ซากดึกดำบรรพ์ละอองเรณู

ซากดึกดำบรรพ์ของละอองเรณูและสปอร์ (อังกฤษ: sporopollen fossil) เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่มีความสำคัญและมีประโยชน์ในการศึกษาเกี่ยวกับประวัติวิวัฒนาการของพืช และรวมถึงประโยชน์ทางธรณีวิทยาเป็นอย่างมาก เมื่อดอกไม้ร่วงหล่นลงสู่โคนต้นและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ละอองเรณูจะถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นตะกอน และในเวลาต่อมาทางธรณีวิทยาชั้นตะกอนได้เปลี่ยนเป็นชั้นหิน จึงทำให้พบซากดึกดำบรรพ์ละอองเรณูของพืชดังกล่าวอยู่ในชั้นหินนั้น โดยทั่วไปเรณูสัณฐาน (pollen morphology) ดังกล่าวจะยังคงรักษาลักษณะหลายประการจึงสามารถตรวจพิสูจน์ได้ว่าเรณูสัณฐานนั้นเป็นของพืชชนิดใด อย่างไรก็ตามเรณูสัณฐานในชั้นหินหนึ่งๆมักจะแบนราบขนานไปกับแนวการวางตัวของชั้นหินเรณูสัณฐานของซากดึกดำบรรพ์ละอองเรณูที่นำมายกเป็นตัวอย่างชื่อ ไอเล็กพอลเลนนิทีส ไอลิเอคัส(Ilexpollenites iliacus) จากเหมืองลิกไนต์บ้านป่าคา อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีลักษณะคล้ายลูกรักบี้ มีร่องเปิดรูปรี (colpi) จำนวน 3 ร่อง ตรงกลางร่องเปิดมีรูเปิด (pore) เรียกช่องเปิดนี้แบบผสม(3-colporoidate) บนพื้นผิวของเรณูสัณฐานเรียงรายไปด้วยเม็ดตุ่มฐานเล็กส่วนปลายพองบวมออก (clavate) ลักษณะของเรณูสัณฐานนี้เปรียบเทียบได้ดีกับละอองเรณูของพืชปัจจุบันสกุลไอเล็ก (Ilex spp.) ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีความชุ่มชื้นสูง การปรากฏของ ไอเล็กพอลเลนนิทีส ไอลิเอคัส อยู่ในชั้นหินนี้ พบปรากฏร่วมกับเรณูสัณฐานอื่นๆอีกมาก ทั้งของพวกสน ไม้ดอก เฟิน และสาหร่าย โดยรวมถึงเรณูสัณฐานของพืชน้ำอย่างเช่น กระจับ (สปอโรทราปอดิทีส) ทำให้ทราบได้ว่าเหมืองบ้านป่าคาเมื่อหลายล้านปีก่อนมีสภาพเป็นหนองน้ำและมีป่าไม้อยู่โดยรอบ และภูมิอากาศเป็นแบบเขตอบอุ่นสำหรับซากดึกดำบรรพ์สปอร์ (อังกฤษ: spore fossil) เป็นเซลล์สืบพันธุ์ของพืชที่ไม่มีดอก ได้แก่ เฟิน(fern) และพืชชั้นต่ำ(Bryophyta)โดยทั่วไป เป็นต้น ในที่นี้ขอยกตัวอย่างจำพวกเฟิน กลุ่มของสปอร์จะอยู่ในอับสปอร์ใต้ใบเฟิน เมื่อสปอร์แก่เต็มที่อับสปอร์จะแตกออกและสปอร์จะร่วงหล่นลงไปโดยเฉพาะบริเวณที่มีความชุ่มชื้นสูง สปอร์จะพัฒนาเป็นแผ่นโปรทัลลัส และแผ่นโปรทัลลัสนี้จะสร้างสเปิร์มและไข่ขึ้นมา เมื่อสเปิร์มปฏิสนธิกับไข่แล้วก็จะพัฒนาเป็นไรโซมและต้นเฟินอ่อน เมื่อแก่หรือมีอายุโตเต็มที่พร้อมสืบพันธุ์ใต้ใบเฟินบางใบจะมีสปอร์เกิดขึ้นเป็นวัฏจักรหมุนเวียนต่อเนื่องกันไปสำหรับตัวอย่างสปอร์สัณฐาน ชื่อ แครสโซเรติไทรลิทีส แวนแรดชูเวนิไอ (Crassoretitriletes vanraadshoovenii) จากเหมืองลิกไนต์เชียงม่วน จังหวัดพะเยา มีลักษณะเกือบทรงกลม ที่ด้านหนึ่งของลูกสปอร์มีร่องสามแฉก(trilete) พื้นผิวสปอร์เป็นลายตาข่ายแบบร่างแห ลายเส้นตาข่ายหนาขนาดประมาณเท่ากับขนาดรูเปิดตาข่าย ลักษณะของสปอร์สัณฐานนี้เปรียบเทียบได้ดีกับสปอร์ของเฟินปัจจุบันชื่อ กระฉอด (Lygodium microphyllum) เป็นเฟินที่พบทั่วไปในป่าเขตร้อนถึงกึ่งร้อนที่เป็นพื้นที่ชื้น สปอร์สัณฐานนี้พบในชั้นหินอายุหลายล้านปีร่วมกับเรณูสัณฐานของพืชเขตร้อนอีกหลายชนิด ทำให้ทราบได้ว่าพื้นที่เชียงม่วนก่อนนั้นมีภูมิอากาศแบบเขตร้อน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าดิบ

ใกล้เคียง

ซากดึกดำบรรพ์ช่วงเปลี่ยนสภาพ ซากดึกดำบรรพ์ ซากดึกดำบรรพ์มีชีวิต ซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหิน ซากดึกดำบรรพ์สาหร่าย ซากดึกดำบรรพ์ดัชนี ซากดึกดำบรรพ์ละอองเรณู ซากดึกดำบรรพ์ร่องรอย ซากดึกดำบรรพ์ทางเรณูวิทยา ซากดึกดำบรรพ์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง