ประวัติศาสตร์ ของ จังหวัดแพร่

การก่อตั้งชุมชน

จากการศึกษาทางโบราณคดีในพื้นที่จังหวัดแพร่ พบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด หอกสำริด ที่อำเภอลองและอำเภอวังชิ้น ต่อมา มีการค้นพบแหล่งโบราณคดีแห่งใหม่ในถ้ำที่บ้านนาตอง ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ขวานหิน และเครื่องมือหิน จากการตรวจสอบอายุพบว่ามีอายุราว 4,000 ปี [3]

จากการสำรวจด้วยภาพถ่ายทางอากาศ การศึกษาจากเอกสารและคำบอกเล่า รวมทั้งจากการสำรวจภาคสนาม พบที่ตั้งชุมชนโบราณในจังหวัดแพร่ จำนวน 24 แห่ง ชุมชนของคนกลุ่มน้อย จำนวน 4 แห่ง ชุมชนโบราณตั้งอยู่ในอำเภอต่าง ๆ ดังนี้

  • อ.เมืองแพร่ ได้แก่ เมืองแพร่ วังมอญ วังธง เวียงตั้ง
  • อ.สอง ได้แก่ เมืองสอง เวียงเทพ ชุมชนใกล้พระธาตุหนองจันทร์
  • อ.ร้องกวาง ได้แก่ เวียงสันทราย
  • อ.หนองม่วงไข่ ได้แก่ บ้านแม่คำมีท่าล้อ ชุมชนโบราณบ้านปากยาง
  • อ.สูงเม่น ได้แก่ บ้านเวียงทอง บ้านพระหลวง บ้านสูงเม่น
  • อ.เด่นชัย ได้แก่ บ้านเด่นชัย บ้านบ่อแก้ว
  • อ.ลอง ได้แก่ เมืองลอง เวียงต้า เวียงเชียงชื่น เมืองโกณหลวง เมืองลัวะ ชุมชนโบราณบ้านแม่รัง
  • อ.วังชิ้น ได้แก่ เมืองตรอกสลอบ บ้านแม่บงเหนือหรือขวานหินมีบ่า หรือที่เรียกว่า เสียมตุ่น บ้านใหม่ บ้านนาใหม่ หินไม่มีบ่าพบเพียงเล็กน้อย

ชุมชนโบราณที่สำคัญ

  • เมืองสองหรือเมืองสรอง ตั้งอยู่บนฝั่งของแม่น้ำสอง หรือแม่น้ำกาหลง มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ 3 ชั้น เชื่อกันว่าเป็นเมืองของพระเพื่อน-พระแพงในวรรณคดีเรื่องลิลิตพระลอ กลางเมืองมีซากเจดีย์เก่าแก่ ชาวบ้านเรียกว่า พระธาตุหินส้ม ปัจจุบันได้รับการบูรณะและสร้างวัดขึ้นให้ชื่อว่า“ วัดพระธาตุพระลอ”
  • ชุมชนเวียงเทพ เป็นชุมชนที่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ 1 ชั้น
  • ชุมชนเวียงสันทราย เป็นชุมชนเดียวที่พบในอ.ร้องกวาง มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบชุมชน
  • ชุมชนโบราณบ้านแม่คำมี ลักษณะของชุมชนคือสร้างสองฝั่งลำน้ำแม่คำมี มีลักษณะแตกต่างจากชุมชนโบราณแห่งอื่นที่สร้างติดลำน้ำด้านเดียว มีแนวคันดินด้านทิศตะวันออกเหลืออยู่ 3 ชั้น
  • บ้านพระหลวงธาตุเนิ้ง ชุมชนนี้ไม่ปรากฏคูน้ำและคันดินล้อมรอบแต่มีโบราณสถานที่สำคัญคือ พระธาตุเนิ้ง (เจดีย์นี้มีลักษณะเอียงซึ่งอาจเกิดจากแผ่นดินไหว) ได้รับการบูรณะซ่อมแซมและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
  • เวียงต้า ที่ตั้งชุมชนเป็นที่ราบลูกคลื่นใกล้ภูเขามีแนวคันดิน 3 ชั้น นอกกำแพงวัดมีวัดเก่าแก่ คือ วัดต้าม่อน มีภาพเขียนฝาผนังเขียนเล่าชาดกเรื่อง “ ก่ำก๋าดำ” ปัจจุบันภาพจิตรกรรมนี้ถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ที่ไร่แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
  • เมืองลอง ในสมัยพระเจ้าติโลกราช เป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ของอาณาจักรรับภาวะศึกสงครามกับอาณาจักรอยุธยา เมืองโบราณแห่งนี้มีชื่อเรียกอื่นๆอีก ได้แก่ “เมืองเววาทภาษิต” “เมืองกกุฎไก่เอิ้ก” และ “เวียงเชียงชื่น” เมืองลองมีแนวคันดินเป็นกำแพงล้อมรอบแต่ปัจจุบันถูกขุดทำลายเพื่อใช้พื้นที่ทำนา ในอดีตเมืองลองขึ้นกับนครลำปาง และได้รับการโอนมาเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดแพร่ เมื่อปี พ.ศ. 2474
  • ชุมชนโบราณบ้านแม่บงเหนือ ในอดีตชุมชนนี้เป็นเมืองของพวกลั๊วะก่อนการตั้งอาณาจักรล้านนา
  • เมืองตรอกสลอบ บ้านนาเวียง อ.วังชิ้น มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ 2 ชั้น ปัจจุบันวัดที่ตั้งในเขตเมืองได้รับการบูรณะและให้ชื่อว่า "วัดบางสนุก"

