วัฒนธรรม ของ ชาวโยดะยา

ภาษา

แต่เดิมชาวโยดะยาจะใช้ภาษาไทยสำเนียงอยุธยา ซึ่งจะออกเหน่อกว่าภาษาไทยมาตรฐานในปัจจุบัน[75][76] และมีหลักฐานบ่งว่ายังใช้ภาษาไทยพูดอยู่จนถึงช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย[77] มีการค้นพบจารึกภาษาไทยอยุธยาหลังพระพุทธรูปขนาดน้อยในวัดยาดะนา เมืองอังวะ บันทึกไว้ว่า "ลูกปลีก มีขาพ พราม" แปลว่า "การทำบุญจากหมู่บ้านพะราม" และพบอักษรไทยใต้ภาพนรกภูมิภายในกู่วุดจีกูพญาภายในสำนักสงฆ์หมั่นกินจอง เมืองมินบู เขียนอธิบายใต้ภาพไว้ว่า "สังคาตตนรก"[21][22] จากหลักฐานทั้งสอง แสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของภาษาและอักษรไทยในขณะนั้น[1] นอกจากนี้ยังมีชาวสยามคนหนึ่งชื่อนายจาดออกจากแผ่นดินสยามในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปสอนภาษาไทยแก่บุตรธิดาขุนนางพม่าในรัชกาลพระเจ้ามินดง ดังปรากฏในคำให้การนายจาด[78] ที่ยังระบุว่าในช่วงเวลานั้นยังมีการใช้ภาษาไทยในหมู่พระสงฆ์ แต่พบว่าคนโยดะยาเริ่มพูดไทยไม่ได้แล้ว ดังปรากฏความตอนหนึ่ง ความว่า[66]

"...ข้าพเจ้าได้ขึ้นพักอยู่ที่บ้านเจ้าท่าคืน ๑ รุ่งขึ้นมีพม่าที่เป็นพ่อค้าเศรษฐีแลขุนนางแต่ล้วนเป็นเชื้อชาติไทย พากันมาเยี่ยมเยียน ทักถามข่าวทุกข์แลสุขวันยันค่ำจึงสิ้นคนมาเยี่ยมเยียน ครั้นเวลาค่ำ ๒ ทุ่ม มองสวัสดีเศรษฐีใหญ่ในเมืองพม่า แค่เป็นหลานเหลนเชื้อชาติไทยครั้งกรุงเก่า เอารถเทียมม้าเทศคู่หนึ่งมาเชิญข้าพเจ้าให้ไปอยู่บ้านเขา ข้าพเจ้าก็ไปอยู่บ้านมองสวัสดี ๆ พูดภาษาไทยไม่ได้ มีพระสงฆ์มาเยี่ยมเยียนทักถามข่าวทุกข์แลสุขโดยภาษาไทยหลายองค์..."

ภาษาไทยของชาวโยดะยายังปรากฏอยู่ในเพลงต่าง ๆ เช่น เพลงเอเอชุเยชัย ซึ่งเป็นเนื้อเพลงไทยเดิมที่คาดว่าเป็นเพลงเดียวกับฉุยฉาย[79] แต่เมื่อเวลาผ่านมานานนับร้อยปี กลับกลายเป็นเพลงที่ไม่มีใครเข้าใจความเพราะร้องกันปากต่อปากจึงเกิดความผิดพลาดในการออกเสียง จนชาวไทยหรือพม่าเองไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาของเพลงได้ ภายหลังจึงได้เปลี่ยนเนื้อร้องเป็นภาษาพม่าแทน[80] นอกจากนี้ยังเหลือร่องรอยชื่อสถานที่เป็นภาษาไทยคือทะเลสาบเต๊ตเต (Tet Thay) ในเมืองอมรปุระ มีชื่อเดิมที่เชื่อว่าเป็นภาษาโยดะยาว่า แนก๊กตอ (Ne Kotho) แต่ไม่ทราบคำไทยเดิมหรือทราบความหมาย[6][7] และอีกแห่งคือคลองชเวตาเชา ตั้งอยู่ในอมรปุระเช่นกัน มีชื่อเดิมเป็นภาษาโยดะยาว่าคลองไนกุสน (คลองนายกุศล) เดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนโยดะยาขนาดใหญ่[73]

ในกาลต่อมาลูกหลานชาวโยดะยาเริ่มละทิ้งภาษาไทยและออกเสียงแปร่ง รับอิทธิพลอย่างสูงจากภาษาพม่าโดยเฉพาะไวยากรณ์[1] ดังกรณีมหาโคและมหากฤช ซึ่งมหาโคเป็นเชลยไทยที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าราวสี่สิบปี ส่วนมหากฤชเป็นบุตรชายที่เกิดในพม่า ทั้งสองอพยพกลับเข้ามาแผ่นดินสยามในยุครัตนโกสินทร์ แต่พูดไทยไม่ชัดเจน จนต้องให้ทั้งสองพูดภาษาพม่าแล้วให้ล่ามพม่ามาแปลภาษาให้[62] ล่วงมาในปัจจุบันลูกหลานชาวโยดะยาเลิกใช้ภาษาไทยดังกล่าวไปแล้ว โดยหันไปพูดภาษาพม่าแทน ภาษาไทยจึงมิได้ตกทอดสู่คนรุ่นหลัง ๆ แต่มีชาวโยดะยาบางส่วนที่ยังอนุรักษ์ภาษาไทยเอาไว้ เช่นที่บ้านซูกา (มาจากคำบาลีว่า สุขะ) จะใช้คำศัพท์ของภาษาไทยเป็นภาษาลับใช้สื่อสารกันภายในหมู่บ้าน[2][3] เช่นคำว่า พ่อ เรียกว่าอะบ๊ะ, ขนม เรียกขนม, กล้วย เรียกก้วย, อ้อย เรียกน้าออ, กินข้าว เรียกกินข้าวหรือปุงกิน[1] ซึ่งเหลือเพียงคนรุ่นเก่าเท่านั้นที่จะเข้าใจคำเหล่านี้ได้[74] ทั้งนี้พวกเขาไม่สามารถพูดภาษาโยดะยาให้เป็นประโยคได้อีกต่อไป เพราะแทบไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน[2]

ในปี พ.ศ. 2359 นายแพทย์แอดอนีแรม จัดสัน (Adoniram Judson) และแอนน์ แฮเซลไทน์ "แนนซี" จัดสัน (Ann Hazeltine Judson) มิชชันนารีแบปทิสต์ชาวอเมริกันซึ่งเข้าไปเผยแผ่ศาสนาในย่างกุ้ง ได้ศึกษาภาษาไทยจากเชลยสยามซึ่งถูกกวาดต้อนเมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง[77] ในเวลาเดียวกันนั้นจอร์จ เอช. ฮอฟ (George H. Hough) ช่างพิมพ์ ได้เข้ามาตั้งโรงพิมพ์ในประเทศพม่า และได้หล่อตัวพิมพ์อักษรไทยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2359 โดยใช้ต้นแบบจากที่นางจัดสันศึกษา ก่อนตีพิมพ์พระกิตติคุณมัทธิวขึ้นแต่บัดนี้ไปสูญหายไปแล้ว ถือได้ว่าชาวโยดะยาในพม่าอาจเป็นผู้ทำให้เกิดตัวพิมพ์อักษรไทยยุคแรก ๆ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นอักษรไทยที่ใช้ในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน[77]

