ภูมิศาสตร์ ของ จังหวัดสุรินทร์

ที่ตั้ง

จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ทางตอนล่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างลองติจูด 103 และ 105องศาตะวันออก ละติจูด 15 และ 16 องศาเหนือ ระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 420 กิโลเมตร อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดมหาสารคาม ทิศใต้ติดต่อกับประเทศกัมพูชา ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษ และทิศตะวันตกติดต่อกับจังหวัดบุรีรัมย์

ภูมิประเทศ

จังหวัดสุรินทร์ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบสูงมีลักษณะพื้นที่ดังนี้

  1. ทางตอนใต้ของจังหวัด เป็นพื้นที่ราบสูง มีภูเขาสลับซับซ้อนหลายลูก มีป่าทึบสลับป่าเบญจพรรณตามบริเวณแนวเขตชายแดน (อำเภอบัวเชด อำเภอสังขะ อำเภอกาบเชิง และอำเภอพนมดงรัก) ที่ติดต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชา ต่อจากบริเวณภูเขาลงมาเป็นที่ราบสูง ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ลาดเทมีลักษณะเป็นลูกคลื่น ค่อย ๆ ลาดเทไปทางตอนกลางและตอนเหนือของจังหวัด
  2. ทางตอนกลางของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม แต่มีพื้นที่บางส่วนเป็นที่ดอน สลับที่ลุ่มลอนลาดเช่นเดียวกัน แต่ไม่มากเท่าทางตอนใต้ของจังหวัด (อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ อำเภอศรีขรภูมิ อำเภอสำโรงทาบ อำเภอลำดวน และอำเภอศรีณรงค์)
  3. ทางตอนเหนือของจังหวัด พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ (อำเภอจอมพระและอำเภอสนม) และที่ราบลุ่ม (อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม อำเภอรัตนบุรี และอำเภอโนนนารายณ์) โดยเฉพาะอำเภอชุมพลบุรี และอำเภอท่าตูม อยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ในเขตของทุ่งกุลาร้องไห้
ภูเขา

จังหวัดสุรินทร์ มีเทือกเขาพนมดงรักทอดยาวตามแนวเขตแดนไทย-กัมพูชา ทางด้านตอนใต้ของจังหวัด มีเขาสวายหรือพนมสวายในเขตตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์ เป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว มียอดเตี้ย ๆ 3 ได้แก่ ยอดเขาชาย เป็นที่ตั้งของวัดพนมศิลาราม และที่บรรจุอัฐิของเจ้าเมืองสุรินทร์และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสุรินทรมงคล ปางประทานพร ภปร. ยอดเขาหญิง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ขนาดกลาง และยอดเขาคอก (พนมกรอล) พุทธสมาคมจังหวัดสุรินทร์ ได้สร้างศาลาอัฐะมุขเพื่อเป็นอนุสรณ์ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง และสถูปบรรจุอัฐิพระราชวุฒาจารย์ (ดูลย์ อตุโล) เกจิอาจารย์ที่ชาวสุรินทร์เคารพนับถือ ปัจจุบันเขาสวายได้รับการประกาศเป็น วนอุทยานพนมสวาย

แหล่งน้ำ

แหล่งน้ำที่สำคัญของจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่

ป่าไม้

จังหวัดสุรินทร์ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ ป่าไม้ ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งจังหวัดประมาณ 1,434,001 ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าสมบูรณ์เหลืออยู่ประมาณ 187,343 ไร่ จังหวัดสุรินทร์ มีพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นเขตป่าจำนวน 1,382,625 ไร่หรือคิดเป็นร้อยละ 27.23 ของพื้นที่ โดยสามารถแยกได้ดังนี้ คือ

  1. เขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 26 ป่า
  2. วนอุทยาน จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ วนอุทยานพนมสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ เนื้อที่ 2,500 ไร่ และวนอุทยานป่าสนหนองคู อำเภอสังขะ เนื้อที่ 625 ไร่
  3. เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า 1 แห่ง คือ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยสำราญ-ห้วยทับทัน อยู่ในพื้นที่อำเภอพนมดงรัก อำเภอกาบเชิง อำเภอสังขะ และอำเภอบัวเชด เนื้อที่ 313,750 ไร่
  4. ป่าชุมชน

พื้นที่ระหว่างอำเภอสังขะกับอำเภอลำดวน มีป่าสนสองใบขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวสุรินทร์เรียกบริเวณนี้ว่า "ป่าพนาสน" ป่าสนสองใบที่จังหวัดสุรินทร์นี้ไม่เหมือนป่าสนทั่วไป เนื่องจากเป็นป่าสนที่ขึ้นอยู่บนพื้นราบ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100 กว่าเมตรเท่านั้น และขึ้นปะปนอยู่กับไม้เบญจพรรณ เช่น ไม้ยางนา กระบาก เหียง ตาด นนทรีป่า ประดู่ ลำดวน และมะค่าแต้ ในปี พ.ศ. 2523 รัฐบาลไทยได้รับความร่วมมือจากประเทศเดนมาร์ก มอบให้กรมป่าไม้จัดตั้งเป็น สถานีอนุรักษ์พันไม้ป่าหนองคู เพื่อดำเนินการศึกษาและวิจัย และจัดการเขตอนุรักษ์พันธ์ไม้สนสองใบ ป่าสนสองใบที่บ้านหนองคูนี้ นับเป็นมรดกทางธรรมชาติที่สำคัญ และเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์

