ฉันท์วรรณพฤติ ของ ฉันท์

ฉันท์วรรณพฤติ มีทั้งสิ้น 81 ชนิด บังคับจำนวนพยางค์ ตั้งแต่ บาทละ 6 พยางค์ ถึง 25 พยางค์ แต่ ฉันท์ที่คนไทยนิยมแต่ง มีเพียงไม่กี่ชนิด ได้แก่

จิตรปทาฉันท์ 8

หนึ่งบทมี 4 บาท บาทละ 8 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคละ 4 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอน

ลักษณะครุ-ลหุเหมือนกับทุกบาท คือ ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

เหตุพินาศอนุศาสน์ แสดง
ฉัพพิธะแจงนรปรีชา
เชิญมละโทษดุจพรรณนา
จักยศถาวรสวัสดี
ฉันทภิปรายอธิบายบท
คามภิรพจน์ศุภสารศรี
จิตระปทาพฤตินามมี
จินตกวีรนิพนธ์แถลง
(ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)

วิชชุมมาลาฉันท์ 8

วิชชุมมาลาฉันท์ มีความหมายว่า "ระเบียบแห่งสายฟ้า" ประกอบด้วยครุล้วน จึงใช้บรรยายความอย่างธรรมดา

หนึ่งบทมี 4 บาท บาทละ 8 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคละ 4 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอน

ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ครุ-ครุ-ครุ-ครุ ครุ-ครุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

แรมทางกลางเถื่อนห่างเพื่อนหาผู้
หนึ่งในนึกดูเห็นใครไป่มี
หลายวันถั่นล่วงเมืองหลวงธานี
นามเวสาลีดุ่มเดาเข้าไป
ผูกไมตรีจิตเชิงชิดชอบเชื่อง
กับหมู่ชาวเมืองฉันอัชฌาสัย
เล่าเรื่องเคืองขุ่นว้าวุ่นวายใจ
จำเป็นมาในด้าวต่างแดนตน
สามัคคีเภทคำฉันท์, ชิต บุรทัต

มาณวกฉันท์ 8

มาณวกฉันท์ มีความหมายว่า "ประดุจเด็กหนุ่ม" ใช้แต่งบรรยายความที่รวดเร็ว

หนึ่งบทมี 4 บาท บาทละ 8 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคละ 4 คำ ส่งสัมผัสแบบกลอน

ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

ล่วงลุประมาณกาลอนุกรม
หนึ่งณนิยมท่านทวิชงค์
เมื่อจะประสิทธิ์วิทยะยง
เชิญวรองค์เอกกุมาร
เธอจรตามพราหมณไป
โดยเฉพาะในห้องรหุฐาน
จึงพฤฒิถามความพิสดาร
ขอ ธ ประทานโทษะและไข
สามัคคีเภทคำฉันท์, ชิต บุรทัต

ปมาณิกฉันท์ 8

หนึ่งบทมี 4 บาท บาทละ 8 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคละ 4 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอน

ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาทคือ ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

ประดิษฐ์ประดับประคับประคอง
ละเบงละบองจำแนกจำนรร
ระเบียบและบทสุพจน์สุพรรณ์
จะเฉิดจะฉันวิเรขวิไล
ลิลิตลิลาศมิคลาดมิคล้อย
ก็เรียบก็ร้อยอำพนอำไพ
จะจัดจะแจงผิแขงผิไข
แถลงไถลก็เสื่อมก็ทราม
(ฉันทศาสตร์)

อุปัฏฐิตาฉันท์ 11

หมายถึงฉันท์ที่กล่าวสำเนียงอันดังก้องให้ปรากฏ

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 11 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 พยางค์ วรรคหลัง 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์

ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ครุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

เห็นเชิงพิเคราะห์ช่องชนะคล่องประสบสม
พราหมณ์เวทอุดมธก็ลอบแถลงการณ์
ให้วัลลภะชนคมะดลประเทศฐาน
กราบทูลนฤบาลอภิเผ้ามคธไกร
สามัคคีเภทคำฉันท์, ชิต บุรทัต

อินทรวิเชียรฉันท์ 11

อินทรวิเชียรฉันท์ มีความหมายว่า "ฉันท์ที่มีลีลาดุจสายฟ้าของพระอินทร์" เป็นฉันท์ที่นิยมแต่งกันมากที่สุด มีลักษณะและจำนวนคำคล้ายกับกาพย์ยานี 11 แต่ต่างกันเพียงที่ว่าอินทรวิเชียรฉันท์ มีข้อบังคับ ครุและลหุ

