยาก” ที่ มหาวิหารแคนเตอร์บรี, 13th c.
  • หน้าต่างกุหลาบคริสต์ศตวรรษที่ 15 ที่แซนท์ชาเปล
  • หน้าต่างที่แบ่งเป็นช่องๆ ด้วยลวดลายซึ่งช่วยทำให้การทำหน้าประดับกระจกสีง่ายขึ้น ที่มหาวิหารคอนแสตนซ์ (Cathedral of Konstanz)

งานกระจกสีกลายมาเป็นศิลปะเต็มตัวและรุ่งเรืองที่สุดในยุคกลางเมื่อมาใช้เป็นทัศนศิลป์เพื่อเล่าเรื่องจากพระคัมภีร์ไบเบิลสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ที่อ่านหนังสือไม่ออก

ตั้งแต่ประมาณ 950 ก่อนคริสต์ศตวรรษ จนถึงสมัยโรมาเนสก์และสมัยกอธิคยุคแรก ประมาณปี ค. ศ. 1240 หน้าต่างยังมิได้แบ่งเป็นช่องๆ เมื่อสร้างกระจกก็ต้องสร้างทั้งบานในกรอบเหล็กจึงทำให้ต้องประกอบไม่มีส่วนใดของหน้าต่างที่ช่วยแบ่งแรงกดดัน เช่นที่มหาวิหารชาร์ทร (Chartres Cathedral) หรือทางตะวันออกของมหาวิหารแคนเตอร์บรี เมื่อสถาปัตยกรรมกอธิควิวัฒนาการขึ้นหน้าต่างก็กว้างมาขึ้นทำให้มีแสงส่องเข้ามาในสิ่งก่อสร้างมากขึ้น เมื่อหน้าต่างกว้างขึ้นก็มีการแบ่งเป็นช่องๆ ด้วยแกนหิน (Stone tracery) เมื่อมีแกนหินแบ่งทำให้ช่องตกแต่งภายในหน้าต่างหนึ่งๆ เล็กลงทำให้การทำหน้าต่างมีความซับซ้อนได้มากขึ้นตามลำดับ และขนาดของบานหน้าต่างทั้งบานก็ใหญ่ขึ้นไปอีกจนมาเจริญเต็มที่ในสมัยที่เรียกว่ากอธิควิจิตร (Flamboyant gothic) ซึ่งมีอิทธิพลมาจากสมัยกอธิคเพอร์เพนดิคิวลาร์ (Perpendicular) ของอังกฤษ ที่เน้นเส้นดิ่ง ซึ่งจะเห็นได้จากงานหน้าต่างกระจกรอบมหาวิหารกลอสเตอร์

เมื่อการใช้ความสูงในสมัยกอธิคทำได้ดีขึ้นในวัดและมหาวิหารก็มีการพยายามทำให้ดีกว่าเดิม จากหน้าต่างสี่เหลี่ยมมียอดโค้งแหลมมาเป็นหน้าต่างกลมที่เรียกว่า “หน้าต่างกุหลาบ” (rose window) ซึ่งเริ่มทำกันที่ประเทศฝรั่งเศส จากทรงง่ายๆ ที่เจาะผนังหินบางๆ มาจนเป็นหน้าต่างล้อที่มีแกนซึ่งจะเห็นได้จากหน้าต่างกุหลาบที่มหาวิหารชาร์ทร และที่เพิ่มความสลับซับซ้อนขึ้นอีกมากที่แซนท์ชาเปล (Sainte-Chapelle) ที่ปารีส หรือหน้าต่าง “ตาบาทหลวง” (Bishop's Eye) ที่มหาวิหารลิงคอล์น

