ประวัติ ของ ซามูไร

จุดกำเนิด

เป็นที่เชื่อกันว่า รูปแบบของเหล่านักรบบนหลังม้า มือธนู และทหารเดินเท้าในช่วงศตวรรษที่ 6น่าจะเป็นตัวบทต้นแบบของซามูไรดั้งเดิม[1] ขณะที่จุดกำเนิดของซามูไรสมัยใหม่ยังเป็นปัญหาที่โต้เถียงกันอยู่

หลังจากการสู้รบในสงครามนองเลือดกับฝ่ายราชวงศ์ถังของจีน และอาณาจักรซิลลาของเกาหลี ญี่ปุ่นก็เข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปไปทั่วทุกหัวระแหง โดยการปฏิรูปครั้งสำคัญที่สุดคือการปฏิรูปไทกะ ซึ่งกระทำโดยจักรพรรดิโคโตกุเมื่อ ค.ศ. 646 การปฏิรูปในครั้งนั้น ได้เริ่มนำเอาวัฒนธรรมการปฏิบัติและเทคนิคการบริหารต่าง ๆ ของจีนมาใช้กับกลุ่มชนชั้นสูงและระบบราชการของญี่ปุ่น[1]

ถึง ค.ศ. 702 ประมวลกฎหมายโยโรและประมวลกฎหมายไทโฮก็ถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับคำสั่งที่ให้ประชาชนมารายงานตัวเป็นประจำกับทางการเพื่อเก็บข้อมูลมาสร้างสำมะโนประชากร ที่ต่อมาจะถูกนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดสำหรับการเกณฑ์ทหาร หลังจากนั้น เมื่อการทำสำมะโนประชากรเสร็จสิ้นลงจนทำให้รู้ว่าประชากรในญี่ปุ่นมีการกระจายตัวกันอย่างไร จักรพรรดิคัมมุก็ได้ริเริ่มกฎหมายให้ประชากรเพศชายที่เป็นผู้ใหญ่ 1 ใน 3 ถึง 4 คนต้องถูกเกณฑ์เป็นทหารเพื่อรับใช้ชาติ โดยผู้ที่จะเข้ามาเป็นทหารเหล่านี้จะถูกขอความร่วมมือให้ส่งมอบอาวุธของตนแก่ทางการ แต่พวกเขาจะได้รับการยกเว้นในการเสียภาษีและการรับหน้าที่ต่างๆ เป็นสิ่งตอบแทน[1]

จักรพรรดิคัมมุ (ญี่ปุ่น: 桓武天皇 โรมาจิKanmu Tennō)

ในช่วงต้นของยุคเฮอัง ประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 8 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 จักรพรรดิคัมมุ (ญี่ปุ่น: 桓武天皇 โรมาจิKanmu Tennō) ได้หาทางทำให้อำนาจของตนทรงพลังและแผ่ขยายไปทั่วตอนเหนือของเกาะฮนชู (แผ่นดินใหญ่ของญี่ปุ่น) แต่กระนั้นเอง ความหวังดังกล่าวก็เริ่มเกิดปัญหา เมื่อกำลังทหารที่จักรพรรดิส่งไปเพื่อปราบกบฏเอมิชิกลับไร้ซึ่งแรงจูงใจและระเบียบวินัยจนต้องแพ้ทัพกลับมา จักรพรรดิคัมมุจึงต้องแก้เกมใหม่โดยการสถาปนาตำแหน่งเซอิไตโชงุง (ญี่ปุ่น: 征夷大将軍 โรมาจิSeiitaishogun, "แม่ทัพใหญ่ผู้ปราบคนเถื่อน") หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า โชงุง (ภาษาไทยนิยมทับศัพท์ว่า โชกุน) ขึ้นมา เพื่อให้พวกเขาเหล่านี้ไปพิชิตกลุ่มกบฏเอมิชิ เป็นผลให้ทั้งหน่วยประจัญบานบนหลังม้าและนักแม่นธนู (คิวโดะ (ญี่ปุ่น: 弓道 โรมาจิKyudo) ที่มีทักษะฝีมือ ต้องถูกเรียกเข้ามาเป็นเครื่องมือ สำคัญในการคว่ำกำลังกบฏทั้งหลาย ซึ่งถึงแม้ว่านักรบเหล่านี้จะเป็นผู้ที่มีการศึกษาก็ตาม แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 9) ตามสายตาของทางการแล้ว พวกเขายังถูกมองว่าเป็นชนชั้นที่สูงกว่าคนเถื่อนขึ้นมานิดเดียว

แต่ในที่สุด จักรพรรดิคัมมุก็ยุติการบัญชาทัพของพระองค์ไป และอำนาจของพระองค์ก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน กลุ่มตระกูลที่ทรงอิทธิพลในนครเคียวโตะ ก็ได้เข้าครองตำแหน่งเสนาบดี และบางส่วนก็มีอำนาจเป็นผู้ปกครองหรือศาลแขวง กลุ่มผู้ปกครองเหล่านี้มักจะเรียกเก็บภาษีจากประชาชนอย่างหนักหน่วง เพื่อที่จะสะสมความมั่งคั่งและเป็นการคืนกำไรให้กับพวกตน จึงส่งผลสำคัญให้ชาวนาหลายต่อหลายคนไร้ที่ดินอยู่ อัตราการปล้นสดมภ์ก็เพิ่มขึ้น เหล่าผู้ปกครองจึงแก้ปัญหาโดยการรับสมัครผู้ถูกเนรเทศในเขตคันโตให้มาฝึกฝนศิลปะการต่อสู้อย่างเข้มงวด เพื่อที่จะใช้พวกเขาเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยที่ทรงประสิทธิภาพ บางครั้งก็ให้ไปช่วยเก็บภาษีและยับยั้งการทำงานของเหล่าหัวขโมยและโจรป่า พวกเขาเหล่านี้ได้ถูกเรียกว่า ซะบุไร (saburai) หรือผู้ที่ถวายตัวเป็นข้ารับใช้ให้แก่กองทัพ ซึ่งผู้ที่เป็นซะบุไรมักจะได้เปรียบกว่าคนอื่น เนื่องจากพวกเขาจะได้รับอำนาจทางการเมืองและมีชนชั้นที่สูงขึ้น