ศาสนา

ชาวโยดะยานับถือศาสนาพุทธ มีคติความเชื่อที่แตกต่างไปชาวพุทธพม่าทั่วไป อาทิ คติการก่อพระเจดีย์ทรายขึ้นสักการบูชา, คติการสร้างพระเจดีย์สามองค์ และคติการสร้างศาลบูชาพระราม (โดยทั่วไปชาวพม่าจะบูชานะ)[6][7][53] ปัจจุบันยังมีประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือนหกของทุกปี ณ ชุมชนระแหงโหม่งตีสุในมัณฑะเลย์ ประเพณีนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกในรัชกาลพระเจ้าปดุงในปี พ.ศ. 2325-2329 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ผู้มีเชื้อสายสยามก่อเจดีย์ทรายตลอดริมคลองชเวตชอง[6][7] จะมีการก่อพระเจดีย์สูง 25 ฟุตภายในวันเดียว มีการนิมนต์พระสงฆ์ 54 รูปนั่งบนอาสนะ และพระพุทธรูปหนึ่งองค์ประดิษฐานไว้บนโต๊ะหมู่ ส่วนอุบาสกอุบาสิกาจะถวายเครื่องคาวหวาน และเครื่องไทยทานเบื้องหน้าพระสงฆ์[81] ปัจจุบันมีพระเจดีย์ทรายตั้งอยู่ในมัณฑะเลย์สี่องค์ ได้แก่ตำบลระแหงโหม่งตีสุ, ตำบลดาตัน, ตำบลมินตาซุ และปุเลง่วยยอง[82] ปัจจุบันแม้จะไม่หลงเหลือลูกหลานเชลยอยุธยาแล้ว ชาวพม่าในท้องถิ่นต่างเข้าใจว่าประเพณีการก่อพระเจดีย์ทรายไม่ใช่ธรรมเนียมของชาวพม่าทั่วไป หากแต่เป็นของชาวโยดะยาในอดีต และพวกเขามีหน้าที่อนุรักษ์และสืบทอดประเพณีนี้ให้คงอยู่ต่อไป[8]

ส่วนศาลพระรามนั้น สามารถพบได้ตามชุมชนโยดะยาต่างจากพม่าที่จะบูชานะ สาเหตุที่ชาวโยดะยานับถือพระรามส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นลูกหลานของเชลยโขนละครที่ถูกกวาดต้อนมา ภายในศาลจะมีการบรรจุพระมหาฤๅษีไว้ขวาสุด ตามด้วยพระราม พระลักษมณ์ นางสีดา และหนุมาน พร้อมเครื่องบูชา[6][7][83] ส่วนศาลพระรามในบ้านซูกานั้นยังคงรูปแบบเดียวกับศาลพระภูมิของไทยคือมีเสาเดียว ต่างจากศาลนะของพม่าซึ่งจะมีสี่เสา[1][2] ปัจจุบันในมัณฑะเลย์มีศาลาไหว้ครูเรียกว่ายามะนะกันสำหรับผู้เรียนนาฏศิลป์ใช้สำหรับบูชา ภายในศาลาจะเก็บหัวโขนต่าง ๆ ไว้[84] ชาวโยดะยายังคงบูชาพระรามมาจนถึงปัจจุบัน และยังเข้าใจว่าชาวไทยในประเทศไทยก็คงบูชาพระรามด้วย[1]

ชาวโยดะยาหลายคนแปรสภาพตนเองให้กลมกลืนไปกับสังคมพม่า ดังปรากฏความว่า "เมื่อฤดูฝน (พ.ศ. 2274) น้ำ (ในแม่น้ำมยิเงในอังวะ) เซาะพังทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือเมืองอังวะพัง ผู้ชำนาญชาวอยุธยาเสกมนต์ให้กระแสน้ำเปลี่ยนทางแล้วนำทรายขึ้นมาถมฝั่งแม่น้ำตามเดิม"[35][36]

อาหาร

ร้านขนมครกแห่งหนึ่งในย่างกุ้ง

อาหารการกินอย่างอยุธยาได้ส่งอิทธิพลต่ออาหารพม่า ได้แก่ ลอดช่อง ขนมครก ข้าวมัน และอาหารที่ใช้กะทิ[84] นอกจากนี้อาหารพม่ายังรับอิทธิพลอื่น ๆ จากอาหารไทยเช่น การใช้น้ำปลา สำรับอาหารประเภทต้มยำ ทั้งยังรับอาหารไทยร่วมสมัยเข้าไปด้วย ซึ่งอาหารเหล่านี้จะถูกปรุงในวาระพิเศษของชุมชนเพื่อถวายพระสงฆ์หรือปรุงขายทั่วไปในตลาดซึ่งมีมานาน[85] อาหารโยดะยาที่มีชื่อเสียงที่สุดคือโยดะยาซุปซึ่งดัดแปลงจากต้มยำของไทย ถือเป็นอาหารพิเศษที่มีตามร้านอาหารชั้นนำ แต่จากวัตถุดิบในท้องถิ่นและระยะเวลากว่าสามร้อยปี ทำให้อาหารชนิดนี้ต่างไปจากแผ่นดินแม่ โดยมีลักษณะคล้ายแกงจืดไข่น้ำ มีรสเปรี้ยวนำ เค็มตาม และเผ็ดเล็กน้อย[86]

