เศรษฐกิจ ของ จังหวัดจันทบุรี

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดจันทบุรี ณ ราคาตลาด
ผลิตภัณฑ์ร้อยละ
เกษตรกรรม
  
55%
อื่น ๆ
  
19%
การค้า
  
13%
อุตสาหกรรม
  
6%
การก่อสร้าง
  
4%
การประมง
  
3%

จังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดจันทบุรีเกินครึ่งหนึ่งมาจากภาคเกษตรกรรม รองลงมาเป็นอุตสาหกรรม การก่อสร้าง การศึกษาและภาคส่วนอื่น ๆ ตามลำดับ ในปี พ.ศ. 2555 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดจันทบุรีรวมมูลค่าทั้งสิ้น 100,901 ล้านบาท คิดเป็นอันดับที่ 22 ของประเทศและมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดต่อหัว 200,876 บาทต่อปี[48] ในส่วนของรายได้ที่แท้จริงของประชากรในจังหวัดจันทบุรีนั้น ประชากรในจังหวัดมีรายได้เฉลี่ย 7,784 บาทต่อเดือนและมีรายจ่ายเฉลี่ย 6,655 บาทต่อเดือน สัดส่วนของคนจนในจังหวัดจันทบุรีเมื่อพิจารณามิติของรายได้พบว่ามีประชากรร้อยละ 8.8 อยู่ในสภาวะยากจน[49][50]

เกษตรกรรม

ภาคส่วนเกษตรกรรมเป็นภาคส่วนที่มีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงที่สุดในจังหวัดจันทบุรี โดยในปี พ.ศ. 2555 ภาคส่วนเกษตรกรรมมีผลิตภัณฑ์มวลรวมเท่ากับ 56,262 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55.76 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังระหว่างปี พ.ศ. 2538 - 2555 จะพบว่าภาคส่วนทางด้านเกษตรกรรมในภาพรวมมีผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี[48] สำหรับภาคส่วนเกษตรกรรมที่มีความสำคัญของจังหวัดจันทบุรีส่วนใหญ่เป็นการเพาะปลูก โดยพืชที่นิยมปลูกมากในจังหวัดจันทบุรีคือพืชไม้ผล พริกไทย และยางพารา

ไม้ผลที่เกษตรกรในจังหวัดจันทบุรีนิยมปลูกมากคือมังคุด ทุเรียน สละและเงาะ[51] เนื่องจากจันทบุรีมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศเหมาะสมสำหรับปลูกผลไม้เหล่านี้ทำให้จังหวัดจันทบุรีมีผลไม้เหล่านี้เป็นจำนวนมากและมีคุณภาพดี[52] โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนซึ่งจังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีการผลิตมากที่สุดในประเทศไทย[53] ผลไม้อีกชนิดหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงมากของจังหวัดจันทบุรีคือสละเนินวง โดยปลูกมากในบริเวณค่ายเนินวง ตำบลบางกะจะ[54] ผลไม้ของจังหวัดจะออกสู่ตลาดในช่วงระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายนของทุกปี[55] อย่างไรก็ตามปริมาณผลไม้ของจังหวัดในแต่ละปีจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ หากเกิดภาวะภัยแล้งขึ้นในจังหวัด ปริมาณผลไม้ที่จะออกสู่ตลาดในปีนั้นจะมีปริมาณลดลง[56]

ทุเรียน

จังหวัดจันทบุรีเป็นแหล่งปลูกพริกไทยที่สำคัญมากของประเทศไทย โดยพื้นที่ปลูกพริกไทยร้อยละ 95 อยู่ในจังหวัดจันทบุรี[57] โดยพริกไทยสามารถสร้างรายได้เข้าจังหวัดจันทบุรีปีละประมาณ 30 - 60 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพื้นที่การปลูกพริกไทยลดลงเป็นอย่างมาก จากการที่เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น ปัญหาความเสื่อมโทรมของดินและปัญหาด้านต้นทุนการผลิต โดยเกษตรกรเหล่านี้จะเปลี่ยนจากการปลูกพริกไทยเป็นแก้วมังกรและยางพารา[58]

ในส่วนของยางพารานั้น หลวงราชไมตรี (ปูม ปุณศรี) เป็นบุคคลแรกที่นำยางพาราเข้ามาปลูกในจังหวัดจันทบุรีเป็นพื้นที่แรกของภาคตะวันออก[59] ในปี พ.ศ. 2551 เกษตรกรชาวจันทบุรีปลูกยางพาราในพื้นที่ 463,799 ไร่ โดยปลูกมากที่สุดในอำเภอแก่งหางแมว คิดเป็นร้อยละ 41.60 ของพื้นที่ปลูกยางพาราของจังหวัด[60] แม้ว่ายางพาราจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวจันทบุรีเป็นจำนวนมาก แต่ในหลาย ๆ ปีมักประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ[61] [62]

