การจำแนกประเภทของป่าในประเทศไทย ของ ชีวนิเวศ

ในประเทศไทยได้แบ่งประเภทของป่าออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกันคือ

- ป่าไม่ผลัดใบ (evergreen forests)

- ป่าผลัดใบ (deciduous forests)

  • ป่าไม่ผลัดใบ (Evergreen Forests)

- ป่าดิบชื้น (tropical rain forest) ป่าดิบชื้นเกิดทั่วไปในเขตร้อนและชุ่มชื้น มีฝนตกรายปีโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2,000 มม.ต่อปี และมีช่วงฤดูแล้งที่สั้น พบที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลไม่เกิน 600 เมตร ในประเทศไทยพบได้ทุกส่วนของประเทศ แต่มีลักษณะที่แตกต่างกันไปบ้างตามสภาพดินฟ้าอากาศและภูมิประเทศที่ขึ้นอยู่ สภาพโดยทั่วไปเป็นป่ารกทึบ ไม้ชั้นบนส่วนใหญ่เป็นไม้ใหญ่วงศ์ไม้ยาง ไม้ชั้นกลาง และไม้ชั้นล่างสามารถขึ้นใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ได้ พื้นป่าประกอบด้วย ไม้พุ่ม ไม้ล้มลุก ระกำ หวาย และไผ่ รวมทั้งพืชตระกูลปาล์มที่มักพบอยู่เสมอ บนไม้ใหญ่จะมีพรรณไม้พวกเกาะอาศัย (epiphyte) เช่น เฟิร์น มอส ขึ้นอยู่ทั่วไป และพบเถาวัลย์เป็นจำนวนมาก พรรณไม้ที่สำคัญในป่าดิบชื้นได้แก่ ยางนา (Dipterocarpus alatus ) ยางแดง (D.costulus ) ยางยูง (D. gradiflorus ) ตะเคียนทอง (Hopea odorata ) ไข่เขียว (Parashorea stellat ) เป็นต้น

-ป่าดิบแล้ง (dry evergreen forest) องค์ประกอบของพรรณไม้ที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดระหว่างป่าดิบแล้งกับป่าดิบชื้นก็คือการลดลงของจำนวนชนิดพรรณไม้วงศ์ยางของป่าดิบแล้งเมื่อเปรียบเทียบกับป่าดิบชื้น โครงสร้างของป่าประกอบด้วยเรือนยอด 3 ชั้น โดยไม้ในเรือนยอดชั้นบน (canopy layer) นั้นประกอบด้วยพรรณไม้ผลัดใบน้อยกว่าหนึ่งในสาม ชั้นของไม้พุ่ม (shrub layer) มีการพัฒนาดี และมีเถาวัลย์ที่มีเนื้อไม้ (woody climber) หลายชนิด พรรณไม้พวกปาล์มพบกระจายอยู่ทั่วไปโดยเฉพาะในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น ตามแนวลำน้ำ พบที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 100 ถึง 800 เมตร พรรณไม้สำคัญในป่าดิบแล้งได้แก่ กระบาก (Anisoptera costata ) ยางนา (Dipterocarpus alatus ) ยางปาย (D. costatus ) ยางแดง (D. turbinatus ) ตะเคียนทอง (Hopea odorata )

-ป่าดิบเขา (montane forest or hill evergreen forest) ในพื้นที่ภูเขาสูงในเขตร้อน (tropical mountain) สังคมพืชเขตร้อน จะถูกแทนที่ด้วยสังคมพืชเขตอบอุ่น (temperate vegetation) หรือสังคมพืชป่าดิบเขา (montane vegetation) มักปรากฏให้เห็นที่ระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ขึ้นไป

- ป่าชายหาด (beach forest) พบอยู่ตามชายฝั่งทะเลซึ่งพื้นดินเป็นกรวด ทราย และโขดหิน ที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง เนื่องจากอยู่ติดทะเลจึงได้รับอิทธิพลจากคลื่น ละอองน้ำเค็ม และลมทะเลอย่างต่อเนื่อง ป่าชายหาดพบกระจายอยู่ทั่วไปบริเวณชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่เล็กๆ องค์ประกอบของพรรณไม้และลักษณะโครงสร้างของป่าชายหาดจะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากตามสภาพแวดล้อมของแต่ละท้องที่ พรรณไม้สำคัญในป่าชายหาดได้แก่ ทุ้งฟ้า (Alstonia macrophylla ) โพทะเล (Thespesia populnea ) และก้านเหลือง (Nuaclea orientalis )

