ฉากแท่นบูชาปอร์ตีนารี
ฉากแท่นบูชาปอร์ตีนารี

ฉากแท่นบูชาปอร์ตีนารี

บทความนี้ใช้ระบบคริสต์ศักราช เพราะอ้างอิงคริสต์ศักราชและคริสต์ศตวรรษ หรืออย่างใดอย่างหนึ่งฉากแท่นบูชาปอร์ตีนารี (ดัตช์: Portinari-triptiek; อิตาลี: Trittico Portinari; อังกฤษ: Portinari Altarpiece) เป็นบานพับภาพที่เขียนโดยฮือโค ฟัน เดอร์คุส จิตรกรสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาชาวดัตช์ของตระกูลการเขียนภาพแบบเนเธอร์แลนด์เริ่มแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่หอศิลป์อุฟฟีซี เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลีฟัน เดอร์คุสเขียนภาพ "ฉากแท่นบูชาปอร์ตีนารี" ราวปี ค.ศ. 1475 เป็นภาพการชื่นชมของคนเลี้ยงแกะ เป็นงานที่ได้รับจ้างสำหรับวัดโรงพยาบาลซานตามารีอานูโอวาในฟลอเรนซ์โดยนายธนาคารชาวอิตาลี ตอมมาโซ ปอร์ตีนารี[1] ที่พำนักอยู่ที่เมืองบรูชเป็นเวลากว่าสี่สิบปีในฐานะผู้แทนของธนาคารเมดีชีของตระกูลเมดีชี ปอร์ตีนารีเองปรากฏในแผงซ้ายของฉากแท่นบูชากับลูกชายสองคน คือ อันโตนีโอและปีเจลโล ส่วนมารีอา ดี ฟรันเชสโก บารอนเชลลี (ภรรยา) กับมาร์การีตา (ลูกสาว) อยู่บนแผงขวา ทุกคนในภาพมีนักบุญผู้พิทักษ์ของแต่ละคน (ยกเว้นปีเจลโล) กล่าวคือ บนแผงซ้ายเป็นนักบุญทอมัสอัครสาวกถือหอกและนักบุญแอนโทนีอธิการถือกระดิ่ง บนแผงซ้ายนักบุญมารีย์ชาวมักดาลาถือผอบน้ำมันหอม และนักบุญมาร์กาเรตแห่งแอนติออกถือหนังสือและมีมังกรที่เท้าแผงกลางประกอบด้วยคนเลี้ยงแกะสามคนคุกเข่าทำความเคารพพระบุตร ฟัน เดอร์คุสเขียนฉากบ้าน ๆ อย่างเป็นจริงเป็นจังและได้บรรยากาศ นอกจากนั้นในภาพก็มีเทวดาที่ลอยอยู่เหนือและที่คุกเข่ารอบพระแม่มารีและพระบุตรผู้ที่มิได้นอนในกองฟางแต่นอนอยู่กลางลานโดยมีรัศมีรอบ การเขียนที่มีลักษณะแปลกเช่นนี้อาจจะเขียนตามทิพยทัศน์ของนักบุญบริจิตแห่งสวีเดนก่อนที่จะเสียชีวิตที่บรรยายถึงการเห็นแสงสว่างส่องออกมาจากร่างของพระบุตรในฉากหลัง ฟัน เดอร์คุสเขียนฉากที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลัก กล่าวคือ บนแผงซ้ายฉากหลังเป็นภาพนักบุญโจเซฟพาพระแม่มารีผู้ทรงครรภ์เดินทางหนีไปอียิปต์; แผงกลางทางด้านขวาเป็นภาพเทวดาที่ประกาศข่าวการกำเนิดของพระเยซูแก่คนเลี้ยงแกะ และแผงขวาเป็นภาพการเดินทางของแมไจสามคนมายังเบทเลเฮมด้านหน้าของภาพเป็นภาพนิ่งขนาดเล็กของแจกันดอกไม้สองแจกันและข้าวสาลีกำมือหนึ่ง (ซึ่งหมายถึงเบทเลเฮม "เมืองแห่งขนมปัง") ที่อาจจะเป็นนัยถึงศีลมหาสนิทหรือทุกขกิริยาของพระเยซู กำข้าวสาลีอาจจะหมายถึงพระกระยาหารมื้อสุดท้าย ที่พระเยซูแบ่งขนมปังกับอัครสาวก ดอกลิลลีสีส้มในแจกันเป็นสัญลักษณ์ของทุกขกิริยาของพระเยซูที่จะมาถึง ดอกไอริสสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ขณะที่ดอกไอริสสีม่วงและก้านดอกแอควิลีเจีย (Aquilegia caerulea) เป็นสัญลักษณ์ของความเศร้าเจ็ดอย่างของพระแม่มารี (Seven sorrows of the Virgin) ฉะนั้นภาพการกำเนิดนี้จึงเป็นภาพที่เป็นเหตุการณ์ที่จะนำมาซึ่งความตายของพระเยซูในที่สุดเมื่องานชิ้นนี้ไปถึงฟลอเรนซ์ในปี ค.ศ. 1483 ก็เป็นที่ชื่นชมของบรรดาศิลปินในอิตาลีที่ได้เห็นกันเป็นอันมาก และมีบางคนที่พยายามเขียนเลียนแบบ เช่น ภาพ "การชื่นชมของคนเลี้ยงแกะ" โดยโดเมนีโก กีร์ลันดาโย ที่เขียนในปี ค.ศ. 1485 ในโบสถ์น้อยซัสเซตตี ภายในวัดซานตาตรีนีตาในฟลอเรนซ์ แต่อันที่จริงแล้วการเขียนคนเลี้ยงแกะอย่างเป็นธรรมชาติเขียนกันมาก่อนหน้านั้นแล้วในอิตาลีในราวปี ค.ศ. 1450 ในภาพชื่อเดียวกันโดยอันเดรอา มันเตญญา (พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตัน นครนิวยอร์ก)

ใกล้เคียง

ฉากแท่นบูชาเกนต์ ฉากแท่นบูชาวิลทัน ฉากแท่นบูชาเมรอด ฉากแท่นบูชาอิเซนไฮม์ ฉากแท่นบูชาปอร์ตีนารี ฉากแท่นบูชาเบรรา ฉากแท่นบูชาบารอนชิ ฉากแท่นบูชา ฉากแท่นบูชาโอดดิ (ราฟาเอล)