ประวัติ ของ ชาวมอญ

ดูบทความหลักที่: อาณาจักรมอญ
อาณาจักรหงสาวดี (สีชมพูอ่อน) ราว ค.ศ. 1400 (พ.ศ. 1943)

มอญเป็นชนชาติเก่าแก่ มีอารยธรรมรุ่งเรืองมากชนชาติหนึ่ง จากพงศาวดารพม่ากล่าวว่า "มอญเป็นชนชาติแรกที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่า มาเป็นเวลาหลายศตวรรษก่อนคริสตกาล" คาดว่าน่าจะอพยพมาจากตอนกลางของทวีปเอเชีย เข้ามาตั้งอาณาจักรของตนทางตอนใต้ บริเวณลุ่มแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำสะโตง ซึ่งบริเวณนี้ในเอกสารของจีนและอินเดียเรียกว่า "ดินแดนสุวรรณภูมิ"

ในพุทธศตวรรษที่ 2 ศูนย์กลางของอาณาจักรมอญคืออาณาจักรสุธรรมวดีหรือสะเทิม (Thaton) จากพงศาวดารมอญกล่าวไว้ว่าอาณาจักรสะเทิมสร้างโดยพระราชโอรส 2 พระองค์ของพระเจ้าติสสะ แห่งแคว้นหนึ่งของอินเดีย ก่อนปี พ.ศ. 241 พระองค์นำพลพรรคลงเรือสำเภามาจอดที่อ่าวเมาะตะมะ และตั้งรากฐานซึ่งต่อมาเป็นที่ตั้งของเมือง อาณาจักรสะเทิมรุ่งเรืองมากมีการค้าขายติดต่ออย่างใกล้ชิดกับประเทศอินเดียและลังกา และได้รับเอาอารยธรรมของอินเดียมาใช้ ทั้งทางด้านอักษรศาสตร์ และศาสนา โดยเฉพาะรับเอาพุทธศาสนานิกายเถรวาทมา มอญมีบทบาทในการถ่ายทอดอารยธรรมอินเดียไปยังชนชาติอื่นอย่างเช่น ชาวพม่า ไทย และลาว เจริญสูง มีความรู้ดีทางด้านการเกษตร และมีความชำนาญในการชลประทาน โดยเป็นผู้ริเริ่มระบบชลประทานขึ้นในลุ่มน้ำอิรวดีทางตอนกลางของประเทศพม่า

พวกน่านเจ้าเข้ามาทางตอนเหนือของพม่าและทำสงครามกับพวกปยู อาณาจักรมอญที่สะเทิมขยายอำนาจขึ้นไปทางภาคกลางของลุ่มแม่น้ำอิรวดีระยะหนึ่ง แต่เมื่อชนชาติพม่ามีอำนาจเหนืออาณาจักรปยู และได้ขยายอำนาจลงมาทางใต้เข้ารุกรานมอญ มอญจึงถอยลงมาดังเดิมและได้สร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 1368 ที่ หงสาวดี

พระเจ้าอโนรธา กษัตริย์พม่าแห่งพุกาม ยกทัพมาตีอาณาจักรสุธรรมวดีและกวาดต้อนผู้คน ทรัพย์สมบัติ พระสงฆ์ พระไตรปิฎก กลับไปพุกามจำนวนมาก ต่อมาระหว่างปี 1600-1830 กรุงหงสาวดี ตกอยู่ใต้อำนาจพุกาม แต่กระนั้นพม่าก็รับวัฒนธรรมมอญมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาษามอญได้แทนที่ภาษาบาลีและสันสกฤตในจารึกหลวง และพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้เป็นศาสนาที่นับถือสูงสุดในพุกาม มอญยังมีความใกล้ชิดกับลังกา ซึ่งขณะนั้นเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนานิกายเถรวาท และนิกายเถรวาทก็แพร่กระจายไปทั่วเอเชียอาคเนย์