การทำลายและการสร้างใหม่

ระหว่าง การปฏิรูปศาสนาที่ประเทศอังกฤษในระหว่างที่มีการการยุบอารามภายใต้การนำของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 และในสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6พระราชโอรส เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 16 หน้าต่างประดับกระจกสีถูกทุบทำลายไปมากและสร้างแทนที่ด้วยกระจกใสเกลี้ยงธรรมดา และต่อมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษ ที่นำโดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ครอมเวลล์ต่อต้านลัทธิประติมานิยมหรือศิลปะนิยม (การใช้รูปปั้นหรือเครื่องตกแต่งเป็นสิ่งสักการะ) และสนับสนุนลัทธิการเข้าถึงศาสตาโดยจิตนิยมแทนที่ ผู้เชื่อถือในปรัชญานี้จึงทำลายรูปสัญลักษณ์และสิ่งของอื่นๆที่ถือว่าไม่ควรจะมีอยู่ในวัดรวมทั้งหน้าต่างกระจกไปเป็นอันมาก ที่เหลืออยู่ที่ฝีมือดีๆ ก็ไม่มากเช่นที่คฤหาสน์เฮ็นเกรฟฮอลในซัฟโฟล์ค การทำลายครั้งหลังนี้ทำให้ศิลปะการตกแต่งด้วยกระจกสีเสื่อมลงจนกระทั่งมาฟื้นฟูกันใหม่เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19

แต่ในขณะเดียวกันในผืนแผ่นดินใหญ่ยุโรปถึงแม้ว่านิกายโปรเตสแตนต์จะเริ่มเป็นที่นิยมและมีการทำลายศิลปะทางศาสนาเช่นเดียวกับอังกฤษ แต่การตกแต่งกระจกสียังคงทำกันอยู่ในลักษณะแบบคลาสสิก ซึ่งจะเห็นได้จากงานที่ ประเทศเยอรมนี, ประเทศเบลเยียม และ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในสมัยนี้การผลิตกระจกสีที่ประเทศฝรั่งเศสทำมาจากโรงงานที่เมืองลีมอชส์ และ เมืองมูราโน (Murano) ที่ประเทศอิตาลี แต่ในที่สุดการตกแต่งกระจกสีก็มาสิ้นสุดลงเอาระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศสทั้งจากการบ่อนทำลายและการละเลย

ยุคศิลปะฟื้นฟู

การหันมาสนใจในนิกายโรมันคาทอลิกในประเทศอังกฤษมาริเริ่มอีกครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งความสนใจส่วนใหญ่จะเป็นความสนใจในวัดแบบยุคกลางโดยเฉพาะวัดแบบกอธิค จึงทำให้มีการสิ่งก่อสร้างที่เลียนแบบที่เรียกว่าสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอธิค ซึ่งจอห์น รัสคิน ประกาศว่าเป็น “ลักษณะโรมันคาทอลิกแท้” ขบวนการสร้างสถาปัตยกรรมลักษณะนี้นำโดยสถาปนิกออกัสตัส พิวจิน ซึ่งก็ได้มีการสร้างวัดใหม่ขึ้นมากในเมืองใหญ่อันเป็นผลจากการขยายตัวของประชากรอันเป็นสาเหตุมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม และการซ่อมแซมวัดเก่าๆ ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม จึงทำให้มีการหันมาสนใจศิลปะการตกแต่งประดับกระจกสีกันขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็มีการก่อตั้งบริษัทสำคัญๆที่มีชื่อในการทำศิลปะกระจกสีเช่น

บริษัทฮาร์ดแมนแห่งเบอร์มิงแฮม

การทำกระจกสีมีเป็นวิธีการที่ซับซ้อนฉะนั้นจึงเหมาะแก่การทำในระดับการผลิตจึงจะคุ้มทุน บริษัทเช่นฮาร์ดแมน (Hardman & Co.) ที่ เบอร์มิงแฮม และ บริษัทเคลตันและเบล (Clayton and Bell) ที่ ลอนดอน ซึ่งจ้างช่างผู้ชำนาญในงานกระจกสีโดยเฉพาะ งานระยะต้นของฮาร์ดแมนออกแบบโดย ออกัสตัส พิวจิน ใช้ติดตั้งในสิ่งก่อสร้างที่พิวจินสร้าง แต่เมื่อพิวจินเสียชีวิตเมื่อปี ค. ศ. 1852 จอห์น ฮาร์ดแมน พาวเวลผู้เป็นหลานก็ทำกิจการต่อ งานของพาวเวลเป็นที่สนใจของ Cambridge Camden Society ซึ่งเป็นขบวนการที่มีจุดประสงค์ในการศึกษาสถาปัตยกรรมแบบกอธิคและสิ่งของโบราณที่มีค่าทางศาสนา นอกจากนั้นพาวเวลยังมีหัวทางการค้าจึงได้นำผลงานไปแสดงที่ “งานมหกรรมที่ฟิลาเดลเฟีย ค. ศ. 1873” หลังจากออกงานที่ฟิลาเดลเฟียพาวเวลก็ได้รับงานหลายชิ้นในสหรัฐอเมริกา