- ป่าพรุ (swamp forest) ป่าพรุถือได้ว่าเป็นป่าที่มีน้ำท่วมขังประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นตามแอ่งน้ำที่มีน้ำขังตลอดปี มีการสะสมซากพืช หรืออินทรียวัตถุอย่างถาวรของสังคมที่ขึ้นอยู่ เนื่องจากมีน้ำจืดแช่ขังอยู่ตลอดทั้งปี ทำให้ขาดออกซิเจน ซากพืช และอินทรียวัตถุจึงสลายตัวได้ช้ามาก ทำให้เกิดเป็นพรุ (peat bog) ขึ้น พืชส่วนใหญ่จึงมีวิวัฒนาการในส่วนของอวัยวะให้มีโครงสร้างพิเศษ เพื่อดำรงชีพอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ได้ เช่นโคนต้นมีพูพอน (buttress) มีรากหายใจ (pnuematophore) โผล่เหนือชั้นดินอินทรีย์ที่มีน้ำขัง ประเทศไทยมีป่าพรุที่สมบูรณ์เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวคือ ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส พรรณไม้ที่สำคัญในป่าพรุได้แก่ หว้าหิน (Eugenia tumida ) สะเตียว (Ganua motleyana ) ชะเมาน้ำ (Eugenia grandis ) ช้างไห้ (Neesia altissima ) เสม็ดแดงใบใหญ่ (Eugenia chlorantha ) กล้วยไม้ (Polyalthia curtisii ) ขี้หนอนพรุ (Campnosperma coriaceum )

- ป่าชายเลน (mangrove forest) จะพบทั่วไปตามพื้นที่ชายฝั่งทะเล บริเวณปากน้ำ อ่าว ทะเลสาบ และเกาะซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำทะเลท่วม น้ำขึ้นน้ำลง เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการแบ่งเขตการขึ้นอยู่ของพรรณไม้ หรือสิ่งมีชีวิต ในป่าชายเลน คลื่นและกระแสน้ำ มีบทบาทต่อการแพร่กระจายของพันธุ์ไม้ สภาพแวดล้อมที่รุนแรง ทำให้พรรณไม้ในป่าชายเลนต้องมีการปรับตัว และเปลี่ยนแปลงลักษณะบางประการของระบบราก ลำต้น ใบ ดอก และผลทั้งลักษณะภายนอกและภายในให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่พรรณไม้แต่ละชนิดขึ้นอยู่ เช่นการมีรากค้ำจุนในไม้โกงกาง รากหายใจของไม้แสม และลำพู เป็นต้น

  • ป่าผลัดใบ (Deciduous forest)

-ป่าเต็งรัง (deciduous dipterocarp forest) ป่าเต็งรังเป็นสังคมพืชที่แห้งแล้ง ซึ่งปัจจัยดิน (edaptic factors) และไฟป่าที่เกิดเป็นประจำทุกปีมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและการกระจายของป่าเต็งรัง ต้นไม้ส่วนใหญ่มีความทนทานต่อไฟผิวดินซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีได้ดี ป่าเต็งรังเกิดบนพื้นที่แห้งแล้งจนถึงแห้งแล้งมากที่สุดบนที่ลาดเชิงเขา บนไหล่เขา ตามแนวสันเขา และตามแนวลาดของภูเขาจนถึงความสูงประมาณ 600 – 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล ดินตื้น เป็นกรวดจนถึงเป็นทราย หรือเป็นดินแลงที่มีหิน ต้นไม้ที่แสดงคุณลักษณะของป่าเต็งรังอย่างเด่นชัดที่สุด ได้แก่ เต็ง (Shorea obtusa ) และรัง (Shorea siamensis )

-ป่าผสมผลัดใบ (mixed deciduous forest) ป่าผลัดใบผสมเขตร้อนหรือป่าผลัดใบผสม หรือป่าเบญจพรรณ โดยปกติแล้วการพัฒนาจะเกิดขึ้นดีที่สุดบนดินที่ถือกำเนิดมาจากหินปูน (limestone) และดินที่มีความอุดมสมบูรณ์จากการทับถมของตะกอน (alluvium soil) ป่าผลัดใบผสมจะพัฒนาอยู่อย่างกว้างขวางในระดับที่ต่ำกว่า 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล และได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้งตามฤดูกาลไม่มากก็น้อย ป่าผลัดใบผสมแตกต่างอย่างเด่นชัดกับป่าเต็งรังตรงที่ไม่มีพรรณไม้ผลัดใบในวงศ์ยางที่ทนแล้งได้ดี แต่จะมีไม้ไผ่ที่มีลำใหญ่และยาวปรากฏอยู่แทนซึ่งจะมากหรือน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ พรรณไม้ที่สำคัญในป่าพรุได้แก่ กระบก (Irvingia malayana ) หว้า (Eugenia cumini ) มะม่วงป่า (Mangifera caloneura )

-ป่าเต็งรังผสมสน (pine deciduous dipterocarp forest) เป็นสังคมของป่าเต็งรังผสมกับสนพื้นเมืองสองชนิดคือ สนสองใบ และสนสามใบ โดยเกิดจากการซ้อนทับกัน (overlapping) ระหว่างป่าดิบเขาระดับต่ำสังคมสนเขา - ก่อ ซึ่งมีไม้สนสามใบ กับป่าเต็งรังผสมสนในพื้นที่สูงของภาคเหนือ อันเป็นผลมา จากไฟป่าในฤดูหนาวที่อากาศแห้ง (ธันวาคม – กุมภาพันธ์) โดยการกระทำของมนุษย์ ที่ระดับความสูงประมาณ 800 – 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล[3]