ในชุมชนโยดะยาบ้านซูกายังคงรักษาการทำขนมแบบไทยไว้ อย่างเช่น ขนมที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า โรยด้วยถั่วบด น้ำตาล หน้าตาคล้ายครองแครงกรอบ[74] ขนมทำจากแป้งข้าวเจ้านึ่งโรยด้วยมะพร้าวขูดฝอยลักษณะใกล้เคียงกับขนมต้มขาว[74] และขนมอีกชนิดหนึ่ง ทำจากแป้งปั้นเป็นวงกลม ก่อนนำไปทอดคล้ายขนมวง เรียกว่ามงรัดเกล้า รับประทานเคียงกับน้ำจิ้มรสออกหวาน[74] และจะรับประทานมะม่วงสุกหวานในตอนท้าย[74]

ส่วนชุมชนโยดะยาในมัณฑะเลย์ยังทำขนมไทยออกขาย เป็นต้นว่าขนมครก ลอดช่อง และหม้อแกง[13]

นาฏกรรม

ยามะซะตอซึ่งได้รับการตกทอดจากเชลยอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ. 2310รูปนักแสดงยามะซะตอฝ่ายอสุรพงศ์ช่วงศตวรรษที่ 19รูปวิถีชีวิตชาวพม่าช่วงศตวรรษที่ 19 เผยให้เห็นชายไว้ผมแกละคนหนึ่ง

หลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2310 พม่าได้กวาดต้อนเชลยศึกฝีมือดีเข้ามาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าเป็นช่างฝีมือต่าง ๆ นางละคร และนักดนตรีเพื่อมาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของพม่า บรรดาเชื้อพระวงศ์อยุธยาที่เบื่อหน่ายชีวิตในราชธานีได้ริเริ่มคณะละครแบบไทยขึ้นจนเป็นที่นิยมยิ่งในราชสำนักพม่า ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย การร่ายรำอันเก่าแก่ของอยุธยา และโรงละครโอ่โถงงดงาม เป็นที่สะดุดตาของเจ้านายพม่าในความแปลกแต่น่าหลงใหล ส่งผลให้ละครสยามเป็นที่นิยมในชนชั้นปกครอง[87] นาฏกรรมของเชลยโยดะยาเกิดขึ้นจากการริเริ่มของพระองค์เจ้าประทีป พระราชธิดาในสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ซึ่งเป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่งของพระเจ้ามังระ ขอแสดงนาฏศิลป์อยุธยาถวายพระราชสวามี พระเจ้ากรุงอังวะทรงสนพระทัยมาก จึงมีรับสั่งให้พระเจ้าเบญวัยและนายจะ เจ้าเมืองอมรวดี (ปัจจุบันคือเมียวดี) ศึกษานาฏศิลป์อยุธยาจากเจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ ฝ่ายในอยุธยาผู้เก่งกาจด้านนาฏกรรม[88]

ในรัชสมัยพระเจ้าจิงกูจา มีกวีเอกคนหนึ่ชื่ออู โท เขียนบทกวีเรื่องรามเกียรติ์ด้วยภาษาพม่าอันไพเราะอ่อนหวาน ต่อมาพระนางตะเคง พระมเหสีเอกผู้เป็นกวี ทรงส่งเสริมการแสดงพระรามชาดกหรือยามะซะตอในราชสำนัก ทรงเปลี่ยนแปลงการแต่งกายของนางสีดา จากเดิมที่นุ่งผ้าอย่างชาวสยามเปลี่ยนเป็นใส่เสื้อทับแขนยาวแบบพม่าและนุ่งผ้าทะเมงแทน โดยให้เหตุผลว่าการนุ่งผ้าแบบอยุธยานั้นดูไม่เป็นผู้หญิงเท่าที่ควร[89] ต่อมาในสมัยพระเจ้าบาจีดอได้มีการแปลบทละครสยามเรื่องอิเหนา เกิดเป็นละครคู่แข่งกับพระรามชาดก แต่พระรามชาดกก็ยังเป็นที่นิยม[90] กระทั่งถึงรัชกาลพระเจ้ามินดงผู้เคร่งครัดในพระศาสนา การแสดงละครถูกมองว่าเป็นเรื่องเหลวไหล จึงเสื่อมความนิยมไปแต่นั้น[91]

