ประวัติ ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือกำเนิดจาก “โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2442 (นับวันขึ้นปีใหม่แบบไทยคือ พ.ศ. 2441) ณ ตึกยาว ข้างประตูพิมานชัยศรี ในพระบรมมหาราชวัง ด้วยมีพระราชปรารภที่จะทรงจัดการปกครองพระราชอาณาจักรให้ทันกาลสมัย จึงจัดตั้งโรงเรียนเพื่อฝึกหัดนักเรียนสำหรับรับราชการปกครองขึ้นในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนักเรียนที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ จะได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับราชการใกล้ชิดพระองค์ และด้วยประเพณีโบราณที่ข้าราชการจะถวายตัวเข้าศึกษางานในกรมมหาดเล็ก ก่อนที่จะออกไปรับตำแหน่งในกรมอื่น ๆ ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามโรงเรียนเป็น “โรงเรียนมหาดเล็ก” เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2445[35] เพื่อเป็นรากฐานของสถาบันการศึกษาขั้นสูงต่อไปในอนาคต ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแก่พระราชวงศ์ และข้าราชการซึ่งเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานของโรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง ความตอนหนึ่งดังนี้[36]


...เมื่อได้กล่าวถึงโรงเรียนนี้ ว่าจะเปนการสงเคราะห์แต่ตระกูลเจ้านายดังนี้ ใช่ว่าจะลืมตระกูลข้าราชการและราษฎรเสียเมื่อไร โรงเรียนที่มีอยู่แล้วแลที่จะตั้งขึ้นต่อไปภายน่า โดยมากได้คิดจัดการโดยอุส่าห์เต็มกำลังที่จะให้เป็นการเรียบร้อย พร้อมเพรียงเหมือนอย่างโรงเรียนนี้ แลคิดจะให้แพร่หลายกว้างขวาง เปนคนที่ได้เรียนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งจะมีโรงเรียนวิชาอย่างสูงขึ้นไปอีกซึ่งกำลังคิดจัดอยู่บัดนี้ เจ้านายตั้งแต่ลูกฉันเปนต้นไป ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำสุด จะให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้าว่าขุนนางว่าไพร่ เพราะฉะนั้นจึ่งขอบอกได้ว่า การเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้จะเปนข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุส่าห์จัดให้เจริญขึ้นจงได้[37]

– พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตราสัญลักษณ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือน[38]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะขยายการจัดการศึกษา เพื่อผลิตนักเรียนไปรับราชการในกระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ ไม่เฉพาะกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนมหาดเล็กเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน โดยใช้วังวินด์เซอร์เป็นสถานที่ประกอบการเรียนการสอน และสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2453 พร้อมทั้ง พระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริจัดตั้งขึ้น และได้ใช้เงินคงเหลือจากการที่ราษฎรเรี่ยรายกันเพื่อสร้างพระบรมรูปทรงม้า เป็นเงินจำนวน 982,672 บาท 47 สตางค์[39] มากกว่ามูลค่าการก่อสร้างพระบรมรูปทรงม้าถึงห้าเท่าตัว[40] มาใช้เป็นทุนของโรงเรียนแห่งนี้[41] นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดที่ดินพระคลังข้างที่รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 1,309 ไร่เป็นเขตโรงเรียน[42] โดยมีการจัดการศึกษาใน 5 โรงเรียน (คณะในปัจจุบัน) ได้แก่ โรงเรียนรัฎฐประศาสนศาสตร์ โรงเรียนคุรุศึกษา (โรงเรียนฝึกหัดครู) โรงเรียนราชแพทยาลัย โรงเรียนเนติศึกษา (โรงเรียนกฎหมาย) และโรงเรียนยันตรศึกษา[43]

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นสมควรที่จะขยายการศึกษาในโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น คือ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่จะเล่าเรียนเพื่อรับราชการเท่านั้น แต่ผู้ใดที่มีความประสงค์จะศึกษาขั้นสูงก็สามารถเข้าเรียนได้ทั่วถึงกัน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พร้อมทั้งพระราชทานนามว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้สังกัดอยู่ในกระทรวงธรรมการ[44] ซึ่งเป็นไปตามพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่ผู้มาร่วมงานพระราชพิธีวางศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน) เมื่อวันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 เวลา 16 นาฬิกา 7 นาที ดังนี้

วันนี้เรายินดีที่ได้รับอัญเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยนี้ เพราะเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้ว ที่จะยังให้เป็นผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระราชปรารถนามานานแล้ว ในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม แต่ในรัชสมัยของพระองค์ ยังมีเหตุติดขัด ซึ่งการจะยังดำเนินไม่ได้ตลอดปลอดโปร่ง ตัวเราเป็นรัชทายาทจึ่งรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่ง ที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์โดยรู้ว่าเมื่อทำได้สำเร็จแล้ว จะเป็นเครื่องเพิ่มพูนพระเกียรติยศ เป็นราชานุสาวรีย์เป็นที่คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของชาติไทยเรา เป็นการสมควรยิ่งนักที่จะสร้างพระราชานุสาวรีย์อันใหญ่และถาวรเช่นนี้ ทั้งจะได้เป็นเครื่องที่จะทำให้บังเกิดประโยชน์แก่ชาติไทยไม่มีเวลาเสื่อมสูญด้วย[45]เรามีความยินดีที่ได้เห็นการดำเนินล่วงมาได้มากแล้ว ในบัดนี้เราจะได้วางศิลาฤกษ์ด้วยความหวังที่แลเห็นความดีงามในอนาคตกาลแห่งมหาวิทยาลัยนี้ส่วนการที่ดำเนินไปได้จนเป็นรูปถึงเพียงนี้แล้ว ก็ต้องอาศัยความอุตสาหะของกรรมการผู้ได้รับมอบเป็นหน้าที่ผู้อำนวยการ ประกอบกับความอุตสาหะแห่งบรรดาผู้มีหน้าที่เป็นครู อาจารย์สั่งสอนในโรงเรียนนี้ ของกรรมการที่ได้รับมอบหน้าที่ไปจากเราให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนจงได้รับความขอบใจของเราแล้ว และขอให้แสดงความขอบใจของเรานี้แก่ครู อาจารย์ทั้งหลายที่พยายามทำการตามหน้าที่อย่างสามารถด้วย ขอจงมีความเจริญสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลทั่วกัน ความมุ่งหมายและกิจการซึ่งต่างก็ตั้งหน้าพยายาม เพื่อจะให้เป็นความดีความงามแก่มหาวิทยาลัยในเบื้องหน้านั้น ก็ขอให้ได้ผลสำเร็จ สมปรารถนาโดยเร็วเทอญฯ[46]

– พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในระยะแรกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยอยู่เพียงระดับประกาศนียบัตรพร้อมกับเตรียมการเรียนการสอนในระดับปริญญา โดยจัดการศึกษาออกเป็น 2 วิทยาเขต คือ วิทยาเขตปทุมวันและวิทยาเขตโรงพยาบาลศิริราช จัดการเรียนการสอนออกเป็น 4 คณะ ได้แก่ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[47] (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ส่วนโรงเรียนฝึกหัดครูย้ายกลับไปสังกัดกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ และโรงเรียนกฎหมายย้ายกลับไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม[48]

สัญลักษณ์มูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ทรงเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการติดต่อขอความร่วมมือจากมูลนิธิร็อกเกอะเฟลเลอร์[49] เพื่อปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[50] เป็นผลให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสามารถจัดการศึกษาในระดับปริญญาได้[51][52][53]

หลังจากนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขยายการจัดการศึกษาโดยจัดตั้งคณะและแผนกอิสระเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ โดยการรวมโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมและแผนกวิชาข้าราชการพลเรือน (คณะรัฐประศาสนศาสตร์เดิม) เข้าไว้ด้วยกัน[54][55] แผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ แผนกอิสระสัตวแพทยศาสตร์ แผนกอิสระสถาปัตยกรรมศาสตร์ และแผนกอิสระทันตแพทยศาสตร์[56] นอกจากนี้ ยังเริ่มเน้นการเรียนการสอนอันเป็นพื้นฐานของวิชาชีพในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยจัดตั้งโรงเรียนเตรียมมหาวิทยาลัย คือ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในปัจจุบัน)

ระหว่าง พ.ศ. 2476–2486 การจัดการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยมีการโอนย้ายส่วนราชการออกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบางส่วนเพื่อจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ขึ้น กล่าวคือ เมื่อ พ.ศ. 2476 มีการโอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ไปขึ้นตรงกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน)[57] และ พ.ศ. 2486 มีการโอนย้ายคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล แผนกอิสระทันตแพทยศาสตร์ แผนกอิสระสัตวแพทยศาสตร์ และแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ เพื่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน)[58] อย่างไรก็ตาม คณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ ยังคงใช้สถานที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อจัดการศึกษาอยู่ ดังนั้น ทั้ง 3 คณะจึงโอนกลับมาเป็นคณะวิชาในสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งในระยะต่อมา[59][60]

เมื่อจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงด้านภาษาและหนังสือหลายประการ เช่น ยกเลิกการใช้อักษร "" ให้ใช้ ", " แทน และ ยกเลิกการใช้ "" ให้ใช้ "" แทน[61] ดังนั้น จึงได้ปรากฏการเขียนชื่อมหาวิทยาลัยในรูปแบบอื่นอีก ได้แก่ "จุลาลงกรน์มหาวิทยาลัย"[62] ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ ใน พ.ศ. 2487 ก็มีการประกาศยกเลิกการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และให้กลับไปใช้การเขียนภาษาในรูปแบบเดิม การเขียนชื่อมหาวิทยาลัยจึงกลับเป็นแบบเดิม หลังจากนั้น ในช่วง พ.ศ. 2497 - พ.ศ. 2514 ยังสามารถพบการเขียนนามมหาวิทยาลัยว่า "จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" ซึ่งไม่มีเครื่องหมายทัณฑฆาตที่ "" เช่น พระราชบัญญัติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ฉบับที่ 4, 5 และ 6[63]

ระหว่าง พ.ศ. 2486–2503 มหาวิทยาลัยก็ได้ขยายการศึกษาไปยังสาขาต่าง ๆ ให้กว้างขวางขึ้นโดยเน้นการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นหลัก โดยมีการจัดตั้งคณะขึ้นใหม่หลายสาขา และตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยได้ขยายการศึกษาระดับปริญญาตรีอย่างกว้างขว้าง พร้อมกับพัฒนาการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และก่อตั้งหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและงานบริการทางวิชาการแก่สังคม

แหล่งที่มา

WikiPedia: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/536202 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/744357 http://www.chula-alumni.com/ http://www.cubike-chula.com/Mains/Map.aspx http://maps.google.com/maps?ll=13.738359,100.53209... http://www.instagram.com/chulastagram http://www.leidenranking.com/ranking/2017/list http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.7383... http://www.naewna.com/lady/321245 http://www.natureindex.com/annual-tables/2016/inst...