แต่ซะบุไรบางกลุ่มก็เป็นเพียงชาวนาและพันธมิตรที่จับอาวุธขึ้นปกป้องตนเองจากกลุ่มซาบุไรที่มีอำนาจสูงกว่า และผู้ปกครองที่จักรวรรดิส่งมาเพื่อเก็บภาษีและครอบครองที่ดินของพวกเขา ซึ่งต่อมา ในช่วงยุคเฮอังตอนกลาง ซะบุไรกลุ่มนี้เองได้นำเอาลักษณะพิเศษของชุดเกราะและอาวุธต่างๆ ของญี่ปุ่นมาวางไว้เป็นพื้นฐานของกฎแห่งบุชิโด ซึ่งเป็นกฎที่ประมวลรวมหลักจรรยาต่างๆ ของพวกเขา

หลังจากการผ่านพ้นของซามูไรพเนจรศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา ผู้ที่จะมาเป็นซามูไรต่างได้รับการคาดหวังว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีวัฒนธรรมและอ่านออกเขียนได้ โดยพวกเขาจะต้องสามารถใช้ชีวิตให้กลมกลืนไปกับคำกล่าวโบราณที่ว่า บุง บุ เรียว โดะ (สว่าง, ศิลปะอักษร, ศิลปะการทหาร, วิถีทั้งสอง) หรือ ความกลมกลืนแห่งพู่กันและดาบ ให้ได้ โดยจะเห็นจากชื่อเฉพาะที่ใช้เรียกเหล่านักรบในช่วงแรกๆ ว่า อุรุวะชิ คำนี้ถูกเขียนขึ้นมาด้วยตัวอักษรคันจิที่มีการผสมรวมระหว่างลักษณะเฉพาะตัวของศิลปะอักษร (ญี่ปุ่น: 文 โรมาจิbun ตรงกับภาษาจีน "บุ๋น") และศิลปะการทหาร (ญี่ปุ่น: 武 โรมาจิbu ตรงกับภาษาจีน "บู๊") เข้าด้วยกัน และมโนทัศน์เช่นเดียวกันนี้ ยังถูกกล่าวไว้ในเรื่องเล่าแห่งเฮเกะ (เฮเกะ โมะโนะงะตะริ, สมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12) โดยมีการอ้างอิงไว้ในคำกล่าวของตัวละครที่มีต่อการตายของ ไทระ โนะ ทะดะโนริ นักดาบ-นักกวีผู้มีการศึกษาคนหนึ่งว่า:

“เหล่าเพื่อนและพวกศัตรูต่างก็มีน้ำตาชุ่มเปียกที่แขนเสื้อ และพากันกล่าวว่า ‘น่าเสียดายเหลือเกิน! ทะดะโนะริเป็นขุนพลผู้ยิ่งใหญ่ มีฝีมือทั้งศิลปะการใช้ดาบและการกวี’ ”

วิลเลียม สก็อตต์ วิลสัน ได้กล่าวเอาไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ ไอเดียลส์ ออฟ เดอะ ซามูไร ว่า: “เหล่านักรบในเฮเกะ โมะโนะงะตะริ ถือได้ว่าเป็นตัวแบบสำหรับนักรบที่มีการศึกษาในรุ่นต่อๆ มา และอุดมการณ์ต่างๆ ที่ถูกอธิบายโดยนักรบแต่ละคนในเรื่องเล่า ก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ยากที่จะทำตามหรือเอื้อมถึง ยิ่งกว่านั้น อุดมการณ์เหล่านี้ยังเป็นที่ต้องการอย่างมากในสังคมนักรบชั้นสูง และยังเป็นสิ่งที่ถูกแนะนำว่าเหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นรูปแบบของมนุษย์ติดอาวุธชาวญี่ปุ่นทุกคน ด้วยอิทธิพลของเฮเกะ โมะโนะงะตะริ นี่เอง ภาพลักษณ์ของนักรบญี่ปุ่นในงานวรรณกรรมต่างๆ จึงสุกงอมอย่างเต็มที่” ต่อมา วิลสันยังได้แปลงานเขียนของนักรบบางคนที่มีชื่อในเรื่องเล่าแห่งเฮเกะนี้ เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนที่ได้อ่านปฏิบัติตนตามอีกด้วย

ยุคคะมะกุระ ความเฟื่องฟูของซามูไร

เดิมทีซามูไรเป็นเพียงนักรบรับจ้างให้กับองค์พระจักรพรรดิและกลุ่มชนชั้นสูง (คุเงะ (ญี่ปุ่น: 公家 โรมาจิkuge) เท่านั้น แต่ต่อมาอำนาจของพวกเขาได้ก่อตัวขึ้นมาอย่างช้าๆ จนในที่สุดพวกเขาสามารถยึดอำนาจของผู้ปกครองชั้นสูงไว้ได้ และก่อร่างกลุ่มคณะที่ปกครองโดยซามูไรขึ้นมาแทน พวกเขาได้สร้างลำดับขั้นการบังคับบัญชาที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ โทเรียว หรือหัวหน้าของพวกเขาขึ้นมา เพื่อทำการสะสมกำลังคนกับทรัพยากรต่างๆ และผูกพันธมิตรกับกลุ่มอื่นๆ ผู้ที่เป็นโทเรียวจะมีระยะห่างเฉพาะในความสัมพันธ์ที่มีต่อองค์จักรพรรดิ และต่อสมาชิกส่วนน้อยของหนึ่งในสามตระกูลมีระดับ (ตระกูลฟุจิวะระ ตระกูลมินะโมะโตะ และตระกูลไทระ) ในด้านระเบียบการปกครอง ตามหลักการแล้ว โทเรียวเหล่านี้จะถูกส่งไปรับตำแหน่งเป็นผู้ปกครองหรือผู้พิพากษาศาลแขวงตามจังหวัดต่างๆ เป็นเวลาสี่ปี แต่ในความเป็นจริง เมื่อพวกเขาหมดสมัยปกครองแล้ว ก็มักปฏิเสธที่จะกลับมาสู่เมืองหลวงอีกครั้ง และยังได้นำทายาทของตนมาสืบต่อตำแหน่งแทน เพื่อให้การทำงานต่อเนื่องไป และให้เป็นผู้นำทัพออกปราบกบฏทั่วทั้งญี่ปุ่น โดยเฉพาะในช่วงตอนกลางและตอนปลายของยุคเฮอัง

