ฉันท์

ฉันท์ เป็นลักษณ์หนึ่งของการประพันธ์ประเภทร้อยกรองในวรรณคดีไทยที่บังคับเสียงหนัก - เบาของพยางค์ ที่เรียกว่า ครุ - ลหุ ฉันท์ในภาษาไทยรับแบบมาจากประเทศอินเดีย ตำราฉันท์ที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดียเป็นภาษาสันสกฤต คือ ปิงคลฉันทศาสตร์ แต่งโดยปิงคลาจารย์ ส่วนตำราฉันท์ภาษาบาลีเล่มสำคัญที่สุดได้แก่ คัมภีร์วุตโตทัยปกรณ์ ผู้แต่งคือ พระสังฆรักขิตมหาสามี เถระชาวลังกา แต่งเมื่อ พ.ศ. 1703 เป็นที่มาของ คัมภีร์วุตโตทัย ซึ่งเป็นต้นตำหรับการแต่งฉันท์ของไทย[1] เมื่อคัมภีร์วุตโตทัยแพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย กวีจึงได้ปรับปรุงให้เหมาะกับขนบร้อยกรองไทย เช่น จัดวรรค เพิ่มสัมผัส และเปลี่ยนลักษณะครุ-ลหุแตกต่างไปเล็กน้อย เพื่อเพิ่มความไพเราะของภาษาไทยลงไปฉันท์ ในคัมภีร์วุตโตทัยได้แปลงเป็นฉันท์ไทยครบทั้ง 108 ชนิด ในสมัยรัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยนายฉันท์ ขำวิไล เป็นผู้ดัดแปลงเพิ่มเติมจนครบถ้วนและจัดพิมพ์รวมเล่มทั้งหมดในปี พ.ศ. 2474 ใช้ชื่อว่า ฉันทศาสตร์นอกเหนือจากฉันท์ทั้ง 108 ชนิดดังกล่าวแล้ว กวีได้ทดลองประดิษฐ์ฉันท์ในรูปแบบใหม่ ๆ โดยดัดแปลงจากฉันท์เดิมบ้าง โดยเลียนเสียงเครื่องดนตรีบ้าง หรือโดยแรงบันดาลใจจากฉันท์ต่างประเทศ หรือชื่อบุคคลสำคัญบ้าง อย่างไรก็ตาม ฉันท์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ล้วนจัดอยู่ในประเภทฉันท์วรรณพฤติทั้งสิ้น[2]