  • เซ็นต์แอนดรู ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กระจกสีจากบริษัทฮาร์ดแมนค. ศ. 1861-ค. ศ. 1867 ลักษณะหรูและแสดงความชำนาญในการวางองค์ประกอบที่บอกเรื่องราว
  • มหาวิหารปีเตอร์เบรอ, บริษัทมอริส ลักษณะออกแบบแบบไม่สมดุลและการใช้สีรองและการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์เป็นลักษณะของวิลเลียม มอร์ริส
  • เซ็นต์แมรีชิลแลม (St Mary's Chilham) โดยวิลเลียม เวลส์ (William Wailes) หน้าต่างนี้เป็นสีอ่อนสดและมีการตกแต่งที่เป็นเอกลักษณ์ของบริษัท
  • มหาวิหารปีเตอร์เบรอ โดยบริษัทเคลตันและเบลเป็นหน้าต่างที่สวยสง่าโครงสร้างและสีที่ทั้งสดใสแต่ไม่ฉูดฉาด
  • หน้าต่างที่วัดเซนต์ปีเตอร์ เบิร์นแนม โดยบริษัทเคลตันและเบล

วิลเลียม มอริสนักออกแบบกระจกสีในกลุ่ม Pre-Raphaelites ที่มีชื่อเสียงที่สุดเห็นจะเป็น วิลเลียม มอร์ริส และ เอ็ดเวิร์ด เบิร์น-โจนส์ (Edward Burne-Jones) ขณะที่โจนส์มีชื่อเสียงเป็นจิตรกร สติวดิโอของวิลเลียม มอริสมีชื่อในการออกแบบหน้าต่างสำหรับสิ่งก่อสร้างและการตกแต่งภายในรวมทั้งภาพเขียน เฟอร์นิเจอร์ และผ้าตกแต่งภายใน ส่วนหนึ่งของธุรกิจของมอริสคือการตั้งโรงงานผลิตกระจกสีสำหรับงานของตนเองและงานที่เอ็ดเวิร์ด เบิร์น โจนส์ออกแบบ

เคลตันและเบลเคลตันและเบล (Clayton and Bell) เป็นผู้ผลิตกระจกสีรายใหญ่ ว่ากันว่าวัดในอังกฤษเกือบทุกวัดมีกระจกจากเคลตันและเบลหรือบางวัดจะเป็นของเคลตันและเบลทั้งวัดด้วยซ้ำ ในบรรดาช่างออกแบบของเคลตันและเบล ชาร์ล อีเมอร์ เค็มพ์ เป็นช่างที่มีชื่อเสียงที่สุดที่แยกตัวไปมีโรงงานของตนเองเมื่อปีค. ศ. 1869 งานออกแบบของเค็มพ์จะมีลักษณะเบากว่างานของเคลตันและเบล เค็มพ์เป็นผู้ออกแบบชาเปลของวิทยาลัยเซลวิน (Selwyn College) ที่เคมบริดจ์ และออกแบบหน้าต่างด้วยกันทั้งหมด 3,000 บาน วอลเตอร์ ทาวเวอร์ผู้เป็นหลานของเค็มพ์ดำเนินกิจการต่อ และเติมหอที่รวงข้าวสาลีที่เป็นสัญญลักษณ์ของเค็มพ์และดำเนินกิจการต่อมาจนค. ศ. 1934

หน้าต่างกระจกประดับสีคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษ 20th