ต่อมา เมื่อกำลังทหารและอำนาจทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น กลุ่มซามูไรผู้ปกครองก็กลายเป็นศูนย์กลางอำนาจใหม่ทางการเมือง การเข้าไปมีส่วนร่วมในกบฏโฮเง็ง ช่วงยุคเฮอังตอนปลายก็ยิ่งทำให้อำนาจของพวกเขาแข็งแกร่งมากกว่าเดิมอีก จนในที่สุด ในช่วงกบฏเฮจิ ปี ค.ศ. 1160 พวกเขาก็สามารถยุยงตระกูลมินะโมะโตะ และตระกูลไทระให้ปะทะกันเองได้ หลังจากชัยชนะปรากฏออกมาอย่างเด่นชัดต่อกลุ่มซามูไร แม่ทัพไทระ โนะ คิโยะโมะริ ก็กลายเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดในราชสำนัก ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ชนชั้นนักรบได้ขึ้นครองตำแหน่งชั้นสูงของญี่ปุ่น และสุดท้าย กลุ่มซามูไรก็เข้าไปควบคุมรัฐบาลได้อย่างเต็มตัว เกิดเป็นคณะรัฐบาลของญี่ปุ่นชุดแรกที่ถูกครอบงำโดยซามูไร ส่วนองค์จักรพรรดิก็ถูกลดทอนอำนาจให้มีสถานะเป็นเพียงประมุขของประเทศเท่านั้น แต่ไม่สามารถใช้อำนาจบริหารบ้านเมืองได้อย่างแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม ตระกูลไทระก็ยังคงขับเคี่ยวกันกับตระกูลมินะโมะโตะอยู่เหมือนเดิม โดยแทนที่ตระกูลไทระจะใช้วิธีแผ่ขยายอำนาจโดยการเสริมความแข็งแกร่งให้กับกองทหารของตน พวกเขากลับใช้วิธีส่งผู้หญิงในตระกูลเข้าไปอภิเษกกับองค์จักรพรรดิ และพยายามเข้าไปใช้อำนาจผ่านทางจักรพรรดิเพื่อประโยชน์ของตระกูล

ตระกูลไทระและตระกูลมินะโมะโตะเข้าปะทะกันอีกครั้งในปี ค.ศ. 1180 เป็นการเริ่มต้นสงครามเก็มเปอย่างเป็นทางการ ซึ่งไปยุติลงในปี ค.ศ. 1185 หลังสงครามสิ้นสุดลง มินะโมะโตะ โนะ โยะริโตะโมะ ผู้ชนะในสงครามครั้งนั้น ได้ทำให้กลุ่มซามูไรมีความเหนือกว่ากลุ่มชนชั้นสูงมากขึ้นไปอีก โดยในปี ค.ศ. 1190 ตัวเขาได้ไปเยือนเมืองเคียวโตะ และใน ค.ศ. 1192 เขาก็กลายเป็นโชกุนในที่สุด [2] และเพื่อเป็นการแทนที่อำนาจซึ่งมาจากเมืองเคียวโตะ ตัวเขาจึงได้จัดตั้งคณะการปกครองตามระบอบโชกุนในเมืองคะมะกุระขึ้นมา เรียกว่า รัฐบาลโชกุนคะมะกุระ สาเหตุที่เลือกก่อตั้งที่เมืองคะมะกุระเป็นเพราะว่า เมืองนี้อยู่ใกล้กับแหล่งฐานอำนาจของตัวเขาเอง

หลังจากช่วงเวลาดังกล่าว กลุ่มซามูไรผู้ทรงอำนาจก็กลายเป็นนักรบชนชั้นนำ (บุเกะ) ผู้ซึ่งมีเพียงชื่อเท่านั้นที่ดำรงอยู่ภายใต้สำนักกลุ่มผู้ปกครองชนชั้นสูง หรือราชสำนัก เมื่อซามูไรเริ่มเข้าไปเป็นเจ้าของเครื่องจรรโลงใจต่างๆ ของกลุ่มชนชั้นสูง อย่างศิลปะลายมือ บทกวี และเพลง ในทางกลับกัน สำนักผู้ปกครองชนชั้นสูงบางสำนักก็เข้าไปเป็นเจ้าของธรรมเนียมต่างๆ ของซามูไรบ้าง แต่ถึงแม้ว่าจักรพรรดิหลายๆ พระองค์จะสร้างแผนการอันชั่วร้ายและกฎระยะสั้นต่างๆ ออกมาเพื่อลดบทบาทของกลุ่มซามูไร อำนาจที่แท้จริงในขณะนั้นก็ยังอยู่ในกำมือของโชกุนและซามูไรอยู่ดี

คริสต์ศตวรรษที่ 14

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ศาสนาพุทธนิกายเซนถูกเผยแพร่ไปทั่วกลุ่มซามูไร ลัทธินี้ช่วยก่อร่างสร้างมาตรฐานแห่งประพฤติกรรมของพวกเขาขึ้นมา โดยเฉพาะพฤติกรรมการเอาชนะความกลัวตายและการสังหาร แต่สำหรับผู้คนกลุ่มอื่นๆ แล้ว ศาสนาพุทธกระแสหลักก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่

ภาพวาดแนวป้องกันหินขนาดใหญ่รอบอ่าวฮะกะตะที่สร้างขึ้นโดยซามูไรเพื่อป้องกันการบุกรุกของกองทหารมองโกล วาดโดยโมะโกะ ชุไร เอะโกะโตะบะ เมื่อปี พ.ศ. 1836

ในปี พ.ศ. 1817 (ค.ศ. 1274) กุบไลข่านแห่งจักรวรรดิมองโกล (ปกครองจีนในนามราชวงศ์หยวน) ได้ส่งกำลังทหารประมาณ 40,000 นาย และเรือ 900 ลำเพื่อมาตีญี่ปุ่นที่เกาะคีวชู [3] ทางฝ่ายญี่ปุ่นจึงได้รวบรวมกำลังซามูไรประมาณ 10,000 คนเพื่อเตรียมต่อต้านการบุกรุกครั้งนี้ แต่ตลอดการบุกเข้ามา กองทหารมองโกลทั้งหมดกลับโดนโจมตีโดยพายุขนาดใหญ่หลายลูก เป็นผลให้ฝ่ายตั้งรับปลอดภัยจากการสูญเสียกำลังพลครั้งใหญ่ จนในที่สุดกองทหารหยวนก็ถูกเรียกกลับจักรวรรดิไปและการบุกรุกก็สิ้นสุดลง แต่การกระทำของมองโกลในครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าจดจำสำหรับญี่ปุ่น เนื่องจากว่ากองกำลังมองโกลกลุ่มนี้ใช้ระเบิดขนาดเล็กเป็นอาวุธด้วย ทำให้ญี่ปุ่นได้รู้จักกับระเบิดและดินปืนเป็นครั้งแรก

