การปฐมพยาบาลและการรักษาผู้ที่ถูกงูทะเลกัด ของ งูทะเล

ก่อนการรักษาต้องวิเคราะห์ก่อนว่าผู้เคราะห์ร้ายถูกงูทะเลกัดในทะเล แหล่งน้ำขัง ชายฝั่ง หรือป่าชายเลน เพราะอาการต่างๆ จะไม่ปรากฏได้โดยง่าย แต่ถ้าถูกกัดในน้ำจืด หนองบึง หรือบริเวณหาดทรายจะสามารถทราบว่าถูกงูทะเลกัดได้เนื่องจากจะมีอาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ อาการอัมพาต และปัสสาวะเป็นสีเข้มภายในไม่กี่ชั่วโมง สัตว์หลายชนิดในทะเลสามารถทำอันตรายได้ลักษณะคล้ายกับพิษงูทะเล เช่น เงี่ยงของปลาบางชนิด กลุ่ม Coelenterates กลุ่มเม่นทะเล และกลุ่มหอยเต้าปูน เป็นต้น แต่หากถูกงูทะเลกัดผู้ป่วยไม่มีอาการเจ็บปวดบริเวณที่ถูกกัด

วิธีที่ดีที่สุดที่จะวินิจฉัยว่าผู้เคราะห์ร้ายถูกงูทะเลกัดได้แน่นอนก็คือ ผู้ใกล้ชิดหรือผู้เคราะห์ร้ายต้องฆ่างูตัวนั้นหรือนำซากงูตัวนั้นไปที่โรงพยาบาลด้วย เพื่อจะสามารถจำแนกชนิดของงูก่อนการรักษาที่ถูกต้อง สำหรับก่อนการรักษาควรมีการปฐมพยาบาลผู้เคราะห์ร้ายดังนี้

  1. ทำความสะอาดแผลที่ถูกงูกัดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์หรือทิงเจอร์ไอโอดีน
  2. อย่าตื่นตกใจเกินไปและควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยที่ใกล้ทีสุดโดยเอาซากงูที่กัดไปด้วย เพื่อความถูกต้องในการรักษา
  3. ไม่ควรนำเอาใบไม้ รากไม้ หรือสมุนไพรต่างๆ ใส่แผล เพราะจำทำให้แผลสกปรก เกิดการติดเชื้อและอาจเป็นบาดทะยักได้
  4. ตำแหน่งขาหรือแขนที่ถูกกัดควรให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด โดยใช้ไม้กระดานหรือกระดาษแข็งๆ รองหรือดามไว้
  5. หากต้องมีการขันชะเนาะต้องใช้ผ้า โดยรัดเหนือตำแหน่งที่ถูกกัด รัดแน่นปานกลางพอที่จะใช้นิ้วมือ 1 นิ้วสอดระหว่างผ้ากับผิวหนังที่รัดได้ เพื่อบังคับให้จุดที่งูกัดเคลื่อนไวน้อยที่สุด (ห้ามใช้เชือกหรือยางรัดเด็ดขาด)
  6. ห้ามดื่มของมึนเมา เนื่องจากอาจเกิดการสำลักและอาเจียนหรือบดบังอาการที่แท้จริงที่เกิดจากพิษงูได้