  • งานของอเล็กซานเดอร์ กิบส (Alexander Gibbs) ที่มหาวิหารปีเตอร์เบรอ รูปหน้าจะอ่อนหวานสีเสื้อผ้าจะสดใสเช่นเดียวกับรายละเอียดการตกแต่งอื่นๆ
  • หน้าต่างโดยบริษัทฮีทัน บัตเลอร์ และ เบนย์ (Heaton, Butler and Bayne) ที่มหาวิหารปีเตอร์เบรอ จะนิยมใช้แก้วเคลือบ และแบบจะเป็นธรรมชาติ
  • หน้าต่างโดยบริษัทเบอร์ลิสันและกริลส์ (Burlison and Grylls) ที่มหาวิหารปีเตอร์เบรอ ใช้ซุ้มทรงวิจิตรสีอ่อน รายละเอียดมาก เสื้อคลุมสีมืด
  • งานชิ้นนี้ (ค.ศ. 1918) เป็นลักษณะที่แท้จริงของงานสมัยพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดซึ่งเน้นรายละเอียดใช้แก้วเคลือบสีแดงและม่วง เครื่องตกแต่งหรูและแสดงให้เห็นฝีมือของช่าง

วอร์ดและฮิวส์ และ วิลเลียม เวลส์ อีกบริษัทหนึ่งที่สำคัญคือวอร์ดและฮิวส์ (Ward and Hughes) แม้จะเริ่มด้วยลักษณะกอธิคแต่เมื่อมาถึงราวค.ศ. 1870 ก็เริ่มเปลี่ยนโดยได้รับอิทธิพลจากลัทธิสุนทรียนิยม บริษัทนี้ทำกิจการอยู่จนถึงปลายปี ค.ศ. 1920 และอีกคนหนึ่งวิลเลียม เวลส์ (William Wailes) ผู้สร้างหน้าต่างทางตะวันตกของมหาวิหารกลอสเตอร์ วิลเลียม เวลส์เองเป็นนักธุรกิจไม่ใช่นักออกแบบแต่จะใช้ช่างออกแบบเช่นโจเซฟ เบกลีย์ (Joseph Baguley) ผู้ที่ต่อมาออกมาตั้งบริษัทของตนเอง

ทิฟฟานีและลาฟารจช่างกระจกชาวอเมริกันสองคน จอห์น ลาฟารจ (John La Farge) ผู้ประดิษฐ์ “แก้วรุ้ง” (Opalescent glass) ซึ่งเป็นแก้วที่หลายสีซึ่งเกิดจากผสมระหว่างการผลิต ลาฟารจได้รับลิขสิทธิ์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1880 และหลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี ผู้ได้รับบลิขสิทธิ์หลายใบจากการใช้ “แก้วรุ้ง” หลายๆ วิธี เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน และเชื่อกันว่าเป็นผู้เริ่มใช้ทองแดงแทนตะกั่วในการเชื่อมชิ้นกระจกสี ที่ทิฟฟานีใช้ในการทำหน้าต่าง ตะเกียง และสิ่งตกแต่งอื่นๆ

  • หน้าต่างโดยหลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานีที่ใช้“แก้วรุ้ง” การออกแบบเป็นแบบไม่สมดุลใช้วิธี เบ้าโลหะ แก้วเคลือบ และ ทาสีภายในกรอบโลหะ
  • หน้าต่างโดยหลุยส์ คอมฟอร์ท ค.ศ. 1890
  • “ดอกลเบอร์นัม” ทิฟฟานีใช้การตกแต่งกระจกสีในการทำโคม
  • วัดเซ็นต์วอลเบิร์ก ออกแบบโดยเกเบรียล ลัวร์ กลางคริสต์วรรษที่ 20 ใช้ เบ้าโลหะ และ ตะกั่วกับลายสมัยใหม่ดูแล้วจะทราบได้ว่าที่มามาจากศิลปะยุคกลาง

