ประวัติ ของ จังหวัดของประเทศไทย

สมัยก่อนการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2435

แผนที่มณฑลเทศาภิบาล พ.ศ. 2458

พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ ให้เป็นไปตามอย่างอารยประเทศในโลกตะวันตก โดยทรงตั้งกระทรวงขึ้นใหม่ 12 กระทรวง และโอนการปกครองหัวเมืองทั้งหมดให้มาขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขณะนั้นดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ) เป็นองค์ปฐมเสนาบดี

เมื่องานการปกครองส่วนภูมิภาคขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยแล้ว การจัดการปกครองด้วยระบบมณฑลเทศาภิบาลจึงได้เริ่มมีขึ้นในปี พ.ศ. 2437 โดยแบ่งระดับการปกครองจากสูงสุดไปหาต่ำสุดเป็นมณฑล, เมือง (เทียบเท่าจังหวัด), อำเภอ, ตำบล และหมู่บ้าน มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้กำกับดูแลมณฑล การก่อตั้งมณฑลนั้นจะเป็นไปตามลำดับโดยขึ้นอยู่กับความเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ด้วย วัตถุประสงค์สำคัญในการจัดการปกครองเช่นนี้ ก็เพื่อให้ส่วนกลางสามารถควบคุมดูแลหัวเมืองและจัดการผลประโยชน์แผ่นดินได้อย่างใกล้ชิด และลิดรอนอำนาจและอิทธิพลของเจ้าเมืองในระบบเดิมลงอย่างสิ้นเชิง

การเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองดังกล่าว ทำให้ขุนนางท้องถิ่นที่ต้องการรักษาฐานอำนาจและอิทธิพลของตนไว้ ก่อการกบฏต่อต้านอำนาจรัฐในบางภูมิภาค เหตุการณ์กบฏครั้งสำคัญคือกบฏผู้มีบุญอีสาน (หรือ "กบฏผีบาปผีบุญ") ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2445 โดยอาศัยความเชื่อเรื่องยุคพระศรีอาริยเมตไตรย เป็นเครื่องมือในการปลุกระดมประชาชนให้ต่อต้านอำนาจรัฐ ขบวนการผู้มีบุญได้เคลื่อนไหวตามทั่วภาคอีสาน แต่ที่เป็นเหตุใหญ่ที่สุดอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งกลุ่มกบฏได้ก่อการถึงขั้นเผาเมืองเขมราฐและบังคับให้เจ้าเมืองเขมราฐร่วมขบวนการ แต่ที่สุดแล้วกบฏครั้งนี้ก็ถูกปราบปรามลงในเวลาไม่กี่เดือนต่อมา

หลังปี พ.ศ. 2459 คำว่า "จังหวัด" ได้กลายเป็นคำที่เรียกหน่วยการปกครองระดับต่ำกว่ามณฑลแทนคำว่า "เมือง" เพื่อแยกความกำกวมจากคำว่าเมืองที่ใช้เรียกที่ตั้งศูนย์กลางการปกครองของจังหวัด (อำเภอเมือง)

เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงลาออกจาตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี พ.ศ. 2458 นั้น ประเทศสยามได้แบ่งการปกครองออกเป็น 19 มณฑล 72 จังหวัด ทั้งนี้ ได้รวมถึงจังหวัดพระนคร ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงนครบาลจนถึง พ.ศ. 2465

เดือนธันวาคม พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งหน่วยการปกครองระดับ "ภาค" ขึ้นเพื่อกำกับมณฑล โดยมีผู้ปกครองภาคเรียกว่า "อุปราช" ในระยะนี้ได้มีการตั้งมณฑลต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจนถึงปี พ.ศ. 2465 อีก 4 มณฑล แต่มณฑลดังกล่าวก็ถูกยุบลงในปี พ.ศ. 2468 และมีอีกหลายมณฑลที่ถูกยุบรวมในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อลดรายจ่ายของรัฐบาล อันเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

สมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ระบบมณฑลเทศาภิบาลถูกยกเลิกในปี พ.ศ. 2476 ทำให้จังหวัดกลายเป็นหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคระดับสูงสุด และตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ก็ได้มีการจัดตั้งจังหวัดเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง โดยการตัดแบ่งอาณาเขตบางส่วนจากจังหวัดที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น ในปี พ.ศ. 2515 ได้มีการแบ่งพื้นที่บางส่วนของจังหวัดอุบลราชธานีมาจัดตั้งเป็นจังหวัดยโสธร ในปี พ.ศ. 2520 มีการแบ่งพื้นที่บางส่วนของจังหวัดเชียงรายมาจัดตั้งเป็นจังหวัดพะเยา ในปี พ.ศ. 2525 ได้มีการแบ่งพื้นที่บางส่วนของจังหวัดนครพนมมาตั้งเป็นจังหวัดจังหวัดมุกดาหาร ในปี พ.ศ. 2536 ได้มีการตั้งจังหวัดขึ้นมาพร้อมกัน 3 จังหวัดคือจังหวัดหนองบัวลำภู (แยกจากจังหวัดอุดรธานี) จังหวัดสระแก้ว (แยกจากจังหวัดปราจีนบุรี) และจังหวัดอำนาจเจริญ (แยกจากจังหวัดอุบลราชธานี) และจังหวัดล่าสุดของประเทศไทยคือจังหวัดบึงกาฬ (แยกจากจังหวัดหนองคาย) ในปี พ.ศ. 2554

ในปี พ.ศ. 2514 ได้มีการรวมจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีขึ้นเป็นเขตปกครองรูปแบบพิเศษชื่อ "นครหลวงกรุงเทพธนบุรี" และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรุงเทพมหานคร" เมื่อ พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นการรวมภารกิจในการปกครองของทั้งสองจังหวัดในรูปแบบเทศบาลเข้าไว้ด้วยกัน ที่มาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้ปกครองสูงสุดของกรุงเทพมหานครนั้นมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่การแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทยอย่างผู้ว่าราชการจังหวัด

ใกล้เคียง

จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดชลบุรี จังหวัดของประเทศไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี

แหล่งที่มา

WikiPedia: จังหวัดของประเทศไทย http://www.baanjomyut.com/76province/tesapiban.htm... http://somchaiblessings.blogspot.com/2012/05/human... http://web.archive.org/web/20100430192118/http://2... http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_57.pdf http://stat.bora.dopa.go.th/stat/y_stat54.html http://stat.bora.dopa.go.th/stat/y_stat55.html http://stat.bora.dopa.go.th/stat/y_stat58.htm http://stat.dopa.go.th/stat/statnew/upstat_age.php http://stat.dopa.go.th/stat/statnew/upstat_age_dis... http://stat.dopa.go.th/stat/y_stat53.html