ฝ่ายญี่ปุ่นตระหนักดีว่ามีความเป็นไปได้ที่การถูกบุกรุกจะเกิดขึ้นอีก พวกเขาจึงต้องสร้างแนวป้องกันหินขนาดใหญ่รอบอ่าวฮะกะตะ โดยเริ่มลงมือสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 1819 (ค.ศ. 1276) จนถึงปี พ.ศ. 1820 (ค.ศ. 1277) แนวป้องกันนี้มีความยาว 20 กิโลเมตรทอดตัวไปตามแนวชายฝั่ง นี่ถือว่าเป็นจุดตั้งรับที่แข็งแรงที่จะต้านมองโกลไว้ได้ ทางฝ่ายมองโกลก็พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีทางการทูต โดยเริ่มกระทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 1818 (ค.ศ. 1275) ถึงปี พ.ศ. 1822 (ค.ศ. 1279) แต่ผู้ส่งสารของมองโกลแต่ละคนที่เดินทางไปญี่ปุ่นล้วนแล้วถูกจับประหารชีวิตทั้งสิ้น เป็นผลให้ต้องเกิดการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 1824 (ค.ศ. 1281) กองทหาร 140,000 นายกับเรืออีก 4,400 ลำของราชวงศ์หยวน เดินทางมาที่ญี่ปุ่นอีกครั้งเพื่อมาทำสงครามครั้งใหม่ ทางด้านญี่ปุ่นก็จัดเตรียมซามูไร 40,000 คนเพื่อป้องกันตอนเหนือของเกาะคีวชูไว้ เมื่อทัพมองโกลเดินทางมาถึง ทหารมองโกลยังคงต้องอยู่บนเรือของพวกเขาเพื่อเตรียมตัวปฏิบัติการยกพลขึ้นบก แต่เมื่อถึงเวลายกพลขึ้นบกจริง พวกเขาต้องพบกับพายุไต้ฝุ่นที่เข้าปะทะเกาะคีวชูตอนเหนือพอดี ตามมาด้วยการพบกับกำลังป้องกันของญี่ปุ่นที่แนวป้องกันบนอ่าวฮะกะตะอีก ทำให้ทัพมองโกลรับความเสียหายและต้องสูญเสียกำลังพล ผลสุดท้าย ทัพมองโกลก็ต้องถูกเรียกกลับสู่จักรวรรดิอีกครั้ง

พายุฝนในปี พ.ศ. 1817 (ค.ศ. 1274) และพายุไต้ฝุ่นในปี พ.ศ. 1824 (ค.ศ. 1281) ช่วยให้กองกำลังซามูไรที่ทำหน้าที่ปกป้องญี่ปุ่นไล่ผู้บุกรุกชาวมองโกลกลับไปได้ แม้ว่าฝ่ายตรงข้ามจะมีกำลังพลที่มากกว่าอย่างมากก็ตาม ลมพายุทั้งสองนี้ได้กลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อ คะมิ-โนะ-คะเซะ (หรือเรียกอย่างสั้นว่า "คะมิกะเซะ") ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า ลมแห่งเทพเจ้า หรือที่แปลกันอย่างง่ายว่า ลมพระเจ้า ไต้ฝุ่นคะมิกะเซะได้สร้างความเชื่อให้แก่ชาวญี่ปุ่นว่าแผ่นดินต่างๆ ของพวกเขาอยู่ภายใต้การปกป้องของเทพเจ้าและสิ่งเหนือธรรมชาติ

ยุคมุโระมะชิ

ศตวรรษที่ 14

ช่างตีดาบที่ชื่อ มะซะมุเนะ ได้พัฒนาเหล็กกล้าที่มีโครงสร้างสองชั้นผสมกันระหว่างเหล็กอ่อนและเหล็กแข็งขึ้นเพื่อใช้ในการตีดาบ โครงสร้างนี้ได้สร้างความก้าวหน้าในพลังและคุณภาพการตัดอย่างมาก ซึ่งเทคนิคการผลิตดังกล่าวได้นำไปสู่การสร้างดาบญี่ปุ่น (ดาบคะตะนะ) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฐานะของหนึ่งในอาวุธคู่มือที่ทรงอานุภาพมากที่สุดในเอเชียตะวันออกช่วงยุคก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม ดาบหลาย ๆ เล่มที่สร้างขึ้นมาโดยเทคนิคดังกล่าวนี้ได้ถูกส่งออกข้ามทะเลจีนตะวันออกไป ซึ่งจุดที่ไกลที่สุดที่ดาบเดินทางไปถึงคือดินแดนอินเดีย

ประเด็นในเรื่องการสืบทอดตำแหน่งโดยทายาทเป็นเหตุให้การต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงตำแหน่งโดยตระกูลต่าง ๆ เป็นเรื่องธรรมดา ถึงแม้ว่าจะเป็นวิธีการที่ขัดต่อระเบียบการสืบทอดอำนาจที่ตราเอาไว้ในกฎหมายของญี่ปุ่นก่อนศตวรรษที่ 14 ก็ตาม เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการใช้วิธีชิงอำนาจดังกล่าว การบุกรุกเข้ามาของกลุ่มซามูไรที่อยู่ในเขตแดนติดกันจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง และการวิวาทระหว่างซามูไรด้วยกันเองก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอดเวลาสำหรับเมืองคะมะกุระและสมัยการปกครองของโชกุนอาชิกางะ

ยุคเซงโงะกุ (ยุคภาวะสงคราม) เป็นยุคที่ซามูไรสูญเสียวัฒนธรรมของตนเองให้กับกลุ่มคนที่เกิดในชนชั้นทางสังคมอื่น ๆ ที่บางครั้งได้อุปโลกน์ตัวเองว่าเป็นนักรบซามูไร โดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องตามครรลองแห่งการเป็นซามูไรหรือไม่ ดังนั้นในช่วงที่ไร้ความควบคุมเช่นนี้ หลักจรรรยาแบบบูชิโดจึงถูกนำมาใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมสังคมสาธารณะ

ศตวรรษที่ 15

กลยุทธ์และเทคโนโลยีการสงครามของญี่ปุ่นก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในช่วงศตวรรษที่ 15 และศตวรรษที่ 16 มีการใช้กองทหารราบที่เรียกกันว่า อะชิงะรุ (หรือ เท้าเบา สืบเนื่องมาจากชุดเกราะเบาที่ใช้ ซึ่งที่จริงก็คือนักรบชั้นที่ต่ำลงไปและประชาชนธรรมดาที่ถูกจัดให้ใช้อาวุธนะงะยะริ (หอกยาว) หรือนะงินะตะ (ง้าว) จำนวนมากร่วมกับกองทหารม้าที่เตรียมเอาไว้ตามแผนการรบอยู่แล้ว ทำให้จำนวนคนที่เข้าไปรับใช้กองทัพเพิ่มขึ้นจากหลักพันกลายเป็นหลักแสนทันที

อาวุธปืนเล็กยาวได้เข้ามาสู่ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2086 (ค.ศ. 1543) โดยชาวโปรตุเกสผ่านทางเรือโจรสลัดของจีน (ในทศวรรษนี้ ชาวญี่ปุ่นทุกคนได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองของประเทศญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว) กลุ่มของทหารรับจ้างหลาย กลุ่มกับปืนเล็กยาวที่ถูกผลิตออกมาจำนวนมากจึงเล่นบทบาทสำคัญในญี่ปุ่นช่วงนั้น

เมื่อสิ้นสุดยุคศักดินา ญี่ปุ่นมีปืนชนิดต่างๆ ประมาณหนึ่งแสนกระบอก และมีกองทหารจำนวน 100,000 กว่าคนที่ทำหน้าที่ร่วมรบในสมรภูมิ ซึ่งถ้าเทียบกับกองทหารสเปนที่มีขนาดใหญ่และทรงพลังมากที่สุดในทวีปยุโรปแล้ว พวกเขาก็มีอาวุธปืนเพียงแค่หนึ่งหมื่นกระบอก และกำลังทหารก็มีแค่ 30,000 คนเท่านั้น

ยุคอะซุชิโมะโมะยะมะ

ในปี พ.ศ. 2135 (ค.ศ. 1592) และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2141 (ค.ศ. 1598) ไดเมียว โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ ตัดสินใจที่จะบุกจีน (ญี่ปุ่น: 唐入り) และอีกทางหนึ่งก็ส่งกำลังซามูไรจำนวน 160,000 คนไปบุกเกาหลี โดยใช้ความได้เปรียบในด้านความชำนาญในการใช้อาวุธปืนเล็กยาว และการบริหารกองทัพของฝ่ายเกาหลีที่แย่กว่าเป็นหนทางสู่ชัยชนะ ซามูไรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในสงครามครั้งนี้ได้แก่ คะโต คิโยะมะซะ และ ชิมะซุ โยะชิฮิโระ

หลังจากนั้น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในด้านทรัพยากรมนุษย์ก็เป็นไปอย่างยืดหยุ่น เหมือนกับระบบโบราณที่ล่มสลายไปแล้วได้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง เนื่องจากซามูไรต้องการที่จะคงกำลังทหารขนาดใหญ่และองค์กรที่พวกตนบริหารเอาไว้ในเขตอิทธิพลของพวกเขาเอง ตระกูลซามูไรหลาย ๆ ตระกูลที่ดำรงอยู่จนถึงศตวรรษที่ 19 ก็ออกมาประกาศว่า พวกตนเป็นสายเลือดของหนึ่งในสี่ตระกูลชั้นนำโบราณ ซึ่งได้แก่ตระกูลมินะโมะโตะ ตระกูลไทระ ตระกูลฟุจิวะระ และตระกูลทะจิมะนะ แต่อย่างไรก็ตาม ในหลาย ๆ กรณี ก็เป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ว่าต้นตระกูลของพวกเขาเป็นใครกันแน่

ปลายยุคอะซุชิโมะโมะยะมะ

โอะดะ โนะบุนะงะ คือไดเมียวที่มีชื่อเสียงของเขตนะโงะยะ (ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่าแคว้นโอะวะริ) และยังเป็นตัวอย่างของซามูไรที่โดดเด่นต่างจากผู้อื่นในยุคเซงโงะกุ เขาเข้ามามีบทบาทและได้วางหนทางเพื่อความสำเร็จของเขา ไม่กี่ปีหลังจากการรวมญี่ปุ่นอีกครั้งภายใต้ “ค่ายรัฐบาล” หรือ “บะคุฟุ” (คณะปกครองในระบอบโชกุน) ใหม่

โอะดะ โนะบุนะงะ ได้สร้างนวัตกรรมทางด้านการบริหารและกลยุทธ์การสงครามเอาไว้มากมาย ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากปืนเล็กยาวอย่างหนัก พัฒนาการพาณิชย์และอุตสาหกรรม และสร้างนวัตกรรมใหม่ในด้านการคลัง ชัยชนะของเขาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ตัวเขาเข้าใจถึงการสิ้นสุดลงของค่ายรัฐบาลอะชิคะงะ และการปลดอาวุธจากกำลังทหารของพระในศาสนาพุทธ ซึ่งนำไปสู่ความโกรธเกรี้ยวและการต่อสู้ที่ไร้ประโยชน์ระหว่างประชาชนธรรมดาด้วยกันเป็นเวลาหลายศตวรรษ เขารู้ว่าการโจมตีที่มาจาก "สถานที่ศักดิ์สิทธิ์” ของวัดชาวพุทธ เกิดจากแรงกดดันที่มีมาจากการกระทำของขุนศึกและแม้แต่จักรพรรดิซึ่งพยายามจะควบคุมการกระทำของพวกเขา

โอะดะถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2125 (ค.ศ. 1582) เมื่ออะเคะจิ มิสึฮิเดะ แม่ทัพคนหนึ่งในสังกัดของเขา หักหลังเขากับทหารของเขาด้วย

