วัฒนธรรม ของ จังหวัดชัยภูมิ

ภาษา

การแต่งกายแบบชาวลาวชัยภูมิ ในการประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2016 ตัวแทน กรวรรณ หลอดสันเทียะ (รอบชุดประจำจังหวัด)

จังหวัดชัยภูมิมีประชากรที่สืบเชื้อสายต่าง ๆ อาศัยปะปนกันอยู่ เนื่องจากมีเขตแดนติดต่อระหว่าง 3 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำให้จังหวัดชัยภูมิมีภาษาที่ใช้แตกต่างกัน โดยมีส่วนใหญ่เป็นกลุ่มภาษา ขร้า-ไท โดยมีภาษาไทยมาตรฐานเป็นภาษาราชการ โดยสามารถแยกได้เป็น 5 ภาษาหลัก ดังนี้

  • ภาษาลาวสำเนียงเวียงจันทน์ เป็นภาษาที่ใช้มากที่สุดในจังหวัดชัยภูมิ เนื่องจาก ในอดีตบรรพบุรุษของชาวชัยภูมิส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากนครเวียงจันทน์ โดยพบการใช้ทุกอำเภอ ซึ่งปัจจุบันภาษาดังกล่าวมีการปะปนสำเนียงทั้งจากโคราช ภาษาไทย และภาษาล้านนา จึงทำให้มีสำเนียงที่แตกต่างออกไปจากเดิม ลักษณะคล้ายภาษาน่าน ภาษาลาวราชการ เช่น หากจะใช้คำว่า "งู" ภาษาอีสานจะออกเสียง "งู่" ส่วนภาษานี้จะออกเสียง "งู้" อีกทั้งยังมีคำว่า "เมือบ้าน" ที่เป็นภาษาอีสานทั่วไป แต่ภาษานี้จะใช้ว่า "กับบ้าน" ส่วนคำว่าขนมจีน จะใช้คำว่า "ขนมเส่น" ไม่ใช้คำว่า "ข้าวปุ้น" และ "ซกเล็ก"ในที่นี้ หมายถึง ส้มตำใส่ขนมจีน มิได้หมายถึง ลาบเลือด เป็นต้น โดยแถบที่ยังคงรักษาสำเนียงเดิมไว้ได้มากที่สุดอยู่ที่แถบอำเภอเกษตรสมบูรณ์ และภูเขียว
  • ภาษาลาวสำเนียงหลวงพระบาง เป็นภาษาเดียวกันที่ใช้มากในแถบจังหวัดเลย บางส่วนของหนองคาย อุตรดิตถ์ เชียงราย น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ โดยเป็นภาษาหลักของแขวงหลวงพระบาง ทางตอนบนของประเทศลาว ซึ่งภาษานี้เป็นภาษาหลักที่ใช้ในอำเภอคอนสาร และมีปะปนในแถบอำเภอหนองบัวแดง อำเภอภักดีชุมพล อำเภอภูเขียว อำเภอเกษตรสมบูรณ์
  • ภาษาไทยโคราช ใช้มากในแถบอำเภอทางตอนล่างของจังหวัด ได้แก่ อำเภอจัตุรัส อำเภอเทพสถิต อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอเนินสง่า อำเภอซับใหญ่ และบางส่วนในแถบอำเภอเมือง เช่น ตำบลบ้านค่าย และในอำเภอคอนสวรรค์ ได้แก่ บ้านโนนพันชาติ ตำบลโนนสะอาด
  • ภาษาญัฮกุร เป็นภาษามอญโบราณ จัดอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลมอญ-เขมร คำศัพท์หลายคำใกล้เคียงกับภาษาเขมรและภาษากูย ใช้ในหมู่ชาวบนหรือญัฮกุร ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เก่าแก่ และเป็นมอญโบราณเผ่าสุดท้าย ซึ่งหากเทียบกับจังหวัดอื่นที่มีชนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ จังหวัดชัยภูมิถือว่ามีมากที่สุด โดยพบได้ที่ บ้านน้ำลาด หมู่ที่ 4 ตำบลนายางกลัก อำเภอเทพสถิต นอกจากนี้ยังมีที่บ้านวังกำแพง ในอำเภอบ้านเขว้า ที่บ้านท่าโป่ง บ้านห้วยแย้ ในอำเภอหนองบัวระเหว ที่บ้านสะพานหิน บ้านสะพานยาง ในอำเภอเทพสถิต
  • ภาษาอีสาน หรือ ภาษาลาวตะวันตก มีการใช้บางหมู่บ้าน โดยส่วนใหญ่จะกระจัดกระจายอยู่กับคนเชื้อสายเวียงจันทน์ในแถบอำเภอแก้งคร้อ และอำเภอคอนสวรรค์

นอกจากนี้ จังหวัดชัยภูมิยังมีกลุ่มชนต่าง ๆ เช่น ชาวไทยเชื้อสายจีนที่บางส่วนยังคงสามารถพูดภาษาจีนได้ ซึ่งมีกระจายในตัวเมืองของทุกอำเภอ และมีมากในอำเภอเมือง แก้งคร้อ จัตุรัส ภูเขียว เกษตรสมบูรณ์ ตามลำดับ และชาวไทยเชื้อสายแขก ที่พบบ้างในตัวเมืองเช่นเดียวกัน แต่พบได้น้อยกว่า อีกทั้งยังมีชาวภูไท ที่าศัยปะปนอยู่กับชนพื้นเมืองในเขต อำเภอคอนสารอีกด้วย

