ประวัติ ของ ชา

มีต้นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันออก คือ จีน และอินเดีย แต่ในปัจจุบันมีปลูกกันทั่วไปในหลายประเทศสำหรับประเทศไทยมีปลูกมากในจังหวัด เชียงใหม่ ชาจะเจริญงอกงามได้ดีในที่สูงตามภูเขาซึ่งมีดินอุดมสมบูรณ์และฝนตกชุก ใบชาเมื่อเก็บมาจากต้นแล้วจะต้องรีบทำให้แห้งโดยเร็ว โดยนำมาให้ความร้อนเพื่อทำลายเอนไซม์ในใบชาให้หมดไปทำให้ไม่เกิดการเสียในใบชาจะประกอบด้วย กรด แกลโลแทนนิด (Gallotannic acid) 15% ซึ่งจะให้สารแทนนินออกมา โดยทั่วไปนิยมชงใบชากับน้ำดื่มเพื่อกระตุ้นให้ไม่ง่วงนอน และนอกจากนี้ยังรักษาโรคท้องร่วงได้ คนไทยในภาคเหนือนิยมเคี้ยวและอม แทนการกินหมาก

นิรุกติศาสตร์

คำว่า "ชา" (tea) ในภาษาอังกฤษเป็นคำที่มาจากภาษาแต้จิ๋ว คือ "แต๊" หรือ "ฉา" ในภาษาจีนกลาง (茶)[3] ในขณะที่ "ชา" ในภาษาไทย น่าจะมาจากภาษาโปรตุเกสคำว่า "chá" ตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่นเดียวกับคำว่า กาแฟ อันเป็นเครื่องดื่มคู่กัน เนื่องจากออกเสียงใกล้เคียงกันมาก [4]

ตามตำนาน

ตำนานของจีนเกี่ยวกับชาที่นิยมเล่าขานกันเรื่องหนึ่ง มีอยู่ว่า เมื่อประมาณ 2,737 ปีก่อนคริสต์ศักราช ขณะที่เสินหนง ฮ่องเต้ในตำนานของจีน ผู้คิดค้นเกษตรกรรม และยาจีน กำลังเสวยน้ำร้อนถ้วยหนึ่งอยู่นั้น ใบไม้จากต้นไม้แถวนั้นก็ได้ร่วงลงในถ้วยใบฮ่องเต้ สีของน้ำในถ้วยก็เปลี่ยนไป ฮ่องเต้ก็ได้เสวยน้ำนั้นอีก และทรงประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งว่าน้ำนั้นกลับมีรสชาติดี และทรงรู้สึกสดชื่นอีกด้วย อีกตำนาน เล่าว่า ขณะที่เสินหนงฮ่องเต้ทรงกำลังทดลองสรรพคุณของสมุนไพรต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองอยู่นั้น พระองค์ทรงค้นพบว่าสมุนไพรบางชนิดเป็นพิษ แต่ชาก็เป็นยาถอนพิษนั้นได้ ในงานประพันธ์ของ ลู่อวี่ (陆羽, Lù Yǔ) เรื่อง ฉาจิง (茶经, 茶經, chájīng) ก็ได้มีการกล่าวถึงเสินหนงฮ่องเต้เช่นกัน ตำนานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอีกตำนานหนึ่ง เล่าว่า เทพแห่งเกษตรกรรม ได้เคี้ยวพืชต่าง ๆ เพื่อทดสอบหาสรรพคุณของสมุนไพร ท่านเทพก็ได้ใช้ใบชาเป็ยาถอนพิษด้วยเช่นกัน

ยังมีอีกตำนานที่ย้อนไปในสมัยราชวงศ์ถัง พระโพธิธรรม ผู้ก่อตั้งนิกายเซน ได้เผลอหลับไปหลังจากการทำสมาธิหน้ากำแพงเป็นเวลาเก้าปี เมื่อท่านตื่นขึ้น ก็ได้ละอายต่อความง่วงของตนเอง จึงตัดเปลือกตาของท่านออกทั้งสองข้าง เปลือกตานั้นได้ตกลงบนพื้นดินและแทงราก ต่อมาจึงเติบโตเป็นต้นชา

แม้ว่าตำนานเหล่านี้จะไม่มีเค้าโครงความเป็นจริง แต่ชาก็มีบทบาทอย่างสูงต่อวัฒนธรรมของชาติเอเชียมาหลายศตวรรษ ในฐานะที่เป็นเครื่องดื่มหลักในชีวิตประจำวัน ยารักษาโรค หรือแม้แต่สัญลักษณ์แสดงฐานะ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยที่บ่อยครั้ง ตำนานเหล่านี้จะกำเนิดบนพื้นฐานทางศาสนาและพระมหากษัตริย์

จีน

ชาวจีนรู้จักการบริโภคชามาแล้วกว่าพันปี ชาวบ้านในสมัยราชวงศ์ฮั่นใช้ชาเป็นยารักษาโรค (แม้ว่าการดื่มชาเพื่อช่วยให้กระปรี้กระเปร่านั้นเริ่มขึ้นเมื่อใด) จีนถือเป็นประเทศแรกที่รู้จักการดื่มชา โดยมีหลักฐานมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 ก่อนคริสต์ศักราช

ญี่ปุ่น

ในยุคเฮอัน พระเอไซ[5]ได้เดินทางไปศึกษาพุทธศาสนาที่จีน ในยุคเฮอัน หรือสมัยราชวงศ์ถังของจีน ได้นำมาปลูกในญี่ปุ่น รวมถึงเมืองอุจิใกล้กับกรุงเฮอันซึ่งเป็นเมืองหลวงในสมัยนั้น (เกียวโตในปัจจุบัน) จนมีการส่งชาเข้าวังและผลิตเพื่อการค้า เกิดวัฒนธรรมชาญี่ปุ่น และนำไปสู่การพัฒนาการปลูกชา รวมถึงการแข่งประกวดชาชนิดต่าง ๆ ในญี่ปุ่นปัจจุบัน