การก่อตั้งเมืองแพร่

เมืองแพร่ เป็นเมืองเก่าเมืองหนึ่งในภาคเหนือของประเทศไทย ประวัติการสร้างเมือง ไม่มีจารึกในที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะ การศึกษาเรื่องราวของเมืองแพร่จึงต้องอาศัยหลักฐานของเมืองอื่น เช่น พงศาวดารโยนก ตำนานเมืองเหนือ ตำนานพระธาตุลำปางหลวง และศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นต้น

  • ตำนานวัดหลวงกล่าวไว้ว่าประมาณ พ.ศ. 1371 พญาพล ราชนัดดาแห่งกษัตริย์น่านเจ้าได้อพยพคนไทย(ไทยลื้อ ไทยเขิน)ส่วนหนึ่งจากเมืองเชียงแสน ไชยบุรี และเวียงพางคำ ลงมาสร้างเมืองบนที่ราบริมฝังแม่น้ำยมขนานนามว่า “เมืองพลนคร”
  • ตำนานสิงหนวัติกล่าวว่าเมืองแพร่เป็นเมือง ที่ปกครองโดยพญายี่บาแห่งแคว้นหริภุญไชย สันนิษฐานว่าเมืองแพร่และมืองลำพูนเป็นเมืองที่สร้างขึ้นมาในระยะเวลาใกล้เคียงกัน หลักฐานหนึ่งในประเด็นนี้ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือสัณฐานเค้าโครงของเมืองโบราณทั้งสองที่มีรูปร่างคล้ายหอยสังข์เหมือนกัน
  • หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หลักที่ 1 ด้านที่ 4 บรรทัดที่ 24 - 25 ซึ่งจารึกไว้ว่า . “..เบื้องตีนนอน รอดเมืองแพล เมืองน่าน เมือง…เมืองพลัวพ้นฝั่งของ เมืองชวา เป็นที่แล้ว…” ในข้อความนี้ เมืองแพล คือ เมืองแพร่ ศิลาจารึกนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 1826 จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความเก่าแก่ของเมืองแพร่ ว่าตั้งขึ้นมาก่อนเมืองเชียงใหม่ และเชื่อว่าเมืองแพร่ ได้ก่อตั้งขึ้นแล้วก่อนการตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
  • ตำนานพระธาตุลำปางหลวง กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า เจ้าเมืองลำปางได้ส่งคนมาติดต่อเจ้านครพล ให้ไปร่วมงานนมัสการ และฉลองวัดพระธาตุลำปางหลวง และเจ้าเมืองพลยกกำลังผู้คนไปขุดหาพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในพระธาตุ แต่ไม่พบ เมื่อศึกษาตำแหน่งที่ตั้งของนครพลตามตำนานดังกล่าวสัณนิษฐานว่าคือเมืองแพร่ นอกจากนี้ยังปรากฏเป็นชื่อวิหารในวัดหลวง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ โดยเชื่อว่าวัดนี้เป็นวัดที่สร้างมาพร้อมกับการสร้างเมืองแพร่และเจ้าเมืองแพร่ให้ความอุปถัมภ์มาตลอดจนหมดยุคการปกครองโดยเจ้าเมือง
  • พงศาวดารเมืองเงินยางเชียงแสนและวรรณกรรมทางศาสนา เรียกเมืองแพร่ว่าเวียงโกศัย ชื่อเวียงโกศัยน่าจะมาจากชื่อดอยที่เป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองแพร่คือ ดอยโกสิยธชัคบรรพต หมายถึง ดอยแห่งผ้าแพร ซึ่งสอดคล้องกับชื่อเมืองแพลในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชหลักที่ 1 ด้านที่ 4 โดยคำว่า แพล น่าจะมาจากศรัทธาของ ชาวเมืองที่มีต่อพระธาตุช่อแพร หรือช่อแฮที่สร้างขึ้น ภายหลังการสร้างเมืองต่อมาจึงได้เรียกชื่อ เมืองของตนว่า เมืองแพล