ในบันทึกของบาทหลวงซันแกร์มาโน (Sangermano) ชาวอิตาลี ผู้พำนักในพม่าช่วงปี พ.ศ. 2281-2351 อธิบายถึงการร่ายรำไว้ว่า "...ครั้งแรกที่ข้าพเจ้าเห็นนักรำเหล่านี้ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นกลุ่มของคนวิกลจริตเสียอีก..."[92] และบันทึกการเดินทางของมาร์ควิสและมาร์เชอนิสแห่งดัฟเฟอรินและอังวะเมื่อปี พ.ศ. 2428 กล่าวถึงการแสดงพระรามชาดก ความว่า "...เจ้าชายนักรบแห่งยุคมหากาพย์ [คือพระราม] แต่งกายด้วยอาภรณ์รัดตัวด้วยเครื่องประดับที่เป็นประกายวาววับ มีผ้าที่จีบอย่างน่าประหลาดตรงช่วงขาทั้งสอง สวมชฎาที่มีทรงประหนึ่งมงกุฎหรือเจดีย์..."[92]

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ เที่ยวเมืองพม่า ทรงอธิบาย "เพลงโยเดีย" และ "รำอย่างโยเดีย" ไว้ว่า "...เล่าถึงวิธีรำอย่างโยเดีย ซึ่งเขาจะเล่นให้ฉันดูในวันนั้น แล้วกลับเข้าไปนั่งเตียง พวกนางกำนัลก็ลุกขึ้นรำเข้ากับร้องเพลง "โยเดีย" การที่รำฟ้อนเข้ากับร้องเพลงโยเดีย เห็นจะซักซ้อมกันในตอนกลางวันวันนั้นหลายเที่ยว ตัวนางระบำสัก ๑๐ คน ต้องมีนางผู้ใหญ่ที่เป็นครูออกมายืนกำกับและร้องนำอยู่ในวงด้วย เพลงที่ร้องก็สังเกตได้ว่าเป็นทำนองเพลงไทยจริง เพราะเพลงพะม่ามักมีทำนองกระโชกไม่ร้องเรื่อยเหมือนเพลงไทย [...] มองโปซินรำท่าพระรามถือศรมีกระบวนเสนาตาม มองโปซินรำคนเดียวเป็นท่าเดินนาดกรายเข้ากับจังหวะปี่พาทย์ ดูก็พอสังเกตได้ว่าเป็นท่าละครไทย เพราะช้ากว่าและไม่กะดุ้งกะดิ้งเหมือนละครพะม่า..."[93]

ส่วนอานันท์ นาคคง นักมานุษยวิทยา คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงยามะซะตอว่ามีลักษณะใกล้เคียงกับนาฏศิลป์ไทยมาก ดังปรากฏความว่า "ท่วงท่าวิจิตรอ่อนช้อยแบบนี้ ค่อนข้างจะแตกต่างจากระบำพม่าที่คุ้นเคย ซึ่งการตั้งวง และการจีบแบบนี้ สะท้อนความเป็นนาฏศิลป์อยุธยาได้อย่างชัดเจนมาก เพราะในรูปแบบของพม่าจะมีลักษณะการรำที่เป็นเหลี่ยมมากกว่า จะไม่เป็นวงโค้งแบบนี้"[88]