คริสต์ศตวรรษที่ 20

บริษัทที่ก่อตั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็มาล้มละลายไปมากเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพราะความนิยมในศิลปะแบบกอธิคเสื่อมลง แต่ความนิยมการทำหน้าต่างประดับกระจกสีมารุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2เนื่องจากต้องมีการซ่อมแซมหน้าต่างกระจกอย่างมากมายที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม ช่างชาวเยอรมันเป็นผู้นำในการฟื้นฟูครั้งหลังนี้ ศิลปินคนสำคัญๆ ก็ได้แก่เออร์วิน บอสซันยี (Ervin Bossanyi) ลุดวิก ชาฟฟราธ (Ludwig Schaffrath) โยฮันส์ ชไรทเตอร์ (Johannes Shreiter) ดักกลาส ชตราคัน (Douglas Strachan) จูดิธ เช็คเตอร์ (Judith Schaechter) และคนอื่นๆ ที่แปลงศิลปะโบราณให้มาเป็นศิลปะร่วมสมัย ฉะนั้นแม้ว่างานส่วนใหญ่ที่สร้างกันในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะไม่มีลักษณะที่พิเศษและเป็นผลงานจากการผลิตทางอุตสาหกรรมไม่ใช่งานสร้างสรรค์โดยศิลปิน แต่ก็ยังมีผลงานบางชิ้นที่มีคุณค่าควรแก่การพิจารณาเช่นงานหน้าต่างด้านตะวันตกของมหาวิหารแมนเชสเตอร์ที่อังกฤษโดยโทนี ฮอลลาเวย์ (Hollaway) ซึ่งเป็นงานที่มีฝีมือดีที่สุดชิ้นหนึ่ง

ในประเทศฝรั่งเศสก็มีศิลปินสำคัญๆ เช่น ฌอง เรเน บาเซน (Jean René Bazaine) ที่วัดซังเซเวแรง (Saint-Séverin) และเกเบรียล ลัวร์ (Gabriel Loire) ที่ชาร์ทรส์ (Chartres) แก้ว “Gemmail” ซึ่งเริ่มประดิษฐ์โดยฌอง เป็นการวางแก้วสีเหลื่อมกันเพื่อให้ได้สีที่นุ่มนวลขึ้น[2]

สิ่ก่อสร้างที่ประกอบด้วยหน้าต่างประดับกระจกสี

มหาวิหารและวัดหน้าต่างประดับกระจกสีเป็นศิลปะตกแต่งที่นิยมกันในการตกแต่งวัดเพื่อใช้เป็นการทัศนศิลป์ในการสื่อสารเรื่องราวในคริสต์ศาสนา บางหน้าต่างจะอุทิศโดยผู้เป็นสมาชิกของวัดเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้สมาชิกในครอบครัวที่เสียชีวิต ตัวอย่างที่สำคัญๆ ก็ได้แก่

    • มหาวิหารที่ชาร์ทรส์ (Cathedral of Chartres) ประเทศฝรั่งเศส - คริสต์ศตวรรษที่ 11-13
    • มหาวิหารแคนเตอร์บรี อังกฤษ - คริสต์ศตวรรษที่ 12-15 และ คริสต์ศตวรรษที่ 19-20
    • มหาวิหารยอร์ค อังกฤษ - คริสต์ศตวรรษที่ 11-15
    • แซนท์ชาเปล (Sainte-Chapelle) ปารีส ประเทศฝรั่งเศส - คริสต์ศตวรรษที่ 11-14
    • มหาวิหารฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี - คริสต์ศตวรรษที่ 15 ออกแบบโดยอูเชลโล เพาโล อูเซลโล (Paolo Uccello) โดนาเทลโล และลอเร็นโซ กิเบอร์ตึ (Lorenzo Ghiberti)
    • มหาวิหารเซ็นต์แอนดรูว์ (St. Andrew's Cathedral) ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย - คริสต์ศตวรรษที่ 19 (บริษัทฮาร์ดแมนแห่งเบอร์มิงแฮม)
    • มหาวิหารโคเวนทรี อังกฤษ - กลางคริสต์ศตวรรษที่ 20th โดยช่างออกแบบหลายคน
    • วัด Brown Memorial Presbyterian Church - งานส่วนใหญ่ของหลุยส์ คอมฟอร์ท ทิฟฟานี