จนถึงปี พ.ศ. 2440 ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้เปลี่ยนการปกครองจากเจ้าผู้ครองนครเป็นมณฑลเทศาภิบาล และโปรดเกล้าให้พระยาไชยบูรณ์มาเป็นข้าหลวงเมืองแพร่คนแรก โดยมีเจ้าผู้ครองนครแพร่ คือ เจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ ต่อมาเกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยวในปี พ.ศ. 2445 จึงโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีนำทัพพร้อมหัวเมืองใกล้เคียงเข้าปราบกบฏเงี้ยวที่เมืองแพร่ พระยาไชยบูรณ์ถูกพวกเงี้ยวสังหาร ส่วนเจ้าพิริยเทพวงษ์เกรงพระราชอาญา จึงเสด็จหลี้ภัยการเมืองไปพำนักที่เมืองหลวงพระบาง หลังจากนั้นรัฐบาลสยามจึงยกเลิกตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครแพร่

ตำนานเมืองแพร่แห่ระเบิด

คนแพร่มักถูกทักทายเชิงล้อเลียนอยู่เสมอว่า เมืองแพร่แห่ระเบิด และมักมีการกล่าวอ้างเลื่อนลอยอีกด้วยว่าคนแพร่ในอดีตไม่รู้จักระเบิดจึงนำระเบิดไปแห่จนเกิดระเบิดขึ้น[4][5] ซึ่งไม่น่าจะเป็นความจริง จึงมีผู้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร หมายความว่าอย่างใด โดยศึกษาอ้างอิงกับเรื่องราวสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จากคุณสุรินทร์ โสภารัตนานันท์ อดีตเสรีไทย รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีกหลายคน[6]ได้ความว่า

นายหลง มโนมูล ซึ่งเป็นคนงานรถไฟสถานีแก่งหลวง ได้ไปพบซากระเบิด ที่ทิ้งมาจากเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำระเบิดมาทิ้งเพื่อทำลายสะพานรถไฟข้ามห้วยแม่ต้า เพื่อสกัดการเดินทางของทหารญี่ปุ่น เมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 2 (ประมาณปี พ.ศ. 2485 – 2488) จึงได้มาบอกนายสมาน หมื่นขัน ทราบ นายสมานฯ จึงไปดูและขอความช่วยเหลือจากคนงานรถไฟ ที่สถานีรถไฟแก่งหลวงที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่ นายชุ่ม ขันแก้ว นายชัยวัฒน์ พึ่งพอง นายพินิจ สุทธิสุข นายย้าย ปัญญาทอง ให้มาช่วยกันขุด และทำการถอดชนวนแล้วใช้เลื่อยตัดเหล็กตัดส่วนหางของลูกระเบิดควักเอาดินระเบิดที่บรรจุอยู่ภายในออก และช่วยกันหามขึ้นล้อ(เกวียน) นำไปพักไว้ที่บ้านแม่ลู่ตำบลบ้านปิน ต่อมานายหลงฯ ได้ไปลากต่อมาจากบ้านแม่ลู่โดยล้อ (เกวียน) ชาวบ้านทราบข่าว จึงแตกตื่นพากันออกมาดูทั้งหมู่บ้าน เดินตามกันเป็นขบวนยาว ติดตามมาตลอดทางจนถึงวัดแม่ลานเหนือ ตำบลห้วยอ้อ ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงรอบ ๆ วัด พอทราบข่าวก็ออกมาต้อนรับพร้อมวงฆ้อง – กลองยาว ขบวนที่แห่กันมาจึงเคลื่อนขบวนเข้าวัดทำพิธีถวายให้เป็นสมบัติของวัด เพื่อใช้เป็นระฆังของวัดจนถึงปัจจุบันนี้ ระเบิดลูกที่ 2 นำไปถวายที่วัดศรีดอนคำ ตำบลห้วยอ้อ ส่วนลูกระเบิดลูกที่ 3 นายบุญมา อินปันดีใช้ช้างลากขึ้นมาจากห้วยแม่ต้า แล้วนำมาบรรทุกล้อ (เกวียน) ลากไปถวายที่วัดนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง ซึ่งเป็นบ้านเดิมของนางจันทร์ ผู้เป็นภรรยา ปัจจุบันลูกระเบิดที่ 1 เก็บไว้ที่วัดแม่ลานเหนือ ตำบลห้วยอ้อ ลูกที่ 2 เก็บไว้ที่วัดศรีดอนคำ ตำบลห้วยอ้อ ลูกที่ 3 เก็บไว้ที่วัดนาตุ้ม ตำบลบ่อเหล็กลอง จังหวัดแพร่[7]

ใกล้เคียง

จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชลบุรี จังหวัดของประเทศไทย จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี

แหล่งที่มา

WikiPedia: จังหวัดแพร่ http://www.addphrae.com/likesara/%E0%B8%84%E0%B8%9... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/559883 http://a-natong.blogspot.com/ http://maps.google.com/?ie=UTF8&ll=18.15,100.16&sp... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=18.15&l... http://www.paiduaykan.com/province/north/phrae/pra... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.wiangkosai.com/link1.php http://www.globalguide.org?lat=18.15&long=100.16&z... http://www.wikimapia.org/maps?ll=18.15,100.16&spn=...