ทรัพยากรวิชาการ ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระบบการให้บริการทางวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีสำนักงานวิทยทรัพยากรเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการในหลายลักษณะ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นที่ทำหน้าที่ให้บริการทางวิชาการ เช่น สถานีวิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz เครือข่ายสารสนเทศห้องสมุด (Chulalinet) และ CHULA MOOC

สำนักงานวิทยทรัพยากร

อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษาหรืออาคารจามจุรี 10

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มมีการให้บริการทางวิชาการขึ้นในมหาวิทยาลัยแก่บุคลากร นิสิตและประชาชนทั่วไปตั้งแต่เริ่มมีการก่อตั้งห้องสมุดโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นใน พ.ศ. 2453 และมีพัฒนาการด้านการบริการไปพร้อมกับการวิวัฒน์ขึ้นของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน[128]เพื่อเป็นการรองรับกิจการที่กว้างขวางขึ้นของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ใน พ.ศ. 2458 ห้องสมุดโรงเรียนข้าราชการพลเรือนจึงเปลี่ยนชื่อเป็นหอสมุดกลางและขยายการบริการทางวิชาการให้กว้างขวางขึ้น โดยตั้งอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จนกระทั่ง วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[129] ต่อมา มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สถาบันวิทยบริการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 โดยการรวมหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงาน คือ หอสมุดกลาง ศูนย์เอกสารประเทศไทย และศูนย์โสตทัศนศึกษากลาง เมื่อสถาบันวิทยบริการมีการขยายงานบริการที่หลากหลายขึ้นจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานวิทยทรัพยากรพร้อมทั้งปรับการบริหารภายในองค์กร สำนักงานวิทยทรัพยากรตั้งอยู่ที่อาคารมหาธีรราชานุสรณ์ บนพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝั่งตะวันตกของถนนพญาไท[130]

ปัจจุบัน สำนักงานวิทยทรัพยากรประกอบด้วย 1 ฝ่าย และ 8 ศูนย์ดังนี้

  • ฝ่ายบริหาร (Administrative Division)
  • ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์ทรัพยากรสารสนเทศ (Collection Development & Information Resource Analysis Center)
  • ศูนย์เครือข่ายห้องสมุดดิจิทัลจุฬาฯ (CU Digital Library Center)
  • ศูนย์มรดกภูมิปัญญา จุฬาฯ (CU Intellectual Heritage Center)
  • ศูนย์พัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี (Center for Media Development Innovation and Technology)
  • ศูนย์บริการสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้และวิจัย (Information Service for Learning and Research Center)
  • ศูนย์จัดการทรัพยากรสารสนเทศ (Information Resources Management Center)
  • ศูนย์สารสนเทศนานาชาติ (International Information Center)
  • ศูนย์เอกสารประเทศไทย (Thailand Information Center)

หอสมุดกลาง

หอสมุดกลาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ "หอกลาง" ตั้งอยู่ภายในอาคารมหาธีรราชานุสรณ์ เป็นอาคารสูง 7 ชั้น แต่ละชั้นประกอบด้วยห้องสมุดสาขาวิชาและหน่วยงานอื่น ๆ ดังนี้[131]

  • ชั้น 1 เป็นชั้นอำนวยการบริการต่าง ๆ เช่น บริการยืม-คืน บริการถ่ายเอกสาร บรรณารักษ์
  • ชั้น 2 เป็นพื้นที่อ่านหนังสือและห้องสืบค้นกลุ่ม ส่วนวิทยานิพนธ์ งานวิจัยและหนังสืออ้างอิงได้ย้ายสถานที่ให้บริการไปยังอาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา หรืออาคารจามจุรี 10
  • ชั้น 3 ศูนย์พัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ศูนย์สัมผัสวัฒนธรรมจีน สถาบันขงจื่อศึกษา
  • ชั้น 4 ห้องหนังสือมนุษยศาสตร์และวรรณกรรม ห้องหนังสือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ชั้น 5 ห้องหนังสือสังคมศาสตร์ ศูนย์สารสนเทศนานาชาติ ศูนย์รัสเซียศึกษา
  • ชั้น 6 ศูนย์มรดกภูมิปัญญา ห้องหนังสือหายาก ศูนย์เอกสารประเทศไทย ห้องสิ่งพิมพ์พิเศษ
  • ชั้น 7 นิทรรศการจุฬาลงกรณ์ราชบรรณาลัย จัดแสดงสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระบบสารสนเทศ

ด้านนอกอาคารมหาธีรราชานุสรณ์

ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 สถาบันวิทยบริการ (สำนักงานวิทยทรัพยากร) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทย[132] ที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตเต็มรูปแบบตลอด 24 ชั่วโมง[133][134] สร้างความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศและองค์ความรู้ทุก ๆ แขนงแก่บุคลากร นิสิต และประชาชนทั่วไปที่สนใจอีกทั้งเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญของการศึกษาวิจัยในองค์กร[135] ด้วยการเข้าถึงของอินเทอร์เน็ต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงสามารถขยายบริหารทางวิชาออกไปได้อย่างกว้างขวาง เช่น

  • เครือข่ายสารสนเทศห้องสมุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalinet) เครือข่ายสารสนเทศห้องสมุดเป็นระบบเครือข่ายห้องสมุดบนอินเทอร์เน็ตแห่งแรกของประเทศไทย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นห้องสมุดอัตโนมัติแห่งแรกของประเทศไทย ระบบนี้ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ของห้องสมุดทุกแห่งภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน ช่วยให้บุคลากร นิสิตและประชาชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ทันทีที่เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต
  • คลังปัญญาจุฬาฯ เพื่อประเทศไทย (CUIR – Chulalongkorn University Intellectual Repository) คลังปัญญาจุฬาฯ เพื่อประเทศไทยเป็นแหล่งจัดเก็บและให้บริการสารสนเทศบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอันเป็นภูมิปัญญาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในรูปแบบดิจิตอล จำพวกผลงานวิจัยทางวิชาการของคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิตบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัย รวมถึงการเข้าถึงหนังสือทุกประเภทที่ได้รับการจัดเก็บเป็นสื่อดิจิตอลด้วย[136] เนื่องจากคลังปัญญาจุฬาฯ เพื่อประเทศไทย ให้บริการผ่านเครื่อข่ายอินเทอร์เน็ตจึงเป็นแหล่งพึ่งพาทางวิชาการที่สำคัญของประชาชน
  • ฐานข้อมูลเพื่อการค้นคว้าวิจัย (CU Reference Databases) เป็นแหล่งรวบฐานข้อมูลวิชาการสาขาต่าง ๆ จำนวนมากโดยกำหนดให้ใช้งานฐานข้อมูลที่บอกรับผ่านเครือค่ายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUNet) บุคคลภายนอกสามารถใช้งานได้ที่คอมพิวเตอร์ที่ต่อกับเครื่อข่ายของมหาวิทยาลัยเท่านั้น[137]
  • ฐานข้อมูลศูนย์เอกสารประเทศไทย (Thailand Information Center Database) เป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลเอกสาร บทความ วิทยานิพนธ์และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใช้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยสามารถเข้าถึงต้นฉบับเอกสารทางวิชาการที่ได้ศึกษาแง่มุมต่าง ๆ ของประเทศไทย และสามารถเข้าสืบค้นด้วยตนเองที่อาคารมหาธีรราชานุสรณ์
  • จุฬาวิทยานุกรม (Chulapedia) จุฬาวิทยานุกรมเป็นระบบสารานุกรมออนไลน์ สามารถสืบค้นเนื้อหาด้วยคำสำคัญ (Keyword) ซึ่งแก้ไขพัฒนาบทความโดยคณาจารย์และนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเปิดให้ประชาชนใช้บริการสืบค้นได้แต่ไม่สามารถร่วมแก้ไขพัฒนาบทความได้[138]
  • ศูนย์พัฒนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยี มีหน้าที่ผลิตสื่อวิดีทัศน์ สื่อผสมรูปแบบสื่อใหม่ สื่อภาพถ่ายดิจิทัล สื่อเสียง สื่อกราฟิก ให้แก่มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ศูนย์พัฒนาสื่อยังมีหน่วยผลิตสื่อเคลื่อนที่ (Mobile Unit) เพื่อไปบันทึกกิจกรรมตามสถานที่ต่าง ๆ และส่งสัญญาณภาพและเสียงนำมาถ่ายทอดรายการ ผ่านระบบเครือข่าย ทำให้ผู้ชมสามารถรับชมรายการสำคัญ ๆ ได้ทุกที่ที่มีสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยไม่จำกัดสถานที่ หรือสามารถรับชมผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่าง ๆ (Mobile Device) ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เช่น พิธีพระราชทานปริญญาบัตร งานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 42 และงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ 16 หรืองานวิศิษฏศิลปินสรรพศิลป์สโมสร เป็นต้น[139]

ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้

เป็นศูนย์สนับสนุนทางนวัตกรรมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่สนับสนุนเทคโนโลยีในการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียน[140] นอกจากนั้นยังทำหน้าที่เป็นแหล่งนำองค์ความรู้จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งจากคณาจารย์ บุคลากรและนิสิต สู่สังคมไทยและนานาชาติ เพื่อนำสังคมสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต[141] บริการด้านวิชาการในส่วนนี้คือ "ห้องสมุดออนไลน์" ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทางอินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ www.media.lic.chula.ac.th[142]

CHULA MOOC

CHULA MOOC หรือ "จุฬาฯ มูค" เป็นคอร์สเรียนออนไลน์แบบไม่จำกัดบุคคล สถานที่ และเวลา ผ่านทางอินเทอร์เน็ตที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้นให้บริการ เข้าถึงได้โดยไม่คิดค่าใช่จ่ายใด ๆ เมื่อเรียนสำเร็จในแต่ละคอร์สจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมอบประกาศนียบัตร (Certificate of Completion) ให้แก่ผู้เรียนที่ผ่านเกณฑ์ตามที่รายวิชากำหนดไว้ เข้าถึง CHULA MOOC ได้ผ่านทางเว็บไซต์ mooc.chula.ac.th[143]

สถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังให้บริการทางวิชาการแก่ประชาชนทั่วไปผ่านการออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถานีวิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz อีกหนึ่งช่องทางด้วย โดยสถานีวิทยุจุฬาฯ เป็นสถานีวิทยุเพื่อการศึกษา มีการเผยแพร่เอกสารสื่อการสอนบนเว็บไซต์ของสถานีเป็นจำนวนมาก และมีการจัดรายการข่าวสารเชิงวิชาการ ให้ความรู้แก่ผู้ฟังตลอดช่วงเวลา 06.00-23.59 น. และยังเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมการให้ความรู้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเพื่อการสอบเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา ในทุก ๆ ปี สถานีวิทยุจุฬาฯ จะจัดสอนพิเศษให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและถ่ายทอดภาพและเสียงไปทั่วประเทศ ภายใต้รายการชื่อว่า "เปิดประตูสู่มหาวิทยาลัย" โดยจัดขึ้นที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[144]

แหล่งที่มา

WikiPedia: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/536202 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/744357 http://www.chula-alumni.com/ http://www.cubike-chula.com/Mains/Map.aspx http://maps.google.com/maps?ll=13.738359,100.53209... http://www.instagram.com/chulastagram http://www.leidenranking.com/ranking/2017/list http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.7383... http://www.naewna.com/lady/321245 http://www.natureindex.com/annual-tables/2016/inst...