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 11 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 พยางค์ วรรคหลัง 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์

ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

บงเนื้อก็เนื้อเต้นพิศะเส้นสรีร์รัว
ทั่วร่างและทั้งตัวก็ระริกระริวไหว
แลหลังก็หลั่งโล-หิตโอ้เลอะหลั่งไป
เพ่งผาดอนาถใจตละล้วนระรอยหวาย
สามัคคีเภทคำฉันท์, ชิต บุรทัต

อุเปนทรวิเชียรฉันท์ 11

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 11 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 พยางค์ วรรคหลัง 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์

ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

ทิชงค์เจาะจงเจตน์กละห์เหตุยุยงเสริม
กระหน่ำและซ้ำเติมนฤพัทธะก่อการ
ละครั้งระหว่างคราทินะวาระนานนาน
เหมาะท่าทิชาจารย์ธก็เชิญเสด็จไป
สามัคคีเภทคำฉันท์, ชิต บุรทัต

อุปชาติฉันท์ 11

หนึ่งบทมี 4 บาท บาทละ 11 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 พยางค์ วรรคหลัง 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์

ลักษณะครุ-ลหุ

  • บาทที่ 1 และบาทที่ 4 เป็นอุเปนทรวิเชียรฉันท์ คือ ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ
  • บาทที่ 2 และบาทที่ 3 เป็นอินทรวิเชียรฉันท์ คือ ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

พิธีณะฉันทศาสตร์อุปชาตินามเห็น
เชลงลักษณลำเค็ญกลนัยสลับกัน
นาเนกะบัณฑิตย์จะประกิจประกอบฉันท์
พินิจฉบับบรรพ์บทแน่ตระหนักใจ
(ประชุมจารึกวัดประเชตุพนฯ)

สาลินีฉันท์ 11

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 11 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 พยางค์ วรรคหลัง 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์

ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ครุ-ครุ-ครุ-ครุ-ครุ ลหุ-ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

พราหมณ์ครูรู้สังเกตประจักษ์เหตุตระหนักครัน
ราชาวัชชีสรรพะจักสู่พินาศสม
ยินดีบัดนี้กิจจะสัมฤทธิ์มนารมณ์
ทำมาด้วยปรากรมและอุตสาหะแห่งตน
สามัคคีเภทคำฉันท์, ชิต บุรทัต

สวาคตาฉันท์ 11

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 11 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 7 พยางค์ วรรคหลัง 4 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์

ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

ข้าสดับสุมะทะนาวจะว่าวอน
ใจก็นึกกรุณะหล่อนฤดิสงสาร
เล็งก็รู้ณพะหุเหตทุขะเภทพาล
ใคร่จะช่วยและอุปะการยุวะนารี
มัทนะพาธา, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วังสัฏฐฉันท์ 12

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 12 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 พยางค์ วรรคหลัง 7 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์

ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

อนี้และนามวังสฐะดั่งฉบับนิพนธ์
ประกอบวิธียลบทแบบก็แยบขบวน
ดิเรกะวิญญูชนะรู้แลใคร่แลครวญ
สนุกเสนอควรสุขจิตรประดิษฐ์ณะฉันท์
(ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)

อินทวงศ์ฉันท์ 12

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 12 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 พยางค์ วรรคหลัง 7 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์

ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

ราชาประชุมดำ-ริหะโดยประการะดัง
ดำรัสตระบัดยังวจนัตถ์ปวัตติพลัน
ให้ราชภัฏโปริสะไปขมีขมัน
หาพราหมณ์ทุพลอันบุระเนระเทศะมา
สามัคคีเภทคำฉันท์, ชิต บุรทัต

โตฎกฉันท์ 12

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 12 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคละ 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์

ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

มะทะนาดนุรักวรยอดยุพะดี
และจะรักบมิมีฤดิหน่ายฤระอา
ผิวะอายุจะยืนศะตะพรรษะฤกว่า
ก็จะรักมะทะนาบมิหย่อนฤดิหรรษ์
มัทนะพาธา, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ภุชงคประยาตฉันท์ 12

