วัฒนธรรมซามูไร ของ ซามูไร

ซามูไรได้พัฒนาวัฒนธรรมของพวกเขาเองในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ยังได้ส่งอิทธิพลต่อรูปแบบวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นโดยรวมอีกด้วย

การศึกษา

ผู้ที่เป็นซามูไรต่างได้รับการคาดหวังว่าจะต้องเป็นคนที่สามารถอ่านออกเขียนได้ พร้อมกับต้องมีความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ด้วย นอกจากนั้น ยังได้รับความคาดหวังว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีความสนใจในศิลปะด้านอื่น ๆ อย่างเช่น การเต้นรำ การเล่นโกะ งานวรรณกรรม บทกวี และชา เป็นต้น ถึงแม้ว่าศิลปะเหล่านี้ไม่ได้จำเป็นต่อพวกเขาเลยก็ตาม

แต่ในประวัติศาสตร์ ซามูไรผู้ที่มีชื่อเสียงหลายคนก็ไม่ได้มีคุณสมบัติตามวุฒิการศึกษาที่กล่าวไว้ข้างต้น ตัวอย่างเช่น โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ ซามูไรผู้ยิ่งใหญ่ที่มีพื้นเพเป็นชาวนา ก็มีอุปสรรคสำคัญอยู่ตรงที่เขาสามารถอ่านและเขียนได้แต่ภาษาญี่ปุ่นที่ใช้ตัวอักษรฮิรางานะเท่านั้น อีกผู้หนึ่งคือ โอดะ โดกัง บุคคลผู้ที่ปกครองเอะโดะเป็นคนแรก ก็เคยเขียนระบายความในใจของเขาว่า เขาละอายใจเหลือเกินที่ได้พบว่า แม้แต่ประชาชนธรรมดายังมีความรู้ทางด้านการกวีมากกว่าตัวเขาเอง ทำให้เขารู้สึกอัปยศจนต้องยอมสละสมบัติและตำแหน่งของเขาไปในที่สุด

ประเพณีชุโด

ภาพวาดแสดงประเพณีชุโดของญี่ปุ่นโบราณ ที่ผู้ชายเกิดความสัมพันธ์รักกับผู้ชายที่อ่อนวัยกว่า ผลงานของมิยะงะวะ อิสโช (พ.ศ. 2293)

ชุโด (ญี่ปุ่น: 衆道) คือ ประเพณีแห่งสายใยรักที่เกิดขึ้นระหว่างซามูไรผู้แก่กล้าวิชากับซามูไรที่ยังไร้ประสบการณ์ ที่เปรียบได้ดัง “ดอกไม้แห่งจิตวิญญาณของซามูไร” ที่ได้ก่อร่างสร้างพื้นฐานที่แท้จริงของลัทธิความงามของผู้ที่เป็นซามูไรขึ้นมา ประเพณีนี้มีความคล้ายคลึงกับประเพณีของกรีกโบราณที่ชายวัยผู้ใหญ่มักจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเด็กผู้ชาย

สำหรับสังคมซามูไร นี่ถือว่าเป็นประเพณีที่มีเกียรติ เป็นการปฏิบัติที่สำคัญ และเป็นเส้นทางสายหลักที่จะสืบทอดความคิด คุณค่า จิตวิญญาณ และทักษะแห่งประเพณีซามูไร จากรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นต่อ ๆ ไปได้

อีกชื่อหนึ่งของประเพณีนี้คือ บิโด (ญี่ปุ่น: 美道) (วิถีแห่งความงาม) เป็นประเพณีที่เชื่อว่า ความรักอันหนักแน่นที่ซามูไรสองคนมีให้แก่กันนั้น เป็นสิ่งที่เกือบจะยิ่งใหญ่เท่ากับความรักแบบเดียวกันที่มีให้แก่ไดเมียว จากข้อมูลในบทบันทึกร่วมสมัยฉบับหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า ทางเลือกระหว่างความรักที่มีต่อซามูไรอีกคน กับ เจ้านายของเขาเอง สามารถกลายมาเป็นปัญหาทางปรัชญาสำหรับซามูไรได้

ในตำราฮะงะกุเระและคู่มือสำหรับซามูไรฉบับอื่น ๆ ได้ให้คำสอนที่เจาะจงไปที่วิถีของประเพณีเช่นนี้ว่า เป็นสิ่งที่ซามูไรควรจะต้องทำตามและให้ความเคารพ

หลังจากที่เกิดการปฏิรูปสมัยเมจิและการเข้ามาของแบบแผนการดำเนินชีวิตของตะวันตก การหลงใหลในความงามของผู้ชายก็ถูกแทนที่โดยความหลงใหลในเพศหญิงตามแบบยุโรปแทน นี่จึงเป็นจุดจบของประเพณีชุโดไปในที่สุด

การตั้งชื่อ

ชื่อเต็มของซามูไร มักจะตั้งขึ้นมาโดยการนำเอาชื่อที่อ่านตามตัวอักษรคันจิของพ่อหรือปู่ของเขา มารวมกับชื่อใหม่อีกหนึ่งชื่อที่อ่านตามตัวอักษรคันจิเหมือนกัน ซึ่งตามธรรมดาแล้ว ซามูไรจะใช้ชื่อบางส่วนจากชื่อเต็มทั้งหมดเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น โอะดะ คะซุซะโนะซุเกะ ซะบุโระ โนะบุนะงะ (ญี่ปุ่น: 織田上総介三郎信長) ก็คือชื่อเต็มของโอะดะ โนะบุนะงะ โดยคำว่า โอะดะ ก็คือชื่อของตระกูลหรือสังกัด คำว่า คะซุซะโนซุเกะ ก็คือชื่อตำแหน่งรองข้าหลวงประจำแคว้นคะซุซะ คำว่า ซะบุโระ ก็คือชื่อที่มีมาก่อนเข้าพิธีเก็มปุกุ (พิธีฉลองการเจริญวัย) และคำว่า โนะบุนะงะ ก็คือชื่อที่ตั้งขึ้นใหม่ต่อที่เป็นผู้ใหญ่

การสมรส

การแต่งงานของซามูไรจะถูกจัดขึ้นมาโดยผู้ที่แต่งงานแล้วและมียศศักดิ์เท่ากับหรือเหนือว่าซามูไรผู้เป็นเจ้าบ่าวเท่านั้น (นี่เป็นพิธีสำคัญสำหรับซามูไรที่มียศศักดิ์ต่ำกว่า และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับซามูไรที่มียศศักดิ์สูงกว่า) ซามูไรส่วนมากมักจะแต่งงานกับผู้หญิงที่มาจากตระกูลซามูไรเหมือนกัน แต่สำหรับซามูไรที่มียศต่ำลงมา การแต่งงานกับหญิงสามัญชนถือเป็นเรื่องที่อนุโลมได้ ส่วนเรื่องของสินสมรส (สินเดิม) ฝ่ายเจ้าสาวจะเป็นผู้ที่นำมาให้เอง เพื่อใช้เริ่มต้นชีวิตใหม่ของพวกเขา

ก่อนการแต่งงาน ซามูไรจะส่งค่าสินสอดหรือเอกสารยกเว้นการเก็บภาษีไปให้กับครอบครัวของฝ่ายหญิงผ่านทางผู้ส่งข่าว เพื่อที่จะขออนุญาตบิดาและมารดาแต่งงานกับฝ่ายหญิง ซึ่งบิดามารดาส่วนใหญ่ก็ยอมรับข้อเสนอด้วยความยินดี พ่อค้าฐานะดีหลายคนส่งลูกสาวของพวกเขาไปแต่งงานกับซามูไรเพื่อจะได้หักลบหนี้สินของซามูไรและจะได้ทำให้ตำแหน่งหน้าที่ของตนก้าวหน้าขึ้น

ถ้าหากว่าภรรยาของซามูไรให้กำเนิดบุตรชาย บุตรชายผู้นั้นก็สามารถที่จะเป็นซามูไรได้

ซามูไรสามารถมีภรรยาน้อยได้ แต่พื้นหลังชีวิตของผู้ที่จะมาเป็นภรรยาน้อยจะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยซามูไรระดับสูงเหมือนที่ทำในการแต่งงานจริง การลักพาตัวภรรยาน้อยถือว่าเป็นการกระทำที่น่าละอาย ถึงแม้ว่าการกระทำเช่นนี้ในนิยายหลาย ๆ เรื่องจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปก็ตาม

ซามูไรสามารถหย่าขาดจากภรรยาของเขาได้ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง แต่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้มีตำแหน่งสูงกว่าก่อน ซึ่งในความเป็นจริงการหย่าของซามูไรเกิดขึ้นมาน้อยมาก เหตุผลในการหย่าอาจจะเป็นเพราะว่า ภรรยาของเขาไม่สามารถให้บุตรชายแก่เขาได้ แต่วิธีการรับเด็กชายมาเลี้ยงก็สามารถใช้เป็นแนวทางแทนการหย่าได้เช่นกัน ซามูไรสามารถหย่าโดยใช้เหตุผลส่วนตัวที่ว่าเขาไม่ชอบภรรยาของเขาได้ แต่โดยทั่วไปเหตุผลนี้มักจะไม่ยกมาอ้างกัน เพราะมันจะสร้างความอับอายให้แก่ซามูไรระดับสูงที่จัดการแต่งงานให้ได้ แต่แม้ว่าโดยทั่วไปผู้ที่เป็นฝ่ายหย่าก่อนจะเป็นฝ่ายของซามูไร ฝ่ายหญิงก็สามารถเป็นฝ่ายที่เริ่มการหย่าก่อนได้เหมือนกัน หลังจากการหย่าแล้ว ฝ่ายซามูไรจะได้รับเงินค่าสินสอด ซึ่งมีไว้ป้องกันการหย่า กลับคืนมา

ภรรยาของซามูไรที่ไม่ซื่อสัตย์แล้วปฏิเสธในความผิดของเธอ จะได้รับอนุญาตให้ทำการจิไง (การคว้านท้องฆ่าตัวตาย (เซ็ปปุกุ) ของผู้ชาย)

ปรัชญา

หลักปรัชญาของศาสนาพุทธนิกายเซน บวกกับบางส่วนของลัทธิขงจื๊อ มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมซามูไรได้ดีพอ ๆ กับลัทธิชินโต

นิกายเซนได้กลายเป็นหลักคำสอนสำคัญในเรื่องของวิธีการที่ทำให้จิตสงบ

ฐานคติของพุทธในเรื่องการกลับชาติมาเกิด ก็นำซามูไรไปสู่การละเลิกการทรมานและการฆ่าฟันอย่างไร้เหตุผล ฐานคตินี้มีอิทธิพลมากจนซามูไรบางคนถึงกับยอมเลิกใช้ความรุนแรง และบวชเป็นพระสงฆ์หลังจากที่ตระหนักว่าการฆ่าฟันไม่ได้ส่งผลดีอย่างไร ขณะที่ซามูไรบางคนตระหนักถึงเรื่องเช่นนี้ได้ตอนที่อยูในสมรภูมิจริง จนเป็นเหตุให้เขาต้องถูกฆ่าตาย ณ ที่นั้นก็มี

ส่วนบทบาทของลัทธิขงจื๊อที่มีผลต่อวัฒนธรรมซามูไรก็คือ การเน้นความสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้ปกครองให้ได้ ซึ่งนี่คือความจงรักภักดีที่ซามูไรต้องการจะแสดงต่อเจ้านายของเขา

บูชิโดคือ “ประมวลหลักการปฏิบัติ” ที่ติดตัวซามูไรทุก ๆ คน หลักนี้เริ่มบังคับใช้ในสมัยเอโดะ โดยรัฐบาลโชกุนโทกึงาวะ เพื่อพวกเขาจะได้ควบคุมเหล่าซามูไรได้ง่ายขึ้น [5]

แต่เหตุการณ์ของ “กลุ่มโรนิงทั้ง 47” ก็ทำให้เกิดการโต้เถียงกันเกี่ยวกับประเด็นความถูกต้องของหลักปฏิบัติของซามูไร และประเด็นที่ว่าหลักบูชิโดควรจะประยุกต์ใช้ได้อย่างไร เนื่องจากซามูไรซึ่งกลายเป็นโรนิงทั้ง 47 คนนี้ไม่ได้ให้ความเคารพต่อโชกุนซึ่งเป็นผู้ปกครองของพวกเขา แต่ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะความภักดีและความซื่อสัตย์ที่มีต่อนายเก่าของพวกเขาเอง ผลสุดท้าย การกระทำของพวกเขาถูกตัดสินว่าเป็นการกระทำที่แสดงออกถึงความซื่อสัตย์ แต่ไม่เป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีต่อโชกุน นี่จึงเป็นเหตุให้พวกเขาทั้ง 47 คนต้องถูกฆาตกรรมด้วยการสำนึกผิดและสิทธิในการคว้านท้องฆ่าตัวตาย

สตรี

หน้าที่ของผู้หญิงในฐานะภรรยาของซามูไรคือ แม่บ้าน บทบาทนี้สำคัญมากในยุคศักดินาของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักรบผู้เป็นสามีมักจะเดินทางไปดินแดนอื่น หรือไปทำสงครามร่วมกับสังกัดของตนเอง ภรรยา หรือ “โอกุซัง” (แปลว่า ผู้ที่อยู่แต่ในบ้าน) จะเป็นผู้ที่จัดการกิจธุระทุกอย่างของครอบครัว ดูแลลูก ๆ และบางโอกาสยังต้องป้องกันบ้านจากการรุกรานด้วย ภรรยาของชนชั้นซามูไรหลาย ๆ คนต้องฝึกฝนการใช้ง้าว หรือที่เรียกว่านะงินะตะ มือเดียวให้ได้ เพื่อจะได้สามารถปกป้องคนในครอบครัว บ้าน และเกียรติยศเอาไว้

ลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนใครของผู้ที่เป็นภรรยาซามูไรคือ ถ่อมตัว เชื่อฟัง ควบคุมตนเอง และจงรักภักดี ภรรยาในอุดมคติของซามูไรจะต้องมีทักษะในการจัดการกับทรัพย์สิน หมั่นจดบันทึก ดูแลการเงิน ให้การศึกษาแก่ลูกๆ (และบางทีก็ต้องให้การศึกษาแก่ผู้รับใช้ด้วย) และบำรุงบิดามารดายามแก่เฒ่าทั้งของตนและของสามี ซึ่งอาจจะอาศัยอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน กฎของขงจื๊อได้ช่วยนิยามความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและประมวลรวมหลักจรรยาของชนชั้นนักรบในเรื่องนี้ไว้ว่า ภรรยาจะต้องแสดงความเคารพอย่างสูงแก่สามี ต้องกตัญญูและบูชาบิดามารดา และต้องดูแลเอาใจใส่แก่ลูก ๆ แต่ถ้าให้ความรักต่อลูกมากจนเกินไป ก็จะทำให้ลูกเป็นผู้ที่เอาแต่ใจตนเองได้ ดังนั้น ผู้เป็นแม่จึงต้องฝึกให้ลูกมีวินัยควบคู่ไปด้วย

แม้ว่าภรรยาของตระกูลซามูไรที่มั่งคั่งจะได้เสวยสุขจากทรัพย์สินเงินทองและตำแหน่งอันเลิศหรูในสังคม และยังมีสิทธิหลีกเลี่ยงการถูกใช้แรงงานทางกายด้วยก็ตาม พวกเธอก็ยังมีสถานะทางสังคมที่ต่ำกว่าเพศชายอยู่หลายระดับ ผู้หญิงจะถูกห้ามไม่ให้ข้องเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง และโดยมากก็จะไม่ได้มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าของครอบครัวด้วย

เมื่อการศึกษาเริ่มมีคุณค่ามากขึ้นในยุคของโทะกุงะวะ ผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาตั้งแต่เด็กจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครอบครัวและสังคมโดยรวม หลักเกณฑ์ในการเลือกสตรีมาแต่งงานด้วยจึงเริ่มถ่ายน้ำหนักไปที่ความฉลาดและระดับการศึกษา บวกกับความดึงดูดใจทางกายภาพของผู้ที่จะมาเป็นภรรยามากขึ้น ทำให้นอกจากจะต้องมีทักษะของการเป็นภรรยาและผู้จัดการครอบครัวที่ดี ผู้หญิงในยุคนั้นยังต้องพบกับความท้าทายในการเรียนการอ่านภาษาจีน และยังจะต้องมีความรู้ในวิชาทางด้านปรัชญาและอักษรศาสตร์เบื้องต้นอีกด้วย เพราะฉะนั้น จนถึงสิ้นสุดยุคโทะกุงะวะ ภรรยาของซามูไรเกือบทุกคนจึงสามารถอ่านออกเขียนได้หมด

อาวุธ

ดาบคะตะนะ (ญี่ปุ่น: 刀 โรมาจิkatana) อาวุธหลักของซามูไร

อาวุธที่ซามูไรใช้มีอยู่หลายชนิด แต่ดาบคะตะนะก็ไม่ได้เป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดของซามูไร เพราะว่าซามูไรไม่สามารถนำคะตะนะติดตัวเข้าไปในบางสถานที่ได้ วะกิซะชิ คือ อาวุธติดตัวซามูไรที่สำคัญที่สุด หลักบูชิโดได้สอนว่าจิตวิญญาณของซามูไรก็คือคะตะนะของพวกเขาแต่ละคน และบางครั้งซามูไรก็ถูกจินตนาการให้ต้องพึ่งพาคะตะนะเพื่อการต่อสู้ด้วย แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับหน้าไม้ของยุโรป หรือดาบของอัศวินที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นแค่เครื่องมือในการต่อสู้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ดาบคะตะนะมักจะไม่ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในสมรภูมิกัน จนกระทั่งยุคคะมะกุระ ตัวดาบคะตะนะเองก็ยังไม่ได้เป็นอาวุธหลักจนกระทั่งเกิดยุคเอโดะขึ้นมา

หลังจากที่บุตรชายของซามูไรได้ถือกำเนิดขึ้น เขาจะได้รับดาบเล่มแรกของเขาในพิธีฉลองที่เรียกว่า มะโมะริ-คะตะนะ อย่างไรก็ตาม ดาบที่ให้ไปเป็นเพียงแค่ดาบเครื่องรางเท่านั้น โดยจะห่อหุ้มด้วยไหมยกดอกเงินหรือทองเพื่อที่จะให้เด็กอายุไม่เกินห้าขวบพกเอาไว้ในกระเป๋าสตางค์ได้ เมื่อถึงอายุสิบสามปี ในพิธีฉลองที่เรียกว่า เก็มบุกุ (ญี่ปุ่น: 元服 โรมาจิGembuku) บุตรชายจะได้รับดาบจริงเล่มแรกพร้อมกับชุดเกราะ ชื่อในวัยผู้ใหญ่ และกลายเป็นซามูไรในที่สุด ดาบคะตะนะและวะกิซะชิเมื่อใช้ร่วมกันแล้วจะเรียกว่าไดโช (แปลตามตัวอักษรว่า “ใหญ่กับเล็ก”)

วะกิซะชิ คือ “ดาบแห่งเกียรติยศ” ของซามูไร ซามูไรจะไม่ยอมให้มันหลุดจากข้างกายโดยเด็ดขาด มันจะต้องติดตัวพวกเขาไปตอนที่พวกเขาเข้าบ้านคนอื่น (แต่ต้องทิ้งอาวุธหลักเอาไว้ข้างนอก) ยามนอนก็ต้องมีมันอยู่ใต้หมอนด้วย

ดาบสั้น

ทันโตะ คือ ดาบสั้นเล่มเล็กที่มักจะใส่คู่กับวะกิซะชิในไดโช ทันโตะหรือไม่ก็วะกิซะชินี่เองที่จะถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมการฆ่าตัวตาย หรือที่เรียกว่าเซ็ปปุกุ

ธนูยาว (ยุมิ) (ญี่ปุ่น: 弓 โรมาจิYumi)

นอกจากดาบ ซามูไรยังเน้นการฝึกทักษะในการใช้ธนูยุมิ (ธนูยาวญี่ปุ่น) เพื่อสะท้อนศิลปะแห่งคิวโด (แปลตามตัวอักษรว่า วิถีแห่งธนู) อีกด้วย ในช่วงยุคเซงโงะกุ ธนูยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับทหารชาวญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าในช่วงนั้นพวกเขาจะรู้จักกับอาวุธปืนกันแล้วก็ตาม ยุมิเป็นธนูที่มีรูปร่างไม่รับส่วนกัน โดยประกอบขึ้นมาจากไม้ไผ่ ไม้ และหนัง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับธนูแบบประกอบขึ้นเหมือนกันแต่ยืดหยุ่นกว่าของชาวยูเรเซียแล้ว ความทรงพลังของยุมิยังต่ำกว่า ยุมิมีระยะการโจมตีที่แม่นยำและมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 50 เมตรหรือน้อยกว่านั้น (ระยะโจมตีเต็มที่คือ 100 เมตร) ยุมิมักจะใช้กันหลัง “เทะดะเทะ” (ญี่ปุ่น: 手盾 โรมาจิtedate) หรือกำแพงไม้ไผ่ขนาดใหญ่ที่เคลื่อนที่ได้ ส่วนธนูที่มีขนาดสั้นกว่า (ฮังกิว) มักจะใช้บนหลังม้ากัน (ต่อมา การฝึกฝนการยิงธนูบนหลังม้าได้กลายเป็นพิธีกรรมชินโตที่ชื่อ ยะบุซะเมะ (ญี่ปุ่น: 流鏑馬 โรมาจิYabusame)

ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ยะริ (หอก) ได้กลายเป็นอาวุธที่ได้รับความนิยมพร้อมๆ กับนะงินะตะ (ง้าว) ยะริมักจะถูกนำมาใช้ในสมรภูมิ ที่ซึ่งการบริหารกองทหารเดินเท้าราคาถูกจำนวนมากเป็นปัจจัยที่สำคัญความกล้าหาญส่วนบุคคล การจู่โจมของทั้งทหารราบและทหารม้าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อใช้หอกแทนดาบคะตะนะ และเมื่อปะทะกับซามูไรที่ใช้ดาบคะตะนะเป็นอาวุธ ผู้ที่ใช้หอกก็มีมักจะได้เปรียบกว่าเสมอ

ในยุทธการชิซุงะตะเกะ ที่ซึ่งฝ่ายของชิบะตะ คะสึอิเอะ แพ้ให้กับฝ่ายฮะชิบะ ฮิเดะโยะชิ (ต่อมารู้จักกันในนามโทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ) ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดชัยชนะครั้งนั้นก็คือมือหอกทั้งเจ็ดแห่งชิซุงะตะเกะ (ญี่ปุ่น: 賤ヶ岳七本槍 โรมาจิShizugatake)

ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 16 ปืนเล็กยาวได้เดินทางเข้ามาในญี่ปุ่นผ่านทางพ่อค้าชาวโปรตุเกส อาวุธชนิดใหม่นี้ทำให้ขุนศึกหลาย ๆ คนสามารถสร้างกองกำลังที่มีประสิทธิภาพขึ้นมาจากมวลชนชาวนาได้ แต่ตัวมันก็กลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในสมัยนั้น คนจำนวนมากแลเห็นว่า การที่มันเป็นอาวุธที่ใช้ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพการสังหารสูง เป็นการหมิ่นประเพณีบะชิโดอย่างไร้เกียรติยศ

โอะดะ โนะบุนะงะ ได้ใช้ปืนเล็กยาวจำนวนมากในยุทธการนะงะชิโนะ เมื่อปี พ.ศ. 2118 (ค.ศ. 1575) จนนำไปสู่การสูญสิ้นของตระกูลทะเกะดะในที่สุด

หลังจากที่ชาวโปรตุเกสและชาวฮอลันดาได้นำปืนเล็กยาวแบบบรรจุดินปืน หรือที่เรียกกันว่าเท็ปโปะ เข้ามาในญี่ปุ่นในครั้งแรก ช่างสร้างปืนชาวญี่ปุ่นก็ได้ผลิตมันออกมาเองในปริมาณมาก จนกระทั่งสิ้นสุดศตวรรษที่ 16 จำนวนปืนในญี่ปุ่นก็เพิ่มขึ้นมามากกว่าประเทศใด ๆ ในทวีปยุโรป ปืนทั้งหมดถูกสร้างขึ้นมาอย่างประณีตและสะท้อนถึงความมีฝีมือของช่างที่สร้างได้เป็นอย่างดี

เมื่อมาถึงสมัยการปกครองโดยโชกุนโทะกุงะวะ และการสิ้นสุดลงของสงครามกลางเมือง ยอดการผลิตปืนก็ลดลงอย่างรวดเร็วพร้อมกับการออกคำสั่งห้ามไม่ให้ถือครองเป็นเจ้าของอาวุธปืน ในสมัยการปกครองนี้ อาวุธที่มีพื้นฐานมาจากหอกได้ถูกเลิกใช้ไปบางส่วน เนื่องจากอาวุธเหล่านี้มีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการต่อสู้ระยะประชิด (ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในสมัยเอโดะ) น้อย ส่วนกฎข้อห้ามเกี่ยวกับปืนที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ก็มีผลให้ไดโชเป็นอาวุธชนิดเดียวเท่านั้นที่ซามูไรสามารถพกพาได้

ส่วนอาวุธอื่นๆ ที่ซามูไรนำมาใช้เป็นอาวุธก็ได้แก่ ไม้พลอง (โจะ), กระบองยาว (โบะ), ระเบิดมือ, เครื่องยิงหินแบบจีน (มักจะใช้ในการจู่โจมตัวบุคคลมากกว่าใช้เพื่อการล้อมโจมตี) และปืนใหญ่