ดนตรี

ในพงศาวดารฉบับอูกาลา และพงศาวดารฉบับหอแก้ว กล่าวไว้ตรงกันว่าในรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง ได้มีนักแสดงและนักดนตรีอยุธยาเข้ามาในหงสาวดีแล้วในเวลานั้น หลังสิ้นรัชกาลดังกล่าวก็ปรากฏว่าดนตรีอยุธยาถูกบรรเลงร่วมกับดนตรีประเภทอื่น ๆ ในพระราชพิธีต่าง ๆ[19]

โดยปรกติแล้วในราชสำนักพม่าจะใช้นักแสดงและนักดนตรีมืออาชีพชาวอยุธยาในการแสดง โดยมีบทเพลงและบทเจรจาเป็นภาษาไทย ทว่าผู้ชมชาวพม่านั้นมีความประสงค์จะรับฟังเป็นภาษาพม่าเพื่ออรรถรส ในปี พ.ศ. 2332 พระเจ้าปดุงทรงตั้งกรรมการแปลงานเหล่านี้โดยเฉพาะ มีการแปลงบทเพลงรามเกียรติ์และอิเหนาเป็นภาษาพม่า แต่มีบทเพลงจำนวนแปดเพลงที่เจ้าชายเปียงสี (Pyinhsi) พระราชโอรสทรงนิพนธ์ตามทำนองเพลงอยุธยา[94] (ส่วนชื่อในวงเล็บอ้างจากโยธยา : ดนตรีไทยในวัฒนธรรมเมียนมาร์ ของสุรดิษ ภาคสุชลและปัญญา รุ่งเรือง)[79] ได้แก่

คำขึ้นต้นภาษาพม่าชื่อไทยเทียบคำไทย
ยเวตานยาสยานเตง
Frangtin
ฝรั่งเต้น (พยันติน)
เนงยวนคาเหมานเคะโมง
Khemun
แขกมอญ
ตอตองชเวคเมง
Khamein
เขมร (ขมิ้น)
ตอมะเยงเชลานทเน้า
Tanauk
ท่านอก (ตะนาว)
ปานมะเยงเลปเยงชา
Flengchaa
เพลงช้า
คายปานโซงทดวน
Htatunt
โทน (ทบทวน)
มอโยงเหโวงชวนชาน
Chut Chant
ฉุยฉาย (เชิดฉาน)
มายมอนพยาอูเซะ
Ngusit/Ngu Ngi
งูเง็ก (งุหงิด)

ในจำนวนนี้มีสองเพลงเท่านั้นที่เป็นเพลงไทยคือเพลงฝรั่งเต้นและเพลงช้าจากการสอบเนื้อร้องเมื่อปี พ.ศ. 2493 ส่วนใน บทเพลงพม่ายุคจารีตฉบับที่ได้รับการอนุมัติจากภาครัฐให้จัดพิมพ์ในปี พ.ศ. 2497 โดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานกล่าวไว้ว่า[94]

"แม้ว่าเราเคยใช้คำว่า ฝรั่งเต้น, แขกมอญ, เขมร, ท่านอก, เพลงช้า, ฉุยฉาย, ญญิต ตั้งแต่วันวานตราบเท่าทุกวันนี้ แต่คำเหล่านี้นอกจากจะมิได้ปรากฏในพจนานุกรมไทยแล้ว คนไทยระดับผู้นำยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า หากยกเว้นเพลงช้าและฝรั่งเต้นแล้ว คำเหล่านี้ไม่ใช่คำในภาษาไทย และแม้แต่คำที่เหมือนกับคำยืมก็มิได้มีปรากฏในพจนานุกรมภาษาไทยเช่นกัน ดังนั้น จึงได้เลี่ยงการใช้คำเหล่านี้ในบทที่ว่าด้วยเพลงไทย"

ขณะที่งานวิจัย โยธยา : ดนตรีไทยในวัฒนธรรมเมียนมาร์ ของสุรดิษ ภาคสุชล และปัญญา รุ่งเรืองอธิบายว่าเพลงโยธยามีมาตั้งแต่ยุคราชวงศ์โกนบอง พบร่องรอยเพลงที่ใช้ทำนองและภาษาไทยคือเพลงเอเอชุเยชัยหรือฉุยฉาย ส่วนเพลงไทยที่ใช้บทขับร้องเป็นภาษาพม่า ได้แก่ เพลงพยันติน, แขกมอญ, ขมิ้น, ตะนาว, เพลงช้า, ทบทวน, เชิดฉาน, งุหงิด, กะบี่ และมโหตี และพบว่าเพลงโยธยากับดนตรีไทย มีจังหวะและทำนองสม่ำเสมอเชื่อมโยงกัน[79]

ทั้งนี้เพลงเอเอชุเยชัย (Ei Ei Chu Yei Chai) เป็นเพลงไทยเดิม มีเนื้อร้องเป็นภาษาไทย แต่เมื่อเวลาผ่านมานานนับร้อยปี ก็กลายเป็นเพลงที่ไม่มีใครเข้าใจความหมาย เพราะร้องกันปากต่อปากมาเป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี จึงเกิดความผิดพลาดในการออกเสียง จนชาวไทยหรือพม่าเองไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาของเพลงได้ ภายหลังจึงได้เปลี่ยนเนื้อร้องเป็นภาษาพม่าแทน[80] จากงานวิจัยของสุรดิษ ภาคสุชลและปัญญา รุ่งเรือง พบว่าตรงกับเพลงฉุยฉายของไทย[79]

นอกจากนี้เพลงโยดะยายังส่งผ่านจากพม่าเข้าสู่ราชสำนักเชียงใหม่ โดยเชียงใหม่จะเรียกเพลงดังกล่าวว่า "เพลงม่าน" ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงประกอบการฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาหรือการฟ้อนก่ำเบ้อ มนตรี ตราโมทเคยวิจารณ์ทำนองเพลงของการฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาไว้ว่า "…ทำนองเพลงที่บรรเลงประกอบฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ถ้าถอดออกมาพิจารณาทีละประโยค ๆ จะเห็นว่า เพลงต้นจะมีทำนองของไทยภาคกลางผสมอยู่มา แต่จะมีสำเนียงแบบพม่า..."[95][96]

สถาปัตยกรรม

ภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปสิบสองนักษัตรตามคติอยุธยาที่เจดีย์เจาก์ตอจี

หลังการกวาดต้อนเชลยสยามเข้ามาในแดนพม่า เชลยหลายคนเป็นช่างฝีมือขั้นสูงได้ฝากผลงานสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมแบบอยุธยาทิ้งไว้ ดังปี พ.ศ. 2134 ในรัชกาลพระเจ้านันทบุเรงโปรดให้รื้อประตู รวมทั้งหอป้อมข้างบนประตูออก แล้วสร้างใหม่ตามอย่างอยุธยา ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจสร้างโดยเชลยผู้มีฝีมือเชิงช่างจากอยุธยา[35][97]

โดยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของช่างอยุธยาในพม่าคือ การใช้สีแดงชาดในจิตรกรรม, การใช้เส้นสินเทาหรือแถบหยักฟันปลาคั่นภาพ, ลายพรรณพฤกษาหรือลายกระหนกแบบอยุธยา, ภาพเครื่องทรงหรือลักษณะของเทพนม, ลักษณะของภาพเรือนยอดหรือเจดีย์ทรงเครื่องอย่างอยุธยา, ภาพพระพุทธเจ้าและเทวดาที่มีพระพักตร์อย่างอยุธยา ซึ่งลักษณะเหล่านี้สามารถเทียบเคียงกับศิลปกรรมช่วงปลายอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ สมัยพุทธศตวรรษที่ 22-24 ที่พบในภาคกลางของประเทศไทย[21][22] จากการสำรวจในปี พ.ศ. 2550 พบว่าศิลปกรรมส่วนใหญ่เป็นแบบอยุธยาตอนปลายราวพุทธศตวรรษที่ 24[98] ปรากฏอยู่กระจัดกระจายตามหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ เช่น พะโค, ซะไกง์, อังวะ, อมรปุระ, มินบู, เซกู, โมนยวา และมัณฑะเลย์[21] ทั้งยังพบว่าศิลปกรรมอย่างไทยนั้นได้รับความนิยมอย่างยิ่ง[99] ก่อให้เกิดการถ่ายทอดกรรมวิธีในการสร้างจิตรกรรม ศิลปกรรมอย่างไทยสู่ช่างพื้นเมืองชาวพม่า[98] โดยพบหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงถึงอิทธิพลของช่างจากกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่คำบอกเล่า สมุดดำ จิตรกรรมฝาผนัง งานปูนปั้นประดับผนัง งานแกะสลักเครื่องไม้ และงานจำหลักหินทราย[21][22] และยังหลงเหลือสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมแบบอยุธยาในพม่า ได้แก่