ประเพณี

ด้วยประชากรที่หลากหลาย จังหวัดชัยภูมิจึงมีวัฒนธรรมประเพณีที่เกิดจากการผสมผสานกันระหว่างชุมชน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัด โดยมีประเพณีสามอย่างที่มีเพียงหนึ่งเดียวในไทยและในโลก ดังนี้

  • ประเพณีการแห่นาคโหด จัดอยู่ที่ วัดตาแขก บ้านโนนเสลา ตำบลหนองตูม อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เป็นประเพณีที่เป็นบททดสอบความอดทนของบุตรชาย เพื่อทดแทนพระคุณของมารดา ที่ต้องทนอยู่ไฟ และเลี้ยงดูบุตรจนเติบใหญ่ โดยจะจัดงานบวชเป็นหมู่ ในช่วงเดือนหกตามจันทรคติของไทย ซึ่งชาวบ้านจะหามนาคที่นั่งอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ พร้อมกับโยน และเขย่าแคร่ไม้ไผ่อย่างรุนแรงเดินรอบหมู่บ้าน กันอย่างสนุกสนาน เพื่อทดสอบความอดทน และความตั้งใจของนาคที่อยู่บนแคร่ เพื่อจะบวชทดแทนคุณบิดามารดา
  • ประเพณีงานบุญกระธูป อำเภอหนองบัวแดง เป็นประเพณีที่จัดในช่วงของวันออกพรรษา ในอดีตแต่ก่อนประเพณีออกพรรษา ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันสร้างกระธูปโดยจะตีเกราะเคาะขอลอให้ชาวบ้านออกไปรวมตัว ณ จุดนัดหมาย (อาจเป็นศาลากลางบ้านหรือบ้านผู้ใหญ่บ้าน) หนุ่มสาวตื่นเต้นมากในการไปพันกระธูป ซึ่งกว่าจะเป็นกระธูปจุดได้ต้องผ่านกระบวนการยาวนานพอสมควรเพราะไม่ใช้กระธูปหรือธูปที่วางขายตามท้องตลาด แต่เกิดมาจากการขยี้เอามาจากกาบมะพร้าวจนร่วงออกมาราวผง แล้วพันด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มอีกทีด้วยกระดาษสีหรือกระดาษหลากสีสัน ก่อนที่จะนำเข้าไปมัดกับดาวก้านตาล (สานจากใบตาลหรือใบลาน) จากนั้นจึงนำไปมัดห้อยกับก้านธูปที่เป็นเสมือนคันเบ็ด ทำไว้มากๆเสร็จแล้วจึงนำเข้าไปเสียบเข้าไปรูรอบปล้องไม้ไผ่ทำเป็นชั้นขึ้นไปเหมือนฉัตร ประดับตกแต่งงดงามก่อนที่จะนำออกมาจุดในวันเวียนเทียนออกพรรษา และในปัจจุบันประเพณีบุญกระธูปได้เป็นอัตลักษณ์ของอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
  • ประเพณีการตีคลีไฟ หรือการละเล่นตีคลีไฟ ถือเป็นกีฬาโบราณการละเล่นพื้นบ้านของชาวบ้านหนองเขื่อง ต.กุดตุ้ม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ มาช้านานกว่า 100 ปี กีฬานี้สูญหายมาจนถึงช่วงปี 2546 ได้มีกลุ่มคณาจารย์ ผู้ใหญ่บ้าน วัดและได้กลับมาให้ความสนใจภูมิปัญญาของชาวบ้านดั่งเดิมให้กลับมาฟื้นคืนขึ้นอีกครั้ง ได้มีการริเริ่มอนุรักษ์กีฬาโบราณตีคลีไฟมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการละเล่นในช่วงวันออกพรรษา และหน้าหนาวของทุกปี

นอกจากนี้ยังมีประเพณีในช่วงเทศกาลที่สำคัญต่างๆ เช่น

  • งานเจ้าพ่อพระยาแล และงานกาชาด
  • งานบุญเดือนหก
  • งานบุญเดือนสี่ประเพณีไทคอนสาร
  • งานส้มโอบ้านแท่น
  • งานพระไกรสิงหนาท

อีกทั้งยังมีงานเทศกาลที่เกิดขึ้นจากบทเพลงรำวงของวงสุนทราภรณ์ ชื่อว่า "สาวบ้านแต้" เมื่อ 60 ปีก่อน คือ งานสืบสานตำนานสาวบ้านแต้ จัดที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งในบทเพลงกล่าวถึงสาวบ้านแต้ขี่รถจักรยานไปเกษตรสมบูรณ์ ซึ่งบ้านแต้นั้นคือ บ้านหนองแต้ หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านยาง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ โดยเริ่มจัดเมื่อเดือนกันยายน ปีพุ.ศ.2559 ซึ่งเป็นงานเทศกาลใหม่ของจังหวัดชัยภูมิ

ใกล้เคียง

จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดชลบุรี จังหวัดของประเทศไทย จังหวัดเลย จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดขอนแก่น

แหล่งที่มา

WikiPedia: จังหวัดชัยภูมิ http://maps.google.com/?ie=UTF8&ll=15.8,102.04&spn... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=15.8&lo... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.globalguide.org?lat=15.8&long=102.04&zo... http://www.wikimapia.org/maps?ll=15.8,102.04&spn=0... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.chaiyaphum.go.th/ http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_59.pdf http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.h... http://www.nesdb.go.th/