ข้อมูลจากพระไตรปิฎก ของ ฉัททันตหัตถี

ฉัททันต์ คำนี้มีคำแปลตามรากศัพท์ว่า ฟันทั้ง๖ ตระกูลฉัททันต์จึงเป็นช้างที่มีทั้งสิ้น ๖ งา จากมิลินทปัญหา ระบุว่า มีการกล่าวถึงพญาช้างโพธิสัตว์ทั้งสิ้น ๓ พระชาติ อันปรากฏอย่ในหมวดชาดกหลักๆ ๓ เรื่อง ได้แก่ สีลวนาคชาดก กาสาวชาดก ฉัททันตชาดก และยังปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหมวดอื่นๆอีกประปราย

พญาช้างฉัททันต์ ประกอบด้วยลักษณะต่างๆ ได้แก่ สีกายเผือกผ่องดั่งเงินยวง ปากมีสีแดงเหมือนผ้ากัมพล เท้าทั้ง ๔ มีสีแดงดุจน้ำครั่ง นัยน์ตาทั้งคู่ดุจแก้วมณี พญาช้างฉัททันต์มีส่วนสูง ๘๘ ศอก ยาว ๑๒๐ ศอก งวงมีลักษณะคล้ายกับพวงเงินยาวได้ ๕๘ ศอก ส่วนงานั้นวัดโดยรอบได้ ๑๕ ศอก ส่วนยาว ๓๐ ศอก มีทั้งสิ้น ๖ งา งาทั้งหมดส่องรัศมีดุจสีทอง(สุวณฺณราชีหิ)