หลังจากนั้น โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ และโทะกุงะวะ อิเอะยะซุ (ผู้ซึ่งก่อตั้ง คณะการปกครองโชกุนโทะกุงะวะ) ที่ต่างก็เป็นผู้ติดตามที่จงรักภักดีของโนบุนางะก็ได้หาทางกำจัดมิสึฮิเดะ ฮิเดะโยะชิเป็นผู้ที่เติบโตมาจากชาวนาไร้ชื่อเสียง ซึ่งเริ่มมาจากทหารราบ อะชิงะรุ ไต่เต้ามาจนเป็นนายทหารสู่หนึ่งในแม่ทัพที่มีฝีมือของโนะบุนะงะ ส่วนอิะเอะยะซุนั้นก็เติบโตมาด้วยกันกับโนะบุนะงะตั้งแต่เด็ก โดยตอนะเด็ก อิเอะยะซุเคยเป็นตัวประกันของผู้ครองแคว้นมิคุวะมาก่อน

ในปี พ.ศ. 2125 (ค.ศ. 1582) ฮิเดะโยะชิเอาชนะมิสึฮิเดะได้ภายในหนึ่งเดือน และถือเป็นผู้ที่สืบทอดอำนาจต่อจากโนะบุนะงะโดยชอบธรรมจากการยึดทรัพย์สินของมิตสึฮิเดะ

แม่ทัพทั้งสองได้มอบความสำเร็จที่ผ่านมาของโนะบุนะงะเป็นของขวัญในการรวมญี่ปุ่นเข้าด้วยกัน พวกเขาได้กล่าวคำสำคัญเอาไว้ในเหตุการณ์นี้ว่า: “การรวมแผ่นดินครั้งนี้ก็เหมือนกับข้าวปั้น โอดะทำมันขึ้นมา ฮาชิบะแต่งรูปร่างให้มัน และสุดท้าย มีเพียงอิเอะยะซุเท่านั้นที่จะเป็นคนลิ้มรสมัน” (ฮาชิบะ คือชื่อตระกูลที่โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ใช้ในขณะที่เขายังเป็นผู้ติดตามของโนบุนางะ)

โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ ผู้เป็นบุตรของตระกูลชาวนาที่ยากจน ได้รับตำแหน่งเป็นเสนาบดีในปี พ.ศ. 2129 เขาได้ตรากฎหมายให้ชนชั้นซามูไรมีความเป็นถาวรและสามารถตกทอดไปสู่ทายาทได้ ส่วนผู้ที่มิใช่ซามูไรนั้น ไม่สามารถพกพาอาวุธติดตัวได้ ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้กลุ่มซามูไรที่อุปโลกน์ตัวเองขึ้นมาเป็นอันต้องสิ้นสุดลง

หลังจากที่เกิดกฎหมายดังกล่าวขึ้นมา ความคลุมเครือระหว่างซามูไรจริงกับซามูไรปลอมก็เริ่มลดลง ชายวัยผู้ใหญ่ของทุก ๆ ระดับชั้นทางสังคม (แม้แต่ชาวนา) ส่วนมากแล้วจะไปขึ้นตรงต่อองค์กรทางการทหารอย่างน้อยหนึ่งองค์กร เพื่อรับใช้องค์กรนั้นๆ ในการทำสงคราม จึงสามารถกล่าวได้ว่า สถานการณ์ “มวลชนปะทะมวลชน” กำลังจะดำเนินต่อไปอีกศตวรรษ

ตระกูลซามูไรที่มีอำนาจในช่วงหลังคริสต์ศตวรรษที่ 17 จะได้รับเลือกให้ติดตามโนะบุนะงะ, ฮิเดะโยะชิ, และอิเอะยะซุ สงครามขนาดใหญ่หลายๆ ครั้งเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ซามูไรที่พ่ายแพ้และถูกสังหารมีจำนวนมาก ซามูไรที่รอดกลับมาหลายต่อหลายคนก็ต้องกลายเป็นโรนิง หรือไม่ก็กลายเป็นประชาชนธรรมดา

ยุคเอะโดะ

โชกุนโทะกุงะวะ อิเอะยะซุ

ตลอดสมัยการปกครองของตระกูลโทะกุงะวะ (ที่มักจะเรียกกันว่ายุคเอะโดะ) นับตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ก็เป็นช่วงเวลาที่ไม่มีสงครามปะทุขึ้นอีกเลย ในยุคนี้ซามูไรหลายๆ คนจึงสูญเสียหน้าที่ทางการทหารไปทีละน้อย เป็นเหตุให้พวกเขาต้องหันมาทำงานเป็นข้าราชสำนัก ข้าราชการ และนักบริหารมากกว่าที่จะเป็นนักรบอย่างเคย

เมื่อสิ้นยุคของโทะกุงะวะ ซามูไรก็กลายเป็นข้าราชการชนชั้นสูงรับใช้ผู้ที่เป็นไดเมียว ในยุคนี้ไดโชะของซามูไร (ดาบยาวและสั้นที่ซามูไรพกพาไว้คู่กัน หรือที่เรียกว่าคะตะนะ และวะกิซะชิ[4]) ได้กลายมาเป็นตราสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอำนาจมากกว่าจะเป็นอาวุธที่ใช้ในชีวิตประจำวัน พวกเขายังคงได้อำนาจตามกฎหมายที่จะฆ่าใครก็ได้ที่ไม่แสดงความเคารพอย่างเหมาะสมต่อตัวเขาอีกด้วย

ต่อมาเมื่อรัฐบาลกลางบังคับให้ไดเมียวต้องลดจำนวนซามูไรในสังกัดลง ปัญหาสังคมที่ตามมาคือจำนวนโรนิงที่เพิ่มมากขึ้น

ตามหลักการแล้ว พันธะที่เกิดขึ้นระหว่างซามูไรกับเจ้านายของพวกเขา (ส่วนใหญ่ก็คือไดเมียว) มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากจากสมัยเก็มเปสู่สมัยเอโดะ ในช่วงนี้ ซามูไรจะให้ความสำคัญต่อคำสอนของปราชญ์ขงจื๊อและเม่งจื๊ออย่างมาก ตำราของปราชญ์ทั้งสองเป็นที่ต้องการของชนชั้นซามูไรที่มีการศึกษา

ตลอดสมัยเอโดะ หลังจากการต่อสู้สิ้นสุดลง การประมวลหลักบุชิโดก็เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ สิ่งสำคัญคือ หลักบุชิโดเป็นเรื่องของอุดมคติ แต่ก็เป็นหลักที่ยังคงรูปแบบเดิมได้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 – อุดมการณ์บุชิโดเป็นอุดมการณ์ของชนชั้นนักรบที่อยู่เหนือบริบทชนชั้นทางสังคม เวลา และภูมิสถาน

หลักบุชิโดถูกทำให้เป็นทางการโดยซามูไรหลายๆ คน หลังจากที่บ้านเมืองอยู่ในความสงบ ไร้สงคราม คล้ายกันกับหลัก ชิวัลรี (Chivalry - หลักอัศวิน) ที่ถูกทำให้เป็นทางการเช่นกัน หลังจากที่อัศวินซึ่งเป็นชนชั้นนักรบในทวีปยุโรปล่มสลายไป

หลักความประพฤติของซามูไรได้กลายเป็นตัวแบบที่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนในสมัยเอโดะ ซึ่งเป็นสมัยที่เน้นความเป็นทางการอย่างมาก นอกจากนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าว ซามูไรหลายๆ คนยังได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการไล่ตามสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ด้วย เช่น การได้เป็นบัณฑิตผู้มีความรู้อย่างลึกซึ้ง เป็นต้น

หลักบุชิโด และหลักเกณฑ์อื่นๆ ที่เป็นวิถีชีวิตของซามูไร ปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีชิวิตอยู่ในสังคมแบบญี่ปุ่น

ยุคเมจิ ความเสื่อมถอยของซามูไร

ในช่วงเวลานี้ วิถีทางแห่งความตายและเต็มไปด้วยอันตราย ได้ถูกทำให้ลดลงโดยการ "ปลุกให้ตื่นขึ้น" อย่างหยาบคายในปี พ.ศ. 2396 (ค.ศ. 1853) เมื่อพลเรือจัตวาแมทธิว เพอร์รี ได้นำเรือกลไฟจำนวนมากจากกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา มาทำการค้ากับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชาติที่ถูกครอบงำโดยนโยบายโดดเดี่ยวตัวเองอยู่ช่วงหนึ่ง ในช่วงแรก เนื่องจากการควบคุมอย่างเข้มงวดจากโชกุน จึงมีเพียงแต่เมืองท่าบางเมืองเท่านั้นที่สามารถทำการค้ากับตะวันตกได้

การเข้ามาทำการค้าในญี่ปุ่นของชาติตะวันตกครั้งนั้นมีพื้นฐานมาจากความคิดที่จะแข่งขันกันระหว่างกลุ่มศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกนิกายฟรานซิสกันและโดมินิกันกับกลุ่มอื่น ๆ (เพื่อการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีปืนเล็กยาว ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ซามูไรแบบดั้งเดิมต้องล่มสลายไป)

ปฏิบัติการครั้งสุดท้ายของทัพซามูไรต้นตำรับเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2410 (ค.ศ. 1867) เมื่อซามูไรจากแคว้นโชชูและแคว้นซะสึมะสามารถเอาชนะกองกำลังของโชกุนที่ได้รับการสนับสนุนจากคำสั่งขององค์จักรพรรดิได้ ก่อนหน้านี้ไดเมียวของทั้งสองแคว้นได้ไปสวามิภักดิ์กับอิเอะยะซุหลังจากสงครามทุ่งเซกิงะฮะระสิ้นสุดลง พ.ศ. 2143 (ค.ศ. 1600)

ซามูไรของแคว้นซะสึมะ ในช่วงสงครามโบะชิง ถ่ายโดย เฟลีเซ บีอาโต

แต่ก็มีแหล่งข้อมูลอื่นอีกที่อ้างว่า ปฏิบัติการครั้งสุดท้ายของซามูไรเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2420 (ค.ศ. 1877) ในช่วงที่เกิดกบฏซะสึมะในยุทธการแห่งชิโระยะมะ ความขัดแย้งซึ่งเป็นที่มาของปฏิบัติการครั้งนั้นเริ่มมาจากการลุกฮือขึ้นก่อกบฏในครั้งที่ผ่านมาเพื่อที่จะเอาชนะโชกุนโทะกุงะวะ

เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้นได้นำไปสู่การปฏิรูปครั้งสำคัญ ที่เรียกว่าการปฏิรูปสมัยเมจิ

คณะรัฐบาลชุดใหม่ที่มีบทบาทในช่วงนั้น ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ อย่างถอนรากถอนโคน โดยได้ตั้งเป้าหมายไปที่การลดอำนาจของระบบศักดินาและการยุบเลิกสถานะความเป็นซามูไรลงไป ซึ่งรวมทั้งในแคว้นซะสึมะด้วย ในที่สุดแล้วการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้นำไปสู่การก่อกบฏที่เกิดขึ้นมาก่อนกำหนด โดยมีแกนนำคือ ไซโง ทะกะโมะริ

จักรพรรดิเมจิได้สั่งให้ยุติสิทธิของซามูไรในเรื่องของการเป็นชนกลุ่มเดียวที่สามารถเป็นกองกำลังทหารได้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดกองทัพทหารเกณฑ์ที่เป็นแบบตะวันตก และมีความทันสมัยมากขึ้น ซามูไรได้กลายเป็น “ชิโซกุ” (ญี่ปุ่น: 士族) ผู้ซึ่งยังได้รับเงินเดือนเป็นค่าตอบแทนอยู่ แต่สิทธิในการพกพาดาบคะตะนะในพื้นที่สาธารณะได้นั้น ต้องถูกยกเลิกไปพร้อมๆ กับสิทธิในการฆ่าใครก็ได้ที่ไม่ให้ความเคารพต่อตน ในที่สุด กลุ่มคนที่เรียกตนเองว่าซามูไรก็เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุด หลังจากที่ผ่านเวลากว่าร้อยปีแห่งความสุขที่มีต่อสถานะของพวกตน อำนาจของพวกตน และความสามารถของพวกตนในการก่อร่างสร้างคณะรัฐบาลแห่งดินแดนญี่ปุ่นได้ แต่อย่างไรก็ตาม กฎของรัฐที่ออกมาจากชนชั้นทหารก็ยังไม่ได้สิ้นสุดลงไปด้วย