ภุชงคประยาตฉันท์ 12 มีความหมาย "งูเลื้อย" มีทำนองที่สละสลวย มักใช้แต่งกับเนื้อหาที่มีการต่อสู้ บทสดุดี บทชมความงาม บทถวายพระพร และบทสนุกสนาน นอกจักนั้นยังสามารถใช้แต่งบรรยายความให้รวดเร็วได้

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 12 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคละ 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์

ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ลหุ-ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

ทิชงค์ชาติ์ฉลาดยลคเนกลคนึงการ
กษัตริย์ลิจฉวีวารระวังเหือดระแวงหาย
เหมาะแก่การจะเสกสันปวัตติ์วัญจะโนบาย
มล้างเหตุพิเฉทสายสมัคคิ์สนธิ์สโมสร
สามัคคีเภทคำฉันท์, ชิต บุรทัต

กมลฉันท์ 12

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 12 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคละ 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์

ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

ทวิโลกยาฤๅคุณก็บุลยบันดาล
อภิมงคลาลาญทุวิบากวิบัติภัย
คณะฉันทสรรค์นามกรตามบุราณไข
บทกลอนกระมลไพเราะหพร้องลบองแสดง
(ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)

วสันตดิลกฉันท์ 14

วสันตดิลกฉันท์ มีความหมายว่า "ฉันท์ที่มีลีลาดังจอมเมฆในฤดูใบไม้ผลิ (ฤดูฝน)" เป็นหนึ่งในฉันท์ที่นิยมแต่งกันมากที่สุด เนื่องจากอ่านแล้วฟังได้รื่นหู รู้สึกซาบซึ้งจับใจ มักใช้แต่งชมความงาม และสดุดีความรักหรือของสูง

หนึ่งบทมี 2 บาท บาทละ 14 พยางค์ แบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 8 พยางค์ วรรคหลัง 6 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกาพย์

ลักษณะครุ-ลหุ เหมือนกันทุกบาท คือ ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

แสงดาววะวาวระกะวะวับดุจะดับ บ เด่นดวง
แขลับก็กลับพิภพะสรวงมิสะพรึบพะพราวเพรา
เคยเห็นพระเพ็ญ ณ รัศมีรัชนีถนัดเนา
เหนือนั่นแน่ะพลันจะสละเงากลเงินอร่ามงาม
เหมือนพระจันทร์ข้างแรม, ชิต บุรทัต

มาลินีฉันท์ 15

ชื่อฉันท์แปลว่า ดอกไม้ เป็นฉันท์ที่แต่งยากแต่ทว่ามีความงามประดุจดอกไม้ ทำนองฉันท์สั้นกระชับในตอนต้น แล้วราบรื่นในตอนปลาย เป็นฉันท์ที่มีท่วงทำนองเคร่งขรึมน่ายำเกรง กวีมักใช้แต่งเพื่ออวดความสามารถในการใช้ศัพท์และเป็นเชิงกลบท

หนึ่งบทมี 15 พยางค์ แบ่งเป็น 3 วรรค วรรคแรก 8 พยางค์ วรรคสอง 4 พยางค์ วรรคสุดท้าย 3 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก

ลักษณะครุ-ลหุ คือ ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ-ครุ ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

กษณะทวิชะรับฐานันดร์และที่วา
จกาจารย์
นิรอลสะประกอบภารพีริโยฬาร
และเต็มใจ

ประภัททกฉันท์ 15

หนึ่งบทมี 15 พยางค์ แบ่งเป็น 3 วรรค วรรแรก 7 พยางค์ วรรคสอง 4 พยางค์ และวรรคสุดท้าย 4 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก

ลักษณะครุ-ลหุ คือ ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

สุวุติปภัททการจิตนา
มกรประกาศ
บทคณฉันทศาสตร์นิกรปราชญ์
ประพฤติเพียร
พจนพิจิตรเรียนอลสะเพียร
มโนวิจารณ์
วิบุลยปรีชญาณพลจะชาญ
ฉลาดนิพนธ์
(ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)

วาณินีฉันท์ 16

หนึ่งบทมี 16 พยางค์ แบ่งเป็น 3 วรรค วรรแรก 7 พยางค์ วรรคสอง 4 พยางค์ และวรรคสุดท้าย 5 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก

ลักษณะครุ-ลหุ คือ ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

นรนฤนาทภิบาลกลประมาณ
ประเล่ห์อุประมา
จะประพฤติราชกิจานุกิจสา \
ธุธรรม์บอาธรรม์
บุพบทวากยวรรณวุดิฉัน
ทวณินีนาม
(ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)