ประมง

การประมงของจังหวัดจันทบุรี แม้จะมีส่วนแบ่งในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดค่อนข้างน้อย (2,683 ล้านบาท) แต่เป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญของจังหวัดจันทบุรี[48] เนื่องจากจังหวัดจันทบุรีมีชายฝั่งทะเลยาว 108 กิโลเมตรและมีแม่น้ำหลายสาย[63] ชาวประมงในจันทบุรีมีทั้งที่จับปลาในแหล่งน้ำและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ โดยสัตว์น้ำที่นิยมเพาะพันธุ์มากที่สุดคือกุ้ง ซึ่งมีผลผลิตรวมกันทั้งจังหวัดในปี พ.ศ. 2552 เท่ากับ 64,262 ตัน[64]

อัญมณี

ทับทิม

จังหวัดจันทบุรีได้รับฉายาว่าเป็นเมืองหลวงทางด้านอัญมณีแห่งหนึ่งของโลก[65] โดยกิจการเหมืองอัญมณีของจังหวัดจันทบุรีเริ่มเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่พบหลักฐานในจดหมายเหตุคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2419 ความว่า "ได้มีราษฎรนำเอาผลไม้และพลอย หลากสีมาถวาย"[66] อัญมณีที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัดจันทบุรีมีหลายชนิด เช่น ไพลิน สตาร์ บุษราคัม แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ ทับทิมสยาม ซึ่งมีชื่อเสียงมากในระดับโลก[67] อัญมณีดังกล่าวเหล่านี้มักขุดหาจากเหมืองในบริเวณเขารอบ ๆ ตัวเมืองจันทบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณเขาพลอยแหวนและเขตตำบลบางกะจะ ซึ่งค้นพบอัญมณีเป็นจำนวนมาก[68][66] อย่างไรก็ตามในปัจจุบันปริมาณอัญมณีที่ค้นพบในเขตจังหวัดจันทบุรีลดลงไปมาก ส่งผลให้ต้องนำเข้าอัญมณีจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศมาดากัสการ์ในทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบให้ช่างเจียระไนพลอยในจังหวัดจันทบุรีเป็นผู้เจียระไน การซื้อขายอัญมณีในจังหวัดจันทบุรีจะทำการซื้อขายในตลาดพลอย ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าจันทบุรี โดยมีผู้ซื้อทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ[65] มีการคาดการณ์กันว่าใน 1 สัปดาห์มีเงินสะพัดอยู่ในตลาดพลอยประมาณ 200 - 500 ล้านบาท[69]10330

การท่องเที่ยว

จังหวัดจันทบุรีมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การท่องเที่ยวของจังหวัดจันทบุรีสร้างรายได้ให้กับจังหวัดเป็นจำนวนมาก จากสถิติในแต่ละปีจะพบว่ามีปริมาณนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2555 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในจังหวัดจันทบุรีรวมทั้งสิ้น 1,072,348 โดยเกือบทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดจันทบุรีมีเพียง 53,443 คนเท่านั้น นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเข้ามาพักผ่อนในจังหวัดจันทบุรีโดยเฉลี่ย 2.31 วัน นักท่องเที่ยวเหล่านี้สร้างรายได้ให้กับจังหวัดจันทบุรีกว่า 4,214 ล้านบาท โดยมีค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อวันอยูที่ 1,503.07 ต่อคน โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะใช้จ่ายต่อวันอยู่ที่ 2,501.61 ต่อคน[70]

ใกล้เคียง

จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดชลบุรี จังหวัดของประเทศไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี

แหล่งที่มา

WikiPedia: จังหวัดจันทบุรี http://61.19.54.141/research/r_and_d/News/data_pro... http://www.aiyaragems.com/content.aspx?id=70 http://www.atimes.com/atimes/Southeast_Asia/DL04Ae... http://www.bantonnamchan.com/ http://xn--82c4aff9bye6aw.blogspot.com/ http://www.chanforchan.com/index.php?lay=show&ac=a... http://maps.google.com/?ie=UTF8&ll=12.61,102.11&sp... http://travel.kapook.com/view26028.html http://www.krobkruakao.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B... http://www.lonelyplanet.com/thailand/chanthaburi-p...