วังทะลุ ห่างจากหมู่บ้านช้าง (บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม) เพียง 3 กิโลเมตร ที่นี่เป็นบริเวณที่แม่น้ำมูลไหล และลำน้ำชี มาบรรจบกัน ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่จังหวัดอุบลราชธานี “วังทะลุ” เป็นสายน้ำที่แวดล้อมไปด้วยป่าที่กว้างใหญ่ไพศาล ก่อให้เกิดเป็นทัศนียภาพที่งดงามซึ่งหาชมได้ยาก ยังมีความอุดมบูรณ์ทางธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งยังเป็นที่อาบน้ำของช้างในหมู่บ้านยามเย็น

เอกสารบรรยายสรุปจังหวัดสุรินทร์ ประจำปี พ.ศ. 2540 มีการตัดไม้ทำลายป่าค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการบุกรุก แผ้วถาง เพื่อการเกษตรกรรม ป่าไม้ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดบริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ในเขตอำเภอสังขะ อำเภอบัวเชด อำเภอกาบเชิง และอำเภอพนมดงรัก และยังมีป่าไม้กระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ ในเขตอำเภอปราสาท อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอท่าตูม อำเภอรัตนบุรี อำเภอลำดวน และอำเภอศีขรภูมิ ต้นไม้ที่มีอยู่โดยทั่วไปในจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ ต้นเต็ง รัง ยาง ประดู่ พะยูง ตาด แดง กะบาก และอื่น ๆ รวมทั้ง ต้นมันปลา หรือต้นกันเกรา ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสุรินทร์ จากการที่ป่าไม้ถูกทำลายมาก จึงมีการปลูกป่าทดแทน หรือปลูกไม้โตเร็วเพื่อการใช้สอย เช่น ต้นกระถินณรงค์ ต้นยางพารา ต้นตะกู และต้นยูคาลิปตัส เป็นต้น (พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของ ออป. (องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

ทรัพยากรธรณี

ลักษณะของดินในจังหวัดสุรินทร์ เป็นดินร่วนปนทราย มีบางพื้นที่ เช่น อำเภอเขวาสินรินทร์ เป็นดินเหนียวปนทราย ฉะนั้นดินในจังหวัดสุรินทร์จึงอุ้มน้ำได้น้อย

จังหวัดสุรินทร์มีทรัพยากรทางธรณีที่สำคัญ ได้แก่ ทรายแม่น้ำมูล พบที่อำเภอท่าตูมและอำเภอชุมพลบุรี บ่อหินลูกรัง พบที่ อำเภอท่าตูม อำเภอสำโรงทาบ อำเภอเมืองสุรินทร์ และอำเภอสังขะ หินภูเขา เป็นหินภูเขาที่ได้จากเขาสวาย ท้องที่ตำบลสวาย และตำบลนาบัว สำหรับป้อนโรงงานโม่หินเพื่อใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง

ความหลากหลายทางชีวภาพ

จังหวัดสุรินทร์มีทรัพยากรสัตว์ป่าอยู่มากมายทั่วทั้งจังหวัด แต่ปัจจุบันนี้สัตว์ป่าจะมีอยู่เฉพาะตามพื้นที่ป่าที่อนุรักษ์ไว้และอาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนและเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเท่านั้น ส่วนสัตว์ป่าที่พบเห็นได้ในปัจจุบันที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยทับทัน-ห้วยสำราญ ได้แก่ เก้ง กวาง ลิ่น วัวแดง กระจง ลิง ค่าง ชะนี เสือโคร่ง เลียงผา อีเห็น แมวดาว ชะมด เม่น ไก่ฟ้าพญาลอ นกนานาชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมูป่าและกระจงมีอยู่จำนวนมากทั่วพื้นที่ สัตว์ที่มีลักษณะเด่นในพื้นที่ ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ เก้ง และที่พบเห็นในวนอุทยานพนมสวาย ได้แก่ กระรอก กระต่ายป่า สัตว์ปีกมีบ้างแต่ไม่มากนักได้แก่ นกกระเต็น บ่าง นกกระทาดง นกกวัก นกกระปูด นกกางเขนดง นกเขาหลวง นกเป็ดน้ำ และนกเหยี่ยว และที่พบในวนอุทยานป่าสนหนองคู ได้แก่ กระรอก บ่าง กระต่ายป่า งู แย้ นกเขา นกกะปูด และนกเอี้ยง บางครั้งก็จะมีพบนกเงือกมาอยู่บ้าง และยังมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่สามารถพบเห็นได้ในป่าชุมชนต่าง ๆ ที่มีการอนุรักษ์ผืนป่าไว้

สิ่งแวดล้อม

จังหวัดสุรินทร์ มีการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีชุมชนเมือง (ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์) ที่อยู่อย่างแออัด มียานพาหนะมากส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจร โดยเฉพาะบริเวณตลาดสดในเขตเทศบาล และบริเวณสถานศึกษา มีผลกระทบทางด้านมลภาวะบ้าง แต่ไม่รุนแรงนัก ปัญหาขยะและน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมมีค่อนข้างน้อย เพราะได้รับการเอาใจใส่ ดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองสุรินทร์

ใกล้เคียง

จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดชลบุรี จังหวัดของประเทศไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี