ซฺยงหนู
ซฺยงหนู

ซฺยงหนู

ซฺยงหนู ตามสำเนียงกลาง หรือ เฮงโน้ว ตามสำเนียงฮกเกี้ยน (จีน: 匈奴; พินอิน: Xiōngnú) เป็นชื่อเรียกกลุ่มชนโบราณซึ่งมีพวกร่อนเร่เป็นพื้น และตั้งตัวกันเป็นรัฐหรือสหพันธรัฐ[1] อยู่ในภาคเหนือของประเทศจีน ข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่เกี่ยวกับพวกซฺยงหนูจึงมาจากจีน กับทั้งชื่อเสียงเรียงนามของคนเหล่านั้นก็เป็นที่ทราบกันไม่มาก จึงใช้ตามที่จีนทับศัพท์มาจากภาษาซฺยงหนูอีกทอดหนึ่งอัตลักษณ์ของแกนกลางทางชาติพันธุ์ซฺยงหนูนั้นเป็นแต่สมมุมติฐานกันไปในหลายทาง เพราะภาษาซฺยงหนู โดยเฉพาะชื่อแซ่บุคคลนั้น ปรากฏในแหล่งข้อมูลจีนน้อยมาก นักวิชาการเสนอว่า คนซฺยงหนูอาจใช้ภาษาเติร์ก (Turkic), มองโกล (Mongolic), เยนีเซย์ (Yeniseian), [2][3] โทแคเรียน (Tocharian), อิหร่าน (Iranian), [4][5] หรือยูแรล (Uralic) [6] นอกจากนี้ ยังน่าเชื่อว่า พวกซฺยงหนูเล่นคุณไสย[7][8] ส่วนคำว่า "ซฺยงหนู" อาจมาจากรากศัพท์เดียวกับคำว่า "ฮัน" (Hun) แต่พยานหลักฐานสำหรับเรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่[3][9]แหล่งข้อมูลจีนตั้งแต่ 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช บันทึกว่า หลังจากปีที่ 209 ก่อนคริสต์ศักราช พวกซฺยงหนูก่อตั้งจักรวรรดิโดยยกมั่วตู๋ ฉันยฺหวี (Modu Chanyu) ขึ้นเป็นประมุข[10] จักรวรรดิซฺยงหนูแผ่อำนาจข้ามท้องที่ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตแดนมองโกเลีย ครั้นปีที่ 200 ก่อนคริสต์ศักราช ชาวซฺยงหนูเอาชัยเหนือพวกเยฺว่จือ (Yuezhi) ซึ่งมีอำนาจอยู่ก่อนแล้วได้ ซฺยงหนูจึงเถลิงอำนาจในที่ราบทางภาคกลางและภาคตะวันออกของทวีปเอเชีย คนเหล่านี้ตั้งตัวกันอยู่ในภูมิภาคซึ่งบัดนี้คือไซบีเรียใต้ มองโกเลีย มองโกเลียใต้ กานซู และซินเจียง แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับราชวงศ์จีนนั้นเป็นไปอย่างซับซ้อน มีการณรงค์สงครามและใช้เล่ห์เพทุบายช่วงชิงดินแดนกันอย่างต่อเนื่อง สลับกับการจ่ายส่วย การค้า และการทำสนธิสัญญาเพื่อเป็นดองกัน