ประวัติ ของ ชัยปุระ

ถนนสายหลักในชัยปุระ ราวปีค.ศ. 1875

ชัยปุระยุคใหม่นั้นก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1727 โดยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของมหาราชาสวาอี ชัยสิงห์ที่ 2 แห่งอาเมร์ ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากราชปุตราชวงศ์กาญจวาหา (Kachchwaha) ซึ่งปกครองระหว่างปีค.ศ. 1699 - ค.ศ. 1744 ซึ่งปกครองที่เมืองหลวงชื่อว่า "อาเมร์" (Amber) ตั้งอยู่ห่างจากชัยปุระเป็นระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร โดยเหตุผลในการย้ายเมืองหลวงนั้นเนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตามมาด้วยการขาดแคลนแหล่งน้ำที่รุนแรงมากขึ้น พระองค์ได้ทรงศึกษาตำราสถาปัตยกรรมมากมาย พร้อมทั้งที่ปรึกษาต่างๆก่อนจะทำผังเมืองของชัยปุระ ในที่สุด ด้วยความช่วยเหลือของสถาปนิกคนสำคัญคือ "วิทยาธร ภัตตาจารย์" (Vidyadhar Bhattacharya) ปราชญ์วรรณะพราหมณ์จากเบงกอล ซึ่งต่อมาได้เป็นหัวหน้าสถาปนิกของมหาราชา ซึ่งช่วยวางแผนและออกแบบอาคารต่างๆ รวมถึงพระราชวังหลวงใจกลางเมือง พร้อมทั้งกำแพงเมืองอย่างหนาแน่นที่เกิดขึ้นภายหลังสงครามกับจักรวรรดิมราฐา นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นผู้ที่รักทางด้านดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ทำให้ชัยปุระนั้นเกิดขึ้นได้อย่างสำเร็จด้วยองค์ประกอบสถาปัตยกรรมตามหลักของวัสดุศาสตร์ (Vastu Shastra) และหลักจากตำราอื่นๆ

การสร้างเมืองเริ่มขึ้นอย่างจริงจังในปีค.ศ. 1727 ใช้เวลาการสร้างกว่า 4 ปีในการสร้างพระราชวัง ถนน และจัตุรัสต่างๆ โดยการสร้างเมืองนี้นั้นอิงจากหลักในตำราศิลปศาสตร์ (Shilpa Shastra) ซึ่งเป็นศาตร์แห่งสถาปัตยกรรมของอินเดีย โดยแบ่งผังเมืองออกเป็น 9 ส่วนเท่าๆกันอย่างตารางหมากรุก โดยสองส่วนเป็นที่ตั้งของพระราชวังต่างๆ และสถานที่ราชการต่างๆ ส่วนที่เหลืออีก 7 ส่วนนั้นสำหรับประชาชนทั่วไป รอบเมืองถูกล้อมด้วยปราการอย่างแน่นหนาโดยเข้าออกผ่านทางประตูเมืองทั้ง 7 แห่งโดยรอบ

ในปีค.ศ. 1876 ในรัชสมัยของมหาราชาสวาอี ราม สิงห์ (Sawai Ram Singh) ได้มีพระบัญชาให้ทาสีอาคารบ้านเรือนต่างๆในเมืองเป็นสีชมพูเพื่อเป็นการต้อนรับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ในคราที่เสด็จเยือนชัยปุระอย่างเป็นทางการ ซึ่งสีชมพูนั้นก็ยังคงไว้จนถึงปัจจุบันและได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์อันโดดเด่นของชัยปุระจนทุกวันนี้[3] ต่อมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ชัยปุระได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยในปีค.ศ. 1900 ประชากรทั้งหมดมีประมาณ 160,000,000,000 คน ได้มีการปูพื้นถนนด้วยปูน และยังมีโรงพยาบาลหลายแห่ง อุตสาหกรรมหลักได้แก่ โลหะ และหินอ่อน

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชัยปุระ http://aai.aero/allAirports/jaipur_generalinfo.jsp http://content.calgary.ca/CCA/City+Common/Municipa... http://www.bharatonline.com/news/details/jaipur-se... http://www.cnngo.com/explorations/escape/worlds-15... http://books.google.com/books?id=7F_MJcTjDOQC http://books.google.com/books?id=HlqM2CR4vfUC&pg=P... http://books.google.com/books?id=JCx8OtS2ADIC&pg=P... http://books.google.com/books?id=Kp6ceVRUg8UC&pg=P... http://books.google.com/books?id=O0oPIo9TXKcC http://books.google.com/books?id=PTEEAAAAMBAJ&pg=P...