ประวัติ ของ ชาวไท

ในอดีตเชื่อกันว่าชาวไทอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต ต่อมาก็เชื่อว่าอพยพมาจากตอนกลางของประเทศจีน และก็เชื่อกันว่ากำเนิดในบริเวณจีนตอนใต้ เป็นอาณาจักรน่านเจ้า และอพยพลงมาทางตอนใต้สร้างเป็นอาณาจักรล้านนาและอาณาจักรสุโขทัย ส่วนอีกทฤษฎีเชื่อว่าอพยพมาจากทางใต้ จากชวา สุมาตรา และคาบสมุทรมลายู แต่นักมานุษยวิทยาในปัจจุบันเชื่อกันว่า กลุ่มชาติพันธุ์ไท-กะได อยู่ที่บริเวณจีนตอนใต้ เรื่อยมาจนถึงแอ่งที่ราบลุ่มภาคอีสาน เรื่อยไปยังประเทศลาว รัฐชาน (ประเทศพม่า) และประเทศไทยตอนบน หลังจากนั้นจึงมีการอพยพเพิ่ม เช่นกลุ่มชาวอาหม ที่อพยพข้ามช่องปาดไก่ ไปยังรัฐอัสสัม และ ชาวไตแดงที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานบริเวณอาณาจักรสิบสองจุไท โดยทั้งหมด มีทฤษฎีอยู่ดังนี้

ทฤษฏีที่ 1 ชาวไทมาจากเทือกเขาอัลไต

ทฤษฎีนี้ หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) (ขณะดำรงบรรดาศักดิ์ ขุน) ให้การสนับสนุน ว่าชาวไทมาจากเทือกเขาอัลไต แล้วมาสร้างอาณาจักรน่านเจ้า แล้วจึงอพยพมาสร้างล้านนาและสุโขทัย โดยเชื่อว่าคำว่าไต ท้ายคำว่า อัลไต (Altai) หมายถึงชาวไท แต่ทฤษฎีนี้ต่อมาได้พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง อีกทั้ง อัลไต เป็นภาษาอัลไตอิก ไม่ใช่ภาษาไท และน่านเจ้า ปัจจุบันได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นอาณาจักรของชาวไป๋

ทฤษฏีที่ 2 ชาวไทมาจากจากหมู่เกาะทะเลใต้

เบเนดิกส์ เสนอว่า ไทยพร้อมกับพวกฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียอพยพจากหมู่เกาะทะเลใต้ แถบเส้นศูนย์สูตร ขึ้นมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนอุษาคเนย์ และหมู่เกาะฟิลิปปินส์ เบเนดิกส์ ยกเรื่องความเหมือนของภาษามาสนับสนุน เช่น คำว่าปะตาย ในภาษาตากาล็อก แปลว่า ตาย อากู แปลว่า กู คาราบาว แปลว่า กระบือ เป็นต้น[ต้องการอ้างอิง] ประเด็นนี้นักภาษาศาสตร์ และนักนิรุกติศาสตร์ส่วนใหญ่ ไม่ยอมรับวิธีการของเบเนดิกส์ เพราะเป็นการนำภาษาปัจจุบันของฟิลิปปินส์มาเทียบกับไทย แทนที่จะย้อนกลับไปเมื่อ 1200 ปีที่แล้ว ว่า คำไทยควรจะเป็นอย่างไร และคำฟิลิปปินส์ควรจะเป็นอย่างไร แล้วจึงนำมาเทียบกันได้ นอกจากนี้ ผู้ที่เชื่อทฤษฎีนี้ ยังใช้เหตุผลทางกายวิภาค เนื่องจากคนไทยและฟิลิปปินส์ มีลักษณะทางกายวิภาค คล้ายคลึงกัน

ทฤษฏีที่ 3 ชาวไทอาศัยอยู่ในบริเวณสุวรรณภูมิอยู่แล้ว

นักวิชาการท่านหนึ่งเสนอว่าชนชาติไท-กะได อาจจะอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยอ้างตามหลักฐานโครงกระดูก ที่บ้านเชียง และ บ้านเก่า แต่หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงอ้างความเห็นของกอร์แมนว่า โครงกระดูกคนบ้านเชียง มีลักษณะคล้ายกับกระดูกมนุษย์ที่อยู่ตามหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิก อีกประการหนึ่ง ทรงอ้างถึงจารึกในดินแดนสุวรรณภูมิ ว่าเป็นจารึกที่ทำในภาษามอญมาจนถึงประมาณ พ.ศ. 1730 ไม่เคยมีจารึกภาษาไทยในช่วงเวลาดังกล่าวเลย

ทฤษฏีที่ 4 ชาวไทอาศัยอยู่บริเวณจีนตอนใต้ และเขตวัฒนธรรมไท-กะได

ทฤษฎีนี้เป็นที่ยอมรับของนักภาษาศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ในปัจจุบันมากที่สุด โดยศาสตราจารย์ เก็ดนีย์ เจ้าของทฤษฎี ให้เหตุผลประกอบด้วยทฤษฏีทางภาษาว่า ภาษาเกิดที่ใด จะมีภาษาท้องถิ่นมากหลายชนิดเกิดขึ้นแถบบริเวณนั้น เพราะอยู่มานานจนแตกต่างกันออกไป แต่ในดินแดนที่ใหม่กว่าภาษาจะไม่ต่างกันมาก โดยยกตัวอย่างภาษาอังกฤษบนเกาะอังกฤษ มีสำเนียงถิ่นมากและบางถิ่นอาจฟังไม่เข้าใจกัน แต่ขณะที่ภาษาอังกฤษในสหรัฐอเมริกา มีสำเนียงถิ่นน้อยมากและพูดฟังเข้าใจกันได้โดยตลอด เปรียบเทียบกับชาวจ้วงในมณฑลกวางสี แม้มีระยะห่างกันเพียง 20 กิโลเมตร แต่ก็แยกสำเนียงถิ่นออกเป็นจ้วงเหนือ และจ้วงใต้ ซึ่งสำเนียงบางคำต่างกันมากและฟังกันไม่รู้เรื่องทั้งหมด ขณะที่ภาษาถิ่นในไทย (ภาษาไทยกลาง) และภาษาถิ่นในลาว (ภาษาลาว) กลับฟังเข้าใจกันได้มากกว่า