  • เจดีย์เจาก์ตอจี (Kyauktawgyi Pagoda) เมืองอมรปุระ มีภาพจิตรกรรมบนเพดานและฝาผนัง แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวพม่าและชาวโยดะยา[6][7][2] และภาพเทพพนม[99] ปัจจุบันภาพลบเลือน และบางส่วนถูกทาสีทับ[74]
  • วัดมหาเตงตอจี (Maha Thein Taw Gyi Temple) เมืองซะไกง์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบอยุธยาอย่างชัดเจน รวมทั้งภาพพระพุทธรูปขัดสมาธิศิลปะไทย[6][7][2][13] แต่ปัจจุบันจิตรกรรมบางส่วนถูกปูนโบกทับไปแล้ว[2][100] รวมทั้งมีความเสียหายของภาพที่เกิดการจากการรั่วซึมของหลังคา[99]
  • วัดเยตาพันจอง (Yethaphan Kyaung Temple) หรือวัดมะเดื่อ[101] เมืองอังวะ พบว่าเบื้องหลังพระพุทธรูป มีการแกะสลักลวดลายกระหนกแบบอยุธยา[14] และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้มะเดื่อฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร[101]
  • พระอารามบากะยา (Bagaya Monastery) เมืองอังวะ มีรูปแกะสลักครุฑยุดนาคศิลปะผสมไทย-พม่า[74][99][102]
  • วัดยาดะนา (Yadana Temple) เมืองอังวะ สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมไทยโดยช่างพม่า[99] เช่น ก่อสร้างด้วยไม้ วิหารก่อด้วยอิฐและเสาปูนแบบอยุธยา และฐานชุกชีศิลปะผสมไทย-พม่า[74]
  • เจดีย์จุฬามณี ภายในวัดร้างแห่งหนึ่งในเมืองอังวะ มีลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุม มีอัตลักษณ์สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมไทย[21][22]
  • กู่วุดจีกูพญา ภายในสำนักสงฆ์หมั่นกินจอง เมืองมินบู พบจิตรกรรมอยุธยาภายในกู่ทั้งเก้าห้อง[20][98]
  • พบงานศิลปกรรมอยุธยาภายในวัดแห่งหนึ่งที่เมืองซะเลน[20]
  • ภาพจำหลักหินเรื่องรามเกียรติ์ เมืองโมนยวา ศิลปกรรมอย่างไทยโดยฝีมือช่างพม่า[98]
  • แผ่นแกะสลักเครื่องไม้ภายในพระราชวังหงสาวดี เมืองพะโค ลักษณะลายกระจัง ใกล้เคียงกับลายกระจังบุษบก[21][22]

ปัจจุบันชาวโยดะยาในหมู่บ้านซูกายังคงรักษารูปแบบการสร้างบ้านแบบเรือนไทยยกใต้ถุน มีชานพัก มียุ้งข้าว ต่างไปจากรูปแบบการตั้งเรือนของชาวพม่า[74] รวมทั้งยังมีการตั้งศาลพระรามทำนองเดียวกับศาลพระภูมิตามคติไทยคือมีเสาเดียว[1][2]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชาวโยดะยา http://anowl.co/anowlruang/irrawaddy/ http://www.ayutthaya-history.com/PressFocus2013.ht... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/767954 http://myanmartravelinformation.com/where-to-visit... http://www.ngthai.com/photographycontest2017/vote_... http://www.rimkhobfabooks.com/book-division/histor... http://www.watsamphan.com/datawat/my08_builder/01_... http://www.komchadluek.net/news/edu-health/180277 http://www.komchadluek.net/news/edu-health/180693 http://www.patrolnews.net/society-and-the-environm...