ภายหลังการปฏิรูปสมัยเมจิ

เพื่อเป็นการแสดงว่าญี่ปุ่นมีความทันสมัย สมาชิกในคณะรัฐบาลเมจิจึงตัดสินใจที่จะเดินตามรอยเท้าของสหราชอาณาจักรและเยอรมนี โดยให้อยู่บนฐานคติที่ว่า “สิทธิพิเศษย่อมมีข้อผูกมัด” (“noblesse obligé”) ส่วนซามูไรนั้น ก็ถูกลดอำนาจทางการเมืองไปเหมือนกับของปรัสเซีย

เมื่อการปฏิรูปสมัยเมจิเกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ชนชั้นซามูไรก็ล่มสลายไป และกองทัพประจำชาติแบบตะวันตกก็เกิดขึ้นแทน ทหารในกองทัพสมัยใหม่ขององค์พระจักรพรรดิแห่งประเทศญี่ปุ่นล้วนแล้วแต่เป็นทหารที่ถูกเกณฑ์เข้ามาทั้งสิ้น แต่ก็มีซามูไร (เก่า) หลายคนที่อาสาไปเป็นทหารให้ และอีกหลายคนก็เข้าไปฝึกเพื่อที่จะเป็นเจ้าหน้าที่อยู่ในกองทัพ ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ในกองทัพนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะมีจุดเริ่มต้นมาจากซามูไรแทบทั้งสิ้น ทำให้พวกเขาเข้ามาทำงานพร้อมกับแรงจูงใจและวินัยขั้นสูง ประกอบกับการหมั่นฝึกฝนที่โดดเด่นผิดธรรมดา

นักเรียนแลกเปลี่ยนชาวญี่ปุ่นหลายต่อหลายคนในช่วงหลังก็ล้วนเป็นซามูไรมาก่อนเช่นกัน ที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่เพราะว่าซามูไรเท่านั้นถึงจะเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนได้ แต่เป็นเพราะว่า ซามูไรหลายๆ คนอ่านออกเขียนได้และมีการศึกษาที่ดี นักเรียนแลกเปลี่ยนบางคนเริ่มต้นเรียนที่โรงเรียนเอกชนก่อนเพื่อโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น

ในขณะเดียวกัน ซามูไรเก่าอีกหลายคนก็หันมาจับปากกาแทนปืน และได้กลายเป็นนักข่าวและนักประพันธ์ และยังได้ตั้งสำนักหนังสือพิมพ์ของตนเองอีกด้วย ส่วนอดีตซามูไรคนอื่นๆ ก็เข้าไปรับใช้คณะรัฐบาล เนื่องจากพวกเขาอ่านออกเขียนได้และมีการศึกษานั่นเอง

ซามูไรชาวตะวันตก

ภาพวาดของเออแฌน กอลัช นายทหารเรือชาวฝรั่งเศสที่ทำศึกเพื่อโชกุนในฐานะของซามูไร ในช่วงสงครามโบะชิง (พ.ศ. 2412)

ชาวต่างประเทศคนแรกที่ได้รับเกียรติให้เป็นซามูไร น่าจะเป็นทหารและนักผจญภัยชาวอังกฤษที่มีนามว่า วิลเลียม แอดัมส์ (พ.ศ. 2107พ.ศ. 2163) โชกุนโทะกุงะวะ อิเอะยะซุได้มอบดาบคู่ให้แก่เขาเพื่อเป็นตัวแทนแห่งอำนาจของซามูไร พร้อมกับมีบัญชาออกมาว่า นักเดินเรือวิลเลียม แอดัมส์ ได้ตายไปแล้ว และซามูไร มิอุระ อันจิง (ญี่ปุ่น: 三浦按針) ได้ถือกำเนิดขึ้นมาแทน นอกจากการได้เป็นซามูไร แอดัมส์ยังได้รับตำแหน่ง ฮะตะโมะโตะ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ได้รับความเคารพอย่างสูง มีหน้าที่เป็นข้ารับใช้โดยตรงในสำนักของโชกุน นอกจากนั้น เขายังได้รับที่ดินในเฮมิ (ญี่ปุ่น: 逸見) ซึ่งเป็นที่ดินที่มีเขตแดนอยู่ในเมืองโยะโกะซุกะในปัจจุบัน เป็นส่วนแบ่งจากท่านโชกุน พร้อมกับข้าทาสบริวารอีกส่วนหนึ่ง โดยมีหลักฐานปรากฏในจดหมายของเขาว่า “ด้วยชาวนาแปดสิบหรือเก้าสิบคนนี่แหละ ที่จะมาเป็นข้าทาสและบริวารของข้าพเจ้า” ทรัพย์สมบัติในรูปแบบของที่ดินของเขามีค่ามากเท่ากับ 250 โกกุ (หน่วยวัดรายได้ที่มาจากผืนนาบนที่ดินของญี่ปุ่น มีค่าประมาณห้าบูเชล)

ในท้ายที่สุด เขาได้เขียนในจดหมายของเขาว่า “พระเจ้าได้บันดาลพรให้ข้าพเจ้า หลังจากที่ข้าพเจ้าต้องพบกับความทุกข์ระทม” เนื้อความดังกล่าวหมายความว่า ความหายนะ (จากการเดินทาง) ได้นำเส้นทางของเขาให้มาพบกับชีวิตที่ดีในญี่ปุ่น

นอกจากวิลเลียม แอดัมส์ แล้ว ในช่วงที่เกิดสงครามโบะชิง พ.ศ. 2411 (ค.ศ. 1868) – พ.ศ. 2412 (ค.ศ. 1869) ก็ยังมีทหารชาวฝรั่งเศสหลายคนที่เข้ามาร่วมกับกองกำลังของโชกุนต่อสู้กับกลุ่มไดเมียวฝ่ายใต้ที่เห็นชอบกับการปฏิรูปสมัยเมจิ โดยได้มีการบันทึกไว้ว่า นายทหารเรือฝรั่งเศสคนหนึ่งที่ชื่อ เออแฌน กอลัช (Eugène Collache) ได้ต่อสู้ในสงครามครั้งนี้ภายใต้เครื่องแบบของซามูไร เคียงบ่าเคียงใหล่ไปกับเพื่อนร่วมรบชาวญี่ปุ่นคนอื่น ๆ ด้วย