พระเจ้าจานซิต้าทรงดำเนินนโยบายผูกมิตรกับราชตระกูลของพระเจ้ามนูหะ กษัตริย์มอญแห่งสะเทิม โดยยกพระราชธิดาให้กับเจ้าชายมอญ พระนัดดาที่ประสูติจากทั้งสองพระองค์นี้ ก็ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ พระนามว่า พระเจ้าอลองสิธู ในยุคที่พระองค์ปกครองอาณาจักรพุกามได้รวมตัวกันเป็นปึกแผ่นมากที่สุด นอกจากนี้ในสมัยของพระเจ้าจานซิต้ามีศิลาจารึกยกย่องไว้ว่า วัฒนธรรมมอญเหนือกว่าวัฒนธรรมพม่าอีกด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 1830 จักรวรรดิมองโกลยกทัพมาตีพุกาม ทำให้มอญได้รับเอกราชอีกครั้ง มะกะโท หรือพระเจ้าฟ้ารั่ว ราชบุตรเขยของพ่อขุนรามคำแหงได้ทรงกอบกู้เอกราชมอญจากพม่า และสถาปนา อาณาจักรหงสาวดี พระองค์มีมเหสีเป็นราชธิดาของพ่อขุนรามคำแหง มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมาะตะมะ ต่อมาในสมัยพระยาอู่ ได้ย้ายราชธานีมาอยู่ ณ เมืองพะโคหรือหงสาวดี ราชบุตรของพระองค์คือพญาน้อย ซึ่งต่อมาก็คือ พระเจ้าราชาธิราช ผู้ทำสงครามยาวนานกับกษัตริย์พม่าอังวะ ในสมัยพระเจ้าสวาซอเก กับสมัยพระเจ้ามิงคอง (คนไทยเรียกว่า พระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง ในหนังสือเรื่อง ราชาธิราช) ขุนพลสำคัญของพระเจ้าราชาธิราช ก็คือ สมิงพระราม, ละกูนเอง และแอมูน-ทยา ในสมัยของพระเจ้าราชาธิราชนั้นหงสาวดีกลายเป็นอาณาจักรที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ครอบคลุมตั้งแต่ชายฝั่งทะเลอ่าวเบงกอล จากแม่น้ำอิรวดีขยายลงไปทางตะวันออกถึงแม่น้ำสาละวิน และเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่ใหญ่โตมีเมืองท่าที่สำคัญหลายแห่งในหลายลุ่มน้ำ เช่น เมาะตะมะ, สะโตง, พะโค, พะสิม อาณาจักรมอญยุคนี้เจริญสูงสุดในสมัยพระนางเชงสอบูและสมัยพระเจ้าธรรมเจดีย์ หลังจากนั้นในสมัยพระเจ้าสการะวุตพีหงสาวดีก็เสียแก่พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ ในปี พ.ศ. 2081

พ.ศ. 2283 สมิงทอพุทธกิตติ กู้เอกราชคืนมาจากพม่าได้สำเร็จ และสถาปนา อาณาจักรหงสาวดีใหม่ ทั้งได้ยกทัพไปตีเมืองอังวะ ในปี พ.ศ. 2290 พญาทะละได้ครองอำนาจแทนสมิงทอพุทธกิตติ ขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวางทำให้อาณาจักรตองอูของพม่าสลายตัวลง จนในปี พ.ศ. 2300 พระเจ้าอลองพญา ก็กู้อิสรภาพของพม่ากลับคืนมาได้ ทั้งยังได้โจมตีมอญ กษัตริย์องค์สุดท้ายของมอญคือ พระเจ้าพญามองธิราชหรือพญาทะละ[3]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชาวมอญ http://www.monstudies.com/show_all_topics.php?page... http://www.monstudies.com/show_content.php?topic_i... http://www.monstudies.com/show_content.php?topic_i... http://www.monstudies.com/show_content.php?topic_i... http://www.monstudies.com/show_content.php?topic_i... http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=... http://www.panya4u.com/%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B9%80... http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?st... http://www.thaiws.com/pmch/monstudies.htm http://gotoknow.org/blog/mscb/15498