กุสุมิตลดาเวลลิตาฉันท์ 18

หนึ่งบทมี 18 พยางค์ แบ่งเป็น 3 วรรค วรรแรก 11 พยางค์ วรรคสอง 4 พยางค์ และวรรคสุดท้าย 3 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก

ลักษณะครุ-ลหุ คือ ครุ-ครุ-ครุ-ครุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

เสวกพึงศึกษาณสุวสดิดอุด-
ดมดิเรกดุจวิการกถา
ฉันท์นี้ธีเรศอ้างกุสุมิตลดา
เวลลิตานามกรขนาน
(ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)

เมฆวิปผุชชิตาฉันท์ 19

หนึ่งบทมี 19 พยางค์ แบ่งเป็น 3 วรรค วรรแรก 12 พยางค์ วรรคสอง 4 พยางค์ และวรรคสุดท้าย 3 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก

ลักษณะครุ-ลหุ คือ ลหุ-ครุ-ครุ-ครุ-ครุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

ขบวรเลบงเพรงพากย์พร้องก็เพราะพจนกลอน
เสนอกระวีวรทฤษฎี
ลบองเมฆวิปผุชชาติตาสุวุฒิกลมี
ฉันทคัมภีร์พฤโตทัย
(ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)

สัททุลลวิกกีฬิตฉันท์ 19

สัททุลลวิกกีฬิตฉันท์ มีความหมาย "เสือผยอง" ใช้แต่งบทไหว้ครู บทโกรธ และบทยอพระเกียรติ

หนึ่งบทมี 19 พยางค์ แบ่งเป็น 3 วรรค วรรแรก 12 พยางค์ วรรคสอง 5 พยางค์ และวรรคสุดท้าย 2 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก

ลักษณะครุ-ลหุ คือ ครุ-ครุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุ ลหุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

พร้อมเบญจางคประดิษฐ์สฤษติตษฎี
กายจิตร์วจีไตรวาร
ไหว้คุณพระสุคตอนาวรณญาณ
ยอดศาสดาจารย์มุนี
อีกคุณสุนทรธรรมะคัมภิรวิธี
พุทธ์พจน์ประชุมตรีปิฎก
สามัคคีเภทคำฉันท์, ชิต บุรทัต

อีทิสังฉันท์ 20

อีทิสังฉันท์ 20 เป็นฉันท์ที่มีจังหวะกระแทกกระทั้น ฉะนั้นจึงใช้แต่งบรรยายความรัก ความวิตก และความโกรธ

หนึ่งบทมี 20 พยางค์ แบ่งเป็น 3 วรรค วรรแรก 9 พยางค์ วรรคสอง 8 พยางค์ และวรรคสุดท้าย 3 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก

ลักษณะครุ-ลหุ คือ ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ลหุ-ครุ ลหุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

อ้าอรุณแอร่มระเรื่อรุจี
ประดุจมโนภิรมย์ระตีณ แรกรัก
แสงอรุณวิโรจน์นภาประจักษ์
แฉล้มเฉลาและโศภินักณ ฉันใด
หญิงและชาย ณ ยามระตีอุทัย
สว่าง ณ กลางกมลละไมก็ฉันนั้น
มัทนะพาธา, พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

สัทธราฉันท์ 21

ฉันท์ที่มีลีลาวิจิตรประดุจสตรีเพศผู้ประดับด้วยพวงมาลัย

หนึ่งบทมี 21 พยางค์ แบ่งเป็น 4 วรรค วรรแรก 7 พยางค์ วรรคสอง 7 พยางค์ วรรคสาม 4 พยางค์ และวรรคสุดท้าย 3 พยางค์ ส่งสัมผัสแบบกลอนสังขลิก

ลักษณะครุ-ลหุ คือ

ครุ-ครุ-ครุ-ครุ-ลหุ-ครุ-ครุลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ลหุ-ครุ
ครุ-ลหุ-ครุ-ครุลหุ-ครุ-ครุ

ตัวอย่างคำประพันธ์

อรรถแสดงแห่งเหตุพิเศษผลนิกรวิธุรชน
เชิญประกอบกลประกาศสาร
รังสรรค์ฉันทพากยโบราณบุนรจนวิถาร
สัทธราขนานณนามกร
(ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ)